6 ตุลาคม 2519 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรงโดยรัฐและฝ่ายขวา หรือเรียกว่า “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” ซึ่งได้กระทำต่อนักศึกษาและประชาชนผู้มีแนวคิดที่ก้าวหน้า จากการที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดน นำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กอ.รมน. คือ กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
หากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยโดยการนำของนักศึกษาและประชาชน หลังจากนั้นถือเป็นช่วงที่ขบวนการที่ก้าวหน้าก็ได้เติบโตขึ้นมากในสังคมไทย ทั้งกรรมกรและชาวนา กรรมกรนัดหยุดงานเพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ครั้ง และในปีถัดมา กระแสการนัดหยุดงานก็พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 700 ครั้ง ถึงขนาดสามารถกล่าวได้ว่า ขบวนการกรรมกรร้อยละ 80 เคยนัดหยุดงานในช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น
ปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกร เกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นที่สะสมมานานจนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกัน ในการทำงาน จนกระทั่งปี 2517 กรรมกรก็ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ออกประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศได้สำเร็จ และนำไปสู่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในวิสาหกิจต่างๆ แล้วเติบโตขยายตัวก่อตั้งองค์กรกลางสหภาพแรงงานและองค์การสภาลูกจ้างแรงงานในที่สุด (ข้อมูลจาก http://www.geocities.com/Thaifreeman)
การลุกขึ้นมาต่อสู้ทั้งกรรมกรและชาวนานี้ ส่งผลให้ฝ่ายที่สูญเสียผลประโยชน์จากการที่เคยกดขี่เริ่มรุกกลับ จึงเกิดปรากฏการณ์ “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” โดยก่อนถึงเหตุการณ์ใหญ่อย่าง 6 ตุลา 19 นั้น ผู้นำกรรมกรและชาวนาถูกลอบสังหารจำนวนมาก โดยในส่วนของกรรมกรนั้น ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2518 เกิดการนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทม์ อำเภอกระทุ่มแบน ฝ่ายนายจ้างใช้อันธพาลเข้าคุ้มครองโรงงาน เกิดการปะทะกับฝ่ายกรรมกร เป็นเหตุให้ น.ส.สำราญ คำกลั่น กรรมกรหญิงอายุ 15 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในการนัดหยุดงาน
หลังจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2518 กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าก็เริ่มนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ การนัดหยุดงานครั้งนี้ กลายเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อและดุเดือดที่สุด เพราะฝ่ายนายจ้างไม่ยอมเจรจา และยังมีคำสั่งไล่คนงานที่ประท้วงออกจากงาน การประท้วงดำเนินไปจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2518 กรรมกรได้ยึดโรงงาน และทำการผลิตสินค้าออกมาขาย โดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ และตั้งชื่อโรงงานว่า “สามัคคีกรรมกร” มีการขอระดมทุนช่วยเหลือ โดยการขายหุ้นให้ประชาชนหุ้นละ 20 บาท ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2519 ฝ่ายตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืน จับนักศึกษาและกรรมกรหลายคนไปคุมขังไว้ในข้อหาผิดกฎหมายโรงงาน ความรุนแรงทวีเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชน ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลา 2519
เป็นเวลา 33 ปีผ่านมาแล้ว ความรุนแรงยังไม่ได้จางหาย กรรมกรทั่วประเทศทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติยังถูกกระทำทั้งโดยนายจ้างและรัฐ และนอกจากจะเป็นวันครบรอบ 33 ปี 6 ตุลา 19 แล้ว ยังเป็นวันที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ชุมนุมมาครบ 99 วัน โดยตลอดเวลาของการชุมนุม นอกจากการเมินเฉยจากรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว การออกไปเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติการเพิกเฉย ก็ถูกโต้กลับด้วยการพยายามสลายการชุมนุมในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ด้วยเครื่องทำลายประสาท (LRAD) พร้อมกับการออกหมายจับซ้ำเติมอีก
และแน่นอนความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกรรมกรไทรอัมพ์ฯเพียงที่เดียว
หมายเหตุ : เนื่องในโอกาสครบรอบทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ พร้อมด้วยองค์กรเพื่อนมิตร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อสรุปบทเรียน พร้อมทั้งหามาตรการร่วมกันในการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อกิจกรรมเสวนา “สืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร” 17.00 – 20.00 น. 6 ตุลาคม 2552 ที่ชุมนุมหน้าโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ซอย 7 อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 17.00 น. กล่าวเปิดงาน โดย ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ คุณสุจิตรา ช้อยขุนทด 17.30 น. เสวนา “สืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลากับความรุนแรงที่ไม่เคยจางหายไปจากกรรมกร” โดย ตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) วิภา ดาวมณี กรรมการเครือข่ายเดือนตุลา พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาฯ บุญยืน สุขใหม่ กรรมกรจากภาคตะวันออก จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการณ์รณรงค์เพื่อแรงงานไทย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่/ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ดำเนินรายการ เทวฤทธิ์ มณีฉาย นศ.ปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 19.00 น. กิจกรรมบนเวที - โชว์จากกรรมกรไทรอัมพ์ฯ - ดนตรีจากนักศึกษา - การปราศรัยจากผู้นำแรงงาน 21.00 น. จุดเทียน สืบสานเจตนารมณ์ 6 ตุลาและต่อต้านความรุนแรงจากรัฐร่วมกัน |