ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ เสนอว่ามหัตภัยสังคมที่ร้ายกว่ามหันตภัยแห่งสายน้ำคือการฉกชิงโอกาสภัย พิบัติของประชาชนเป็นหอกทิ่มแทงเพื่อกำจัดศัตรูทางการ เมือง
ประเทศไทยเป็นภาคการเกษตรที่ปลูกข้าวเป็นหลัก จากอดีตปลูกเฉพาะนาปี แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการปลูกข้าวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาด ทำให้มีการปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นถึง 2 ครั้งในฤดูแล้ง น้ำจึงเป็นปัญหาหนึ่งของภาคการเกษตร ที่ยังแกว่งไกวตามตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อระบบบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแม้เราจะมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำหลายฉบับภายใต้ การบริหารของหลายกระทรวง ทำให้การบริหารจัดการน้ำของไทยยังขาดเอกภาพและขาดกติกาที่ชัดเจนในการจัดสรร ทรัพยากรน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้ระบบเสรีที่ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมตามมา
การขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งภาคการเกษตร การขยายเมืองและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภายใต้วาทกรรม “การ พัฒนา ” ส่งผลให้เกิดการช่วงชิงทรัพยากรน้ำ ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม ระหว่างประชาชนกับกลุ่มทุน นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกัน เอง ความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรน้ำได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทย การ ปล่อยให้การเข้าถึงทรัพยากรน้ำโดยเสรีที่แท้จริงยังขาดความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจมากกว่าย่อมได้รับประโยชน์มากกว่า การใช้น้ำจึงไม่เกิดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เอื้ออำนวยให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ขาดสมรรถนะที่จะยืดหยุ่น ไปตามสถานการณ์ความต้องการ และที่สำคัญคือคนยากคนจนจะถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอมา
มีการกล่าวกันว่าประเทศไทยมีแหล่งกักเก็บน้ำ 45,434 ล้านลูกบาศก์ เมตร (จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบเพราะมีหลายกระทรวง ที่มีงบประมาณรวมแล้วหลายหมื่นล้านต่อปีที่ใช้ในการขุดลอก ขุดสระ ขุดบ่อ ทุกๆ ปีแต่ไม่อาจกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น) ปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม มีถึง 57,604 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขาดแคลนน้ำถึง 4,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร และกล่าวกันว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ไทยจะมีประชากรเพิ่มเป็น 72.8 ล้านคน ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 77,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เราจะวางแผนแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น บางปีเกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนขาดน้ำอุปโภคและบริโภค เป็นวิกฤติที่นับวันมีความรุนแรง เพิ่มขึ้น แต่คนเมืองไม่ได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้
ขณะเดียวกันวิกฤตน้ำอีกด้าน ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือเรื่องน้ำท่วมน้ำ หลาก ซึ่งทุกๆ ปีชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ลุ่มในภาคกลาง หรือชุมชนบริเวณริมน้ำ จะประสบปัญหาน้ำท่วมนานนับเดือนถึงสองเดือนเกิดความเสียหายและเดือดร้อน อย่างต่อเนื่อง แต่คนกรุงเทพฯไม่ได้รู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก เพราะที่ผ่านมาน้ำอาจจะมีไม่มากนักและได้ถูกจัดการไม่ให้เข้าสู่กรุงเทพมหา นคร ความเดือดร้อนเรื่องของน้ำจึงตกกับชาวชนบทและคนชานเมืองตลอดมา เราจะเห็นคนและสัตว์เลี้ยงขึ้นอยู่บนหลังคา หรือไม่ก็ลอยคออยู่ในน้ำ เรือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต หลายคนพูดกันว่า “คนกรุงนั่งรถ..คนชนบทนั่งเรือ” หรือ “ศักดินานั่งรถ...ไพร่ชนบทนั่งเรือ” สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมจะเห็นภาพของการบริหารจัดการ น้ำที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย มีการเฉลี่ยทุกข์ให้คนชนบท เฉลี่ยสุขให้กับคนเมือง การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจึงเป็นเพียงวาทกรรมของฝ่ายการเมืองทุกยุคทุกสมัย ปัญหาของน้ำจึงมีมากมายมหาศาลทั้งน้ำขาดและน้ำล้น
ในปีนี้พื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของประเทศประสบกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงและยาว นานก็เป็นปัญหาจากการจัดการน้ำของ ทุกรัฐบาลที่ไม่ได้วางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เราจะโยนภาระการจัดการและความรับผิดให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ เพียงผู้เดียวคงจะไม่เป็นธรรมเท่าใดนัก รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เจอกับสภาพน้ำท่วมน้ำหลาก อย่างต่อเนื่องมาถึงเดือน กรกฎาคม แต่ก็ไม่ได้วางแผนเตรียมการใดๆไว้เช่นกัน..รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ยังไม่ได้เริ่มงานอย่างจริงจังก็พบกับปัญหาน้ำท่วมตามมาอย่างต่อเนื่องจาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองโทษกันไปมา ปัดแข้งปัดขากันนัวเนีย ลูกหาบของแต่ละฝ่ายก็ออกมาแฉพฤติกรรมต่อกัน เดือดร้อนไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลแม้น้ำไม่ท่วมไปถึงสุพรรณบุรีก็ตาม เพราะกล่าว กันว่า “กรมชลประทานไม่ยอมปล่อยน้ำลงแม่น้ำท่าจีนเพราะกลัวน้ำ เข้าท่วมสุพรรณบุรี” ส่งผลให้การผันน้ำลงอ่าวไทยฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีปัญหาน้ำท่วมรุนแรงในฝั่งธนบุรี และนนทบุรี ซึ่งทิ่มตรงกล่องดวงใจของนายบรรหาร ศิลปอาชา คนโตเมืองสุพรรณฯ ส่วนกรุงเทพมหานคร ที่มีอิสระในการบริหารงานก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับ ศปภ.ให้น้ำผ่านเข้ากรุงเทพมหานคร ทั้งๆ ที่มีคูคลองมากมายในการดูดซับน้ำและช่วยผันน้ำลงอ่าวไทยแต่กลับปล่อยให้คู คลองเหล่านั้นน้ำแห้งขอด เพราะกลัวน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงของตน อาจจะเสียคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งๆที่หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน น้ำคงไม่รุนแรงมากขนาดนี้ จนนายกรัฐมนตรีต้องประกาศใช้มาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันภัยฯ เพื่อใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเข้าไปจัดการ ซึ่งทิ่มตรงเข้า กล่องดวงใจนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
สำหรับการผันน้ำในฝั่งตะวันออกก็บอกว่า ศปภ.ไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเล โดยเร็ว ไม่มีภาวะผู้นำ นายกขาดความรู้ความสามารถ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือ ข้อกล่าวหาที่แต่ละฝ่ายทิ่มแทงต่อกัน และยังหาวาทกรรมทิ่มแทงใส่กันอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญหายนะภัยครั้งนี้ประชาชนได้รับรู้ความจริงว่า มีการปัดแข้งปัดขากันเพื่อหวังผลทางการเมือง “กลายเป็นการเมืองเรื่องของน้ำเน่า” ไปเรียบร้อยแล้ว
การแย่งชิง การปัดแข้งปัดขาแม้ในสภาวะวิกฤตของชาติอย่างไม่หยุดหย่อน แสดงให้เห็นถึงความจริงของสังคม ที่ว่าความแตกแยกในสังคมไทยได้บาดลึกรุนแรงยากที่จะเยียวยา การปลุกเร้าให้เกิดความเชื่อทางการเมือง ความเกลียดชัง การแบ่งแยกฝ่าย สามารถอยู่เหนือความหายนะของประชาชน และอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ประชาชนไม่ยินดีสละความแตกต่างทางความคิดไว้ข้างหลังเป็นการชั่วคราว แล้วหันหน้าจับมือกันฟันฝ่ามหันตภัยน้ำไปด้วยกัน การฉกชิงโอกาสภัยพิบัติ ของประชาชนเป็นหอกทิ่มแทงเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองจึงเป็นเสมือนสิ่งที่ ยอมรับได้ และดูยิ่งรุนแรงมากขึ้น นี่คือมหัตภัยสังคมที่ร้ายกว่ามหันตภัยแห่งสายน้ำ