Fri, 2012-07-20 20:00
(ซ้ายไปขวา) ณัฏฐา โกมลวาทิน-ปาลพล รอดลอยทุกข์ -รสชงพร โกมลเสวิน-มาลี บุญศิริพันธ์
รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ รักษาการประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า ไทยพีบีเอสมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ และยังต้องพัฒนาต่ออีกเยอะ โดยต้องคงการนำเสนอเนื้อหาที่มีสาระ ขณะเดียวกันต้องมีเทคนิคที่ดึงดูดใจผู้ชม รวมถึงทำให้คนเข้าใจความเป็นสื่อสาธารณะโดยเริ่มจากภายในองค์กรก่อน
มาลีกล่าวว่า ในด้านความก้าวหน้านั้น ไทยพีบีเอสมีกลไกรับฟังความเห็นของประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานในการปรับปรุงรายการ มีคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนกรณีปัญหาจริยธรรม และในวันนี้ที่มีคนแสดงความเห็น จากอารมณ์และบรรยากาศที่ออกมา ก็เข้าใจได้ว่าเขามองว่าตัวเองเป็นเจ้าของไทยพีบีเอสด้วย จึงอยากเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้น
ต่อข้อวิจารณ์เรื่องสวัสดิการหรือการซื้อตัวที่เป็นกระแสอยู่ มาลีกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสังคมไทยนั้นซื้อกันง่ายๆ บางครั้งผลิตคนออกมาดีมาก แต่สุดท้ายเขาก็ไป แม้จะไม่ได้มีปัญหาอะไรกันก็ตาม ทั้งนี้ 5 ปีนี้ไทยพีบีเอสอยู่ในกระบวนการสร้างดีเอ็นเอของตัวเอง
"สวัสดิการของเราไม่แพ้ที่อื่น เงินเดือนก็เยอะด้วย เขาอยู่ได้ ถ้าเขายังคิดจะไปอีก ดิฉันก็คิดว่าก็ต้องปล่อยให้ไป เพราะดีเอ็นเอไม่มี อาจจะอยู่แล้วเขาจะทุกข์ใหญ่" มาลีกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะลดลง ที่ผ่านมาอาจยังฝังเข็มหมุดไม่ลึกเท่าที่ควร ตอนนี้อยู่ระหว่างฝังเข็มหมุดที่ลึกจริงๆ
มาลี กล่าวเสริมว่า ข่าวทุกครั้งที่ออกไป มีทั้งชื่นชม มีทั้งที่ทำให้ต้องระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารหรือกรรมการนโยบายเท่านั้น แต่ประชาชนต้องช่วยดูด้วย เขาจะได้รู้ว่าเขาก็เป็นคนของสังคม ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้ ความจริงสิ่งต่างๆ ที่ออกไปไม่เคยโทษคนที่เป็นประเด็นปัญหา แต่เป็นที่สภาพแวดล้อมและความมีสติของคนในสังคมมากกว่า
ด้าน รศ.ดร.รสชงพร โกมลเสวิน หัวหน้าโครงการปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ส่วนตัวเมื่อเบื่อรายการ "ไร้สติ" ก็จะไปดูไทยพีบีเอส แต่พอเบื่อวิชาการก็จะไปช่องอื่น โดยยอมรับว่าแม้ตนเองจะอยู่ในวงการศึกษา แต่เจอสาระขมไปก็ไม่ไหว อยากให้หาสมดุลระหว่างความบันเทิงกับสาระด้วย โดยมีงานวิจัยต่างประเทศพบว่า สื่อสาธารณะเริ่มยอมรับการปรับเนื้อหาที่บันเทิงมากขึ้น
ต่อการตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมในการได้งบบริหาร 2,000 ล้านบาทต่อปี รสชงพร เสนอว่า ต้องมีการวิจัย หาตัวชี้วัดว่าการทำงานของไทยพีบีเอสช่วยให้สังคมดีขึ้นไหม ช่วยให้คนมีความรู้ขึ้นไหม โดยยกตัวอย่างว่า หากดูบทบาทของการเป็นสื่อที่สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมทาง การเมือง หากทำสื่อแล้ว จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 20% ก็แปลว่ายังทำหน้าที่ไม่สำเร็จ
ดร.ปาลพล รอดลอยทุกข์ นักวิจัยสถาบัน AMIC ประจำประเทศไทย กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการไปสู่การเป็นสื่อสาธารณะ ต่างจากหลายประเทศที่อาศัยต้นแบบจากสื่อสาธารณะอย่าง BBC NHK แล้ว แต่เมื่อทำจริง หาตัวตนไม่เจอ ถูกภาครัฐครอบงำแล้วหายไป ไม่สามารถเป็นสื่อสาธารณะเต็มรูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม ไทยพีบีเอสยังมีความแตกต่างไม่ชัดเจนระหว่างสื่อสาธารณะและสื่อเชิงพาณิชย์ อาจเพราะสังคมไทยถูกปลูกฝังให้มองสื่อมุมเดียวและคิดว่าสื่อเหมือนกัน ดังนั้น ในวาระเข้าสู่ปีที่ 5 ไทยพีบีเอสมีการบ้านคือ ต้องทำให้ตัวเองชัดเจนขึ้น