คำถามที่ผมถูกถามบ่อยๆ คือ สื่อสาธารณะเป็นอย่างไร ผมตอบว่า สื่อสาธารณะไม่ใช่สถานีโทรทัศน์ เพราะถ้าสื่อสาธารณะเป็นสถานีโทรทัศน์ คนที่อยู่หน้าจอเรา ก็จะมีจริตแบบ คุณปัญญา คุณวิทวัส คุณสรยุทธ คุณกนก หรือคุณกาละแมร์
สิ่งหนึ่งที่จะแยกความแตกต่างระหว่างสี่อพานิชย์และสี่อสาธารณะก็คือ สื่อสาธารณะจะต้องให้ความสำคัญกับ message มากกว่า messenger คนที่รายงานข่าว นำเสนอรายการ จะต้องไม่ทำให้อัตตาของตัวเองใหญ่โตกว่า ข่าว เนื้อหา สาระ หรือรายการที่นำเสนอ และแรงจูงใจ motivation ในการค้นหาข่าวสารข้อมูล หรือการผลิตรายการ ก็จะต้องทำไปเพราะเห็นผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์สาธารณะ มากกว่าผลประโยชน์ที่จะมาเข้าหาตัวเอง
น่าจะมีคำถามต่อคนที่ทำงานสื่อทุกวันนี้ ว่าท้ายที่สุดแล้ว ใครได้ประโยชน์ หลังจากผลงานหน้าจอ ออกไปด้วยวีธีการนำเสนอของแต่ละคนแต่ละช่อง คนดู คนที่ตกเป็นข่าว หรือ ผู้เสนอข่าว หรือผู้ถือหุ้นบริษัททีวี ใครได้ประโยชน์กันแน่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ปู่เย็น มาจนถึง เด็กชาย ซาโตะ
หลังจากรายงานข่าวหรือ รายการผ่านพ้นไปแล้ว คนดูน่าจะได้รับข่าวสารข้อมูลและสาระอันเป็นต่อเขา และคนชมคนฟังรายการน่าจะจำเนื้อหาสาระที่ปรากฎออกมานั้น มากกว่ากริยา หน้าตา ท่าทาง หรือชื่อเสียงเรียงนามของคนที่มารายงาน หรือ จัดทำรายการ
มันจะเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ของนักสื่อสารมวลชน ที่หลังจากผลงานหน้าจอผ่านพ้นไปแล้ว คนดูจำเนื้อหาที่เป็นสาระไม่ได้ เพราะตัวตนของคนหน้าจอ มาบดบังกดทับเนื้อหาสาระ หรือว่าผลงานหน้าจอที่ออกไปไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่สังคมส่วนรวม แต่คนทำสื่อได้ความลำพองใจในการเอาชนะคะคานในสงครามแย่ง เรตติ้ง แย่งเม็ดเงินโฆษณา
สื่อสาธารณะจึงไม่ใช่สถานีโทรทัศน์ แต่เป็น สถาบันทางสังคม ที่มีคลื่น วิทยุโทรทัศน์เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดันสร้างสรรค์สังคมให้มีคุณภาพคุณธรรม
เคยมีพนักงานท่านหนึ่งถามผมว่า ทำไมทีวีไทย จึงต้องมีฝ่ายประชาสังคมด้วย ไม่เห็นช่องอื่นเขามี ผมก็ตอบไปว่า เราไม่ใช่สถานีโทรทัศน์
มันก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะละลายวัฒนธรรม จารีตประเพณีของ คนที่เคยทำงานสื่อทีวี มาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ไอทีวี ทีไอทีวี ช่อง 11 เอเอสทีวี หรือ เนชั่นแชลแนล ที่มาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ ให้เปลี่ยนจารีต และความคุ้นชินเดิมๆ เพราะโดยแท้ที่จริงแล้วเราก็ไม่เคยมีสื่อสาธารณะที่แท้จริงในสังคมไทยให้ยึดถือเป็นแบบอย่าง
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารเป็นอย่างยิ่ง