ขบวนประชาธิปไตยก็คือนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ผ่านสมรภูมินองเลือดเมษายน-พฤษภาคม 2553 มา แล้ว พวกเขาจึงมีทั้งขวัญ กำลังใจ และประสบการณ์ ปราศจากความหวั่นเกรงต่อภัยคุกคามที่อยู่เบื้องหน้า พร้อมที่จะต่อสู้และเสียสละอย่างยืดเยื้อยาวนาน
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ที่มา “โลกวันนี้วันสุข”
6 กรกฎาคม 2555
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ว่าด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนสำคัญที่แสดงว่า
การรุกทางยุทธศาสตร์ครั้งล่าสุดของฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมได้เริ่มขึ้นแล้ว
พวกเขาได้หันมาใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย จนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พวกเขายิ่งทำ ก็ยิ่งโจ่งแจ้ง
ไร้ยางอาย เป็นที่ประจักษ์สายตาแก่ประชาชนทั่วไป
พวกจารีตนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับฝ่ายประชาธิปไตยมาแล้วห้าครั้ง
ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 จนถึงพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้ง 3
กรกฎาคม 2554 ที่พวกเขาเชื่อว่า
จะสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่กลับประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
จึงเป็นที่ชัดเจนว่า สนามเลือกตั้งได้กลายเป็นสนามหลักของฝ่ายประชาธิปไตยไปแล้ว
พวกเขาไม่มีทางที่จะเอาชนะฝ่ายประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งได้ในอนาคตอันใกล้
พวกจารีตนิยมจึงยังคงใช้วิธีการเดิมที่ทำสำเร็จมาแล้วทุกครั้งตลอดหลายสิบปีมานี้
คือการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี โจมตีผ่านสื่อกระแสหลัก
สนับสนุนอันธพาลการเมืองออกมาก่อจลาจลบนท้องถนน ให้นักวิชาการและเนติบริกรออกมาทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
ให้พรรคประชาธิปัตย์ก่อความวุ่นวายทั้งในและนอกสภา ทั้งหมดเพื่อให้รัฐบาลอ่อนเปลี้ยเสียขวัญ
ไม่สามารถควบคุมสั่งการระบบราชการ ไม่อาจทำงานบริหารต่อไปไม่ได้ กลายเป็น
“รัฐบาลเป็ดง่อย” แล้วท้ายสุดคือ ให้ทหารก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลในที่สุด
นับแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายเผด็จการก็ได้มีนวัติกรรมใหม่เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญคือ
การใช้ตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเริ่มมีขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมึอทางการเมืองทำร้ายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ จงใจสร้างวิกฤตทางกฎหมายที่ไม่มีทางออก
ก่อเป็นสถานการณ์สุกงอมที่นำไปสู่การแทรกแซงโดยกองทัพ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นอาจเพียงแต่นำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย
(และพรรคร่วมรัฐบาล) แต่ยังไม่อาจโค่นล้มรัฐบาลได้
เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ฉะนั้น ขั้นตอนต่อไปคือ
การใช้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่มากมาย ทำลายนายกรัฐนมนตรี คณะรัฐมนตรี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอาจไปถึงสส.และสมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดอีกด้วย
เป็นการทำลายทั้งรัฐบาลและรัฐสภาไปพร้อมกัน ซึ่งก็คือ ใช้อำนาจตุลาการก่อ
“รัฐประหารเงียบ” ทำลายอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นกระบวนการ
คำถามคือ ในการรุกใหญ่ครั้งนี้
ฝ่ายจารีตนิยมหมายมุ่งเพียงการเปลี่ยนรัฐบาล
อุ้มสมให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง
ดังเช่นที่ทำมาแล้วกับรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2551 หรือพวกเขามีเป้าหมาย “สูงไปกว่านั้น”?
คำตอบขึ้นอยู่กับว่า
ในการรุกคราวนี้ เป้าหมายของฝ่ายเผด็จการอยู่ที่ไหน?
ถ้าเป้าหมายอยู่เพียงแค่การทำลายพลังทางการเมืองในระบบเลือกตั้งของพ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2551 พวกเขาก็จะทำลายแต่เพียงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย
แต่ยังรักษาสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ แล้วบีบให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนและพรรคร่วมรัฐบาล
“ย้ายขั้ว” มาร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้จำนวนคะแนนเสียงในสภามากพอที่จะไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่
แต่การรุกใหญ่ของพวกจารีตนิยมในครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งในอดีต
คือไม่ได้มีเป้าหมายอยู่เพียงที่พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เป้าหมายที่แท้จริงในครั้งนี้คือ
การทำลายล้างขบวนการคนเสื้อแดง!
บทเรียนสำคัญคือ
ความล้มเหลวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ใช้กลไกรัฐและมาตรการต่าง ๆ ทั้งแจกสินบนและข่มขู่
ไปสลายขบวนคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง จนถึงการสังหารหมู่เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2554 แต่ก็ไม่อาจทำลายขบวนคนเสี้อแดงลงได้
ข้อจำกัดของระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ 2550 คือ
ไม่สามารถใช้กำลังรุนแรงทำลายล้างขบวนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
ได้
เพราะในระบอบรัฐธรรมนูญที่ยังอ้างหลักนิติรัฐอยู่นั้น
รัฐบาลถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง
ๆ รวมทั้งการมีอยู่ของพรรคฝ่ายค้านในสภา
เหล่านี้เป็นปัจจัยขัดขวางที่จำกัดการใช้กำลังรุนแรงต่อประชาชนให้อยู่ในขอบ
เขตที่กฎหมายเปิดช่องไว้ให้เท่านั้น
ฉะนั้น
ในการรุกใหญ่ครั้งนี้ จะไม่เป็นเพียงการทำลายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
แล้วอุ้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาแทนที่ภายในระบบเลือกตั้งตามปกติของ
รัฐธรรมนูญ 2550 แต่จะเป็นการนำไปสู่ระบอบการปกครองเผด็จการอย่างเปิดเผย
เปิดโอกาสให้มีการปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ ทั้งด้วยกำลังทหารและกองกำลังติดอาวุธนอกระบบที่พวกเขาได้จัดตั้งรอไว้แล้ว
โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญในยามสันติอีกต่อไป
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะเลือกเส้นทางยอมจำนน
ประจบเอาใจ หวังรอ “ความเมตตา” จากพวกจารีตนิยมสักเพียงใดก็ตาม แกนนำพรรคเพื่อไทยแก้ตัวตลอดมาว่า
การประนีประนอมก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งขั้นรุนแรงและการนองเลือดของประชาชน
แต่ถึงกระนั้น การปะทะรุนแรงและการนองเลือดก็เกิดขึ้นอยู่ดี ดังเช่นเมื่อเมษายน-พฤษภาคม
2554
และก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเบื้องหน้านี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในความสูญเสียของประชาชนได้
เพราะการที่พรรคเพื่อไทยดำเนินแนวทางยอมจำนน ก็คือการปล่อยให้ขบวนประชาชนต้องตกอยู่ในสถานะโดดเดี่ยว
และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เอื้อให้ฝ่ายเผด็จการสามารถดำเนินแผนตามขั้นตอน ไปสู่การสูญเสียของประชาชนนั่นเอง
ในการนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยก็คือ ผู้ที่ยืนตัวสั่นงันงก มองดูการปราบปรามประชาชนอยู่ต่อหน้า
อ้างเรื่อง “ปรองดอง” “หลีกเลี่ยงความรุนแรง” มาปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งปวง
ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ใหม่
ในเบื้องต้น พวกเขาอาจประสบความสูญเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แต่ขบวนประชาธิปไตยก็คือนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ผ่านสมรภูมินองเลือดเมษายน-พฤษภาคม
2553 มาแล้ว พวกเขาจึงมีทั้งขวัญ กำลังใจ
และประสบการณ์ ปราศจากความหวั่นเกรงต่อภัยคุกคามที่อยู่เบื้องหน้า
พร้อมที่จะต่อสู้และเสียสละอย่างยืดเยื้อยาวนาน
เพื่อไปสู่ชัยชนะของประชาธิปไตยในที่สุด
***********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:ไม่ตลกขอเถอะวสันต์เลิกด้านแล้ว เฉดหัวตามจรัญซะ
***********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:ไม่ตลกขอเถอะวสันต์เลิกด้านแล้ว