บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ประมวลความเห็นนักวิชาการ หลังศาลรธน.รับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา

ที่มา thaifreenews



จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับ 5 คำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา 
ทำให้ต้องชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย. ออกไป
มีความเห็นของนักวิชาการสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตส.ว.ตาก 
การที่ศาลรธน.มีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 
ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 
เพราะเป็นการก้าวก่ายการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ 
ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย 
ตุลาการที่ออกคำสั่งดังกล่าว
จึงมีลักษณะเข้าข่ายที่อาจถูกถอดถอนตามบทบัญญัติมาตรา 270 ได้ 
ฉะนั้น จึงขอเสนอให้มีการรณรงค์เพื่อร่วมกันเข้าชื่อถอดถอนตามกระบวนการที่รธน.บัญญัติไว้
รัฐสภาคือตัวแทนอำนาจสูงสุดของประชาชน 
จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจกนิติบัญญัติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 
ตามหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ 
ซึ่งเราถือเป็นแบบอย่าง เขาถือว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุดตามหลัก Supremacy of Parliament
(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว "พนัส ทัศนียานนท์" อ้างอิงจาก 
เกษียร เตชะพีระ
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภูมิปัญญาชาวบ้าน (ยืมหน่อยนะครับคุณหมอประเวศ) ของศาลรัฐธรรมนูญ
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
ภูมิปัญญาฯ 1) เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้แยกจากกัน ไม่ได้แบ่งฝ่าย
เพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน 
พาลหลงคิดว่าตนเองไม่เพียงแต่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยฝ่ายอื่น 
หากสามารถเอื้อมข้ามเส้นแบ่งอำนาจไปสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามใจชอบซะด้วย 
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เท่ากับละเมิดการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 
แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่เป็นยามพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
กลับมาล่วงละเมิดหลักรัฐธรรมนูญเสียเองอย่างนี้ ... 
จะเหลือหลักอะไรอยู่ในแผ่นดินผืนนี้ของเราอีก
ภูมิปัญญาฯ 2) หลักเสรีประชาธิปไตยเกี่ยวกับกฎหมายมี 2 ประการ คือ 
ก) What the law doesn′t permit, it forbids. และ 
ข) What the law doesn′t forbid, it permits.
หลัก ก) นั้นแปลว่า "กฎหมายอนุญาตจึงทำได้" 
ไม่ให้ทำมาก ไม่ให้ทำเพ่นพ่านซี้ซั้วเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ 
ทำได้เท่าที่กฎหมายบอกให้ทำเท่านั้น 
เอาไว้ใช้บังคับจำกัดกำกับควบคุมองค์กรของรัฐ
ซึ่งมีอำนาจมาก ให้ใช้อำนาจได้เฉพาะที่อนุญาตไว้เท่านั้น
หลัก ข) นั้นแปลว่า "กฎหมายไม่ห้ามจึงทำได้" ส่งเสริมให้ทำมาก 
นึกอะไรสร้างสรรค์ผาดแผลงอยากทำก็ทำไป
ตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ 
อันนี้เอาไว้ใช้กรณีเสรีภาพบุคคล 
เพื่อเปิดช่องส่งเสริมให้บุคคลทำอะไรต่อมิอะไรได้เต็มที่ขอแต่ว่ากฎหมายไม่ได้ห้ามไว้
แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลัก 
ก) สมฐานะบทบาทหน้าที่องค์กรของรัฐ 
แต่การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญหนนี้กลับเคลิ้มคล้อยไปตามหลัก 
ข) ... อย่างนี้ต้องถือว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติผิดฝาผิดตัว 
ใช้อำนาจเกินเลยผิดหน้าที่บทบาทฐานะของตนเอง
ภูมิปัญญาฯ 3) ศาลรัฐธรรมนูญหลงผิดว่ามีอำนาจสั่งการบังคับฝ่ายนิติบัญญัติ 
แต่เอาเข้าจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องละเมิดอำนาจศาล 
ดังนั้นหากเขาไม่ทำตามคำสั่ง ก็ทำอะไรเขาไม่ได้ (ว่ากันตามกฎหมายนะ...) 
ด้านกลับก็คือประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพวิจารณ์คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนี้
ได้เต็มที่โดยชอบแบบ free fire zone!
(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว "เกษียร เตชะพีระ")
ปิยบุตร แสงกนกกุล
นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ส่งผลสะเทือนต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประการคือ
1. ต่อไปนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กุมชะตากรรม
ของ "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ทุกครั้ง
2. ลำดับชั้นของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 
 อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ จะเสียไปทั้งหมด
3. การสั่งให้สภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลย 
แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ 
นั่นหมายความว่า อนาคตอาจมีอีก
"ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 
กลับเป็นองค์กรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วจะทำอย่างไร?" 
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 
นักวิชาการอิสระด้านนิติศาสตร์
ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ 
ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและบรรยายวิชานี้มาก็พอควร 
ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามบทบัญญัติใดตามรัฐธรรมนูญ
ที่จะสามารถออกคำสั่งให้ระงับยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาได้ 
ผมว่ากรณีดังกล่าวส่งผลต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญตามหลักวิชา 
ด้วยความเคารพนะครับ หากศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในคำสั่งดังกล่าว
สิ่งที่ศาลจำต้องอรรถาธิบายให้ได้ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมีอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้
1. นี่เป็นกรณีขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่? 
2. ศาลรัฐธรรมนูญสามารถอธิบายถึงหลักอำนาจสถาปนา
และหลักอำนาจที่ได้รับมอบมาจากรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร?
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 
ท่านอาจารย์พนัสก็ดี อาจารย์เกษียรก็ดี อาจารย์ปิยบุตรก็ดี ได้พูดไปหมดแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น 
"การไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างการแก้ไขเพิ่มเติม
รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ" 
หรือหากจะกล่าวในเชิงหลักการในทางกฎหมายมหาชนพื้นฐานก็คือ 
"หลักไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ" นั่นเอง
สำหรับผม ณ ที่นี้ คงจะขอกล่าวสั้นๆ 
แบบสรุปในเชิงทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ 
(Comparative Constitutional Law) เกี่ยวกับเรื่องอำนาจ
ในการตรวจสอบความชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 
(Competence of the Review of Constitutional Amendments) 
ในกรณีที่ "รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบัญญัติไว้ว่าด้วยการตรวจสอบความชอบ
ด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ดังนี้
1. หากประเทศใดใช้ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบอเมริกัน กล่าวคือ 
ให้ศาลยุติธรรม (ศาลสูงสุด หรือ Supreme Court) 
ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
ก็จะ "มีความเป็นไปได้" ที่ศาลจะเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการบัญญัติไว้ 
ทั้งนี้เนื่องจากว่าในระบบดังกล่าว 
ศาลยุติธรรมมีเขตอำนาจในการรับคดีเป็นการทั่วไป (ทุกประเภท) อยู่แล้ว
2. หากประเทศใดใช้ระบบการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแบบยุโรป กล่าวคือ 
มีศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ Constitutional Court) 
ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
ก็จะ "ไม่มีความเป็นไปได้" ที่ศาลเฉพาะดังกล่าว
จะสามารถเข้ามาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โดยปราศจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุให้อำนาจไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ 
แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมิได้มีการบัญญัติห้ามมิให้ศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ) 
เข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ตาม 
แต่ในรูปแบบยุโรปนี้ ศาลเฉพาะ (ศาลรัฐธรรมนูญ) "หาได้มีเขตอำนาจเป็นการทั่วไป" 
เฉกเช่นเดียวกับระบบอเมริกันไม่ 
หากแต่เป็นรูปแบบของ "เขตอำนาจที่จำกัด หรือเขตอำนาจพิเศษ" (Limited/Special Jurisdiction) 
ที่ "จะต้องมีการบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ" 
ดังนั้น จึงมิอาจที่จะตีความไปว่าศาลเฉพาะดังกล่าวมีอำนาจโดยปริยาย (Implied Power) 
ในการตรวจสอบความชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 
นักกฎหมายอิสระ 
"รัฐสภา" ปฏิเสธคำสั่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้หรือไม่ ?
   
1 มิถุนายน 2555 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้อ้างอำนาจ
ตาม "รัฐธรรมนูญ มาตรา 68" เพื่อรับคำร้องมาวินิจฉัยว่า 
การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยรัฐสภาและบุคคลอื่น
ที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นกรณีที่ศาลจะสั่งการให้ "เลิกการกระทำ" ได้หรือไม่ 
นอกจากนี้ ศาลได้มี "คำสั่ง" ไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อแจ้งให้รัฐสภารอการดำเนินการดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 
โดยข้อมูลจากรายงานข่าวนั้น 
ไม่ชัดเจนว่าศาลได้สั่งไปยัง "สมาชิกรัฐสภา" โดยเจาะจง 
หรือเป็นเพียงการสั่งไปยัง "เลขาธิการ" เพื่อ "แจ้งสภาให้ทราบ" เท่านั้น 
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ผู้เขียนขออาศัยวันเดียวกันเขียนเชิญชวนให้เรา 
โดยเฉพาะ "บรรดาผู้แทนของเรา" ร่วมกันใคร่ครวญว่า "รัฐสภา" 
ในฐานะ "ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทยเพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและตุลาการ" นั้น 
จะสามารถ "ปฏิเสธคำสั่ง" ของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?
