บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อ.นิติราษฎร์ เขียนบทความว่าด้วยเสรีภาพสื่อ

ที่มา ข่าวสด

หมายเหตุ : สาวตรี สุขศรี 1 ใน 7 ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ เผยแพร่บทความเรื่อง เสรีภาพสื่อ => การคุ้มครองสื่อจากรัฐ + การคุ้มครองประชาชนจากสื่อ ในเว็บไซต์นิติราษฎร์ กล่าวถึงปฏิกิิริยาและบทบาทของสื่อมวลชนบางกลุ่ม ภายหลังจากนิติราษฎร์นำเสนอแนวคิดลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 มีเนื้อหารายละเอียดดังนี้

นิติราษฏร์ ฉบับ ๓๐ (สาวตรี สุขศรี)
เสรีภาพสื่อ => การคุ้มครองสื่อจากรัฐ + การคุ้มครองประชาชนจากสื่อ
เกริ่นนำ

ดู เหมือนฝุ่นที่ถูกตีกวนจนฟุ้งกระจายจากข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ จางหายไปแล้วในสื่อกระแสหลัก (ยังมีบางสำนักเท่านั้นที่เล่นต่อไม่ปล่อย เช่น ไทยโพสต์) แต่ถ้าดูให้ดี ๆ จะพบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ยังไม่จบ เพียงแต่ถูกย้ายฐานเข้าไปตลบอบอวลอยู่ในเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นฝุ่นจากเรื่องเดียวกัน แต่เนื้อหาของฝุ่นในสื่อทั้งสองประเภทดูค่อนข้างแตกต่าง ลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ การให้เหตุผล การมีส่วนร่วมของผู้รับสื่อ ราวกับอยู่กันคนละโลก ปรากฏการณ์นิติราษฏร์ครั้งนี้สะท้อนอะไรบ้างเกี่ยวกับสื่อมวลชนไทย

ปรากฎการณ์นิติราษฎร์

คืน วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ คณะนิติราษฏร์ ตัดสินใจตั้งโต๊ะแถลงข้อเสนอทางวิชาการ ๔ ข้อ ในวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสที่อีกหนึ่งวันจะครบรอบ ๑ ปีก่อตั้งคณะนิติราษฏร์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันรัฐประหารยึดอำนาจจากมือประชาชนเมื่อ ๕ ปีก่อน วัตถุประสงค์เพียงเพื่อสรุปสิ่งที่นิติราษฏร์ทำมาแล้วในรอบปี กับเสนอประเด็นใหม่เพื่อให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการ และให้สังคมได้นำไปขบคิดต่อ แต่พลันที่นิติราษฏร์แถลงข้อเสนอออกไป ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอดังกล่าวทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกคึกคัก ดุเดือด นอกเหนือความคาดหมายของสมาชิกในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม สัปดาห์แรกภายหลังแถลงข้อเสนอ ประเด็นเดียวที่ถูกหยิบจับขึ้นวิพากษ์อย่างร้อนแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็คือ ข้อ ๑ เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

รัฐ ประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัย อำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๒ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๓ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูก กล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำ ความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทาง กฎหมายปกติได้

๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข เพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ.

ทั้ง พาดหัว และเนื้อข่าวซึ่งมาจากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่มีต่อข้อเสนอ นักข่าวเขียนเองเชิงรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งบทวิเคราะห์วิจารณ์ของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ กว่า 80 % เป็นไปในทางโจมตีโดยมีประเด็นหลักร่วมกันว่า คณะนิติราษฏร์เสนอให้ลบล้างความผิดของทักษิณ ชินวัตร ต้องการช่วยคนเพียงคนเดียว และเป็นการรับงาน/รับเงิน ชื่อ นิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็น นิติเรด นิติราด ไปจนถึงนิติทรราชย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เป็นกำลังหลักในคณะนิติราษฏร์ ถูกเปลี่ยนเป็นวรเรด วรเชษฐา(ของทักษิณ) วรแจ็ค(ผู้ฆ่ายักษ์) กระทั่งวรนุช ภาพลักษณ์ของคณะนิติราษฏร์ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย 7 คน กลายเป็นผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านเสื้อแดง กลุ่มก่อความวุ่นวาย ไปจนถึงขบวนการผีอีเม้ย

ไม่ควรต้องปฏิเสธหรือ ออกมาปัดป้องกันให้วุ่นวายว่า การเสนอข่าวหรือการขายข่าวโดยสื่อมวลชนเช่นนั้น (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นการเสนอขายข้อที่ไม่เป็นความจริง หรือถ้าจะโต้ว่านำเสนอข้อเท็จจริงก็เป็นไปอย่างไม่ครบถ้วน หลายกรณีที่สื่อและผู้ให้สัมภาษณ์คิดจินตนาการเอาเองอย่างขาดความเข้าใจ บิดข้อเท็จจริงเพื่อทำให้ข้อเสนอดูสุดโต่งน่ากลัว หากจะกล่าวให้หนัก ก็คือ การใส่ร้ายป้ายสีอย่างลอย ๆ โดยไร้พยานหลักฐาน แน่นอนว่าเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในทางเนื้อหาข้อเสนอ และทั้งเจตนารมณ์ของคณะนิติราษฏร์ เกิดข้อกังขาทั้งในประเด็นการเมือง และเรื่องส่วนตัว แต่แทบไม่มีพื้นที่ให้ประเด็นในหลักการทางกฎหมาย และการถกเถียงด้วยปัญญา ที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ คำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งว่าคณะนิติราษฎร์ไม่เคยจัดแถลงและอธิบายรายละเอียดของ ข้อเสนอมาก่อนเลย หรือมิเช่นนั้นก็เสมือนผู้ตั้งคำถาม คนให้สัมภาษณ์ คนเขียนข่าว คอลัมนิสต์ไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฏร์ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว ในประเด็นที่สงสัย

การพร้อมใจกันเสนอข่าวโจมตีไป ในแนวเดียวกันในช่วงสัปดาห์แรก ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมไทยมากอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีบุคคลและองค์กรสาธารณะทั้งในและนอกวงการกฎหมายกระโจนเข้าวิพากษ์คัดค้าน แต่มีเพียงน้อยนิดที่ยืนอยู่บนตรรกหลักการและเหตุผล จนในที่สุดนิติราษฏร์จำเป็นต้อง เปิดแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนและบรรดาผู้คัดค้านอีกครั้งในวันอาทิตย์ถัดมา คือวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔ สัปดาห์หลังจากนั้น สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเสนอข่าวที่มีรายละเอียดของข้อเสนอ และคำอธิบายข้อเสนอครบถ้วนขึ้น แม้สื่อบางสำนักจะยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและลักษณะการเสนอข่าวของตน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าบทวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่ออีกหลายสำนักเป็นไปอย่าง มีเหตุมีผล บางสำนักมีท่าทีเปลี่ยนไปจากสัปดาห์แรกอย่างชัดเจนราวเหวกับฟ้า (ตัวอย่างเช่น เดลินิวส์) (ดูปฏิริยาต่อข้อเสนอนิติราษฏร์ที่ "นิติราษฏร์ Effect - ปฏิกิริยาต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฏร์" ของเว็บไซต์ siamintelligence.com)

แม้ ว่าในท้ายที่สุด ด้วยเหตุแห่งการใส่สีกวนตีประเด็นโดยสื่อมวลชน จะยังผลให้แนวคิดสำคัญที่ว่าด้วย "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย เป็นที่รับรู้และสนใจในวงกว้าง เป็นคุณูปการต่อประชาชนและต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฏร์เอง แม้ผลจากการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์จะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการถก เถียงที่เป็นวิชาการยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าใจข้อเสนอได้ถูกต้องขึ้น ก็ตาม แต่อันที่จริงแล้วการแถลงข่าวครั้งที่สองของนิติราษฏร์คงไม่จำเป็นต้องเกิด ขึ้นเลย ประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจข้อเสนอได้ตั้งแต่ครั้งแรก หากสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้น

สื่อมวลชน อำนาจที่สี่แห่งรัฐสมัยใหม่ !
อาจกล่าว ได้ว่า นอกเหนือจากสามอำนาจหลักในหลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แล้ว สื่อ เปรียบเสมือนอำนาจที่สี่ แห่งรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐในยุคข้อมูลข่าวสาร (ผู้เขียนตั้งใจไม่ใช้ว่า สื่อ คือ "ฐานันดรที่ 4" เพราะเป็นคนละกรณีกัน เรื่องฐานันดรเป็นการพูดถึงสื่อที่เน้นไปในเชิงกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์ เพิ่มเติมจาก 3 ฐานันดรเดิม คือ กษัตริย์ ศาสนา และรัฐสภา) หากเราให้คำนิยาม "สื่อ" หรือ Media ว่าหมายถึง การส่งสาร หรือข้อมูลใด ๆ สู่มวลชนโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำกัดรูปแบบของสารที่ส่ง ตัวหนังสือ ภาพ และ/หรือ เสียง รวมทั้งไม่สำคัญว่าตัวรับ-ตัวส่งมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ควรต้องกล่าวว่า "สถานะความเป็นอำนาจที่สี่" ของสื่อ เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มิใช่เพิ่งเกิดในยุคมิลเลนเนี่ยมที่ได้เครื่องมือชิ้นใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ กับอินเทอร์เน็ตมาช่วยกระจายข้อมูลข่าวสาร

คลิกอ่านรายละเอียดต่อที่เว็บไซต์ นิติราษฎร์

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker