บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อิศรา: "รัฐสภา" ปฏิเสธคำสั่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ"ได้หรือไม่ ?

ที่มา Thai E-News

 โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 
ที่มา สำนักข่าวอิศรา
วันเสาร์ที่ 02 มิถุนายน 2012 เวลา 11:35 น. 




1 มิถุนายน 2555 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้อ้างอำนาจตาม “รัฐธรรมนูญ มาตรา 68” เพื่อรับคำร้องมาวินิจฉัยว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยรัฐสภาและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นกรณีที่ศาลจะสั่งการให้ “เลิกการกระทำ” ได้หรือไม่ 


นอก จากนี้ ศาลได้มี “คำสั่ง” ไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแจ้งให้รัฐสภารอการดำเนินการดังกล่าวจน กว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย โดยข้อมูลจากรายงานข่าวนั้น ไม่ชัดเจนว่าศาลได้สั่งไปยัง “สมาชิกรัฐสภา” โดยเจาะจง หรือเป็นเพียงการสั่งไปยัง “เลขาธิการ” เพื่อ “แจ้งสภาให้ทราบ” เท่านั้น (http://on.fb.me/LQrM7w )


ไม่ ว่าจะเป็นกรณีใด ผู้เขียนขออาศัยวันเดียวกันเขียนเชิญชวนให้เรา โดยเฉพาะ “บรรดาผู้แทนของเรา” ร่วมกันใคร่ครวญว่า “รัฐสภา” ในฐานะ “ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนปวงชนชาวไทยเพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารและ ตุลาการ” นั้น จะสามารถ “ปฏิเสธคำสั่ง” ของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?


ใน ขั้นแรก รัฐธรรมนูญ ได้กำหนดว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา...” แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า “คำสั่ง” ของศาลนั้น มีผลผูกพันเด็ดขาดต่อรัฐสภาหรือไม่


ใน ขั้นต่อมา การที่รัฐสภาจะตัดสินใจปฏิเสธหรือปฏิบัติตาม “คำสั่ง” ของศาลหรือไม่นั้น รัฐสภาจะต้องปฏิบัติตาม “รัฐธรรมนูญ” อย่างน้อยสี่มาตรา คือ


มาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติว่า ทั้งรัฐสภาและศาล ต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม


มาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจะมาขัดแย้งมิได้


มาตรา 291 (5) บัญญัติให้ รัฐสภามีหน้าที่ต้องพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สาม เมื่อพ้น 15 วันหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาวาระที่สอง


และที่สำคัญ คือ มาตรา 122 ซึ่งบัญญัติว่า


“สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความ ผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”


ดัง นั้น ประเด็นที่ “รัฐสภา” ต้องพิจารณาก็คือ หาก “รัฐสภา” ปฎิบัติตาม “คำสั่ง” ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วไซร้ จะเกิดผลอะไรต่อบทบัญญัติทั้งสี่มาตราที่กล่าวมานี้ ?


กล่าว อย่างตรงไปตรงมาก็คือ หากการปฎิบัติตาม “คำสั่งศาล” ดังกล่าว มีผลเป็นการยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นการขัดหลักนิติธรรมทั้งโดยศาลและรัฐสภา เป็นการละเมิดกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อีกทั้งส่งผลให้ผู้แทนปวงชนชาวตกอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำ ของศาลแล้วไซร้ รัฐสภาย่อมมี “หน้าที่” ตามรัฐธรรมนูญที่จะปฏิเสธ “คำสั่ง” ดังกล่าว !


หาก “รัฐสภา” สำนึกในหน้าที่ของตนได้ดังนี้ ผู้เขียนก็จะขอเสนอคำถามเบื้องต้นที่อาจช่วยตรวจสอบว่า “คำสั่ง” ของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่านั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่


คำถามแรก: ศาลใช้อำนาจ “เกินกรอบ” มาตรา 68 หรือไม่ ?


รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคแรก บัญญัติว่า 


“บุคคล จะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”


ถ้อย คำของ มาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะการกระทำที่เป็นการ “ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ เท่านั้น ซึ่ง “การใช้สิทธิเสรีภาพ” ย่อมเป็นคนละเรื่องกับ “การใช้อำนาจหน้าที่” เช่น การลงมติสนับสนุนหรือเห็นชอบการแก้ไข มาตรา 291


ลักษณะสำคัญของ “การใช้สิทธิเสรีภาพ” คือ ผู้กระทำได้อ้าง “สิทธิเสรีภาพ” เพื่อประโยชน์ของตนตามที่ตนปราถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ และจะใช้หรืออ้าง “สิทธิเสรีภาพ” หรือไม่ก็ได้ ตัวอย่างการกระทำที่อาจเข้าข่าย มาตรา 68 อาจมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การดำเนินนโยบายพรรคการเมืองเพื่อยุยงให้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ การนัดชุมนุมเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรี รัฐสภาหรือศาลไม่อาจทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 


แต่ “การใช้อำนาจหน้าที่” นั้น หมายถึง ผู้กระทำมิอาจเลือกได้อย่างอิสระว่า ตนจะกระทำหรือไม่กระทำเพื่อประโยชน์ของตนตามที่ปราถนาโดยปลอดจากสภาพบังคับ แต่เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกกำหนดให้กระทำไปเพราะมีอำนาจหน้าที่ต้องกระทำหรือ ต้องใช้ดุลพินิจกระทำไปในฐานะส่วนหนึ่งของกลไลตามรัฐธรรมนูญ 


เช่น การที่สมาชิกรัฐสภาจะเสนอญัตติ หรือออกเสียงลงคะแนน หรือกระทำการอื่นที่เกี่ยวกับการแก้ไข มาตรา 291 ก็ถือเป็น “การใช้อำนาจหน้าที่” ซึ่งการใช้ดุลพินิจย่อมไม่อิสระ แต่อยู่ภายใต้ มาตรา 122 กล่าวคือ จะอ้างว่ามีเสรีภาพใช้ดุลพินิจเพื่อตนเองหรือผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้ และจะสงวนการใช้สิทธิเสรีภาพว่าขอละเว้น ไม่รับรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ในสภาก็ไม่ได้ เช่นกัน เป็นต้น


ข้อที่สำคัญกว่านั้น คือ หากมี “การตีความปะปน” ว่า “การใช้อำนาจหน้าที่” ตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็น “การใช้สิทธิเสรีภาพ” ตาม มาตรา 68 ไปเสียแล้วก็จะส่งผลแปลกประหลาดทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นองค์กรที่มีเขตอำนาจล้นพ้น สามารถรับเรื่องมาวินิจฉัยการใช้อำนาจหน้าที่ได้มากมาย


เช่น การใช้อำนาจของคณะองคมนตรีในการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ตาม มาตรา 19 การใช้อำนาจของรัฐสภาในการเห็นชอบการประกาศสงครามตาม  มาตรา 189 การใช้อำนาจของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในการเลือกผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 204 ก็อาจล้วนถูกศาลตรวจสอบได้ เป็นต้น


หรือ แม้แต่การเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง หากมีผู้อ้างว่าเป็นการ “ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” เพื่อล้มล้างการปกครอง...ฯ ก็จะกลายเป็นว่า สามารถถูกตรวจสอบโดยศาลได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการพิจารณาตามวาระของรัฐสภาเสียด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้อีกด้วย ! 


ยิ่ง ไปกว่านั้น หาก “สิทธิการยื่นคำร้อง” ตามมาตรา 68 ถูกตีความอย่างพร่ำเพรื่อ เช่น อ้างอำนาจตุลาการมายับยั้งการใช้ดุลพินิจของผู้แทนปวงชนได้ทุกกรณีแล้วไซร้ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นี้เองอาจกลับกลายมาถูกนำมาใช้ในทางที่เป็น “ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ” ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อหลักการใช้สิทธิตาม มาตรา 28 อีกด้วย


(อนึ่ง ผู้เขียนน้อมรับหากมีผู้เห็นต่างเรื่องสิทธิหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและการแยก แยะสถานะของ “เอกชน” และ “รัฐ” ซึ่งก็หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนในทางวิชาการต่อไป)


คำถามที่สอง: ศาลใช้อำนาจ “ข้ามขั้นตอน” อัยการสูงสุดหรือไม่ ?


รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า 


“ใน กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดัง กล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”


ศาล ตีความว่า ผู้ที่จะนำคดีมาสู่ศาล จะเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดให้ยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้ หรือ จะยื่นคำร้องเองโดยตรงต่อศาลเลยก็ได้ ดังนั้น ศาลจึงรับคำร้องได้โดยไม่ต้องรออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน 


คำถามก็คือ การตีความที่ว่านี้ ขัดต่อทั้งถ้อยคำและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสร้างผลประหลาดตามมาหรือไม่ 


หาก พิจารณาถ้อยคำ มาตรา 68 ว่า “มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาล รัฐธรรมนูญวินิจฉัย” การตีความของศาลทำให้เกิดปัญหาทางภาษาอย่างน้อย 2 ระดับ ระดับแรก คือ เสมือนศาลได้แทนคำว่า “และ” ด้วยคำว่า “หรือ” และระดับที่สอง คือ ศาลได้ใช้ตรรกะภาษาที่ตีความขัดกับรูปประโยค เพราะหากศาลมองคำว่า “และ” ให้แปลว่า “หรือ” ก็จะเท่ากับว่า รูปประโยคไม่ได้ให้อำนาจ “อัยการสูงสุด” เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล


หาก พิจารณาในแง่เจตนารมณ์ จะเห็นว่า “อัยการสูงสุด” มีบทบาทจำเป็นในการกรองคดี เพราะศาลไม่มีทรัพยากรที่จะไปตรวจสอบหรือสืบสวนการ “ล้มล้างการปกครองฯ...” ซึ่งอาจมีข้อเท็จจริงและพฤติกรรมที่ต้องอาศัยพยานหลักฐานจำนวนมาก เห็นได้จาก คดีอื่นในทางมหาชน เช่น คดีทุจริต หรือ คดีพรรคการเมือง ก็จะมี อัยการ ป.ป.ช. หรือ กกต. เป็นผู้นำคดีมาสู่ศาล หรือ หากเป็นคดีที่ฟ้องตรงได้ต่อศาล ก็จะต้องเป็นกรณีที่วินิจฉัยข้อกฎหมายและมีข้อจำกัดในเรื่องผู้มีสิทธินำคดี มาสู่ศาล อีกทั้งป้องกันการกล่าวอ้างสารพัดมาเพื่อสร้างภาระคดีต่อศาลโดยตรง


การให้ความสำคัญกับอัยการสูงสุด ยังปรากฏหลักฐานจาก “รายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ 27/2550 เช่น คำอภิปรายโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในหน้าที่ 6-8 และนายจรัญ ภักดีธนากุล (ผู้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้) ในหน้าที่ 32-34 ซึ่งอภิปรายถึงการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้นำคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้กล่าวถึงการให้สิทธิบุคคลอื่นยื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลแต่อย่างใด ( http://bit.ly/Mg9kLY )


นอก จากนี้ การตีความของศาลก็ส่งผลประหลาด คือ ทำให้บทบาทของ “อัยการสูงสุด” ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลนั้นไร้ความหมาย เพราะหากผู้ใดจะนำคดีไปสู่ศาล ก็ย่อมยื่นต่อศาลโดยไม่เสนอเรื่องผ่านอัยการ และหากผู้อื่นเสนอเรื่องเดียวกันให้อัยการในเวลาเดียวกัน ก็จะเกิดคำถามตามมาว่าอัยการต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปหรือไม่ เพราะศาลได้รับคำร้องเรื่องเดียวกันจากผู้อื่นที่ยื่นตรงต่อศาลไปแล้ว 


ยิ่ง ไปกว่านั้น การที่ มาตรา 68 ให้ศาลมีอำนาจ “ยุบพรรคการเมือง” หรือ “ตัดสิทธิทางการเมือง” ก็คือการให้ตุลาการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมี “อัยการ” เป็นกลไกในการกรองคดี แต่หากศาลตีความเพิ่มอำนาจให้ตนเองได้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็จะเป็นช่องทางให้มีผู้ใช้ตุลาการเป็นอาวุธทางการเมือง ซึ่งก็จะกลับมาทำร้ายตุลาการในที่สุด


บทสรุปและข้อเสนอแนะ


ผู้ เขียนไม่ปฏิเสธเลยว่าการแก้ไข มาตรา 291 มีปัญหาและความไม่สง่างามหลายประการ แต่นั่นคือปัญหาที่รัฐสภาเสียงข้างมากต้องรับผิดชอบทางการเมือง และประชาชนก็ต้องจ่ายราคาของประชาธิปไตยที่จะอดทนเรียนรู้และตัดสินใจได้ดี ขึ้นในครั้งต่อไป แต่ประชาชนจะไม่มีวันเรียนรู้โดยตัวเองเลย หากเราปล่อยให้มีเสียงข้างน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนำมาตรฐานจริยธรรม และความพึงพอใจทางการเมืองส่วนตนมาลากประชาชนไปสู่ทางออกที่ตนยังไม่ทันได้ เข้าใจ


ดัง นั้น หาก “รัฐสภา” พิจารณาได้ว่า “คำสั่ง” ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ “เกินกรอบ” และ “ข้ามขั้นตอน” ตามตามที่อธิบายมาก็ดี หรือ เพราะขัดหลักนิติธรรม หรือหลักการแบ่งแยกอำนาจ หรือ หลักอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็ดี (หรือสภาเห็นช่องทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการอนุโลมกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่งที่ศาลกำหนดขึ้นเอง “ระหว่างรอกฎหมาย” จากรัฐสภาก็ดี!) “รัฐสภา” ย่อมมี “หน้าที่” ที่จะต้องปฎิเสธและไม่ปฏิบัติตาม “คำสั่ง” ดังกล่าว เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทนปวงชนชาวไทย อีกทั้งต้องร่วมต่อต้าน ดำเนินการตรวจสอบ รวมทั้งพิจารณาถอดถอนผู้ใดที่จงใจใช้อำนาจนอกวิถีรัฐธรรมนูญ 


แต่ หากประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาปฏิบัติตาม “คำสั่ง” อันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อีกทั้งยัง “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” เมื่อพ้นเวลา 15 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วไซร้ ก็พึงสังวรว่า กลับเป็นประธานและสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ ที่ร่วมลงมือละเมิดรัฐธรรมนูญของประชาชน และอาจต้องโทษอาญาเสียเอง 


อ่านเพิ่ม
อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ เสนอให้ล่ารายชื่อ ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาผิดมาตรา 270 ได้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker