'ดอกไม้เหล็กในมือนาย'
‘อัญชลี’ย้ำชัดฟัง‘มาร์ค’เป็นหลัก
งานนี้ “ทศกัณฐ์กรำศึก” คงจะได้รู้แล้วว่า ภาษิตโบราณที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล นั้น เป็นเยี่ยงไร??
เพราะแม้ว่าจะเป็น”ผู้จัดการรัฐบาล”ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถขึ้นลิฟท์ ลัดคิวมาเป็นรัฐบาลได้โดยไม่ต้องรอชนะการเลือกตั้ง... แต่นั่นก็เป็นเรื่อง 2 ปีล่วงมาแล้ว นานพอที่ความหวานจะจืดจางลงไปได้สบายๆ
และแม้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี อาจะมีบารมีคุ้มตัว สามารถเปลี่ยนสีหน้ารับศึกได้มากราวกับเป็นทศกัณฐ์ แต่สำหรับคนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ล้วนแล้วแต่ทศกัณฑ์ด้วยกันทั้งนั้น มีใครยอมใครง่ายๆเสียที่ไหน
แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่ละอ่อนทางการเมืองที่จะเชื่องเชื่อให้กับใครต่อใครเหมือนกับเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ฉะนั้นวันนี้ใช่ว่าจะต้องฟังผู้จัดการรัฐบาลทุกเรื่องราวเสียเมื่อไหร่
โดยเฉพาะกับตำแหน่งคนใกล้ตัว อย่างตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า คนใกล้ตัวต้องขอเป็นคนเลือกเอง... จึงได้ยืนกรานมาตลอดว่า คนที่จะมาทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ทึ่ลาออกไป จะต้องเป็น...
“อัญชลี วานิช เทพบุตร”
คนเดียวเท่านั้น คนอื่นไม่ปรารถนา!!!
ดังนั้นแม้ว่าจะเผชิญแรงต้าน มีการทักท้วง รวมไปถึงมีการโยงเรื่องไปถึง “กลุ่มแก๊งออฟโฟว์”ในประชาธิปัตย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้โผสุดท้ายแปลี่ยนแปลงได้
วันนี้ในพรรคประชาธิปัตย์จะมองหน้ากันสนิทหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แหวกกระแสต้าน ขยับชั้นขึ้นมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแน่นอนแล้ว
ซึ่งนางอัญชลี บอกแบบไม่กังวลว่า การที่มีข่าวว่ามี ส.ส.ในพรรคส่งเอสเอ็มเอส คัดค้านการมารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น ในสังคมประชาธิปไตยต้องใช้เหตุผลที่จะอยู่ร่วมกันโดยต้องมีการแสดงความเห็น ซึ่งต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีเสรีภาพทางความคิดของสมาชิกค่อนข้างมาก
ดังนั้น การแสดงความเห็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องธรรมดาของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการตั้งประเด็นหรือคำถามในข้อมูลที่อยากจะทราบ ซึ่งเข้าใจว่านายกรัฐมนตรี และ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ คงจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้สมาชิกได้รับทราบ
แถมยืนยันด้วยว่าไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด!!
เพราะสิ่งสำคัญคือในเมื่อเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานายกรัฐมนตรี ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาสั่งงานให้ทำอะไร ก็พร้อมที่จะทำตาม ซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องว่าเหมาะสมหรือไม่ในการทำหน้าที่ตรงนี้ นางอัญชลี พูดชัดเจนว่า คนที่จะตัดสินใจว่าเหมาะสมหรือไม่ คือ “ผู้บังคับบัญชา” ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรกับการผลักดันนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐบาลให้เกิดผล ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ ก็ได้ทำหน้าที่ตรงนี้เช่นกัน
“รวมทั้งในเรื่องการประสานงานกับฝ่ายบริหาร รัฐสภา ทุกวันนี้ก็ทำอยู่ รวมถึงภาคประชาชนด้วย ฉะนั้นให้นายกฯเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเองดีกว่า”
สำหรับการที่มีการมองว่าที่ผ่านมา นายกอร์ปศักดิ์ ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการของรัฐบาลจะสามารถประสานต่อได้หรือไม่ นางอัญชลี กล่าวว่า ต้องดูนโยบายของนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก !!!
และที่สำคัญคือเรื่องวาระการประชุมของ ครม.ที่อาจจะต้องผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องช่วยกันกลั่นกรองและแสดงความคิดเห็นเพื่อให้นายกฯได้ตัดสินใจ
ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่านางอัญชลีเคยทำให้รัฐบาลเกิดปัญหาเรื่องที่ดิน สปก. 4-01 นั้น นางอัญชลีบอกว่าเรื่องนี้นายกฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเองที่จะเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เลขาธิการฯ เอง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสปก. 4-01 เข้าใจว่าเกิดจากการตีความทางกฎหมายที่มีบุคคลนำมากล่าวอ้างโดยไม่ได้มีการศึกษารายละเอียดก่อน
“ส่วนตัวพร้อมชี้แจง เพราะการเข้ามาเป็นนักการเมืองต้องตกเป็นเป้าอยู่แล้ว สำหรับ ส.ส.ในพรรคที่ไม่พอใจ ถือว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนรักทั้งหมด เพราะตามข้อเท็จจริงเชื่อว่าสมาชิกกว่า 170 คน เข้าใจในการทำงานของตัวเอง ซึ่งหากมีเพียงแค่นี้ก็พอใจแล้ว ส่วนความกังวลเรื่องที่เมื่อมาทำหน้าที่เลขาธิการนายกฯ แล้วจะทำให้ ส.ส.เข้าถึงยากนั้น คิดว่าไม่จะมีปัญหาเพราะทุกอย่างต้องประสานให้อยู่แล้ว”
งานนี้เล่นบท “ดอกไม้เหล็กในมือนาย” ไม่หวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น!!
จึงไม่แปลกที่ ในการประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ส่งท้ายปี 2553 โดยมีแกนนำพรรคในฝ่ายบริหาร อาทิ นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค, นายสุเทพ เลขาธิการพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เข้าร่วมประชุมกับกรรมการบริหาร และ ส.ส.อย่างพร้อมเพรียง
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษา ไม่ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ซึ่งคนสนิทแกนนำทั้ง 2 คนแจ้งว่า ติดภารกิจส่วนตัวอยู่นอกพื้นที่ กทม. ได้เริ่มประชุม ส.ส. โดยนายสุเทพ เป็นแกนนำพรรคคนแรกที่ขึ้นเวทีชี้แจงกับส.ส. ต่อด้วยนายอภิสิทธิ์
โดยนายสุเทพได้ประกาศกลางที่ประชุมว่า ต้องทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบให้ได้ โดยหลังจากนี้ไปส.ส.แต่ละพื้นที่ต้องเร่งจัดประชุมและสัมมนาให้ความรู้กับสมาชิกและหัวคะแนนในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญต้องทำสมาชิกพรรคในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากกว่า 3,000 คนขึ้นไปเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์บรรลุเป้าหมาย
นอกจากนั้น แล้วต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องนโยบายและการทำงานของรัฐบาลประชาธิปัตย์ด้วย โดยนายสุเทพได้พูดทีเล่นทีจริงว่า .....
“หากส.ส.คนใดไม่ทำกิจกรรมในพื้นที่หรือหาสมาชิกไม่ครบ 3,000 คน จะถูกตัดสิทธิ์ในการส่งลงสมัครรับเลือกตั้งที่จะมาถึง”
ส่วนประเด็นความขัดแย้งในพรรคเกี่ยวกับการแต่งตั้ง นางอัญชลี เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทนนายกอร์ปศักดิ์นั้น นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคว่า การเลือกคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว ต้องเป็นบุคคลที่ไว้วางใจได้
และ กรณีนี้สาเหตุที่ นายกอร์ปศักดิ์ ลาออก เนื่องจากต้องการมาทำนโยบายและแผนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า และ ที่ผ่านมาก็เห็นว่านางอัญชลี ได้ประสานงานกับนายกอร์ปศักดิ์ และทำงานร่วมกันมาโดยตลอด ฉะนั้น จะสามารถสานงานต่อได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษา เพราะมีความเหมาะสม
“อีกทั้ง ตำแหน่งดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผมในการเลือก ดังนั้น ใครที่เห็นต่างในเรื่อดังกล่าวสามารถลุกขึ้นชี้แจงได้”
แต่ปรากฏว่านายสุเทพ ได้ยกมือแสดงความเห็นว่า ขณะนี้ถึงฤดูกาลเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นสมาชิกพรรคอย่ามีความเห็นที่ต่างกัน เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนายกฯ
หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการหารือกันในเรื่องการจัดงานระดมทุนพรรค เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้แสดงความเป็นห่วงเห็นว่า หากจัดงานดังกล่าวในช่วงที่เป็นรัฐบาล อาจจะถูกครหาว่าใช้อำนาจหน้าที่บริหารได้
ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็เห็นด้วยอม จึงได้สั่งให้คณะกรรมการจัดการระดมทุนเร่งประชาสัมพันธ์ให้ภาพออกมาดี
รวมทั้งได้มี ส.ส.ไม่เห็นด้วยกับชื่อ”ประชาวัฒน์” เพราะไปสอดคล้องกับชื่อโครงการประชานิยม และจะทำให้ถูกโจมตีได้ว่า สุดท้ายก็เป็นการลอกเลียนแบบนโยบายพรรคไทยรักไทย
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกรณีที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อต้องการทุ่มเทเตรียมการเลือกตั้ง และสร้างความมั่นใจว่า นายอภิสิทธิ์ จะต้องกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง
โดยเป้าหมายการชนะต้องมีหลัก 3 ข้อ คือ นโยบายที่ดี, ความพร้อมของผู้สมัคร และมีทุนที่เพียงพอต่อการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งนายกอร์ปศักดิ์ได้อาสาเข้ามารับผิดชอบยุทธศาสตร์นโยบายการเลือกตั้ง และ ให้ความมั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง
“ส่วนประเด็นที่คุณอัญชลีจะมาดำรงตำแหน่งแทนคุณกอร์ปศักดิ์นั้น นายกฯ ชี้แจงว่า ข้อบังคับพรรค นายกฯ จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นนายกฯ ได้หารือร่วมกับคุณกอร์ปศักดิ์ด้วย ซึ่งคุณกอร์ปศักดิ์ก็เห็นด้วย เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้ให้ส.ส.แสดงความเห็นเรื่องดังกล่าว แต่ในที่ประชุมก็พร้อมใจกันปรบมือ แสดงให้เห็นว่า ส.ส. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ยินดีให้คุณอัญชลีดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ทั้งนี้คุณกอร์ปศักดิ์ก็ได้แสดงความเห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคุณอัญชลี เพราะเคยทำงานร่วมกัน” นพ.วรงค์ สรุปอย่างนี้