วันที่ 31 ตุลาคม เมื่อ 5 ปีที่แล้ว สำหรับหัวใจของ “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” คงไม่มีใครลืมประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ของคนธรรมสามัญชน ผู้รักประชาธิปไตย ที่ชื่อ
“นวมทอง ไพรวัลย์”
แม้ว่าหลักสูตรการอบรมบ่มเพาะครอบงำทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครอง อำมาตย์ศักดินา มักจักให้ผู้คนในสังคมไทยจำในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาอยากให้จำ และลืมในเรื่องในสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ลืม แต่นับจากนี้ไป เราพบเห็นว่า “คนเสื้อแดง” “คนรักประชาธิปไตย” “ผู้ตาสว่าง” ได้สร้างประวัติศาสตร์ของตนเองด้วยความภาคภูมิใจขึ้นมาแล้ว
เราจึงได้ยินการเอ่ยถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เตียง ศิริขันธ์ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พระยาพหล พยุหเสนา ถวัติ ฤทธิเดช พ่อหลวงอินทา และอีกหลายคน ผู้มีความใฝ่ฝันถึง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
คืนวันที่ 31 ตุลาคม “นวมทอง ไพรวัลย์” อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด) โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คปค. ที่ว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 “นวมทอง ไพรวัลย์” ได้ขับรถยนต์แท็กซี่ โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัท สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ป้ายทะเบียนตรากงจักร 71116 ของคณะปฏิรูปฯ (คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 )และได้รับบาดเจ็บสาหัส
ในคืนที่นายนวมทองแขวนคอตาย เขาตั้งใจสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวี ที่เคยใช้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยด้านหน้าเป็นบทกวีของรวี โดมพระจันทร์ ที่ว่า
ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา
แผ่นดินมีหินชาติ ที่ดาดาษความโฉดเขลา
ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา ประโยชน์เข้าเฉพาะตน
กล่าวได้ว่า การขับรถแท็กซี่ชนรถถังครั้งนั้นของ “นวมทอง ไพรวัลย์” เป็นการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบของอำมาตย์ ที่ทำลายประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคขัดขางหนทางประชาธิปไตยในสังคมไทยมาหลายยุคหลายสมัย
การกระทำดังกล่าวของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จึงเป็นสัญลักษณ์ต้านอำนาจกองทัพและรัฐประหารของระบบอำมาตย์ นั่นเอง
กระนั้นก็ตาม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเมษา –พฤษภา 53 อำมหิต กองทัพได้เป็นกลไกหลักในการล้อมปราบประชาชนครั้งนั้น จึงต้องนำคนฆ่า คนสั่งฆ่าดำเนินการตามกฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ ถูกกระทำด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสังคมไทย ต้องการปลดเปลื้องพันธนาการที่ลดทอนการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่ง “ต้องปฏิรูปกองทัพไทย” เหมือนเช่นประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกที่กระทำกัน
กล่าวสำหรับกองทัพไทย ภายใต้บริบทการเมืองไทย ภาวะ“รัฐซ้อนรัฐ” ดำรงอยู่ปัจจุบัน ผู้เขียนมีข้อเสนอ 3 ประการ ในการปฏิรูปกองทัพ คือ
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องดำเนิกระบวนการ แก้ไขพรบ.สภากลาโหม เพื่อให้อำนาจในการบังคับบัญชากองทัพ กลับมาอยู่กับผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
2. รัฐประชาธิปไตยต้องทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง ไม่มีระบบการเกณฑ์ทหาร งบประมาณก็ต้องลดลง เพื่อนำงบประมาณใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่มีประโยชน์กว่า ท่ามกลางยุคที่หมดสมัยการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. รัฐประชาธิปไตย ต้องสร้างระบบการศึกษาและวัฒนธรรมกองทัพให้ทันสมัย เป็นประชาธิปไตยทั้งความคิดและการจัดองค์กร ที่ไม่เน้นระบบสายบังคัญชาแบบแบบสั่งการ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด
การปฏิรูปกองทัพ คงเป็นความใฝ่ฝันหนึ่งของ “นวมทอง ไพรวัลย์”
ขอคารวะดวงวิญญาณ “นวมทอง ไพรวัลย์”
อุดมการประชาธิปไตย ของ “นวมทอง ไพรวัลย์” จงเจริญ