ในขั้นแรก รัฐธรรมนูญ ได้กำหนดว่า 
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา..." 
แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า "คำสั่ง" ของศาลนั้น มีผลผูกพันเด็ดขาดต่อรัฐสภาหรือไม่
ในขั้นต่อมา การที่รัฐสภาจะตัดสินใจปฏิเสธหรือปฏิบัติตาม "คำสั่ง" ของศาลหรือไม่นั้น 
รัฐสภาจะต้องปฏิบัติตาม "รัฐธรรมนูญ" อย่างน้อยสี่มาตรา คือ
มาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติว่า ทั้งรัฐสภาและศาล ต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม
มาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจะมาขัดแย้งมิได้
มาตรา 291 (5) บัญญัติให้ รัฐสภามีหน้าที่ต้องพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สาม 
เมื่อพ้น 15 วันหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาวาระที่สอง
และที่สำคัญ คือ มาตรา  122 ซึ่งบัญญัติว่า
"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ 
และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"
ดังนั้น ประเด็นที่ "รัฐสภา" ต้องพิจารณาก็คือ  
หาก "รัฐสภา" ปฎิบัติตาม "คำสั่ง" ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วไซร้ 
จะเกิดผลอะไรต่อบทบัญญัติทั้งสี่มาตราที่กล่าวมานี้ ?
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ หากการปฎิบัติตาม "คำสั่งศาล" ดังกล่าว 
มีผลเป็นการยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
อันเป็นการขัดหลักนิติธรรมทั้งโดยศาลและรัฐสภา 
เป็นการละเมิดกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 
อีกทั้งส่งผลให้ผู้แทนปวงชนชาวตกอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย 
หรือความครอบงำ ของศาลแล้วไซร้ 
รัฐสภาย่อมมี "หน้าที่" ตามรัฐธรรมนูญที่จะปฏิเสธ "คำสั่ง" ดังกล่าว !
หาก "รัฐสภา" สำนึกในหน้าที่ของตนได้ดังนี้ 
ผู้เขียนก็จะขอเสนอคำถามเบื้องต้นที่อาจช่วยตรวจสอบว่า 
"คำสั่ง" ของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่านั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
คำถามแรก: ศาลใช้อำนาจ "เกินกรอบ" มาตรา 68 หรือไม่ ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคแรก บัญญัติว่า 
"บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ 
หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ
ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"
ถ้อยคำของ มาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะการ
กระทำที่เป็นการ
"ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ เท่านั้น 
ซึ่ง "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ย่อมเป็นคนละเรื่องกับ "การใช้อำนาจหน้าที่" เช่น 
การลงมติสนับสนุนหรือเห็นชอบการแก้ไข มาตรา 291
ลักษณะสำคัญของ "การใช้สิทธิเสรีภาพ"  คือ ผู้กระทำได้อ้าง "สิทธิเสรีภาพ"  
เพื่อประโยชน์ของตนตามที่ตนปราถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ 
และจะใช้หรืออ้าง "สิทธิเสรีภาพ" หรือไม่ก็ได้ 
ตัวอย่างการกระทำที่อาจเข้าข่าย มาตรา 68 อาจมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น 
การดำเนินนโยบายพรรคการเมืองเพื่อยุยงให้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ 
หรือ การนัดชุมนุมเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภา
หรือศาลไม่อาจทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 
แต่ "การใช้อำนาจหน้าที่"  นั้น หมายถึง ผู้กระทำมิอาจเลือกได้อย่างอิสระว่า 
ตนจะกระทำหรือไม่กระทำเพื่อประโยชน์ของตนตามที่ปราถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ 
แต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกำหนดให้กระทำไป
เพราะมีอำนาจหน้าที่ต้องกระทำ
หรือต้องใช้ดุลพินิจกระทำไปในฐานะส่วนหนึ่งของกลไลตามรัฐธรรมนูญ 
เช่น การที่สมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติ 
หรือออกเสียงลงคะแนน 
หรือกระทำการอื่นที่เกี่ยวกับการแก้ไข มาตรา 291  ก็ถือเป็น "การใช้อำนาจหน้าที่"  
ซึ่งการใช้ดุลพินิจย่อมไม่อิสระ แต่อยู่ภายใต้ มาตรา 122  กล่าวคือ 
จะอ้างว่ามีเสรีภาพใช้ดุลพินิจเพื่อตนเองหรือผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้ 
และจะสงวนการใช้สิทธิเสรีภาพว่า
ขอละเว้น ไม่รับรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในสภาก็ไม่ได้ เช่นกัน เป็นต้น
ข้อที่สำคัญกว่านั้น คือ
 หากมี "การตีความปะปน" ว่า "การใช้อำนาจหน้าที่" ตามรัฐธรรมนูญ 
กลายเป็น "การใช้สิทธิเสรีภาพ" ตาม มาตรา 68 ไปเสียแล้ว 
ก็จะส่งผลแปลกประหลาด
ทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นองค์กรที่มีเขตอำนาจล้นพ้น 
สามารถรับเรื่องมาวินิจฉัยการใช้อำนาจหน้าที่ได้มากมาย 
เช่น การใช้อำนาจของคณะองคมนตรีในการเสนอชื่อ
ผู้สมควรเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตาม มาตรา 19 
การใช้อำนาจของรัฐสภาในการเห็นชอบการประกาศสงครามตาม  มาตรา 189 
การใช้อำนาจของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา
ในการเลือกผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 204 
ก็อาจล้วนถูกศาลตรวจสอบได้ เป็นต้น
หรือแม้แต่การเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง 
หากมีผู้อ้างว่าเป็นการ "ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ" 
เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ ก็จะกลายเป็นว่า สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลได้ 
โดยไม่ต้องรอให้มีการพิจารณาตามวาระของรัฐสภาเสียด้วยซ้ำ 
และอาจนำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้อีกด้วย ! 
ยิ่งไปกว่านั้น หาก "สิทธิการยื่นคำร้อง" ตามมาตรา 68 ถูกตีความอย่างพร่ำเพรื่อ เช่น 
อ้างอำนาจตุลาการมายับยั้งการใช้ดุลพินิจของผู้แทนปวงชนได้ทุกกรณีแล้วไซร้ 
"สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" นี้เอง
อาจกลับกลายมาถูกนำมาใช้ในทางที่เป็น "ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ" 
ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อหลักการใช้สิทธิตาม มาตรา 28 อีกด้วย
(อนึ่ง ผู้เขียนน้อมรับหากมีผู้เห็นต่างเรื่องสิทธิหน้าที่
ตามรัฐธรรมนูญและการแยกแยะสถานะของ "เอกชน" และ "รัฐ" 
ซึ่งก็หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนในทางวิชาการต่อไป)
คำถามที่สอง: ศาลใช้อำนาจ "ข้ามขั้นตอน" อัยการสูงสุดหรือไม่ ?
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า 
"ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง 
ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง
และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว 
แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว"
ศาลตีความว่า 
ผู้ที่จะนำคดีมาสู่ศาล จะเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้ 
หรือ จะยื่นคำร้องเองโดยตรงต่อศาลเลยก็ได้ 
ดังนั้น ศาลจึงรับคำร้องได้โดยไม่ต้องรออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน 
คำถามก็คือ การตีความที่ว่านี้ ขัดต่อทั้งถ้อยคำและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 
อีกทั้งสร้างผลประหลาดตามมาหรือไม่ 
หากพิจารณาถ้อยคำ มาตรา 68 ว่า 
"มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง
และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" 
การตีความของศาลทำให้เกิดปัญหาทางภาษาอย่างน้อย 2 ระดับ 
ระดับแรก คือ เสมือนศาลได้แทนคำว่า "และ" ด้วยคำว่า "หรือ" 
และระดับที่สอง คือ ศาลได้ใช้ตรรกะภาษาที่ตีความขัดกับรูปประโยค 
เพราะหากศาลมองคำว่า "และ" ให้แปลว่า "หรือ" 
ก็จะเท่ากับว่า รูปประโยคไม่ได้ให้อำนาจ "อัยการสูงสุด" เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล
หากพิจารณาในแง่เจตนารมณ์ จะเห็นว่า "อัยการสูงสุด" มีบทบาทจำเป็นในการกรองคดี 
เพราะศาลไม่มีทรัพยากรที่จะไปตรวจสอบหรือสืบสวนการ "ล้มล้างการปกครองฯ..." 
ซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงและพฤติกรรมที่ต้องอาศัยพยานหลักฐานจำนวนมาก 
เห็นได้จาก คดีอื่นในทางมหาชน เช่น 
คดีทุจริต หรือ คดีพรรคการเมือง ก็จะมี อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต. เป็นผู้นำคดีมาสู่ศาล 
หรือ หากเป็นคดีที่ฟ้องตรงได้ต่อศาล 
ก็จะต้องเป็นกรณีที่วินิจฉัยข้อกฎหมายและมีข้อจำกัดในเรื่องผู้มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล 
อีกทั้งป้องกันการกล่าวอ้างสารพัดมาเพื่อสร้างภาระคดีต่อศาลโดยตรง
การให้ความสำคัญกับอัยการสูงสุด ยังปรากฏหลักฐานจาก 
"รายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ" ครั้งที่ 27/2550 เช่น 
คำอภิปรายโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในหน้าที่ 6-8 
และนายจรัญ ภักดีธนากุล (ผู้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้) ในหน้าที่ 32-34 
ซึ่งอภิปรายถึงการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้นำคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ 
และไม่ได้กล่าวถึงการให้สิทธิบุคคลอื่นยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลแต่อย่างใด ( http://bit.ly/Mg9kLY )
นอกจากนี้ การตีความของศาลก็ส่งผลประหลาด คือ 
ทำให้บทบาทของ "อัยการสูงสุด" ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลนั้นไร้ความหมาย 
เพราะหากผู้ใดจะนำคดีไปสู่ศาล ก็ย่อมยื่นต่อศาลโดยไม่เสนอเรื่องผ่านอัยการ 
และหากผู้อื่นเสนอเรื่องเดียวกันให้อัยการในเวลาเดียวกัน 
ก็จะเกิดคำถามตามมาว่าอัยการต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปหรือไม่ 
เพราะศาลได้รับคำร้องเรื่องเดียวกันจากผู้อื่นที่ยื่นตรงต่อศาลไปแล้ว 
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ มาตรา 68 
ให้ศาลมีอำนาจ "ยุบพรรคการเมือง" หรือ "ตัดสิทธิทางการเมือง" ก็คือ
การให้ตุลาการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ 
โดยมี "อัยการ" เป็นกลไกในการกรองคดี 
แต่หากศาลตีความเพิ่มอำนาจให้ตนเองได้อย่างกว้างขวางแล้ว 
ก็จะเป็นช่องทางให้มีผู้ใช้ตุลาการเป็นอาวุธทางการเมือง 
ซึ่งก็จะกลับมาทำร้ายตุลาการในที่สุด
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธเลยว่าการแก้ไข มาตรา 291 มีปัญหาและความไม่สง่างามหลายประการ 
แต่นั่นคือปัญหาที่รัฐสภาเสียงข้างมากต้องรับผิดชอบทางการเมือง และประชาชน
ก็ต้องจ่ายราคาของประชาธิปไตยที่จะอดทนเรียนรู้และตัดสินใจได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป 
แต่ประชาชนจะไม่มีวันเรียนรู้โดยตัวเองเลย 
หากเราปล่อยให้มีเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนำมาตรฐานจริยธรรม
และความพึงพอใจทางการเมืองส่วนตนมาลากประชาชนไปสู่ทางออกที่ตนยังไม่ทันได้เข้าใจ
ดังนั้น หาก "รัฐสภา" พิจารณาได้ว่า "คำสั่ง" ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น 
เป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 
ไม่ว่าจะเป็นเพราะ "เกินกรอบ" และ "ข้ามขั้นตอน" ตามตามที่อธิบายมาก็ดี 
หรือ เพราะขัดหลักนิติธรรม หรือหลักการแบ่งแยกอำนาจ 
หรือ หลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็ดี 
(หรือสภาเห็นช่องทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เรื่องการอนุโลมกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลกำหนดขึ้นเอง 
"ระหว่างรอกฎหมาย" จากรัฐสภาก็ดี!) 
"รัฐสภา" ย่อมมี "หน้าที่" ที่จะต้องปฎิเสธและไม่ปฏิบัติตาม "คำสั่ง" ดังกล่าว 
เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทนปวงชนชาวไทย 
อีกทั้งต้องร่วมต่อต้าน ดำเนินการตรวจสอบ 
รวมทั้งพิจารณาถอดถอนผู้ใดที่จงใจใช้อำนาจนอกวิถีรัฐธรรมนูญ 
แต่หากประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาปฏิบัติ
ตาม  "คำสั่ง"  อันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกทั้งยัง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" 
เมื่อพ้นเวลา 15 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วไซร้ 
ก็พึงสังวรว่า กลับเป็นประธานและสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ 
ที่ร่วมลงมือละเมิดรัฐธรรมนูญของประชาชน และอาจต้องโทษอาญาเสียเอง

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker