ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้สร้างความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินและงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนอย่างมหาศาล ดูได้จากตัวเลขเชิงสถิติจากทางศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (deep south watch) ได้รวบรวมผลจากความไม่สงบซึ่งมาจากการใช้ความรุนแรงกันทั้งสองฝ่าย ระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่ได้ตัดสินใจเลือกวิธีการจับอาวุธในการต่อสู้มาเป็นระยะเวลา 5 ปีครึ่ง หรือ 65 เดือน
นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน 400 กว่ากระบอก ในค่ายทหารที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ในเดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 เกิดเหตุการณ์ยิง ระเบิด วางเพลิงและการก่อกวนอื่นๆ จำนวนประมาณ 8,908 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,471 คน และบาดเจ็บประมาณ 5,740 คน รวมเป็นผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันทั้งสิ้น 9,211 คน กล่าวโดยรวม เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 65 เดือนหรือ 5 ปีกับอีก 5 เดือนที่ผ่านมา มีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและการบาดเจ็บสูญเสียของผู้คนทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วเกือบถึงหมื่นคนแล้ว
ในด้านงบประมาณในรอบ 5 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 109,000 ล้านบาท จากการคำนวณต้นทุนในการจัดการพบว่า การทำให้เกิดเหตุการณ์ลดลง 1 เหตุการณ์จะต้องใช้งบประมาณ 88 ล้านบาท ซึ่งเป็นฐานที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นถ้ารัฐใช้นโยบายเหมือนเดิมที่เน้นการทหาร เน้นความเข้มแข็งเป็นหลัก ต้นทุนทั้งหมดที่รัฐต้องลงทุนเพื่อนำไปสู่ความสงบต้องเพิ่มอีกประมาณ 235,984 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ345,280 ล้านบาท และใช้เวลาอีกประมาณ 5 -10 ปี
แต่กระนั้น ตามความเป็นจริงของปัญหาความไม่สงบในดินแดนอาถรรพ์แห่งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมอันแสดงถึงความเป็นตัวตนที่โดดเด่น และลึกซึ้งถึงขั้นกลายเป็นกรอบของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของประชาชนที่นี่มานมนานหลายศตวรรษมาแล้ว ทั้งนี้ไม่มีใครกล้าปฏิเสธเลยว่าจุดเริ่มต้นหรือรากเหง้าของปัญหาที่ชายแดนใต้ของไทยนั้นมาจากอดีต ถึงแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายจากภาครัฐจะพยายามไม่ให้คนในยุคปัจจุบันไปขุดคุ้ยหาความจริงในอดีต เพื่อที่จะได้มาแก้กันตรงจุดของต้นเหตุของปัญหา โดยหาว่า “เรื่องในอดีตได้ผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป คนที่เป็นคู่กรณีในยุคนั้นก็จากโลกนี้ไปแล้ว เราเป็นคนในยุคปัจจุบันทางที่ดีเราควรมาหาทางที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขกันดีกว่า”
ฟังแบบผ่านๆ ก็ดูดี แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะถ้าไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบันและอนาคต ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่มีขบวนการเสรีไทยในอดีต ประเทศไทยก็คงไม่มีความเป็นเอกราชของอำนาจอธิปไตยมั่นคงอย่างปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับชะตากรรมที่ไม่บังเอิญของชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของไทย ซึ่งเกิดจากการล่าอาณานิคมของรัฐสยามแล้วผนวกเป็นดินแดนของตนเองอย่างชอบธรรมด้วยสนธิสัญญาแองโกล (Anglo-Siam Treaty) ซึ่งเจ้าของดินแดนเดิมไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ เลยนั้น ถ้าไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อในอดีตเมื่อ คศ.1902 และ คศ.1909 ความไม่สงบอย่างปัจจุบันก็จะไม่เกิดขึ้น
แต่ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ถึงแม้จะมีคนที่ตายเพราะความจริงมามากแล้วเป็นรุ่นต่อรุ่นก็ตาม ความสุขของชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของไทยหลัง คศ.1786 ต้องเดิมพันด้วยความจริงมาโดยตลอด ในเมื่อความจริงยังไม่ปรากฏ ก็ไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันไม่ใช่แต่เพียงชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของไทยเท่านั้นที่เป็นทุกข์และเดือดร้อน แต่คนทั้งประเทศก็เป็นทุกข์และเดือดร้อนตามไปด้วย ความทุกข์ของคนในอดีตยังตามมาจองเวรจองกรรมคนในปัจจุบันอย่างไม่หยุดแม้แต่วันเดียว ทั้งนี้ ความทุกข์เหล่านั้น ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเรื่องปากท้อง แต่ความทุกข์ที่ชาวมลายูชายแดนใต้ของไทยต้องทนแบกรับมาเป็นศตวรรษตั้งแต่บรรพบุรุษมาแล้วนั้นคือ ความทุกข์ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่หลงเหลือให้แก่การเคารพ อันเนื่องมาจากสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองซึ่งสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์อย่างลึกซึ้งนั้นถูกลิดรอน
ทั้งๆ ที่ความเป็นประชาชนคนไทยนั้นย่อมได้รับการคุ้มครองโดยอำนาจแห่งนิติรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยุติธรรม แต่กระนั้นความเป็นธรรมในทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิตสำหรับชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของไทยจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของสังคมที่มีชื่อว่าสันติสุข ที่แม้แต่ด้านเดียวก็ไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านคน ร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นคนเชื้อชาติมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นคนเชื้อชาติไทยนับถือศาสนาพุทธ และอีกร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นคนเชื้อชาติจีนนับถือศาสนาพุทธ
อนึ่ง อำนาจในด้านการเมืองการปกครองตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไป ส่วนใหญ่แล้วถูกกำหนดกรอบนโยบายโดยคน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติไทยนับถือศาสนาพุทธ ทางด้านอำนาจด้านเศรษฐกิจก็ถูกกำหนดความเป็นไปโดยคน 5%ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติจีนนับถือศาสนาพุทธ ทางด้านความเป็นไปของ ด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้น ทั้งสองอย่างนี้จะแปรผันโดยตรงกันตลอด คือ ถ้าสังคมเสื่อม วัฒนธรรมก็เสื่อม ในทางกลับกันถ้าวัฒนธรรมเสื่อมสังคมก็เสื่อมตามไปด้วย ทั้งนี้ทั้งสังคมและวัฒนธรรมยังเป็นตัวแปรสำคัญของความเป็นไปในบริบทของศาสนาอีกด้วย ในเมื่อความเป็นไปของอำนาจทางการเมืองการปกครองได้ถูกกำหนดโดยคนเพียง 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นคนเชื้อชาติไทยนับถือศาสนาพุทธแล้วนั้น ความเป็นไปทางด้านสังคม วัฒนธรรมและศาสนาของชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของไทยก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายและการตีกรอบวิถีชีวิตด้วยแผนพัฒนาต่างๆ ที่ซ่อนรูปการคุกคามและยัดเยียด อันเนื่องจากไม่ได้มาจากความต้องการของเจ้าของชะตากรรม
ทั้งหมดทั้งปวง ที่ได้สะท้อนมาข้างต้นนั้นคือ ความไม่ยุติธรรมที่แผ่กระจายและซึมซับในทุกอณูของความคิดและความรู้สึกของชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยมานานนับศตวรรษ ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงยุคประชาธิปไตยไม่เต็มใบอย่างปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น ได้กล่าวแล้วในตอนที่ 9 สำหรับในตอนที่ 12 นี้ จะขอเน้นในประเด็นการสถาปนาสันติภาพในดินแดนอาถรรพ์ ณ ชายแดนใต้ของประเทศไทยแห่งนี้ ด้วยการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ตรงที่ต้นเหตุของรากเหง้าของปัญหา
เรามาลองตั้งข้อสังเกตดูกันว่า ทำไมในทุกๆ รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่บริหารโดยพรรคไหนๆ ก็ตาม ก็ไม่เคยเลยที่จะหยิบยกปัญหาที่ชายแดนใต้มาแก้กันที่รากเหง้าของปัญหาอย่างตรงไปตรงมาและเคารพในข้อมูลข้อเท็จจริง มีแต่จะแก้กันที่ปลายเหตุซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าทั้งนั้น และส่วนใหญ่ก็เป็นการกระทำที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย อย่างเช่น เหตุการณ์อุ้มฆ่าหะยีสุหลง เหตุการณ์ดุซงญอนองเลือด เหตุการณ์ทิ้งระเบิดกลางเวทีการชุมนุมและกราดยิงผู้ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี อันมาจากชนวนเหตุที่ทหารนาวิกโยธินได้ลอบทำร้ายและสังหารชายฉกรรจ์ 5 คนที่สะพานกอตอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีเมื่อ พ.ศ.2518 แต่หนึ่งในนั้นซึ่งเป็นเด็กอายุประมาณ 12 ปี รอดชีวิต เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ เหตุการณ์ไอร์ปาแย และเหตุการณ์อื่นๆ ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยและยังไม่ขอกล่าวในโอกาสนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ซ้อมทรมานชาวบ้านที่ต้องสงสัยในขณะควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุการณ์ลอบสังหารนอกระบบยุติธรรมต่างๆ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ไม่ได้ทำการพิสูจน์อย่างจริงจังและจริงใจให้กระจ่างชัดต่อสาธารณชน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มาถึงทุกวันนี้สายธารแห่งความขมขื่นใจจากความไม่มีความยุติธรรมในทุกๆ ด้านของบริบทการดำเนินชีวิต (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และศาสนา) ของประชาชนชาวมลายูที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยนั้น ยังคงเต็มไปด้วยน้ำตาแห่งความโศกเศร้า สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แค่นั้นยังไม่พอ สายธารแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเลือดอันเป็นสักขีพยานแห่งสัจธรรมที่รอคอยความยุติธรรมมาชำระล้าง แต่นานนับเป็นศตวรรษแล้วที่ความยุติธรรมจากอำนาจแห่งนิติรัฐประจำประเทศไทยปล่อยให้ประชาชนของตัวเองซึ่งมีความเหมือนที่แตกต่างจากตัวเองและสังคมใหญ่ต้องรอเก้อ... มิหนำซ้ำในขณะที่แผลเก่าซึ่งยังเรื้อรังเต็มไปด้วยหนอง แต่กลับสร้างแผลใหม่ทับที่เก่าอย่างไม่ยั้งมือ แล้วเมื่อไหร่หละ ความสมานฉันท์ และสันติภาพจะเกิดขึ้น... ดูท่าว่า ปัญหาที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยจะต้องแก้ด้วยกฎหมายสากลจริงๆ แล้วกระมัง