บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กองทัพกับการเมืองไทย 1

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



เวลานี้มีการอภิปรายถกเถียงในเว็บไซต์ต่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งสนใจศึกษาประเทศไทยโดยเฉพาะว่า กองทัพไทยเป็นปัจจัยสำคัญสุดทางการเมืองใช่หรือไม่ หรือกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของอำนาจนอกระบบในการแทรกแซงจัดการทางการเมืองเท่านั้น

คิดอีกทีข้อถกเถียงนี้ก็ประหลาดนะครับ กองทัพในประเทศอุษาคเนย์ทุกประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งทั้งนั้น จนกลายเป็นหัวข้อศึกษาที่นักวิชาการเฝ้าศึกษาวิเคราะห์มานาน และมักจะวิเคราะห์กันเหมือนว่ากองทัพเป็นตัวละครอิสระ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมเลย

ครั้นมาถึงตอนนี้ การเมืองไทยมักถูกวิเคราะห์ในแนวว่ามีอำนาจนอกระบบ, มือที่มองไม่เห็น, หรือเครือข่ายทางเศรษฐกิจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง เป็นปัจจัยชี้ขาด จนกระทั่งบางทีก็ลืมกองทัพไปเลย

ผมคิดว่า ความจริงคงอยู่ระหว่างสุดโต่งสองด้านนี้ กล่าวคือกองทัพเป็นตัวละครหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์, ความต้องการ, ความใฝ่ฝัน ฯลฯ ที่เป็นของตัวเอง แต่ตัวละครตัวเดียวนี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางการเมืองแต่ลำพังได้ ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในระบบ, นอกระบบ, และปริ่มๆ ระบบ อีกทั้งที่เข้าไปเชื่อมโยงก็ไม่ใช่เพราะกองทัพตัดสินใจได้เองเพียงอย่างเดียว หากเชื่อมโยงเพราะสถานการณ์ชักจูงไปก็ไม่น้อย เหมือนตัวละครในการเมืองไทยอื่นๆ แหละครับ

แต่ก่อนจะพูดถึงพันธมิตรหรือเครือข่ายของกองทัพ ผมคิดว่ามาเริ่มต้นกับผลประโยชน์ของกองทัพในการเข้าไปมีบทบาทและอำนาจกำกับ (ระดับหนึ่ง) ในการเมืองไทยกันเสียก่อน

ผลประโยชน์ในที่นี้ ผมจะไม่รวมผลประโยชน์ทางอุดมการณ์ เช่น ทหารถูกทำให้เชื่อว่าตนมีหน้าที่ปกป้องราชบัลลังก์ และผดุงความเป็นชาติไทยเอาไว้ และผมไม่นับการที่นายพลได้กินสินบนในการสั่งซื้ออาวุธและอื่นๆ ว่าเป็นผลประโยชน์ของกองทัพ

เท่าที่ผมนึกออก ผมคิดว่ากองทัพได้รับผลประโยชน์จากการเข้าไปมีอำนาจและบทบาททางการเมืองไทยดังนี้

อันแรกคืองบประมาณ เป็นหลักประกันว่ากองทัพจะได้งบประมาณจำนวนมาก ในช่วงสี่ปีหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน งบประมาณกองทัพพุ่งขึ้นตลอดมา จนกระทั่งในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณทหารต่อจีดีพีแล้ว งบประมาณทหารไทยดูเหมือนจะอยู่สูงสุดในประเทศอาเซียนด้วยกัน (และแน่นอนว่าสูงกว่าประเทศอียูทั้งมวล)

แน่นอน ส่วนหนึ่งของงบฯนี้ ถูกแบ่งไปซื้อเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่ใช้อคติเป็นพลังงาน รถถังที่ไม่มีเครื่อง ฯลฯ แต่ที่ผมอยากพูดถึงมากกว่าก็คือ ทหารก็เหมือนข้าราชการอื่นๆ กล่าวคืออยากจะพิสูจน์ความชอบธรรมของหน่วยตนเอง ด้วยการแสดงสมรรถนะให้สังคมยอมรับ กองทัพเลือกการมีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นเครื่องหมายแห่งสมรรถนะ (จะถูกหรือผิดคงเถียงกันได้)

ยิ่งกว่าหน่วยราชการทั่วไปด้วย กองทัพจะพิสูจน์ความชอบธรรมของการมีอยู่ของตนได้น้อยลง เพราะโลกข้างหน้าเท่าที่จะพอมองเห็นได้ คงไม่มีสงครามใหญ่กระทบมาถึงไทย นับวันภารกิจของกองทัพต้องหันมาสู่กิจการภายในมากขึ้น นับตั้งแต่ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล, ช่วยน้ำท่วม และสวนสนาม ฉะนั้นการป้องกันงบประมาณกลาโหมจะยิ่งยากขึ้น อย่าพูดถึงของบฯเพิ่มเลย แม้แต่จะรักษางบฯเก่าให้คงเดิมก็ยากแล้ว

การแผ่รังสีอำมหิตเข้าครอบงำการเมืองจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะประกันว่างบประมาณทหารจะเพิ่มขึ้นตามลำดับตลอดไป

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการประกอบภารกิจภายในบางอย่าง ต้องการอำนาจทั้งในกฎหมายและเหนือกฎหมาย เพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงได้ง่ายด้วย เช่น ผลักดันชนกลุ่มน้อยจากประเทศเพื่อนบ้านกลับ, ปราบยาเสพติด, ปราบจลาจล และแหะๆ ยึดอำนาจ

ผลประโยชน์อย่างที่สองคือทรัพยากร อย่านึกว่ากองทัพไทยมีแต่ปืนและเครื่องแบบ ที่จริงแล้วกองทัพครอบครองทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญสองอย่างคือที่ดินและคลื่นความถี่ ทรัพยากรเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจทางการเมืองที่กองทัพมีอยู่ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ หากทหารไม่มีอำนาจทางการเมืองอยู่เลย ระเบียบอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่รัฐเพิ่งเสนอ ก็คงริบเอาคลื่นความถี่ด้าน "ความมั่นคง" ทั้งหมด กลับมาให้คณะกรรมการพิจารณา ไม่ใช่สงวนไว้นอกอำนาจของ กสทช.หน้าตาเฉยอย่างนี้

ที่ดินซึ่งหวงห้ามไว้ในราชอาณาจักรอีกจำนวนมหึมา สมัยที่หวงห้ามยังเป็นป่าเขาที่ห่างไกล แต่บัดนี้กลายเป็นพื้นที่ใกล้หรือในเมือง เพราะการขยายตัวของพื้นที่เมืองในประเทศไทย ย่อมเป็นแหล่งรายได้ทางธุรกิจมหาศาล ไม่พูดถึงการหาประโยชน์เข้ากระเป๋าของนายทหาร หากกองทัพนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ กองทัพก็จะมีเงินรายได้นอกงบประมาณไว้ใช้สอยอีกจำนวนมหึมา (มากกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียอีก)

แม้ทรัพยากรเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายพลคนใด แต่เป็นสมบัติของกองทัพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้องรักษาเอาไว้ จะรักษาไว้ได้ก็ต้องควบคุมการเมืองในระดับหนึ่ง เช่น อย่าให้มีใครกล้าออกกฎหมายที่ดินซึ่งจะทำให้กองทัพสูญเสียทรัพยากรที่ดินในครอบครองไป

ผลประโยชน์อย่างที่สามคือโอกาสทางธุรกิจของนายทหาร เพราะอำนาจของกองทัพในการเมืองนี่เอง ธุรกิจจึงนิยมใช้ประโยชน์จากเส้นสายของนายทหารนอกราชการ ทหารเกษียณหลายคนได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือที่ปรึกษาบริษัทเอกชน ยังไม่พูดถึงรัฐวิสาหกิจ อย่ามองเรื่องนี้เพียงผลประโยชน์ของนายทหารบางคนเท่านั้น นั่นก็ใช่แน่

แต่หากมองว่าระบบบำนาญของกองทัพนั้น มีหลักประกันด้านสวัสดิการที่เหนือกว่าข้าราชการทั่วไป เป็นระบบสวัสดิการของกองทัพซึ่งจะรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็ต้องมีอำนาจในการเมือง

อีกเรื่องที่ผมอยากพูดถึงไว้ด้วยก็คือเรื่องของ redistribution หรือการกระจายทรัพย์สมบัติกลับสู่บุคลากรในกองทัพ

ทหารไทยมีประเพณีของ redistribution สูง นับตั้งแต่เลี้ยงเหล้าไอ้เณร ไปจนถึงแบ่งทรัพยากรของกองทัพให้ลูกน้องที่อยู่ในสังกัดของตนได้ดูแล (และบริโภค) เพราะเราจัดความสัมพันธ์ภายในกองทัพในลักษณะนาย-ไพร่ของกองทัพโบราณ เมื่อยึดทรัพย์จับเชลยมาได้ ก็แบ่งปันกันในหมู่ไพร่ในสังกัด ฉะนั้นต้องเข้าใจด้วยว่าผลประโยชน์ที่กองทัพมี หรือที่นายทหารเม้มใส่กระเป๋าของตนนั้น อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปในกองทัพ-ในรูปต่างๆ-อยู่พอสมควร

