เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเ เฟซบุ๊กในชื่อ Sasin Chalermlarp (ศศิน เฉลิมลาภ) ว่า วันนี้เช้าเริ่มจากความตื่นเต้น ที่มีการประเมินจากอาจารย์เสรี (รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.ศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร) ว่า น้ำจะถึงบางเขน ซึ่งก็ถึงจริงๆ แต่เนื่องจากคันกั้นของกทม. ยังอยู่ได้ จึงมีปริมาณน้ำเข้ามาทางพหลโยธิน และวิภาวดี ในระดับซึ่งไม่สูงมากนัก นั่นคือ สัญญาณ ว่าน้ำจากรังสิต ต่อเนื่องแผ่นน้ำใหญ่กำลังหาทางเจาะเข้ามาในกำแพง กทม. ให้ได้ ขณะที่ทางฝั่งตะวันตก ที่บางพลัด จรัญ มีเหตุการณ์พนังกั้นน้ำแตกตั้งแต่เมื่อคืน และกำลังซ่อมอยู่ทำให้น้ำยังไหลไปทั่วสองฝั่งถนนจรัญตั้งแต่บางกรวยจนถึง บางกอกน้อย และถ้าควบคุมได้ก็คงระบายลงเจ้าพระยาได้จนสามารถควบคุมการขยายตัวของพื้นที่ ท่วมและรักษาระดับไว้ได้แม้น้ำจะยังหลุดเข้ามาได้ก็ตาม
จากการสอบถามข้อมูลในส่วนต่าง ผมประเมินว่า ขณะนี้คันกั้นน้ำทางคลองมหาสวัสดิ์ ยังปะทะน้ำอยู่ได้ระดับหนึ่งน่าจะได้อีกหลายวัน แต่ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะนั่นคือการที่แผ่นน้ำใหญ่จะเคลื่อนเข้าฝั่งทวี วัฒนา ตลิ่งชัน สมทบกับน้ำที่จรัญสนิทวงศ์ บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ น้ำส่วนนี้จะต่อมาถึงภาษีเจริญ บางแค โดยหากเกิดจริงสองฝั่งคลองทวีวัฒนา จะมีน้ำท่วมนำมาก่อน
พื้นที่ระหว่างคลองรังสิต หลายคลองยังไม่โดนน้ำท่วมทั้งที่ผันน้ำไปทางนั้นเต็มที่ จึงน่าจะประเมินว่าขณะนี้ ทางรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์น้ำฝั่งลำลูกกาไว้ได้ อีกระยะหนึ่ง ซึ่งในภาพรวมแล้วผมคิดว่าคนในเขตคลองสามวา สายไหม หนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง สะพานสูง จะเป็นเขตที่เตรียมพร้อมมากที่สุดอยู่แล้ว เพราะมีการคาดการณ์ว่าทางนี้จะต้องเป้นเขตที่ต้องนำน้ำมาลงทะเลผ่าทุ่งโดย ธรรมชาติ และมีการเตรียมการระบายน้ำจากเครื่องสูบน้ำอย่างเต็มพิกัด แต่ไม่มีน้ำไปให้ระบายมากนัก
สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือสถานการณ์คันแตกที่หลักหก ตอนนี้น้ำยังไหลเข้ามาแข่งกับการซ่อม น้ำตรงนั้นแรงเพราะทางถูกบีบมาเป็นรูปโคนตั้งแต่วัดเปรมประชากร ที่ถนนกับทางรถไฟบีบมาแผ่นใส่คันหลักหกหลังสนามกอลฟ์เมืองเอกและ ม.รังสิต ทำให้เมืองเอก ท่วมหนัก ถ้าซ่อมไม่ได้ตรงนี้จะเป็นการนับหนึ่งของ "ของจริง" ที่น้ำจะท่วมเข้ากรุงเทพ ผ่านมาในเขตดอนเมือง ปากเกร็ด สมทบกับน้ำที่มาก่อนจากวิภาวดี ที่หลักสี่ และจากฝั่งพหลโยธินที่ยิ่งเจริญ ก่อนที่จะปะทะกับแจ้งวัฒนะในระดับหนึ่งก่อนจะข้ามไป ซึ่งทั้งหมดขึ้นกับคันหลักหก แตกจริงหรือไม่
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ กทม. ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ถนนพหลโยธินเลียบดอนเมือง ทางไปสะพานใหม่ เป็นแนวกั้นอ่อนแอที่สุด ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังให้ดี ว่าน้ำที่เข้ามาทางนี้ ที่ยิ่งเจริญ จะเพิ่มปริมาณ หรือไม่ และขยายเป็นคันพหลโยธินบริเวณนี้เสียหายเมื่อไหร่ น้ำก็จะหนุนเนื่องมาต่อกับน้ำจากฝั่งหลักหก ทีจะมาชนรามอินทรา ล้อมสนามดอนเมือง และ ศปภ เป็นเกาะ ทางฝั่งนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะท่วมบางเขนและสายไหม เหตุการณ์ที่ว่าก็จะขยายลงใต้มาเป็นลำดับ แต่ถ้ายังควบคุมได้เพียงการรั่วแตกของทุกจุดก็จะท่วมไม่ลงมาทางงใต้มากนักใน ช่วงนี้
ในช่วงน้ำขึ้นสูงขณะนี้ ริมน้ำเจ้าพระยา จะมีปรากฏการณ์ น้ำผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำ ในช่วงน้ำขึ้นอาจจะท่วมในบริเวณแคบ ซึ่งต้องเฝ้าระวังว่าหากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นคัน หรือ ทะลุในบริเวณคันชั่วคราว ก็จะท่วมเป็นบริเวณกว้างได้เหมือนฝั่งบางพลัด จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งต้องเฝ้าระวัง หาก แนวกั้นนี้เสียหาย และซ่อมไม่ได้ จะเป็นว่า น้ำจะท่วมจากเจ้าพระยาเอ่อออกไปทั่วได้เช่นกัน
โดยส่วนตัวแล้วอยากให้ติดตามข้อมูลจาก อ.เสรี อย่างใกล้ชิด และใช้แผนที่ความลึกที่คาดการณ์เมื่อน้ำท่วมทั่ว กทม. เป็นแนวทางพิจารณา แต่ผมคิดว่าแผนที่นี้ใช้เพื่อ "ประเมิน" สภาพแวดล้อมเมื่อน้ำท่วมว่าเดินทางสัญจรไปไหนได้หรือไม่ ไม่สามารถ บอกว่าบ้านเราจะต้องหนุนของสูงแค่ไหนถึงจะพ้นน้ำ เพราะแต่ละบ้านมีระดับและรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนั้นในช่วงนี้เราก็ต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด และประเมินเหตุการณ์กันวันต่อวัน คาดไม่ได้เลยว่า กรณีใดจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นพร้อมกัน
ช่วงนี้ผมไม่ออกสื่ออย่างทีวีแล้ว เพราะสิ่งที่อยากบอกผู้คน ส่วนใหญ่เรื่องการเตือนภัย แถมด้วยการหาทางออกให้กับการป้องกัน กทม. ในระดับสาธารณะก็บอกไปแล้ว พูดไปอีกหลายทีก็ไม่มีประโยชน์ และผมก็คิดจริงๆ ว่าในภาวะวิกฤติ และผู้บริหารบ้านเมืองเขาเลือกแล้ว เราก็ต้องเอาใจช่วยให้สิ่งที่เขาเลือกนั้นสำเร็จ เพราะ จะไปขัดแย้งขัดแข้งขาก็ไม่มีประโยชน์ใดต่อสถานการณ์ หวังเพียงว่าท่านทั้งหลายจะทำตามแผนพาเรารอดไปด้วยกันได้มากที่สุดก็แล้วกัน เอาใจช่วยคนที่อยู่หน้างานทำงานหนักทุกคน ค่ำๆ มาว่ากันใหม่ครับ"