ผู้จัดอาเซียนภาคประชาชนติงรัฐไม่ใส่ใจส่งตัวแทนร่วมประชุม เผยยังไม่รู้ได้พบผู้นำอาเซียนเพื่อเสนอปัญหาหรือไม่ ไม่มั่นใจคณะกรรมการสิทธิฯ อาเซียนทำงานได้อิสระและเป็นกลาง ด้านภาคประชาสังคมเวียดนามรับไม้จัดประชุมต่อปีหน้า
สุนทรี-แยบ ซวี เซง-จอย ชาเวซ-ยก ลิน-เปรมฤดี-ลอย-อาชิน-ทิพย์อักษร
20 ต.ค. 52 วันสุดท้ายงานมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งที่ 2/ การประชุมภาคประชาชน ครั้งที่ 5 ภาคประชาชนแถลงข่าวเพื่อรายงานบทสรุป 4 เสา และแนวทางการเตรียมความพร้อมในการพบปะระหว่างตัวแทนภาคประชาสังคมและผู้นำรัฐบาลอาเซียน ที่ห้องประชุมเพชรบุรีแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ รีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี
สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการจัดงานประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียน กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการประสานงานกับภาครัฐและสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้มารับฟังความเห็นของภาคประชาชนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อทำให้อาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางตามที่อาเซียนตั้งเป้าไว้ แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อภาครัฐและสำนักเลขาธิการอาเซียนส่งผู้เข้าร่วมงานเพียง 1-2 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ ตัวแทนจาก 10 ประเทศจะเข้าพบผู้นำอาเซียน ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะได้เข้าพบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและพิสูจน์ความจริงใจของผู้นำอาเซียน
ต่อคำถามว่า ในการพบปะกับผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมา มีผู้นำบางประเทศปฎิเสธที่จะพบกับตัวแทนจากภาคประชาสังคมของตัวเอง หากครั้งนี้มีเหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นอีกจะทำอย่างไร สุนทรี กล่าวว่า การต่อรองในการเข้าพบผู้นำอาเซียนนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยจากเดิมที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นทางการ ตอนนี้กลับกลายเป็นทางเลือกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ขึ้นกับความพอใจของผู้นำ ขณะที่ในส่วนของผู้ที่จะเข้าพบ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะได้เข้าพบประเทศละ 2 คนเช่นเดียวกับตัวแทนจากภาคเยาวชนและธุรกิจ ก็เหลือเพียงประเทศละ 1 คน ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าชื่อที่เสนอไปอาจถูกปฏิเสธโดยผู้นำบางประเทศเช่นเดียวกับคราวที่แล้ว แต่ขอยืนยันว่า จะเข้าพบกับผู้นำเท่าที่จะเป็นไปได้
แยบ ซวี เซง จาก FORUM-Asia กล่าวว่า ยินดีที่อาเซียนได้จัดตั้งให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนซึ่งจะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีร่างระเบียบข้อปฏิบัติ (TOR) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนแล้ว แต่เราก็ยังขาดหลักประกันว่าคณะทำงานจะทำงานได้อย่างมีอิสระและเป็นกลาง
นอกจากนี้ เขายังแสดงความผิดหวังที่ประเทศอื่นในอาเซียนไม่มีกระบวนการคัดเลือกผู้แทนของตนเองเพื่อเป็นคณะกรรมการฯ ที่เปิดกว้างอย่างไทยและอินโดนีเซียด้วย ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ คัดเลือกผู้แทนอย่างโปร่งใสและเปิดกว้าง
เขาเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ เข้าไปปรับปรุงร่างระเบียบของคณะกรรมการฯ เพื่อพัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของคณะกรรมการฯ เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และขอให้คณะกรรมการฯ ทำงานร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมสิทธิด้านต่างๆ อาทิ แรงงานข้ามชาติ สตรีและเด็ก
สำหรับการมีส่วนร่วมในการประชุมมหกรรมประชาชนอาเซียนครั้งต่อไปที่เวียดนาม แยบกล่าวว่านับตั้งแต่จัดการประชุมดังกล่าวในปี 2005 การพบปะระหว่างภาคประชาสังคมและผู้นำประเทศอาเซียนพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยการประชุมในครั้งที่ผ่านมาภายใต้การดำเนินการของประเทศไทย ภาคประชาสังคมอาเซียนได้ร่วมพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียน และในปีนี้ก็ได้มีความพยายามที่จะทำให้ก้าวหน้าขึ้น มีโครงสร้างที่ดีและการสนทนาที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ซึ่งหวังว่าการจัดงานครั้งต่อไปที่เวียดนาม ในส่วนรัฐบาลประเทศอาเซียนจะส่งตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วม และรัฐบาลเวียดนามในฐานะเจ้าภาพ จะสนับสนุนการร่วมพูดคุยระหว่างภาคประชาสังคมและผู้นำประเทศอาเซียน
ต่อคำถามถึงการที่ตัวแทนภาคประชาชนอาเซียนอาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้นำประเทศอาเซียน แยบแสดงความเห็นว่ารัฐบาลประเทศอาเซียนไม่ควรตั้งแง่และควรเคารพในการคัดเลือกตัวแทนของภาคประชาสังคม การที่รัฐบาลประเทศอาเซียนบางประเทศตั้งตัวแทนของตัวเองขึ้นมาเพื่อเจรจาในฐานะเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมเหมือนเป็นการบ่อนทำลายศักศรีของภาคประชาสังคม ทั้งที่การจัดเวทีพูดคุยของภาคประชาสังคมมีความจริงใจที่จะพยายามนำเสนอประเด็นปัญหาจากประชาชนในระดับล่างที่มีต่อการทำงานของรัฐบาลอาเซียน หากรัฐบาลอาเซียนไม่เห็นประโยชน์ การสนทนาที่ผ่านมาก็ไม่มีความหมาย และกลายเป็นเรื่องที่เสียเวลา
ตัวแทนจาก FORUM-Asia ยืนยันว่า ภาคประชาสังคมยืนยันรายชื่อของผู้ที่เป็นตัวแทนที่จะเข้าร่วมพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลอาเซียน หากผู้นำรัฐบาลอาเซียน ปฎิเสธที่จะเข้าร่วมนั่นแสดงถึงเจตนาที่จะไม่ต้องการเสวนากับประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของอาเซียนที่ว่าอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
เจนีน่า จอย ชาเวซ Solidarity for Asian People’s Advocacies (SAPA) กล่าวถึงข้อเสนอหลักในเสาเศรษฐกิจว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดซึ่งเป็นที่รับรู้คือเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และพิมพ์เขียวเศรษฐกิจ แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนในท้องถิ่น สตรี เยาวชน ที่มีความแตกต่างหลากหลายและต้องการการมีส่วนร่วม
เธอกล่าวด้วยว่า การเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Agreement: FTA) ในภูมิภาคอาเซียนที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2010 จะส่งผลกระทบต่อประชาชนภายใต้ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นจึงอยากร้องขอให้ผู้นำประเทศอาเซียนคำนึงถึงการเสริมสร้างศักยภาพของคน ใส่ใจในปัญหาความร่วมมือข้ามชาติที่รุกล้ำสิทธิทำกิน แย่งชิงทรัพยากรของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ และควรปรับเปลี่ยนวิธีการโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์
จอยกล่าวว่า FTA ไม่ใช่แค่การค้า แต่เป็นความริเริ่มทางเศรษฐกิจที่ถูกออกแบบมาเพื่อกีดกันคนบางกลุ่ม โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเสายุทธศาสตร์อื่นๆ ของอาเซียนและไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้าน แสดงความไม่พอใจ เพราะเป็นข้อตกลงที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง และนอกจากเขตการค้าเสรีในอาเซียนแล้วยังมีภาคีทางการค้าในรูปแบบอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดปัญหา เพราะการเปิดเสรีทางการค้าไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชน
โฮ ยก ริน ผู้ประสานงานสมาคมสิทธิสตรี ในฐานะเสาสังคมและวัฒนธรรม กล่าวสนับสนุนการสร้างชุมชนเอื้ออาทรและชุมชนที่มีการแบ่งปันโดยระบุว่า ทุกคนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ แรงาน คนอพยพ คนจน คนพื้นเมือง รวมถึงสตรีและเด็ก พวกเขาเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นการศึกษา บริการสาธารณะ สวัสดิการ รวมทั้งสาธารณสุข อยากให้อาเซียนมีกลไกทบทวนกฎหมายที่แบ่งแยกเผ่าพันธุ์ต่างๆ รวมถึงทางอาเซียนต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
เธอกล่าวต่อว่า ในฐานะเป็นตัวแทนองค์กรสิทธิสตรีที่เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ อยากเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก (ACWC) ยึดหลักการความเสมอภาคไม่แบ่งแยก และควรมีอำนาจในการปกป้องสิทธิ ทั้งในเรื่องการรับข้อร้องเรียน การเข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิในประเทศสมาชิก การให้ข้อเสนอแนะต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ และมีกลไกทบทวนกฎหมายแห่งชาติและนโยบายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการคุ้มครองสิทธิ นอกจากนี้ การคัดเลือกและจัดตั้งคณะกรรมาธิการฯ ควรมีความโปร่งใส เป็นกลาง และมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยยึดหลักการมีส่วนร่วม
สมณะท่านอาชิน สูพะกา จากองค์กรพระพม่าสากล (International Burmese Monks Organization) ในฐานะตัวแทนจากเสาการเมืองความมั่นคง กล่าวว่า เห็นด้วยกับความรู้สึกของพวกเราที่บอกว่ารู้สึกผิดหวัง ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้มาเข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้ ทางรัฐไม่เคยสนใจและใส่ใจในเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรามาที่นี้เพื่อจะบอกเล่าถึงสถานการณ์และปัญหาในอาเซียนว่าตอนนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในอาเซียน โดยยกตัวอย่างที่ประชาชนในพม่าไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารให้ชุมนุมประท้วงอย่างเป็นทางการ ถ้าผู้ใดก่อการประท้วงก็จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมทันที ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผิด เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้น จึงควรให้มีการชุมนุมอย่างเสรี เพื่อการใช้สิทธิแสดงความเห็นในอาเซียนอย่างเสรี
ท่านอาชินยังกล่าวถึงนโยบายเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศซึ่งกันและกันว่า เป็นสิ่งที่ล้าสมัย ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ควรจะดูแลซึ่งกันและกัน หากเราเห็นผู้ปกครองทำร้ายลูกของตนเอง แต่เรากลับนิ่งเฉยไม่เข้าไปช่วยเหลือ ก็ถือเป็นการละเลยต่อความเป็นมนุษย์และต่อเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ท่านอาชินยังเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียน ช่วยเหลือให้คนที่ถูกจับกุมจากคดีทางการเมืองได้รับการปลดปล่อยและได้รับเสรีภาพด้วย
เปรมฤดี ดาวเรือง จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ในฐานะตัวแทนจากภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าภาคประชาสังคมผลักดันให้อาเซียนมีเสายุทธศาตร์ที่สี่ คือ เสาสิ่งแวดล้อม โดยมีการพูดคุยถึง 3 ประเด็นหลักที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และปัญหาของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาทิ เขื่อน เหมืองแร่ และท่อส่งก๊าซ ซึ่งมีผลต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในอาเซียน อีกทั้งมีการเสนอเรื่องการนำองค์ความรู้มาใช้ต่อรองกับการลงทุนที่ผลักคนออกนอกระบบ
เธอกล่าวด้วยว่า เพื่อตอบโต้ปัญหาต่างๆ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งเสาที่สี่นี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางวางแผนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม มีพิมพ์เขียวสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกในการปฏิบัติตาม และต้องมีการทบทวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนข้ามประเทศให้ปฏิบัติตามกฏต่างๆ ของอาเซียนที่จะถูกจัดทำขึ้น นอกจากนั้นยังได้แสดงความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของชุมชนพื้นเมือง อธิปไตยทางอาหาร และการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิม
เปรมฤดีเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยระบุว่า ขณะนี้อาเซียนไม่สามารถปิดหูปิดตา เลือกไม่สนใจผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมได้แล้ว
ทิพย์อักษร มันปาติ ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนอาเซียน กล่าวว่า ในฐานะของตัวแทนเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของอาเซียน มีประเด็นหลักที่ต้องการเรียกร้องสองข้อคือ หนึ่ง ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสร้างกลไกที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในการติดตามและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นและหลักสูตรในระบบ เพื่อปลูกฝังถึงคุณค่า ความเข้าใจ และความร่วมมือภายในประเทศและระหว่างชาติอาเซียน รวมไปถึงการศึกษาที่เกี่ยวกับสันติภาพ สิทธิมนุษยชน ตลอดจนมิติหญิงชาย ความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรม และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการศึกษาพิเศษและทักษะชีวิต และสอง เรียกร้องให้ยอมรับกลุ่ม/เครือข่ายเยาวชนที่เป็นอิสระ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ในการผลักดันและติดตามระดับนโยบาย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิมนุษยชน การสร้างสันติภาพ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทรานห์ ดัก ลอย ตัวแทนเจ้าภาพจัดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 6 ที่เวียดนาม กล่าวแสดงความยินดีกับคณะผู้จัดการประชุมครั้งนี้ที่ประสบความสำเร็จในการจัดงาน และกล่าวว่า เขาเดินทางมาเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จัดงานและทำความเข้าใจกับความคาดหวังของผู้เข้าร่วม โดยยินดีจะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอื่นๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป
ร่วมร่างแถลงการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงข่าวมีการหารือเรื่องร่างแถลงการณ์ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลอาเซียนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมรับรอง แต่เกิดข้อถกเถียงในรายละเอียดของแถลงการณ์ คณะทำงานจึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ถกเถียงเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหากันอย่างละเอียด ดังนั้น การรับรองแถลงการณ์จึงล่าช้าออกไป
สุภาวดี เพชรรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานประชุม กล่าวถึงกระบวนการร่างแถลงการณ์ว่า มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามหัวข้อหลักในการหารือคือ เศรษฐกิจ การเมือง-ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสนอประเด็นของตัวเองตั้งแต่วันแรกของการประชุม รวมถึงเพิ่มเติมข้อเสนอจากการหารือในแต่ละเสา โดยมีคณะกรรมการร่างแถลงการณ์ 10 คนที่มาจากแต่ละประเด็น และผู้ที่มีความถนัดในการร่างแถลงการณ์
สุภาวดี กล่าวถึงปัญหาที่เกิดในขั้นตอนการร่างแถลงการณ์ว่า มีผู้เข้าร่วมหลายคนรู้สึกว่า ข้อเสนอยังไม่ครอบคลุม จึงมีการแบ่งกลุ่มเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหากันอีกครั้ง นอกจากนี้ มีผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งจากพม่าแสดงความไม่เห็นด้วยกับการร่างแถลงการณ์ที่พูดถึงแต่ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้คำที่แรงและระบุถึงแต่พม่า ทั้งที่สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อับดุล กาลัม ผู้ประสานงานโรฮิงยา แสดงความเห็นว่า ตลอดการประชุมยังไม่เห็นประเด็นเรื่องของชาวโรฮิงยาถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์เลย ชาวโรฮิงยาบางคนอยู่ในประเทศไทยมากว่า 20 ปีจนมีครอบครัว แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ ขณะที่รัฐบาลพม่าก็ไม่รับเป็นพลเมือง จึงอยากให้นำประเด็นโรฮิงยาเสนอต่อรัฐบาลอาเซียนด้วย