วิภาวี จุฬามณี
แต่ถ้าสำรวจความเสียหาย และความสูญเสียกันจริงๆ แล้ว จะพบอีกพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ ที่เจ้าหน้าที่ปะทะกับประชาชน ได้แก่ "ย่านบ่อนไก่-พระราม 4" ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่าน ก่อนจะผ่านไปยังศูนย์กลางที่ราชประสงค์
ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ระบุว่า การเผชิญหน้าบริเวณนี้ตั้งแต่วันที่ 13-16 พ.ค.2553 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15 ราย
ได้แก่ 1.ชาติชาย ชาเหลา คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่ศีรษะ 2.นายบุญมี เริ่มสุข ชาวชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าช่องท้อง 3.นายอินแปลง เทศวงศ์ คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงที่หน้าอก 4.นายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับรถแท็กซี่ อาศัยอยู่แฟลตตำรวจลุมพินี ถูกยิงที่หน้าอก 5.นายมานะ แสนประเสริฐ ชาวชุมชนบ่อนไก่ อาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง ถูกยิงที่ศีรษะ
6.นายวารินทร์ วงศ์สนิท ชาวสมุทรปราการ ถูกยิงด้านหลังทะลุหัวใจ 7.นายพรสวรรค์ นาคะไชย พนักงานโรงแรมย่านสุขุมวิท ถูกยิงเข้าช่องท้อง 8.นายวงศกร แปลงศรี ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่หน้าอก 9.นายสมชาย พระสุวรรณ ชาวยโสธร ถูกยิงที่ศีรษะ 10.นายวุฒิชัย วราห์คำ ช่างซ่อมรถยนต์ ถูกยิงหลังทะลุท้อง
11.นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล คนขับจักรยานยนต์รับจ้าง ถูกยิงใต้ราวนม 12.นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเข้าหน้าอก 13.นายเฉลียว ดีรื่นรมย์ พนักงานขับรถถูกยิงใต้ราวนม 14.นายสมัย ทัดแก้ว รปภ.อาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่ ถูกยิงเข้าด้านหลัง และ 15.นายสุพรรณ ทุมทอง ชาวศรีสะเกษ ถูกยิงที่ศีรษะ
และต่อไปนี้คือปากคำของชาวแฟลตบ่อนไก่ ผู้เผชิญกับเหตุการณ์ครั้งนั้น และต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
นางนันทพร เริ่มสุข ภรรยา ลุงบุญมี เริ่มสุข ชาวแฟลตบ่อนไก่ ที่ถูกสไนเปอร์ยิงหน้าร้านอาหารระเบียงทอง ถนนพระราม 4 เมื่อบ่ายวันที่ 14 พ.ค.2553 เล่าว่า วันนั้นสามีออกไปกินก๋วยเตี๋ยว เสร็จแล้วจะไปออกกำลังกายที่สวนลุมฯ เห็นเขามุงอะไรกันก็ไปดูด้วย จู่ๆ ก็ถูกยิงที่สีข้าง ทั้งที่กำลังจะเดินกลับบ้าน ไม่รู้เรื่องอะไร กระสุนทะลุลำไส้ รักษาตัวอยู่เกือบ 2 เดือน จึงเสียชีวิต
"เราอยู่ที่นี่มา 30 กว่าปีแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาปะทะกันแถวนี้ วันที่ลุงบุญมีถูกยิง เป็นวันแรกที่เริ่มปะทะกัน ตอนนั้นคนในซอยยังเดินจับจ่ายใช้สอยกันปกติ สักพักทีวีออกข่าวว่าข้างนอกออกไปไม่ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. เขาตัดไฟเป็นอาทิตย์ กลางคืนเงียบมาก วัยรุ่นในชุมชนจัดเวรยามช่วยกันดูไม่ให้มีการลักขโมย ขณะที่ทหารก็ตรึงกำลังอยู่ข้างนอก คนที่กลัวเขาก็ออกไปอยู่ที่อื่น แต่เราไม่ไปไหน ข้างในไม่มีเหตุอะไร แต่จะเหม็นควันไปที่เผายางกันปากซอย"
ป้านันทพร บอกว่า หลังสามีเสียชีวิต ต้องมีชีวิตอย่างยากลำบาก บริษัทการเกษตรของสามีที่ศรีสะเกษต้องปิดตัวลง เพราะบริหารงานต่อไม่เป็น จากที่เคยมีรายได้กลายเป็นไม่มี เงินเก็บร่อยหรอลงทุกที ขณะที่ต้องส่งเสียค่าเล่าเรียนให้หลานสาวที่พ่อแม่แยกทางกันอีก
"เราสุขภาพไม่ดี คล้ายกับตรอมใจตั้งแต่ตอนลุงบุญมีเสีย ตอนหลังเห็นเจ้าของแผงขายหมูในแฟลตบ่อนไก่ ลูกเขาก็เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เหมือนกัน ก็ได้คุยปรับทุกข์กัน ตอนหลังแม่น้องเกด (นางพะเยาว์ ฮัคฮาด) พยาบาลอาสาที่ถูกยิงในวัดปทุมฯ มาชวนไปร่วมเรียกร้องความเป็นธรรม ชวนไปทำกิจกรรม ทำบุญให้ผู้เสียชีวิต เราก็ไปร่วมกับเขาด้วย" นันทพร เล่าถึงการรวมตัวของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด
เจ้าของแผงขายหมูในแฟลตบ่อนไก่ ที่ป้านันทพรได้อาศัยเป็นเพื่อนปรับทุกข์ คือ นางนารี แสนประเสริฐศรี แม่ของ นายมานะ แสนประเสริฐศรี หรือ "เบิร์ด" อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง วัย 25 ปี ถูกยิงศีรษะ ขณะเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บในซอยงามดูพลี แยกบ่อนไก่ เมื่อค่ำวันที่ 15 พ.ค.2553
นารี บอกว่า อยู่บ่อนไก่มา 20 กว่าปี ไม่ใช่คนเสื้อแดง ไม่เคยไปร่วมชุมนุม ได้แต่นั่งดูผ่านทีวี เพราะอาชีพหาเช้ากินค่ำ ทำให้ไม่มีเวลาว่างจะไปไหน ช่วงที่เกิดเหตุก็ขายหมูอยู่ที่แผง ข้างนอกมีทหารยืนเป็นแถว ตนเองกับเพื่อนแม่ค้าต้องเดินเลาะฝ่ากระสุนไปซื้อของมาขาย เพราะคนนอกไม่กล้าเอาของมาส่งแล้ว
"ฉันสงสัยจังเลยว่าบ่อนไก่ทำอะไรให้ ทำไมเอาทหารมายืนเป็นแถว แล้วก็ถือปืนยิงมาทางนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีเสื้อแดงเลย และราชประสงค์ก็อยู่ห่างกันตั้งเยอะ ไม่จริงว่าตรงนี้เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ราชประสงค์ เพราะทหารยืนกั้นไปหมด ไม่ควรมายิงพวกเรา ไม่มีเสื้อแดงสักคน มีแต่ชาวบ้านทั้งนั้นที่ออกไปดู"
"เหตุการณ์ตอนนั้นน่ากลัวมาก มีข่าวมือที่ 3 จะเผาแฟลต ชาวบ้านก็มานอนอยู่ข้างถนน เอาหินมาขวางไม่ให้ทหาร หรือใครเข้ามา ใครมาก็ช่วยกันเอาไฟฉายส่องดู บางคนก็หนีออกไป ไม่กล้าอยู่ พอเหตุการณ์ยุติ บ้านช่องเละไปหมด หมูที่ตุนไว้ในตู้เย็นหมื่นกว่าบาทเน่าหมด เพราะเขาตัดไฟสิบวัน โต๊ะเพิ่งทำใหม่ ก็โดนแบกไปทำเชื้อฟืน ทำบังเกอร์ เคยเรียกร้องค่าเสียหายจาก กทม. ไปแล้วก็เงียบ" อีกปากคำของผู้สูญเสีย
หลังเหตุการณ์ ป้านารีบอกว่าคนที่ไม่เคยรู้จักกัน ก็มารู้จักกัน เพราะมีคนในครอบครัวเสียชีวิต หรือบาดเจ็บเหมือนกัน เฉพาะที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้มีผู้เสียชีวิต 4-5 ราย คนหนึ่งเป็นอัมพาต นอนป่วยไปไหนไม่ได้มาถึงทุกวันนี้
รวมไปถึง นางอุบลวดี จันทร พี่สาว นายเสน่ห์ นิลเหลือง คนขับแท็กซี่ ที่ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงตัดขั้วหัวใจ หน้าปั๊มน้ำมันปตท. แยกบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 ร่วมบอกว่า เป็นอาสาสมัครหน่วยสันติวิธีของ น.พ.เหวง โตจิราการ ส่วนน้องชายไม่เคยมาร่วมชุมนุมเลย แต่กลับถูกยิงขณะเดินทางมาหาที่แฟลตตำรวจ สน.ลุมพินี
นางอุบลวดี บอกว่า หลังน้องชายตาย ยังมีระเบิดตกลงมาที่แฟลตนับสิบลูก ลูกหนึ่งตกลงหลังคาลานจอดรถ มีรถเสียหาย 7-8 คัน อีกลูกตกที่ห้องพักชั้น 4 อาคาร 5 มีผู้บาดเจ็บ 3-4 คน
"คนที่สูญเสียเหมือนๆ กัน เราได้รู้จักกันตอนไปเดินเรื่องทวงถามความเป็นธรรม บางคนมาคุยให้ฟังว่า คิดถึงลูกที่ตายไป อยากฝากรัฐบาลใหม่ ทำความจริงให้ปรากฏเสียที รัฐบาลชุดก่อนต้องรับผิดชอบที่มีคนตาย คุณเป็นรัฐบาลอยู่ คุณต้องรับผิดชอบ คนที่ทำให้หลายครอบครัวสูญเสียคนที่รักไป ต้องได้รับการลงโทษเสียที"
นี่คือส่วนหนึ่งในปากคำ และข้อเรียกร้องของชาวบ่อนไก่ผู้สูญเสีย