ในฐานะที่ผมเป็นผู้ที่เผชิญปัญหาน้ำท่วม 54 ไปแล้ว เพราะมีที่พักอยู่บริเวณซอยท่าอิฐ ตำบลบางรักน้อย อ.เมืองของจังหวัดนนทบุรี ผมคิดว่าควรจะหาบทเรียนจากวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งมีดังนี้
1) บทเรียนนี้มีราคาแพงมากและน่าจะสร้างความเสียหายสูงสุดแก่ประเทศไทยเป็น ประวัติการณ์ จากการประเมินโดยเบื้องต้นของผมซึ่งรวมผลกระทบทั้งทางตรง ซึ่งก็คือความเสียหายต่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ทางอ้อม คือกำลังซื้อของประเทศหดหายไปมหาศาล เพราะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานหรือไม่ได้รับค่าจ้างและอาจจะรวมถึงโบนัสใน ไตรมาส 4 เพราะช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคอุตสาหกรรมมีคำสั่งซื้อสูงที่สุด ในขณะที่กำลังซื้อภาคเกษตรลดลงเพราะเทือกสวน ไร่นา จมน้ำเสียหาย
ผมประเมินความเสียหายประมาณ 5.5-6.5 แสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อจีดีพีให้หายไปประมาณ 2-2.5 % เพราะกว่าน้ำจะลดและไร่นาจะกลับมาเพาะปลูก กว่าที่เครื่องจักรจะมาเดินการผลิต อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 เดือนขึ้นไป
2) ต้องเร่งหาสาเหตุของวิกฤติน้ำท่วม 2554 ให้ได้ เพราะสาเหตุที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติน้ำท่วมที่ถูกต้อง โดยควรใช้คณะกรรมการอิสระในรูปแบบเดียวกับที่ประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤติการ เงินปี 2540 เคยจัดตั้ง คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการ เงินของประเทศ (ศปร.)
ถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยจะเป็นเรื่องที่ตามมา เพราะการลงทุนในมูลค่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความมั่นใจและรับประกันถึงความปลอดภัยในการลงทุนโดย เฉพาะจากความบกพร่องในฝีมือมนุษย์ เพราะเรื่องธรรมชาตินั้น นักลงทุนเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้าเป็นจากความบกพร่องในเรื่องของการบริหารจัดการและยังไม่ได้มีการ จัดการแก้ไข ความจำเป็นในการย้ายฐานการผลิตจะเป็นเรื่องตามมา เพราะความเสียหายขณะนี้ ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกของชิ้นส่วนอีเลกทรอนิกส์และยานยนตร์ ให้เกิดการชะงักขึ้น สร้างความเสียหายในการผลิตไปทั่วโลก
3) การบริการสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ ( Crisis Management) เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องปรับปรุงอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องความสอดคล้องและ ความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งแผนรองรับ เพราะประชาชนไม่น่าจะต้องการทราบว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ ไหลมาด้วยความเร็วกี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือมีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตร แต่ประชาชนน่าจะต้องการทราบว่ามีถนนสายไหนบ้างที่น้ำจะท่วมและจะท่วมสูงแค ไหน กี่เซนติเมตร กี่เมตรและจะท่วมขังอยู่นานแค่ไหน เพื่อที่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆจะได้วางแผนถูก เพราะข้อมูลความเร็วน้ำและปริมาตรน้ำนั้น เอาไปใช้ในการวางแผนรับน้ำท่วมไม่ได้เพราะประชาชนไม่ใช่นักอุทกศาสตร์ที่ วิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้ได้ด้วยตนเอง
ในวิกฤติครั้งนี้ ผมเห็นถึงพลังขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ที่เข้ามาทำหน้าที่อย่างแข็งขันในยามที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติน้ำ ท่วมนี้ได้ นอกจากนี้ ผมขอบคุณภาคประชาชนที่ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดย เฉพาะเครือข่ายสังคม (Social Network) ใน Face Book ที่ชื่อว่า “น้ำขึ้น ให้รีบบอก” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องน้ำขึ้นตามสถานที่ต่างๆระหว่างภาคประชาชน ในอินเตอร์เน็ต และข้อมูลนี้มีส่วนช่วยผมมากในประเมินระดับวิกฤติของปัญหาน้ำท่วมเป็นราย นาที
สุดท้าย ผมขอขอบคุณ คณะกรรมการหมู่บ้านและอาสาสมัครของหมู่บ้านนันทนาการ์เด้น ซอยท่าอิฐ ที่มีจิตอาสาร่วมมือในการต้านภัยน้ำท่วมครั้งนี้
หมายเหตุ: 1)บทความนี้ มุมมองส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัดอยู่ และผู้เขียนขอขอบคุณคำแนะนำของ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ที่ให้ความเห็นว่าจริงๆแล้ว ประชาชนที่กังวลเรื่องน้ำท่วมอยากรู้ข้อมูลประเภทใด
2)บทความนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2554