เล็งเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม "จัดระเบียบ" แทนที่จะปล่อยให้อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือผู้นำทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว
แม้ การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีจะจบสมบูรณ์ไปแล้ว พร้อมกับกระแสข่าวฝ่ายการเมืองสามารถ "จูนคลื่น" ฝ่ายทหารได้ลงตัว โดยเฉพาะตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งลงเอยที่พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์
ขณะ ที่ตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ทั้งพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ. สส. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผบ.ทบ. ล้วนเป็นไปตามโผชื่อที่ผู้นำเหล่าทัพเสนอทั้งสิ้น
อย่างไร ก็ตามมีการมองว่าการที่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ยังไม่ต้องการนำเรื่องการโยกย้ายนายทหารมาเป็นประเด็น "แตกหัก" กับฝ่ายกองทัพในตอนนี้ ถึงสองฝ่ายจะมีเรื่องคาใจกันจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.ปีที่แล้วก็ ตาม
ก็เพราะตามกฎหมายพ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ซึ่งออกในสมัยรัฐบาลจากการรัฐประหารซึ่งมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ
กำหนด "ล็อกตาย" ให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการ 7 คน คือรมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ผบ.สส. ผบ. 3 เหล่าทัพ และปลัดกลาโหมเท่านั้น
โดยถือเสียงข้างมากเป็นมติชี้ขาด
กับ อีกเหตุผลหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศเพียง 1 เดือนเศษ ท่ามกลาง "กับดัก" ปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าการโจมตีทางการเมือง หรือการดำเนินนโยบายตามที่แถลงต่อรัฐสภา
ยังไม่รวมอุทกภัยครั้งใหญ่ ของประเทศที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนมากที่สุดเวลานี้ ดังนั้น ไม่ว่ามองด้านไหนรัฐบาลก็ยังไม่มั่นคงพอจะเพิ่มปัญหาด้วยการเปิดศึกกับกอง ทัพ
กระนั้นก็ตามการที่รัฐบาลไม่เข้าไปแตะการโยกย้ายในส่วนของกองทัพ นอกจาก ส.ส.พรรคบางส่วนแล้วยังทำให้คน 2 กลุ่มไม่ค่อยพอใจนัก
คือกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ในพรรคเพื่อไทย
ซึ่ง จะเห็นได้จากพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี พล.ท.มะ โพธิ์งาม ต่างเห็นว่าพ.ร.บ.กลาโหมควรต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพให้รมว.กลาโหม ตัวแทนฝ่ายบริหาร ไม่ให้เป็นเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง หรือแค่ "ตรายาง" เท่านั้น
กับ อีกกลุ่มคือ กลุ่มญาติวีรชนเดือนเม.ย.-พ.ค.53 และคนเสื้อแดง ที่รู้สึกหวาดระแวงว่ารัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามากำลังจะเล่นบท "ฮั้วอำนาจ" กับฝ่ายกองทัพ
เนื่องจากรู้ทั้งรู้ว่านายทหารบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปราบม็อบเสื้อแดงจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก
แต่ ก็ยังได้ดิบได้ดีในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยฝ่ายการเมืองไม่แสดงความพยายามที่จะคัดค้าน จน "แม่น้องเกด" ต้องบุกไปเผาโลงประท้วงหน้ากองทัพบก พร้อมฝากคำตัดพ้อไปถึงรัฐบาลและแกนนำนปช.
เดือดร้อนถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำนปช.ต้องออกมาช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับญาติวีรชนคนเสื้อแดง
ตาม ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่าประชาชนไม่มีวันลืมนายทหารบางนายที่มีบทบาทใช้กำลังจนทำให้ประชาชน ล้มตายจำนวนมาก และต้องติดตามตรวจสอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและคดีความ
"แต่ เมื่อโผออกมาเป็นอย่างนี้จะต้องทำความเข้าใจ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงมีกฎหมายพิเศษ ล็อกคนที่มาจากการเลือกตั้งเอาไว้กลางวงล้อมของแม่ทัพนายกอง"
กฎหมายพิเศษที่นายณัฐวุฒิกล่าวถึงก็คือพ.ร.บ.กลาโหมที่ออกโดยรัฐบาลคมช.
อีก ทั้งคณะกรรมาธิการผู้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นระดับซุป"ตาร์ใน "บูรพาพยัคฆ์" แทบทั้งสิ้น จึงถือเป็นกฎหมาย "ผลไม้พิษ" ที่มาจากต้นไม้เผด็จการ ซึ่งจะต้องได้รับการจัดการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย
อย่าง ไรก็ตามแม้คนที่เป็นกลางอย่างนายโคทม อารียา จะเห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายทหารมากเกินไป
แต่ก็ยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายทหารนั้นคงทำได้ยาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ไว้ใจกัน
ใน ส่วนของทหารจะเห็นได้จากการที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกมาให้สัมภาษณ์เสียงเข้มว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข
เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ
"การ จะต้องมีหรือไม่มีพ.ร.บ. การแต่งตั้งจะเป็นอย่างไร ให้ดูจากที่เขาทำงานและทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้หรือไม่ จะมาพูดว่าคนนั้นถูกคนนี้ผิด ต้องไปว่ากันในกระบวนการยุติธรรม ขอร้องอย่ามากดดันเพราะกดดันกันไม่ได้"
พล.อ.ประยุทธ์ระบุ ก่อนกล่าวตบท้ายด้วยประโยคที่ฉุดอุณหภูมิให้ร้อนวูบขึ้นทันที "ถ้าผมไม่ทำประโยชน์ก็ย้ายผมได้"
แล้ว ก็เป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ที่ไม่เกรงต่อปฏิกิริยาฮึ่มฮั่มจากกองทัพ ยืนยันจะเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ. กลาโหมเข้าสู่สภาแน่นอน
พร้อมดักคอว่าการแก้ไขจะไม่เป็นเหตุให้ทหารออกมาตบเท้าต่อต้านหรือทำปฏิวัติ เพราะยุคนี้เป็นทหารประชาธิปไตย ต้องฟังรัฐบาลเป็นหลัก
ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมท้าทาย
แต่จะจริงจังขนาดไหนต้องรอดูชัดๆ หลังประเทศพ้นวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว