โดย จำลอง ดอกปิก
การ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อ ป.ป.ช. ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ภายในกำหนดระยะเวลา เป็นหมวดหนึ่งของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 259
เป็นอีกหนึ่งมาตรการ ในการป้องกัน ตรวจสอบ การฉ้อราษฎร์บังหลวง โทษฐานการไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริง หรือจงใจยื่นข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบนั้นคือ ต้องพ้นจากตำแหน่ง
หรือ ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในพรรคการเมือง 5 ปี สำหรับในรายผู้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จะถูกริบทรัพย์สินส่วนเพิ่มตกเป็นของแผ่นดิน
เจตนารมณ์เรื่องนี้นั้น เป็นแนวคิดก้าวหน้าในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกระดับขั้น ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับแรก เพียงแต่ว่าในขั้นตอนปฏิบัติ ไม่สามารถนำฐานข้อมูลนี้มาใช้ตรวจสอบ การฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างแท้จริง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นำมาใช้เป็นเครื่องมือจับเท็จ-เอาผิดนักการเมืองได้น้อยรายแค่ไม่กี่คน
อุปสรรค นั้นมีหลายข้อ อาทิ แค่ฐานข้อมูลเริ่มแรกที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรอก และยื่นต่อ ป.ป.ช. แค่นี้ก็ตรวจสอบได้ยากยิ่งว่า เป็นทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่จริงหรือไม่
จริงในทีนี้ หมายถึงการไม่ได้เข้าไปตรวจเช็กรายละเอียดรายการต่างๆ ที่แสดงไว้ว่า ตรงกับการยื่นไว้หรือไม่ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรัพย์สินและหนี้สินอยู่เท่านั้นจริงๆ หรือว่าได้ยักย้ายถ่ายเทนำไปซุกฝากไว้ที่ใดเพื่อไม่ให้ใครรู้ เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มามิชอบหรือไม่
เมื่อ ป.ป.ช.ไม่มีข้อมูลแท้จริง ก็จำเป็นต้องอาศัยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อยาก) แสดง มีอยู่เท่านั้นจริงๆ ทั้งที่อาจเป็นข้อมูลเท็จเป็นฐานการตรวจสอบ
การบัญญัติให้เปิดเผย ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อสาธารณะแทนการเก็บไว้ ในแฟ้มข้อมูลอย่างเดียวเหมือนในอดีต และจะเปิดดูก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องเรียน ด้านหนึ่งก็เพื่อให้ผู้ทราบข้อมูล เบาะแส แจ้งเรื่องการซุกซ่อนอำพรางให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบความมีอยู่จริง และที่มาทรัพย์สินนั้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีใครล่วงรู้ข้อมูลภายในส่วนบุคคล
โดย เฉพาะข้อมูลนักการเมือง ที่มีวิธีการแยบยล สลับซับซ้อน ในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน หุ้น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบความมีอยู่จริง และหรือแม้แต่การหลบเลี่ยงการเสียภาษี
ไม่เพียงทรัพย์สิน อันมีอยู่แล้วเท่านั้น หากทรัพย์สินที่ได้มาใหม่ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ ของหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในอันที่จะป้องกันและตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยการนำไปเปรียบเทียบกับบัญชีที่ได้แจ้งไว้
ชั้นเชิงการได้มาจาก แหล่งมิชอบก็พัฒนาเทคนิคอีกหลายระดับขั้น จนกระบวนการตรวจสอบเอาผิดตามกฎหมายปกติ ป.ป.ช.หรือฉบับอื่นๆ ไม่อาจจับได้ไล่ทัน และไม่ต้องกล่าวถึงกรณีได้มาแล้วจะตามตรวจสอบพบ นำไปฝากซ่อนไว้แห่งใด จึงอย่าได้หวังว่าจะตรวจสอบพบทรัพย์สินงอกเงย ผิดปกติที่ได้มาโดยมิชอบได้ด้วยวิธีการนี้
นักการเมืองมากหน้าหลายตา มีข่าวพัวพันการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง เบียดบังหาประโยชน์จากงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโจ๋งครึ่ม ใช้ชีวิตประจำวันฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ขับรถยนต์ราคาแพงไม่ซ้ำคันซ้ำวัน แต่กลไก ป.ป.ช.ไม่สามารถตรวจสอบ ลงโทษทัณฑ์ได้ ยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งใด ก็ไม่พบรายการที่เพิ่มขึ้น หรือผิดปกติ
นักการเมืองจึงยิ่งย่ามใจ ตัวเลขการทุจริต คอร์รัปชั่นเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ไม่ สามารถป้องกันและตรวจสอบการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ไม่พอ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดย ป.ป.ช.นี้ ยังเท่ากับเป็นการฟอกนักการเมือง การันตีเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องอีกต่างหาก
จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกเครื่อง ทบทวนคิดหาวิธีการใหม่ ที่คาดหวังผลได้ มากกว่ามาตรการบังคับให้แสดงทรัพย์สิน แบบรวย-จนหลอกๆ