วิเคราะห์
คือ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ลำบากกับอุปสรรคขัดขวางนานาประการ แต่การเคลื่อนไหวทางการเมือง กลับทำให้คนรู้สึกว่า กำลังนำไปสู่ความอยู่รอด และเตรียมพร้อมที่จะช่วงชิงอำนาจกลับคืนมา
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพียบพร้อมด้วยอำนาจ ในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐ แต่ การเคลื่อนไหวทางการเมือง กลับนำไปสู่ความไม่มั่นใจว่า จะรอดถึงฝั่ง หรือไม่
ภาพอันแตกต่างเช่นนี้
ทำให้ คนที่ต้องการ "ซื้ออนาคต" เกิดความลังเล ไม่แน่ใจว่า จริงหรือผู้ที่กุมอำนาจรัฐ คือผู้ที่จะได้เปรียบ ขณะที่ฝ่ายซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัด และถูกกระทำ จะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ
มองไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ก่อน
คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใน 2 คดีติดต่อกัน คือ กรณี "กล้ายาง" และกรณี "หวยบนดิน"
ในคดีแรก รัฐบาลเก่า หลุดพ้นข้อกล่าวหาทั้งชุด
ในคดีหลัง แม้ศาลจะชี้ว่ามีความผิด แต่ก็เป็นความผิดในแง่ข้อปฏิบัติที่ไม่มีกฎหมายรองรับและใช้เงินผิดประเภท แต่ศาลก็ชี้ว่าเงินดังกล่าวไม่ได้มีการฉ้อโกง แต่นำไปใช้ในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงไม่ต้องชดใช้เงิน 1.4 หมื่นล้าน
คำตัดสินทั้ง 2 คดีดังกล่าว ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งเสียงดังๆ ผ่านทวิตเตอร์ อ้างว่า ข้อกล่าวหาว่าตนและรัฐบาลเดิม ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เป็นความจริง
ทำให้ความชอบธรรม ของคณะปฏิวัติรัฐประหาร ที่ใช้เป็นข้ออ้างในการโค่นล้ม ลดน้อยลง
พร้อมทั้งขับเน้นภาพการ "ถูกรังแก" ให้ "เด่นชัด" ขึ้น
ซึ่งนี่ย่อม เป็นสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย หยิบฉวยมาใช้หาประโยชน์ทางการเมือง อย่างไม่ลังเล และรีรอ
และแน่นอนต้องได้รับการขานรับจาก "มวลชนเสื้อแดง" อย่างเซ็งแซ่แน่
พูดถึง "มวลชนเสื้อแดง" แล้ว ต้องถือเป็นความสำเร็จของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สามารถสร้างความเหนียวแน่น และจัดตั้งให้มีความมั่นคงถาวร สามารถใช้เป็นอาวุธทางการเมืองที่แหลมคมที่สุดขณะนี้
จากมวลชน ที่ถูกกล่าวหาว่า "จ่ายเงิน" ซื้อมา
ตอนนี้กลายมาเป็น "มวลชน" กึ่งอุดมการณ์ ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ถือเป็นพัฒนาการ "นอกสภา" ของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โดดเด่น
ขณะนี้เดียวกัน ได้แตกแขนงไปสู่สื่อ ทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุชุมชน และเว็บไซต์ อย่างหลากหลาย กลายเป็น "เครือข่าย" ที่ใช้เกื้อหนุนการเคลื่อนไหวมวลชนของ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างมีประสิทธิภาพและ สามารถสร้างแรงกดดันการบริหารงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้อย่างสูง
สำหรับ "ในสภา" แม้จะเป็น จุดอ่อนที่สุดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะจนบัดนี้ ในแง่ความเป็นเอกภาพ ยังเป็นปัญหา
พรรคเพื่อไทยยังไม่อาจหาหัวหน้าพรรคตัวจริงได้
ขณะที่การขับเคลื่อนพรรคก็เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง
แต่กระนั้น ในระยะหลัง เริ่มปรากฏข่าวคราวการไหลกลับของนักการเมืองจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคอีสาน
ขณะที่ใน กทม. กรณีลูกของนางปวีณา หงสกุล ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็ทำให้มีสีสันขึ้น
และที่กล่าวขวัญขณะนี้ก็คือ การที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คัมแบ๊คสู่การเมือง และเลือกเพื่อไทยเป็นพรรคสังกัด
แม้ว่าเครดิตทางการเมืองของ พล.อ.ชวลิต จะไม่สูงเด่น แต่บารมีในภาคอีสานก็ยังคงมี ซึ่งเมื่อเสริมกับความนิยมในตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ฐานเสียงในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยก็แน่นปึ้กขึ้น
ส่งผลในทางจิตวิทยาให้นักการเมืองมองพรรคเพื่อไทยเป็นบวกมากขึ้น
เป็นบวก ทั้งที่ว่าไปแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทย ถูกรุมสกรัม ด้วยข้อหาต่างๆ นานามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สามารถประคองตัว และพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ
ซึ่งไม่ใช่เพียง "การเอาตัวรอด" ได้เท่านั้น หากแต่ทวีความน่ากลัว สำหรับประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆ ขึ้นตามลำดับ
ภาพเช่นนี้ แตกต่างจากภาพของนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างชัดเจน
เพราะสำหรับ นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยอำนาจรัฐ มีต้นทุนทางสังคมสูง และแถมยังมี "อำนาจพิเศษ" คอยเกื้อหนุนอย่างไม่ปิดบัง
เหล่านี้น่าจะทำให้นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ พุ่งทะยานไปข้างหน้า
และพร้อมจะบดขยี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยให้ย่อยยับลง
แต่เอาเข้าจริง นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ กลับไม่สามารถใช้แต้มต่อดังกล่าวเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตนเองได้
ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านั้นกลับเป็นตัวบั่นทอนเสียเอง
เราพบว่า การใช้อำนาจที่มากล้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาอันลึกซึ้ง และบานปลายออกไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ
โดยเฉพาะยิ่ง การแต่งตั้ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ที่ไม่ควรจะเป็นเรื่องใหญ่โต
แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบต่อนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ อย่างรุนแรง และร้าวลึก
จนขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะไปจบลงที่ใด
นายอภิสิทธิ์สูญเสีย "ค่าใช้จ่าย" มากมาย กับความพยายามที่จะใช้ "อำนาจ" ความเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามที่ตนเองต้องการ
ล่าสุด ที่นายอภิสิทธิ์เสียไปก็คือ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ก่อผลกระทบต่อเนื่องกว้างขวาง ทั้งนอกและในพรรค
นอกพรรค ก็เป็นเรื่องของ "วาระพิเศษ" ที่คลุมเครือ ยากจะหาคำตอบที่ชัดเจนได้
แต่มันก็นำไปสู่การคาดหมาย ที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ที่อนาคตยาวไกลทางการเมือง อย่างนายอภิสิทธิ์ เอาเสียเลย
ส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ กรณีของนายนิพนธ์ ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ "ข่าว" การแย่งชิงอำนาจภายในพรรค
เป็นข่าวที่จงใจปล่อยออกมาว่า นายนิพนธ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค กำลังจะถูกหักโค่น เพื่อเป็นการตอบโต้ ที่นายนิพนธ์ทำให้เรื่องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็น "วิกฤต"
มีการอ้างถึงกระแสข่าว กลุ่มทศวรรษใหม่ ที่นำโดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา กำลังจะจับมือกับ กลุ่มผลัดใบและกลุ่มคนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์ เพื่อกำจัดกลุ่มของนายสุเทพ
โดยอ้างเหตุความไม่พอใจ ในบทบาทการทำงานของกลุ่มนายสุเทพ-นายนิพนธ์ ที่ตัดสินใจโดยพลการในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการยอมลงให้กับพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป โดยไม่นำเรื่องเข้าหารือขอมติจากที่ประชุมในพรรคก่อนที่จะนำไปเจรจากับพรรคร่วม
จนทำให้พรรคร่วมรัฐบาลหาเงื่อนไขมาบีบพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การโยกย้ายข้าราชการ การแบ่งปันงบประมาณตามโครงการไทยเข้มแข็ง รวมถึงโครงการลงทุนอภิโปรเจ็คต์ ต่างๆ ล่าสุดก็คือการยอมให้พรรคภูมิใจไทยได้โครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้าน
เหล่านี้ได้นำไปสู่ข่าวการจะหักโค่นกลุ่มของนายสุเทพลง
ซึ่งจะจริง หรือไม่ก็ตาม
แต่ข่าวทำนองนี้ ในทางการเมืองถือว่าเป็นตัวสะท้อนให้เห็นการมี "แรงกระเพื่อม" ภายในพรรค ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ
และไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับ นายอภิสิทธิ์ รัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ เอาเสียเลย
ในนาทีต้องยอมรับว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางแรงเสียดทานอันหนาหนาสาหัส
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในพรรคเพื่อไทย กลับมีสัญญาณตอบรับในเชิงบวก ทำให้มีขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป
ซึ่งตรงกันข้ามกับนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้ความแข็งแกร่งที่ตนเองมีอยู่ โดยเฉพาะการยึดกุมอำนาจรัฐ ไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายและสิ้นเปลือง
แม้คนในพรรคการเมืองนี้ จะชินปากกับการประกาศโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริง ยิ่งทำงาน ประชาธิปัตย์กลับห่างไกลจากคำว่าเข้มแข็ง ยิ่งขึ้นๆ ทุกที
"อาการเพียวลง" ของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีจุดยุติลงตรงไหน เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
หากพรรคประชาธิปัตย์ หยุดภาวะ "เพียวลง" ไม่ได้ และมีอาการผอมแห้งแรงน้อยลงเรื่อยๆ ก็น่าห่วงว่าจะมีพละกำลังไปต่อกรกับคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มากน้อยเพียงใด
และหากจุดจบของเรื่องนี้ อยู่ที่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์
คงจะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจไม่น้อย เพราะปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของคนกันเองทั้งสิ้น
แน่นอน นายอภิสิทธิ์ ย่อมจะถูกขานชื่อเป็นคนแรก ในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบ