Sun, 2012-07-08 00:54
นับเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยนัก หลังเนปาลยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551 โดยอดีตกษัตริย์คยาเนนทรายืนยันว่าไม่ต้องการมีบทบาททางการเมือง แต่ต้องการมีบทบาทเชิงพิธีการ
อดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังรัฐสภาเนปาลลงมติเมื่อปี 2551 ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ (ที่มา: nepaldemocracy.org/แฟ้มภาพ)
อดีตกษัตริย์เนปาลให้สัมภาษณ์ว่าต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ
สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่าอดีตกษัตริย์คยาเนนทรา ของเนปาลซึ่งสละราชสมบัติแล้ว กล่าวเป็นครั้งแรกว่าพระองค์ต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ
โดยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 พระองค์กล่าวว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้ทำข้อตกลงไว้กับพรรคการเมืองว่าเขาจะเป็นกษัติรย์ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ แต่รัฐบาลได้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551
โดยอดีตกษัตริย์เนปาลกล่าวว่า พระองค์ไม่ต้องการมีบทบาททางการเมืองเนปาล แต่ต้องการมีบทบาทในทางพิธีการ
ความเคลื่อนไหวของกษัตริย์เนปาล เกิดขึ้นในขณะที่เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบล่าสุดในเนปาล เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศยุบสภาเนื่องจากล้มเหลวในการเห็นชอบรัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทำให้เนปาลมีสภาพอยู่ในสุญญากาศทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวบีบีซี จอห์น นารายาน ปาราจูลี ซึ่งประจำที่กรุงกาฐมาณฑุ กล่าวว่า ชาวเนปาลโดยทั่วไปต่างไม่พอใจในความล้มเหลวของบรรดานักการเมืองในการทำ เรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น ปัญหาการว่างงาน
เขากล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องไม่แน่ชัด ที่หลายต่อหลายคนในเนปาลจะเห็นว่าการกลับมาของกษัตริย์ แม้แต่กลับมามีบทบาทเฉพาะในทางพิธีการ จะเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี
ในการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก คยาเนนทรา ชาห์ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 ว่า เขาถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงกับฝ่ายค้านในปี 2549 ไม่กี่สัปดาห์หลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาล อดีตกษัตริย์คยาเนนทรา กล่าวว่า "ข้อตกลงนี้รวมไปถึงการรื้อฟื้นสภาที่ถูกยุบไปด้วย และรวมทั้งการตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง"
อดีตกษัตริย์กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองเหล่านี้จะต้องตอบให้ได้ถึงพฤติกรรมของพวกเขา
จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบสาธารณรัฐ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2551 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลที่มาจากการเลือกตั้งลงมติให้เนปาลเป็น สาธารณรัฐด้วยมติเห็นชอบ 560 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 601 คน โดยมีผู้คัดค้าน 4 คน
โดยก่อนหน้านี้กษัตริย์คยาเนนทราได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2544 หลังกษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชินีอิชวายาร์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 10 พระองค์ในการ "สังหารโหดในพระราชวัง" โดยเจ้าชายดิเพนทราพระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
ต่อมาในปี 2548 กษัตริย์คยาเนนทราได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและเปลี่ยนปกครองจากระบอบ ประชาธิปไตยรัฐสภา ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทน โดยกษัตรย์คยาเนนทราให้เหตุผลการยึดอำนาจว่าต้องการปราบกบฎเหมาอิสต์ แต่ทันทีที่พระองค์ยึดอำนาจ ได้เริ่มจับกุมฝ่ายต่อต้าน ขณะที่พระองค์ต้องต่อสู้กับฝ่ายกบฎเหมาอิสต์ที่นับวันก็กล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นในเนปาล
ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2549 เกิดการประท้วงกษัตริย์คยาเนนทราอย่างขนานใหญ่เพื่อเรียกร้องให้คืนการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลังจากพระองค์ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน กบฎเหมาอิสต์ก็ยุติสงครามกลางเมืองและร่วมกระบวนสันติภาพกับบรรดาพันธมิตร พรรคการเมืองทั้ง 7 ในสภา และในเดือนเมษายนปี 2551 ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ก็ได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้ง และมีการลงมติให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐในเดือนพฤษภาคมปี 2551