เมื่อวานนี้แม่ของคนที่อยู่บ้านเดียวกันโทรมาตัดพ้อด้วยน้ำเสียงแบบ “ใยมนุษย์ ! ช่างต่างกันเยี่ยงนี้” แม่เป็นข้าราชการบำนาญฉะนั้นเวลาแม่ไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล แม่ก็จะได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่แบบ “ข้าราชการ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและแม่พอใจ แต่เนื่องจากบ้านของแม่อยู่จังหวัดชายแดนไกลโพ้นจากเมืองหลวง เมืองที่ประกอบไปด้วย “คนไทย” แบบแม่ และ “คนไม่ไทย” แบบพ่อแม่ของเด็กๆ ในโรงเรียนที่แม่และพ่อเคยสอน ทำให้เวลาแม่ไปโรงพยาบาลคราใด แม่ถึงไม่สบอารมณ์เสียทุกครั้ง ที่เห็นความแตกต่างในการบริการทางสาธารณสุขแบบนี้ เพราะ “คนไม่ไทย” ถูกมองว่าเป็น “ภาระของโรงพยาบาล” บางคราแม่แอบพูดเล่นๆ แต่ดูจริงจังว่า “ถ้าไม่มีไออาร์ซี คนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไร?”
พอๆกับที่ในห้วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้จัดทำโครงการ “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” เมื่อกันยายน 2552 ครอบคลุมใน 14 สาขา หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข ที่จังหวัดของแม่ได้รับงบประมาณจัดสรรด้านนี้รวม 42.24 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการ 3 ด้าน ได้แก่ โครงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเครือข่ายบริการทุกระดับ (17.64 ล้าน) เป็นการสร้างอาคารพักแพทย์ สร้างบ้านพักข้าราชการ และจัดซื้อรถโดยสารและรถบรรทุก, โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (12.60 ล้าน) เป็นการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และ โครงการพัฒนาระบบบริการระดับตติยภูมิ (12 ล้าน) เป็นการสร้างอาคารผู้ป่วยที่พร้อมให้บริการระดับสูง
แม่ได้ยินได้ฟังการทำโครงการแบบนี้แล้วรู้สึกไม่สบายใจ แม้รู้ว่าเงินกู้ก้อนนี้รัฐบาลกู้มาเพียงเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ยังรู้สึกว่าเงินกว่า 42 ล้านนี้ น่าจะทำอะไรได้เป็นประโยชน์มากกว่า แม่แลกเปลี่ยนกับลูกต่อว่า “ทำไมรัฐบาลถึงเชื่อว่า การสร้างสถานที่ดีๆ มีเครื่องมือเพียบพร้อม จะทำให้การบริการสาธารณสุขดีไปด้วย ในเมื่อทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการบริการ แล้วการมีสถานที่ดีๆ เครื่องมือดีๆ จะแก้ปัญหาการเจ็บป่วยได้อย่างไร จะรักษาเฉพาะคนไทยเท่านั้นเหรอ แล้วพวกคนนอกล่ะ จะไม่รักษาหรือไง คนนอกไม่เจ็บป่วยหรือไง แม่ไม่เข้าใจจริงๆ ทำไมไม่ทำให้คนนอกเข้าถึงการบริการ มันน่าจะแก้ปัญหาสุขภาพได้ดีกว่า ทุกวันนี้เมืองนี้ก็แบกภาระค่ารักษาปีละกว่า 40 ล้านแล้ว ยังจะเอาเงินมาสร้างตึกอยู่อีกหรือไง”
อย่างที่บอกไปแล้วว่าเมืองที่แม่อยู่ประกอบไปด้วย “คนไทย” และ “คนไม่ไทย” แต่หลายคนแม่บอกว่า “คนไม่ไทย” เหล่านั้น ก็คือ คนไทยนั่นเอง แต่เป็นคนไทยที่ไม่ถูกนับอยู่ในสารบบของรัฐไทย หลายคนก็เกิดในประเทศไทย บรรพบุรุษก็อพยพมาอยู่ที่นี่หลายร้อยปีมาแล้ว พ่อแม่ของเด็กๆจำนวนมากก็เกิดในประเทศไทย พูดภาษาไทย เรียนภาษาไทย แล้วคนเหล่านี้ไม่ใช่ “คนไทย” หรืออย่างไร ความเป็นไทยอยู่ในกระดาษ อยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ประทับตรากรมการปกครองเท่านั้นหรือ แม่รู้ดีว่าบ้านของแม่อยู่ไกลโพ้น ระยะทางและความห่างไกลจากเมืองหลวงคณานับ พื้นที่สลับซับซ้อนแบบป่าเขาเนินดอย ทุรกันดาร หลายตำบลที่แม้อยู่สังกัดอำเภอเมืองในรัศมีเพียงห้าสิบกิโลเมตร แต่กว่าจะเดินทางเข้าไปถึงก็กินเวลาแรมวันแรมคืน ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ “คน ไทยในสายตาแม่” ถึงตกสำรวจ การตกสำรวจ “ความเป็นคนไทย” มาพร้อมกับ “การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข” ที่แม่คิดว่าไม่เกี่ยวกันและไม่ควรนำมาปะปนกัน
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล 3 ระบบ คือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) , ระบบประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทน และ ระบบการรักษาพยาบาลข้าราชการ/ข้าราชการบำนาญ/รัฐวิสาหกิจ ซึ่งทั้ง 3 ระบบต่างมุ่งให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพดี สังคมน่าอยู่มากขึ้น
แต่อย่างที่แม่บอกไปแล้วว่ามี “คนไทยในสายตาแม่” ตกสำรวจจำนวนมาก ระบบสวัสดิการที่กล่าวมาจึงไม่ครอบคลุมประชากรกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิดจนตาย และวันนี้มีมากกว่า 7 แสนคนทั่วประเทศ แค่เฉพาะจังหวัดของแม่ก็ประมาณ 5 หมื่นคนเข้าไปแล้ว รัฐบาลจะจัดการอย่างไรกับคนกลุ่มนี้ เมื่อใดคนกลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงระบบการบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าได้ โดยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง “สัญชาติไทย” เพราะใครๆ ก็เจ็บป่วยได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะ “คนไทยในกระดาษ” เท่านั้น
แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้มาหลายปี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นความพยายามของหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดน, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านคนไร้สัญชาติและบุคคลบนพื้นที่สูง ที่พยายามผลักดันให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งตกประมาณ 2,200 บาทต่อคนต่อปี เพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ (อีกครั้งหนึ่ง) รวมถึงไม่เป็นการทำให้โรงพยาลแถบชายแดนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อปีจำนวนมาก หากบุคคลเหล่านี้ได้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็จะเป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง
การที่ใช้คำว่า “อีกครั้งหนึ่ง” มีนัยยะสำคัญว่า เดิมคนกลุ่มนี้ที่บางคนมีเลข 13 หลักแล้ว เช่น กลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย หรือในชื่อเล่นว่า “คนบัตรสีเลข 6 เลข 7” เคยมี “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” สมัยที่เกิดโครงการนี้ใหม่ๆ เมื่อเมษายน 2544 แต่ต่อมามีการประกาศใช้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อย่างเป็นทางการ ทำให้ปลายปี 2546 มีสถานพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดของแม่ได้ทำหนังสือหารือถึง สปสช. เพื่อสอบถามว่า “จำเป็นต้องออกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนกลุ่มนี้หรือไม่ อย่างไร” ซึ่ง สปสช. สมัยนั้นได้ตอบกลับมาตอนต้นปี 2547 ว่า “สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขของบุคคลที่ไม่ปรากฏสัญชาติ อยู่นอกเหนือบทบาทอำนาจหน้าที่ของสปสช. ที่จะดำเนินการ” ทำให้ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ “คนบัตรสี” ถูกเรียกเก็บ “บัตรทอง” เดือนกรกฎาคม 2548 กระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนโครงการ “จาก 30 บาทรักษาทุกโรค” เป็น “30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรค” คนกลุ่มนี้ทั้งหมดถูกเรียกบัตรทองคืนอย่างถ้วนหน้า นับแต่บัดนั้นพวกเขาและเธอกลายเป็น “ภาระด้านงบประมาณ” ของโรงพยาบาลแถบชายแดนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่มติการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2551 วันที่ 28 มีนาคม 2551 มีมติเรื่อง “ข้อติดขัดในการกำหนดนโยบายหรือแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชนที่ยังไม่มีเลข 13 หลักหรือคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหน่วยบริการของกระทรวงฯ รับภาระการจัดบริการสำหรับคนกลุ่มนี้ จึงจะนำเรื่องนี้เข้าหารือคณะรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป” แต่ล่วงเลยมาถึงกันยายน 2552 รัฐบาลไทยก็ไม่มีคำตอบนี้ให้กับ สปสช. และโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดน ที่เฝ้ารอความหวังอย่างใจจดใจจ่อ แม้มีความพยายามเพียงใดก็ตาม
แม่ถามลูกว่า “เราจะทำอะไรกันได้บ้าง ?”
ลูกตอบแม่ว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แม้พื้นที่มีความพยายามเพียงใด แต่ฝ่ายการเมืองไม่มีนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างก็ยากจะแหกกฎ หรือสร้างระบบประกันสุขภาพทางเลือกแบบยั่งยืนขึ้นมาได้จริงในพื้นที่”
ฉะนั้นข้อสรุปต่อเรื่องดังกล่าวนี้ที่ “ฝันของคนไทยในสายตาแม่” จะเป็นจริงขึ้นมาได้ เหมือน
”ฝันให้ไกลไปให้ถึงญี่ปุ่นแบบเด็กชายหม่อง ทองดี” จึงอยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วว่าท่านจะยังคงซื่อสัตย์ต่อคำพูดตนเองเพียงใด ดังคำพูดที่ท่านเคยพูดไว้กับหม่อง ทองดีและคณะที่เข้าไปพบ เมื่อ 3 กันยายน 2552 ว่า “ในเรื่องการให้สัญชาติของชาวต่างด้าวนั้น ได้มีการคุยกันในที่ประชุม สมช. ยอมรับว่าที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี มีคนไร้สัญชาติมาก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ กำลังจะพิจารณาอยู่ รวมถึงการให้หลักประกันด้านสุขภาพด้วย โดยกำลังหารือกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้ทำเรื่องมาที่ตนโดยตรง รัฐบาลจะดูแลให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ร้องขอจะได้ทุกกรณี แต่รัฐบาลให้ความสำคัญ จะทำเรื่องนี้โดยยึดหลักปฏิบัติสากล” (ไทยรัฐ 03/09/09)
”ฝันให้ไกลไปให้ถึงญี่ปุ่นแบบเด็กชายหม่อง ทองดี” จึงอยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วว่าท่านจะยังคงซื่อสัตย์ต่อคำพูดตนเองเพียงใด ดังคำพูดที่ท่านเคยพูดไว้กับหม่อง ทองดีและคณะที่เข้าไปพบ เมื่อ 3 กันยายน 2552 ว่า “ในเรื่องการให้สัญชาติของชาวต่างด้าวนั้น ได้มีการคุยกันในที่ประชุม สมช. ยอมรับว่าที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี มีคนไร้สัญชาติมาก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ให้ความสำคัญ กำลังจะพิจารณาอยู่ รวมถึงการให้หลักประกันด้านสุขภาพด้วย โดยกำลังหารือกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้ทำเรื่องมาที่ตนโดยตรง รัฐบาลจะดูแลให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ร้องขอจะได้ทุกกรณี แต่รัฐบาลให้ความสำคัญ จะทำเรื่องนี้โดยยึดหลักปฏิบัติสากล” (ไทยรัฐ 03/09/09)
หรือเอาเข้าจริงแล้วกล่าวให้ถึงที่สุด คำตอบสุดท้ายที่ให้แม่ไป ก่อนจบการสนทนายาวๆบทนี้ คือ “เราก็ปล่อยเรื่องนี้ให้จบๆ ไป คนไทยลืมง่ายจะตาย เคอิโงะผ่านไป หม่องผ่านมา คนไร้สัญชาติก็เหมือนสายลมที่เย็นเพียงชั่ววูบชั่วครั้งชั่วคราว ช่างมัน ปล่อยให้ “ไทยเข้มแข็ง” กลายเป็น “ไทยอ่อนแอ” เพราะ “คนในไทย” เข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพ”
และสุดท้ายรัฐบาลไทยก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาคมโลกที่จะประณามท่านว่า “กำลังก่ออาชญากรรมทางสุขภาพด้วยน้ำมือของรัฐไทย” เนื่องจากกำลังละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ข้อ 25 ที่บัญญัติว่า “คนทุกคนมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการได้รับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลรักษาพยาบาล และการบริการทางสังคมที่จำเป็น”
เพราะวันนี้ก็เห็นชัดแล้วว่า รัฐบาลไทยกำลังทำให้ประชาชนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยต้องเจ็บป่วยตาย เพราะรัฐไม่มีกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าได้จริง
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ พรสุข เกิดสว่าง, อดิศร เกิดมงคล, บัณฑิต แป้นวิเศษ และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เริ่มต้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พวกเราเชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา” ติดต่อเรา: crossborder.newsagency@gmail.com |