ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าเดินทางไปรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ไม่มีโอกาสมารับด้วยตัวเองเมื่อ 21 ปีทีแล้ว เผยการได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2534 ได้ทำให้โลกมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในพม่า เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิดที่เหลือพร้อมชวนชาวโลกมาสร้างโลกที่ สันติสุข ที่จะสามารถนอนหลับได้อย่างปลอดภัยและตื่นอย่างมีความสุข
เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้เดินทางไปที่ศาลาว่าการกรุงออสโล เพื่อกล่าวปาฐกถาเนื่องในโอกาสรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่เธอได้รับเมื่อปี 2534
คลิปไฮไลท์ นางออง ซาน ซูจี รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ (ที่มา: youtube.com/thenobelprize)
คลิปของบีบีซี แสดงการกล่าวปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี เมื่อ 16 มิ.ย. 2555 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
พิธีมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ 10 ธ.ค. 2534 ที่ศาลาว่าการกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยในวันดังกล่าวสามีของนางออง ซาน ซูจี คือไมเคิล อาริส และบุตรชายคือ คิม และอเล็กซานเดอร์ เป็นผู้เดินทางไปรับรางวัลแทน ส่วนนาง ออง ซาน ซูจี ทำได้แต่เพียงติดตามข่าวการประกาศรางวัลจากการฟังวิทยุอยู่ที่บ้านใน ย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งเธอถูกกักบริเวณ ถัดมาอีก 21 ปีต่อมา นางออง ซาน ซูจีจึงมีโอกาสเดินทางไปที่กรุงออสโล เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสได้รับรางวัลโนเบล (ที่มา: youtube.com/thenobelprize)
เผยการได้รับรางวัลโนเบล เหมือนได้กลับมาสู่สังคมมนุษย์ หลังอยู่กันคนละโลกเพราะถูกกักบริเวณ
ในพิธีรับรางวัลซึ่งมีคิม อาริส บุตรชายของนางออง ซาน ซูจี และกษัตริย์ฮอราลด์ และพระราชินีซอนย่าแห่งนอร์เวย์เข้าร่วมด้วยนั้น ประธานคณะกรรมการโนเบลของนอร์เวย์ นายโทบ์จอน ยัคแลนด์ กล่าวว่าได้รอนางออง ซาน ซูจีมารับรางวัลมาเป็นเวลานาน “ในช่วงเวลาที่คุณถูกโดดเดี่ยว คุณได้กลายเป็นเสียงแห่งศีลธรรมสำหรับโลกทั้งมวล”
ในการกล่าวปาฐกถา นางออง ซาน ซูจี เริ่มต้นกล่าวถึงสมัยที่ยังอยู่ที่อ๊อกฟอร์ด และกำลังฟังวิทยุบีบีซี รายการ “Desert Island Discs” กับลูกชายคนเล็ก อเล็กซานเดอร์ อาริส สำหรับรายการวิทยุดังกล่าวเริ่มจัดรายการมาตั้งแต่ปี 2485 จนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบเป็นการเชิญคนดังมาเล่าว่าถ้าติดเกาะจะเอาแผ่นเสียง หนังสือ และของฟุ่มเฟือยอะไรติดตัวไปด้วย โดยนางออง ซาน ซูจีเล่าว่าในตอนจบรายการวิทยุ อเล็กซานเดอร์ได้ถามว่า “แม่จะได้ไปออกรายการนี้หรือเปล่า” นางออง ซาน ซูจีก็ตอบลูกชายว่า “ทำไมจะไม่ได้ไปล่ะ” และได้ตอบลูกชายถึงเหตุผลที่จะได้ไปออกรายการวิทยุดังกล่าวว่า “บางที แม่อาจจะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม” ออง ซาน ซูจีกล่าวและว่าจากนั้นทั้งสองแม่ลูกก็หัวเราะ “เพราะดูจะเป็นไปได้ยาก”
นางออง ซาน ซูจีกล่าวต่อไปว่า ในปี 2532 เมื่อไมเคิล อาริส สามีของเธอได้มาเยี่ยมระหว่างที่เธอถูกกักบริเวณ ไมเคิลได้บอกนางออง ซาน ซูจีว่า เพื่อของเขาคือจอห์น ฟินนิส ได้เสนอชื่อของนางออง ซาน ซูจี เพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้นางออง ซาน ซูจีหัวเราะเช่นกัน
นางออง ซาน ซูจีกล่าวว่า “ฉันจะรู้สึกอย่างไร เมื่อฉันได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ?" "คำถามนี้เกิดขึ้นกับฉันหลายครั้ง และนี่ก็เป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะตอบว่ารางวัลโนเบลมีความหมายสำหรับฉัน อย่างไร และสันติภาพมีความหมายสำหรับฉันอย่างไร”
ออง ซาน ซูจี กล่าวว่าในตอนที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2534 ในตอนนั้นรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะความรู้สึกในเวลานั้นในช่วงที่ถูกกักบริเวณได้รู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ ในโลกที่แท้จริง เหมือนกับอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง ความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลจึงเหมือนได้กลับมาสู่สังคมมนุษย์ที่กว้าง ใหญ่ขึ้น นางออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า “สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ รางวัลโนเบลได้ทำให้โลกมุ่งความสนใจไปที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งพวกเราจะไม่ถูกลืม”
ในการกล่าวปาฐกถาออง ซาน ซูจีกล่าวถึงการพบกับแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยจากพม่า ระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า “เมื่อฉันพบกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าและผู้ลี้ภัยในระว่างที่ฉันไปเยือน ประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาหลายคนได้ร้องไห้และบอกว่า “อย่าลืมพวกเรา!” พวกเขาหมายความว่า “อย่าลืมความลำบากของพวกเรา อย่าลืมทำในสิ่งที่คุณจะสามารถช่วยเหลือพวกเรา อย่าลืมว่าพวกเราก็อยู่ในโลกใบเดียวกันคุณ”
“เมื่อคณะกรรมการโนเบล ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้กับดิฉัน พวกเขาได้ทำให้รู้ว่า พม่าซึ่งถูกกดขี่และถูกโดดเดี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก พวกเขาทำให้รู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ สำหรับการรับรางวัลโนเบล โดยส่วนตัวของดิฉัน ยังหมายถึง ความกังวลของดิฉันในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นได้ก้าวข้ามพรมแดน ของชาติ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพได้เปิดประตูในหัวใจของดิฉัน”
“ถ้าฉันถูกถามว่าทำไมฉันจึงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า นี่เป็นเพราะฉันเชื่อในสถาบันประชาธิปไตยและการปฏิบัติมีความจำเป็นเพื่อให้ มีหลักประกันสำหรับสิทธิมนุษยชน”
ย้ำยังมีนักโทษการเมืองที่่คนไม่รู้จัก พร้อมเรียกร้องการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข
ในตอนหนึ่ง นางออง ซาน ซูจี ได้กล่าวถึงนักโทษทางโนธรรมสำนึก หรือนักโทษทางความคิด ที่ยังถูกจองจำ “ขอให้ดิฉันได้พูดเพื่อนักโทษทางมโนธรรมสำนึก พวกเขายังคงเป็นนักโทษอยู่ในพม่า เป็นสิ่งที่น่าตระหนกเพราะผู้ถูกคุมขังที่คนรู้จักได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่คนที่เหลือ ซึ่งไม่มีใครรู้จัก กำลังจะถูกลืม ดิฉันยืนอยู่ที่นี่เพราะฉันเคยเป็นหนึ่งในนักโทษทางมโนธรรมสำนึก อย่างที่คุณมองดิฉันและฟังฉัน กรุณาจดจำถึงความจริงที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่บ่อยครั้งว่า มีนักโทษทางมโนธรรมสำนึกหนึ่งคน ก็เป็นหนึ่งคนที่มากเกินพอแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังไม่ได้รับอิสรภาพ พวกเขาเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศของฉันแม้แต่คนเดียว กรุณาจดจำพวกเขาและทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อให้เกิดผลอย่างรีบด่วนที่สุด คือการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข”
ในการกล่าวปาฐกถา ออง ซาน ซูจี กล่าวถึงพรรคการเมืองที่เธอเป็นผู้นำคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อ ประชาธิปไตยและตัวเธอเอง "พร้อมแล้วที่จะดำเนินบทบาทในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ" พร้อมกล่าวว่า มาตรการปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง จะสามารถดำรงอยู่ได้ "ก็ด้วยความร่วมมืออย่างชาญฉลาด" จากกำลังทุกภาคส่วนในประเทศ ได้แก่ "กองทัพ กลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเรา พรรคการเมือง สื่อมวลชน องค์กรประชาสังคม ชุมชนธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดสาธารณะชนทั้งหลาย พวกเราสามารถกล่าวได้ว่าการปฏิรูปจะ ประสบผลก็ต่อเมื่อชีวิตของประชาชนได้รับการปรับปรุง"
ออง ซาน ซูจี ยังกล่าวสนับสนุนให้ชุมชนระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปพม่าด้วย โดยกล่าวว่า "ชุมชนระหว่างประเทศมีบทบาทที่สำคัญ การพัฒนา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ข้อตกลงทวิภาคี และการลงทุน ควรได้รับการร่วมมือและได้รับการชี้วัด เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความเติบโตทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ว่าจะเป็นไปอย่างสมดุล และยั่งยืน"
ในตอนหนึ่งนางออง ซาน ซูจีกล่าวถึง “ภาวะสันติภาพสมบูรณ์” ซึ่งยังเป็น “เป้าหมายที่ยังไม่บรรลุผล” แต่ก็สิ่งที่ต้องเดินทางต่อไปตามเส้นทางนี้ “สายตาของเราจับจ้องอยู่ที่สิ่งนี้ราวกับเราเป็นนักท่องทะเลทรายที่จับต้อง ไปยังดาวนำทาง ที่จะนำเขาไปสู่การรอดชีวิต แม้เราจะไม่บรรลุถึงสันติภาพสมบูรณ์บนโลกนี้ เพราะสันติภาพที่สมบูรณ์ไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ แต่ความมุมานะโดยพื้นฐานจะทำให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่รวมเอาปัจเจกบุคคลแล ชาติต่างๆ ด้วยความความเชื่อมั่นและมีมิตรภาพต่อกัน ช่วยกันทำให้ชุมชนชาวโลกปลอดภัยขึ้นและมีเมตตามากขึ้น”
ในตอนท้ายของการกล่าวปาฐกถา นางออง ซาน ซูจี กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายของพวกเราควรเป็นการสร้างโลกที่ปลอดจากผู้อพยพ คนไร้บ้าน และความสิ้นหวัง โลกทุกๆ ซอกมุมคือที่หลบภัยอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่อาศัยจะได้มีเสรีภาพและวิสัยที่จะอยู่อย่างมีสันติภาพ ทุกๆ ความคิด ทุกๆ ถ้อยคำ ทุกๆ การกระทำ ที่มุ่งไปในทางบวกและในทางกุศลจะเป็นการอุทิศแก่สันติภาพ แต่ละคนและทุกๆ คนของพวกเราจะสามารถทำการอุทิศเช่นว่านี้ได้ พวกเรามาร่วมกันสร้างโลกที่สันติสุขที่ซึ่งพวกเราจะสามารถนอนหลับได้อย่าง ปลอดภัยและตื่นอย่างมีความสุข”
“เมื่อดิฉันได้เข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตยในพม่า สิ่งนั้นไม่เคยเข้ามาอยู่ในใจดิฉันเลยว่าฉันน่าจะได้รับรางวัลหรือเกียรติยศ ใดๆ รางวัลสำหรับสิ่งที่เราได้ทำงานมาก็คือสังคมที่มีความเสรี มั่นคง และยุติธรรม ที่ซึ่งประชาชนของพวกเราสามารถบรรลุถึงศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ เกียรติยศวางอยู่บนความพยายามของพวกเรา ประวัติศาสตร์ได้ให้โอกาสแก่พวกเราในการมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเราเชื่อ เมื่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลเลือกที่จะยกย่องดิฉัน เส้นทางที่ดิฉันเลือกด้วยเสรีภาพจะไม่ใช่เส้นทางที่โดดเดี่ยวอีกต่อไป” นาง ออง ซาน ซูจีกล่าว
ทั้งนี้นางออง ซาน ซูจีกล่าวถึงความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ภายในประเทศและทิ้งท้ายด้วยการกล่าว ว่าการรับรางวัลโน เบลได้เสริมความเข้มแข็งแก่ศรัทธาในการทำงานเพื่อสันติภาพของเธอ
เรียกพม่าว่า "Burma" ตลอดปาฐกถา แต่เลี่ยงพูดเรื่องความขัดแย้งโรฮิงยา-อาระกัน
ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า ปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี เลือกใช้คำเรียกชื่อประเทศพม่าว่า "Burma" ตลอดการกล่าวปาฐกถา ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อประเทศที่ฝ่ายค้านในพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่าใช้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า สภาเพื่อการฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "Burma" เป็น "Myanmar" ในปี 2532 และเป็นชื่อทางการของพม่ามาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การกล่าวปาฐกถาของนางออง ซาน ซูจี ก็ไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงไปยังสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวอาระ กัน ในพื้นที่รัฐอาระกัน เพียงแต่กล่าวโดยทั่วไปในตอนหนึ่งของปาฐกถาว่า “ไฟแห่งความทุกข์ทรมานและไฟแห่งความขัดแย้งกำลังเดือดดาลอยู่รอบโลก ในประเทศของฉัน การประทุษร้ายต่อกันยังคงไม่สิ้นสุดในพื้นที่ทางตอนเหนือ และในภาคตะวันตก ความรุนแรงระหว่างชุมชน ในรูปของการวางเพลิง การฆาตกรรม ได้เกิดขึ้นมาหลายวัน ก่อนที่ดิฉันจะเริ่มการเดินทางที่นำดิฉันมาอยู่ที่นี่ในวันนี้”
โดยการเดินทางเยือนยุโรปในรอบ 25 ปี ของบุตรีของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่าผู้นี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวอาระกันและชาวโรฮิงยา ในพื้นที่รัฐอาระกัน โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่สหประชาชาติได้เตือนถึงเรื่องความยากลำบากที่ผู้อพยพนับพันจากเหตุ จลาจลต้องเผชิญ
ทั้งนี้นับเป็นเวลากว่า 21 ปีที่มีการประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่นางออง ซาน ซูจี แต่เธอไม่สามารถเดินทางมารับรางวัลได้ เนื่องจากถูกกักตัวอยู่ในบริเวณบ้าน โดยในรอบ 24 ปีที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจีถูกกักบริเวณเป็นเวลารวม 15 ปี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวหลังผ่านการเลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน 2553 ได้ 1 สัปดาห์
ทั้งนี้การเดินทางมาเยือนกรุงออสโล ของนางออง ซาน ซูจี เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2531 ทั้งนี้ออง ซาน ซูจีเริ่มต้นการเยือนยุโรปที่กรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมการประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ของสหประชาชาติ
นอกจากนี้หลังการรับรางวัลโนเบล นางออง ซาน ซูจียังมีกำหนดพบกับชุมชนชาวพม่าที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์ด้วย
โดยกำหนดการเยือนยุโรป 2 สัปดาห์ของนางออง ซาน ซูจี เปรียบเสมือนหลักไมล์ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า ทั้งนี้นอกจากสวิสเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์แล้ว นางออง ซาน ซูจีมีกำหนดที่จะไปเยือนอังกฤษ ไอร์แลนด์ และฝรั่งเศสด้วย นับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งที่สอง ภายหลังจากที่ไปเยือนประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
กำหนดการเยือนยุโรปของนางออง ซาน ซูจีหลังจากนี้
15-18 มิ.ย.: เยือนนอร์เวย์ เพื่อกล่าวปาฐกถาภายหลังจากที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 21 ปีที่แล้ว
18 มิ.ย.: เดินทางถึงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์
เพื่อร่วมชมคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นางออง ซาน ซูจี
จากนั้นเดินทางไปอังกฤษ
18 - 25 มิ.ย.: รับปริญญาดุษดีบัณฑิตสาขากฎหมายแพ่ง จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และกล่าวปราศรัยทั้งสองสภาที่ลอนดอน
25 มิ.ย: เดินทางถึงปารีส ฝรั่งเศส
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Aung San Suu Kyi, the 1991 Nobel Peace Prize Laureate Nobel Lecture (Oslo, June 16, 2012) http://nobelpeaceprize.org/en_GB/laureates/laureates-1991/aung-san-2012/
Suu Kyi says Nobel award meant Burma was not forgotten, 16 June 2012 Last updated at 12:22 GMT http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-18464946