ภารกิจที่จะต้องมีอำนาจเหนือการเมือง จึงเป็นภารกิจที่บุคลากรในกองทัพยอมรับได้ว่าเป็นภารกิจร่วมกันของกองทัพ

จะมีอำนาจเหนือการเมืองได้ ก็ต้องเป็นตัวละครอิสระทางการเมือง กล่าวคือมีความต้องการและทิศทางของตนเอง จะเป็นอย่างนั้นก็ต้องรักษาอิสรภาพของตนไว้ให้ได้ นี่คือเหตุผลที่กองทัพไม่ไว้ใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเผลอเมื่อไรก็มักจะแทรกเข้ามาลดอิสรภาพของกองทัพเสมอ ผบ.กองทัพนั้น กองทัพอยากเป็นคนเลือกเอง เพราะ ผบ.ที่เป็นอิสระเท่านั้น ที่จะไม่นำกองทัพไปเป็นเครื่องมือของใคร (อย่างไม่มีข้อแลกเปลี่ยนเลย)

แต่อำนาจของกองทัพเหนือการเมืองนั้น ไม่ได้มาจากรถถัง, ทหารป่าหวาย, หรือปืนยิงเร็ว ฯลฯ นั่นก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ กองทัพจะยึดอำนาจหรือรักษาอำนาจของตนในการเมืองไว้ได้ ก็เพราะกองทัพได้รับความเห็นชอบจากส่วนอื่นๆ ที่มีพลังในสังคม

เมื่อตอนที่กองทัพทำรัฐประหารสำเร็จ นายแบงก์และนายทุนธุรกิจพากันหิ้วกระเช้าไปแสดงความยินดีกับหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่จริงแล้วเขาพากันไปแสดงความยินดีกับตนเองไปพร้อมกันด้วย

เพราะการยึดอำนาจครั้งนั้นเขาเห็นชอบ และบางครั้งถึงกับเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลังบางส่วนด้วยซ้ำ

ฉะนั้น เราจึงจะเข้าใจบทบาททางการเมืองของกองทัพได้ ก็โดยการดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับ "พันธมิตร" เหล่านี้ และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้อยู่คงที่ แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพราะ "พันธมิตร" ก็ต้องการเป็นตัวละครอิสระในทางการเมืองเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนข้างเปลี่ยนสี เปลี่ยนจุดเน้นแห่งพันธะ และเปลี่ยนการดำเนินการทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลกระทบไปถึงการเมืองภายในของกองทัพเองด้วย และแน่นอนย่อมมีผลให้เกิดพลวัตที่แฝงอยู่ในการเมืองไทย

กลุ่มที่เข้ามามีบทบาทบนพื้นที่ทางการเมืองไทย นับจาก 14 ตุลาเป็นต้นมา มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รวมทั้งเพิ่มเข้ามาใหม่อย่างไม่หยุดหย่อนด้วย) ทำให้อำนาจดิบของกองทัพยิ่งไร้ประสิทธิภาพมากขึ้น การล่มสลายของคณะ รสช.ในเดือนพฤษภาคม 2535 พิสูจน์ว่าอำนาจดิบอย่างเดียวใช้คุมการเมืองไม่ได้ กองทัพเหลียวมองข้างหลังแล้วพบว่า "พันธมิตร" ของตนส่วนใหญ่เผ่นป่าราบไปแล้ว บางส่วนถึงไม่ได้เผ่น ก็เริ่มแทงกั๊ก คือผลักภาระให้กองทัพรับผิดชอบไปแต่ผู้เดียว

ยิ่งย้อนกลับไปถึง 14 ตุลา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า บางส่วนของ "พันธมิตร" ลอบแทงข้างหลังกองทัพมาแต่ต้น เป็นผลให้เกิดความแตกแยกภายในกองทัพอย่างหนัก แต่พัฒนาการทางการเมืองหลังจากนั้น กลับดึงให้ "พันธมิตร" บางกลุ่มต้องหันกลับมาร่วมมือกับบางส่วนของกองทัพ เพื่อผดุงอำนาจต่อรองของตนในการเมืองเอาไว้

ฉะนั้น ที่ผมเรียกว่า "พันธมิตร" ของกองทัพนั้น ไม่สู้จะถูกต้องนัก เพราะกลุ่มเหล่านี้อาจจับมือกับกองทัพในบางสถานการณ์ และหันหลังให้กองทัพในอีกสถานการณ์หนึ่งได้ ที่ถูกต้องกว่าก็คือกลุ่มคนเหล่านี้เป็น "หุ้นส่วน" ในการเมืองไทย ร่วมหุ้นกันบ้าง ถอนหุ้นกันบ้าง แล้วแต่จังหวะไหนจะทำกำไรได้มากกว่า

ในตอนหน้า ผมจะพูดถึงเรื่องนี้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker