เห็นท่าทีสุขุมพันธ์กับเห็นพวกคนกรุงคนชั้นกลางโรคกลัวน้ำเอารถขึ้นไปจอด บนสะพานบนทางด่วน แล้วหมั่นไส้ อยากให้รัฐบาลปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ เสียให้เท่าเทียมกัน
บางคันจอดแล้วยังเอาผ้าคลุมรถไว้ซะดิบดี รักถนอมรถเมริงเหลือเกิน บางคันเอากระดาษมาติด “ขอความกรุณา” แหม ทีเวลาม็อบยึดราชประสงค์อดไปช็อปปิ้ง หัวฟัดหัวเหวี่ยง
เอาใจเขาใส่ใจเราหน่อย ไม่ว่ากันถ้าบ้านถูกน้ำท่วม ไม่ว่ากันที่คืนนั้นคลองประปาแตกแล้ว Panic ขับรถขึ้นไปจอดชั่วคราว เช้าสายบ่ายรุ่งขึ้นค่อยขยับขยาย แต่บางคนไม่ใช่อย่างงั้นสิครับ บ้านยังไม่ท่วมซักหน่อย แต่กะจอดทิ้งถึงลอยกระทง เห็นทางด่วนเป็นที่จอดชั้นดี มีกล้องเฝ้ารถให้ด้วย
เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปโอนอ่อนผ่อนตาม โอเค รถเยอะมากไม่รู้จะลากทิ้งที่ไหน แต่ขอเสนอว่านี่แหละ ภาษีน้ำท่วมก้อนแรก จดทะเบียนรถไว้แล้วประกาศปรับวันละพัน เหมาจ่ายหมื่นนึง รถราคาเป็นแสนเป็นล้านทำไมจะจ่ายไม่ไหว อย่าอ้างว่าคุณเดือดร้อน คนอื่นเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน มีคนอีกตั้งมากมายที่เขาอยากเอารถขึ้นไปจอด แต่เขายังมีความละอาย
ที่จริงผมเข้าใจดีว่าเราจำเป็นต้องปกป้อง กทม.เพื่อเป็นฐานในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมโดยรอบ มันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์การลงทุน (รัฐบาลอ้างผิด) แต่คุณต้องมีฐานที่มั่น ต้องมีศูนย์บัญชาการ ศูนย์การแพทย์ ศูนย์การผลิตและขนส่งเสบียง ตลอดจนเป็นศูนย์อพยพ เป็นที่พักพิงของผู้ประสบภัยจากพื้นที่รอบๆ
มันไม่ใช่ปกป้องเพื่อให้คนกรุงใช้ชีวิตตามปกติสุข ไปชอปปิ้งตามห้าง ไปกินเหล้าเที่ยวผับ ไปสรวลเสเฮฮาอย่างที่เคยทำกัน
ฉะนั้นต่อให้กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม กรุงเทพฯ ก็ต้องรับภาระ ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้เก็บภาษีที่ดินโรงเรือนพื้นที่น้ำไม่ท่วมแล้ว ยกเว้นภาษีให้พื้นที่น้ำท่วม 3 ปี 5 ปี ออกเป็นพระราชกำหนดเลยครับ เอาภาษีที่ดินที่รัฐบาล ปชป.ร่างไว้มาปรับปรุงแล้วประกาศใช้ทันที
นั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องถกเถียงกัน แต่ในระยะเฉพาะหน้า ผมเห็นด้วยว่าต้องปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯ บ้าง เพื่อลดแรงดันของน้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำด้านเหนือ ผมเชื่อว่าคนกรุงตอนนี้ยอมรับได้ ถ้าน้ำท่วมซัก 20-30 ซม.ไม่เข้าบ้าน ไม่ต้องตัดน้ำตัดไฟ โดยรัฐบาลต้องชี้แจงให้เข้าใจว่า ต้องลดแรงกดดันของมวลน้ำลง ถ้าไม่ลดมันอาจจะพังคันกั้นน้ำ แล้วคราวนี้มันจะท่วม 1-2 เมตรเหมือนอยุธยา นครสวรรค์
เพราะเท่าที่เห็น น้ำในคลองเลียบถนนวิภาวดียังต่ำกว่าตลิ่งตั้งเมตร หลายๆ คลองในกรุงเทพฯ ก็แห้งผาก ทั้งๆ ที่รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 31 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งให้เปิดประตูระบายน้ำแล้ว
อย่างว่า นักประวัติศาสตร์บอกว่าถ้าไม่เกิดปฏิวัติ 2475 คุณชายสุขุมพันธ์จะเป็นกษัตริย์ เพราะ ร.7 ท่านสำนึกบุญคุณกรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่สนับสนุนให้เป็นกษัตริย์ ท่านไม่มีโอรส จึงเลือกคุณพ่อคุณชายสุขุมพันธ์ไว้สืบราชสมบัติ
คุณชายสุขุมพันธ์ผู้มาจากการเลือกตั้งก็เลยตั้งตัวเหมือนเจ้าผู้ครองนครไปซะนี่
บริหารสถานการณ์-สอบตก
ปัญหาของรัฐบาลคือประเมินสถานการณ์ผิดพลาด แล้วสอบตกในการบริหารจัดการไปจนถึงการสื่อสาร
ถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า วิกฤติน้ำเกินความสามารถที่รัฐบาลไหนจะรับมือ ยังไงๆ มันก็ท่วมอยู่ดี แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนหงุดหงิดสับสนคือ ศปภ.สอบตกในการประเมินสถานการณ์และชี้แจงให้เตรียมรับมือ
ยกตัวอย่างเช่น คนดอนเมืองโกรธ เพราะไม่คิดว่าจะโดนน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว เขารับรู้ข่าวสารว่าน้ำจะมาทางเมืองเอก ถ้าคันกั้นน้ำพังจะทะลุทะลวงมาทางเมืองเอก เมื่อเมืองเอกยังไม่แตก เขาก็ตายใจ ที่ไหนได้ไม่คาดคิดว่าน้ำจะมาทางคลองประปา โดยไม่มีใครเตือนล่วงหน้า
อันที่จริง การประเมินสถานการณ์ยามภัยพิบัติ ไม่มีใครประเมินได้ถูกต้องแม่นยำ 100% ต่อให้อเมริกา ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ประเมินทอร์นาโดถล่มนิวออร์ลีนส์ หรือสึนามิที่ฟูกูชิมะได้ถูกต้อง 100% พูดภาษาข่าวคือไม่มีใคร “ฟันธง” ได้ทั้งหมด เขาเพียงแต่ประเมินว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะเป็นอย่างนี้ ดีที่สุดจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็ชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง update อยู่เสมอ ว่าควรจะรับมืออย่างไร
ไม่ใช่บอกว่านวนคร “เอาอยู่” หรือ “ตายแน่” ต้องบอกว่ารัฐบาลจะป้องกันให้ดีที่สุด แต่ก็คาดการณ์ในทางร้าย ให้เตรียมตัวเตรียมใจเตรียมพร้อมไว้ด้วย ถ้า ศปภ.เตือนภัยจะมีเวลาให้อพยพ 3 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง ก็ว่าไป คนจะได้เตรียมเอาของชิ้นใหญ่ๆ ออกมาก่อน แพคกระเป๋าเสื้อผ้า จัดสิ่งของจำเป็นไว้ใกล้มือ ฯลฯ
กรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน ศปภ.ต้องคาดการณ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คันกั้นน้ำแตกตรงไหน แล้วจะเกิดอะไรขึ้น อย่าไปฟันธงว่าน้ำท่วม และก็อย่าฟันธงว่าน้ำไม่มีทางท่วม แต่ ศปภ.ต้องออกทีวีรวมการเฉพาะกิจทุกวัน ชี้แจงความเป็นจริงว่า ณ วันนี้น้ำที่อยู่เหนือคันกั้นน้ำ กทม.มีเท่าไหร่ ไปทางตะวันตกเท่าไหร่ ตะวันออกเท่าไหร่ และจะลงมาอีกเท่าไหร่ จะระบายเข้า กทม.เท่าไหร่ และจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนในส่วนต่างๆ รวมทั้งจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันไม่เป็นไปตามแผน เช่นน้ำอาจจะมาทางคลองประปา น้ำอาจจะกระฉอกตามแนวคันกั้นริมเจ้าพระยา
ทั้งนี้ต้องเอานักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญออกมาอธิบาย แล้วนายกฯ หรือ ผอ.ศปภ.ค่อยสรุป
แล้วก็พูดให้เป็นเอกภาพกัน ไม่ใช่ยิ่งลักษณ์พบประชาชนบอกให้ขนข้าวของขึ้นสูง 1 เมตร แต่รัฐมนตรีรายหนึ่งยืนยันว่าน้ำไม่ท่วม รัฐมนตรีอีกรายบอกว่าท่วมแหงแก๋ 1-2 เมตรเท่าอยุธยา
แล้วชาวบ้านจะเชื่อใครดี
ศาสตร์ของการสื่อสารในภัยพิบัติบอกว่า ยิ่งเข้าสู่สถานการณ์วิกฤติ คุณยิ่งต้องแถลงข่าวถี่ยิบ กทม.ทำถูกแล้วที่แถลงข่าวทุก 3 ชั่วโมง แต่ ศปภ.ยังงมโข่งอยู่ที่ไหนไม่ทราบ
คุณต้องบอกสถานการณ์ล่วงหน้า เช่น บอกให้รู้ว่า กทม.จะต้องเผชิญภาวะนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ถึงวันที่ 30 พ.ย.ฉะนั้นถ้าใครลางานได้ ใครไม่มีภารกิจจำเป็น วันหยุดยาวนี้ก็พาครอบครัวลี้ภัยขับรถไปต่างจังหวัด ไปพักบ้านญาติ ไปชะอำ หัวหิน เมืองกาญจน์ ชลบุรี ระยอง แล้วหาที่ฝากรถไว้ (จะให้ดี รัฐบาลควรสั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดจัดที่รับฝากรถ) ใครจำเป็นก็ขึ้นรถทัวร์กลับมาเฝ้าบ้าน กลับมาทำงาน จะลด Panic ลงได้ระดับหนึ่ง
การสื่อสารในขณะที่เกิดภัยพิบัติเป็นศาสตร์และศิลป์ ศปภ.ต้องช่วงชิงพื้นทื่สื่อ เพื่อสยบความวุ่นวายโกลาหล ซึ่งไม่จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสื่อ แต่ใช้สื่อให้เป็น
ปัญหาของสื่อไทย นอกจากอคติ เกลียดชัง ตั้งเป้าล้มรัฐบาล (ซึ่งว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง) สื่อโดยทั่วไปยังเคยชินกับการขายข่าวร้าย ขายความตื่นตระหนก เช่น ถ้า ศปภ.คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะมี 3 ระดับ ตั้งแต่ดีที่สุดไปจนเลวร้ายที่สุด แน่นอน สื่อก็จะเอาสถานการณ์เลวร้ายที่สุดไปพาดหัวข่าวให้มัน panic เข้าไว้
หรือถ้า ศปภ.ไม่แถลงอะไรเลย สื่อไทยก็จะเอาข่าวลือข่าวเจาะข่าวซีฟในทางร้ายมาขายอยู่ดี
หรือน้ำท่วมที่อำเภอหนึ่ง สื่อก็จะไปทำข่าวจุดท่วมสูงที่สุด หนักที่สุด แล้วก็ยื่นไมค์ให้ชาวบ้านบอกว่า ยังไม่มีใครมาช่วยเลย (มีแต่ช่อง 3 นี่แหละค่า)
ฉะนั้นคุณจะต้องสยบสื่อด้วยการแถลงข้อเท็จจริงอย่างละเอียด กระจ่างแจ้ง ทางทีวีของรัฐ หรือรวมการเฉพาะกิจ เอาผู้เชี่ยวชาญทุกส่วนมานั่งอธิบาย อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งหลังอาหาร
วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ยังมีลักษณะพิเศษที่เหนื่อยหนักเข้าไปอีก เพราะภัยพิบัติส่วนใหญ่ อย่างสึนามิ ทอร์นาโด จะมารวดเดียวจบ รัฐต้องป้องกันและกู้ภัยในภาวะฉุกเฉิน แล้วก็ติดตามให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟู
แต่น้ำท่วมครั้งนี้กินเวลายาวนาน ขณะที่กรุงเทพฯ ยังอยู่ในขั้นป้องกัน บางบัวทองต้องกู้ภัย ที่อยุธยาก็ยังมีชาวบ้านลอยคอรอความช่วยเหลือ (ซึ่งถ้ากรุงเทพฯ เอาตัวไม่รอด อยุธยาจะยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่) ขณะที่นครสวรรค์น้ำกำลังจะลด
รัฐบาลต้องทำงาน 3 อย่างพร้อมกัน ในขณะที่โงหัวไม่ขึ้นกับการผันน้ำระบายน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ ก็ต้องแบ่งมือไม้ไปช่วยเหลือคนอยุธยา คนปทุมธานี และต้องคิดแผนฟื้นฟู ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลดอีกต่างหาก
ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเรื่องดี เพราะถ้าประกาศมาตรการช่วยเหลือสร้างความเป็นธรรมระยะยาว เช่น เก็บภาษีที่ดินโรงเรือนคนที่น้ำไม่ท่วม ยกเว้นให้คนน้ำท่วม ก็จะลดอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ถูกน้ำท่วมอยู่ตอนนี้ (ซึ่งพวกที่โดนแถวปทุมธานีลงมาทางบางบัวทอง สายไหม คือคนชั้นกลางนะครับ ให้เงิน 5,000 ขี้ปะติ๋ว ต้องหามาตรการเรื่องภาษีเรื่องราคาวัสดุซ่อมแซมฟื้นฟู)
ไม่ใช่ผ้าป่าสามัคคี
การบริหารจัดการภัยพิบัติไม่ใช่ผ้าป่าสามัคคี ที่ไม่มีเจ้าภาพ ทุกคนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันวุ่น
แต่บ้านเราก็เป็นซะแบบนี้ สังเกตดูเวลาไฟไหม้ในซอย รถดับเพลิงอาสาโน่นมูลนิธินี่มาเป็นร้อย มาด้วยใจ ขอขอบพระคุณไม่ลืมไปจนวันตาย แต่ตอนนี้พวกเมริงช่วยหลีกๆ ให้รถใหญ่เข้ามาหน่อยได้ไหม เพราะจุกทางเข้าออกไปหมด วุ่นแบบนี้บ้านกรูไฟไหม้หมดพอดี
ปัญหาที่ผมร่ายมาตั้งแต่ต้น เชื่อว่ารัฐบาลก็รู้ คนในรัฐบาลตั้งมากตั้งมายก็รู้ ไม่ต้องให้ใบตองแห้งสอนหรอก แต่ที่มันเป็นปัญหาเพราะรู้แล้วบริหารจัดการไม่ได้ ไม่มีความเป็นเอกภาพ
ความเป็นเอกภาพหมายถึงมีศูนย์บัญชาการที่กะทัดรัด เชื่อมต่อไปยังฝ่ายปฏิบัติต่างๆ มีที่ปรึกษาแต่ละด้านที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา แล้วรวมศูนย์การแก้ไขปัญหา
แต่ปัญหาของ ศปภ.คือผมเชื่อว่าในสนามบินดอนเมืองเนี่ย มีผู้คนไปร่วมด้วยช่วยกันมากกว่าผู้อพยพเสียอีก มีที่ปรึกษามากมายไม่รู้กี่หน่วยงาน ไม่รู้นักวิชาการกี่มหาลัย แล้วก็นักการเมืองเดินกันให้ควั่ก ต่างคนต่างก็อยากร่วมทำบุญ (มีทั้งที่ปรารถนาดีและอยากเอาหน้า) แล้วมันก็สะเปะสะปะไปหมด เพราะศูนย์บัญชาการไม่สามารถจัดจ่ายบทบาทที่เหมาะสม
ผ้าป่าสามัคคีถึงจะมั่วแต่เขาก็มีรูปการจัดตั้งโดยธรรมชาติ เช่นมีมรรคทายกคอยรับบริจาค มีโฆษกงานวัด และมีแม่ครัวขาประจำ มีกำนันผู้ใหญ่บ้านกะเกณฑ์แรงงาน
แต่ ศปภ.ไม่มีอะไรเลย แถมยังไม่มีความรู้เรื่องน้ำ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรฟังความเห็นใคร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไหน
ยิ่งลักษณ์เพิ่งจะตั้งวีระ วงศ์แสงนาค เป็นประธานบริหารจัดการน้ำ มีนักวิชาการอย่างรอยล จิตรดอน, สมบัติ อยู่เมือง, อานนท์ สนิทวงศ์ ฯลฯ ซึ่งถูกต้องแล้ว แต่เพิ่งจะตั้ง ไม่รู้ พล.ต.อ.ประชาแกไปนั่งทำอะไรอยู่
เอาละ เรื่องเทคนิคจบไปชุดหนึ่ง แต่เรื่องบริหารจัดการด้านอื่นๆ อีกล่ะ ความเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองก็มีปัญหา ผมไม่ได้จะบอกว่ามีแต่เสื้อแดงอย่างที่ครหากัน แต่มันหมายถึงว่าความเป็นนักการเมืองมันทำให้เกิดความเกรงใจคนนั้นคนนี้ ก๊กนั้นก๊กนี้ ไอ้นี่ก็อยากมีความเห็น ไอ้นั่นก็อยากมีบทบาท เอ้า จู่ๆ ยายเจ๊โดดมาจากไหนไม่ทราบ ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา โดดมาเป็นนางเอกกลางเรื่อง ขึ้น ฮ.ตรวจน้ำท่วมแล้วเข้าประชุมเฉยเลย
ภาพเปรียบเทียบง่ายๆ คือถ้ามีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวบอำนาจบริหารทั้งหมดไปไว้ที่ ศอฉ. การบริหารจัดการจะง่ายกว่านี้ เพราะมีแค่นายกฯ หรือรองนายกฯ เป็น ผอ.ศอฉ.แล้วก็สั่งการตามสายบังคับบัญชาของกองทัพ ที่กะทัดรัด รวดเร็ว ชัดเจน เพราะเป็นรูปการจัดตั้งที่ใช้ในยามสงคราม
ที่พูดนี่ไม่ใช่สนับสนุนให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมันมีผลเสีย ในด้านที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเผด็จการ รัฐบาลใช้อำนาจบังคับประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ให้ออกมาเรียกร้องโวยวาย
ตรงนี้รัฐบาลคิดถูกแล้ว ที่บอกว่าต้องใช้การทำความเข้าใจกับประชาชน
รัฐบาลประชาธิปไตยสามารถบริหารภัยพิบัติได้ ถ้าทำงานมีประสิทธิภาพ อเมริกา ญี่ปุ่น เขาทำได้ เพราะมีระบบบริหารราชการที่ดี ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ แต่ของเรามันร่วมด้วยช่วยกันวุ่นไปหมด จึงถูกเปรียบเทียบและเรียกร้องให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (โดยผู้ที่เรียกร้องก็มี Agenda)
หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศใช้มาตรา 31 “รวบอำนาจ” ก็ดูเหมือนรวบอำนาจไปจาก กทม.เท่านั้น แต่ ศปภ.กลับเดี้ยงเป็นอัมพาต ไม่รู้จะเอาไงต่อ
สถานการณ์ที่ผ่านมา “ฟันธง” ได้ว่า พล.ต.อ.ประชาสอบตกในฐานะ ผอ.ศปภ.แล้วก็ไม่รู้จะหาใครมาแทน อำนาจไปรวมศูนย์ที่ยิ่งลักษณ์ ถนนทุกสายมุ่งไปสู่นายกฯมือใหม่ ซึ่งต้องรับทั้งการตัดสินใจทางเทคนิค การตัดสินใจทางการบริหารและการเมือง การตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ การตัดสินใจเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟู ฯลฯ
ยิ่งเข้าสู่ภาวะคับขัน ก็ยิ่งมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาหลากหลาย เช่น อาจารย์ ม.รังสิตไปแถลงเรียกร้องให้ระบายน้ำทางถนนวิภาวดี ไปลงอุโมงค์ยักษ์ที่ดินแดง นักวิชาการบางรายก็เรียกร้องให้เอาน้ำดันน้ำ ปล่อยน้ำเข้าท่วมแนวที่ 1 ที่ 2 คือถนนศรีสมานกับถนนแจ้งวัฒนะ ไอเดียเข้าท่านะครับ แต่พอออกทีวีบอกว่า “พวกนักวิชาการที่ทำงานกับรัฐบาลไม่เชื่อว่าผมเก่งกว่า” จบเห่เลย
คือต่างคนก็ต่างมีอัตตาเชื่อว่าตัวเองถูก ไม่คำนึงว่าคนที่ตัดสินใจเขาต้องเลือกจากหลายแนวทางที่เสนอ ซึ่งมันมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ทุกคนอยากมีส่วนร่วมทั้งนั้น ไม่ได้บอกว่าผิด แต่ถ้าทุกคนเอาอัตตาบอกว่ารัฐบาลต้องฟังกรู แบบนี้ก็ชุลมุนไปหมด
ก็ไม่ได้บอกว่าผิดอีกนั่นแหละครับ สาเหตุเพราะรัฐบาลไม่มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน มันก็เลยยุ่งเหยิงไปหมด นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนี่งที่ทำให้ thaiflood ถอนตัวจาก ศปภ.ซึ่ง ศปภ.ชี้แจงว่า thaiflood ต้องการเข้าไปร่วมประชุม ขอมีส่วนแนะนำรัฐบาล แต่ ศปภ.ให้เข้าประชุมไม่ได้ ผมสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะใน ศปภ.เองก็ปวดหมองอยู่แล้ว หาเอกภาพไม่ได้ ความเห็นของฝ่ายต่างๆ ก็ไม่ตรงกัน สับสนวุ่นวายอยู่แล้ว เลยไม่ยอมให้ thaiflood มีส่วนร่วม ทั้งที่น่าจะจัดบทบาทให้เขา
ขาใหญ่ถอยไป
ในภาพรวมรัฐบาลก็ต้องยอมรับว่า การที่ thaiflood ถอนตัวกระทบต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลและ ศปภ.และต้องปรับปรุงการทำงานขนานใหญ่ โดยเฉพาะการที่ thaiflood ออกมาโจมตีภายหลังว่ารถบริจาคไม่จอดถ้าไม่ติดธงแดง และต้องให้ ส.ส.เป็นคนเอาของบริจาคออกจากดอนเมือง
ในมุมหนึ่ง ต้องติงว่า thaiflood ทำตัวไม่เหมาะสม เหมือนโดดเรือหนีแล้วเจาะเรือในยามคับขัน โดยไม่คำนึงถึงผู้โดยสารตาดำๆ เพราะจะส่งผลให้ประชาชนไม่บริจาคช่วยน้ำท่วม ไม่ใช่ว่าไม่บริจาคผ่าน ศปภ.แล้วไปบริจาคให้ thaiflood แต่อาจเสียความรู้สึกงดบริจาคทั้งสองฟากไปเลย เรื่องจริงหรือไม่ก็สะท้อนว่าไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ เหมือนไม่ได้แสดงบทบาทให้สมกับความเก่งของตัวเองแล้วอารมณ์เสีย
กระนั้นถ้าถามว่าจริงไหม เรื่องนี้ผมก็ได้ยินเข้าหูมาพอสมควร และเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องรีบแก้ไข แม้ยังไม่ด่วนสรุปว่าเป็นอย่างนั้นไปเสียหมด เพราะมองอย่างให้ความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่า ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา มีแต่เสื้อแดงทั้งนั้นนี่ครับ ของบริจาคมันจะไปไหนเสีย ส.ส.ในพื้นที่ก็เป็น ส.ส.รัฐบาลเกือบหมด ไม่ใช่เพื่อไทยก็ชาติไทย ส่วนอาสาสมัครที่ไปช่วยงาน ก็มีมวลชนเสื้อแดงจำนวนมาก ไม่แปลกหรอกที่เขาจะใส่เสื้อแดงชูธงแดงแสดงพลังไปช่วยขนของบริจาคที่ ดอนเมือง
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การบริหารจัดการเรื่องของบริจาคเป็นไปอย่างคลุมเครือ ไม่เป็นไปตามระบบ เช่นเอา เก่ง การุณ ไปเซ็นอนุมัติออกของ เอาเจ๋ง ดอกจิก มาเดินกร่าง แล้วผู้สื่อข่าวก็รายงานว่าของเหลือเต็มสต๊อก มันอาจจะส่งไปไม่ทัน ไม่มีกำลังพอขนส่งก็ได้ แต่เมื่อ “ผู้สื่อข่าวรายงานว่า” ก็รู้เสียเถอะว่านี่คือจุดอ่อน
รัฐบาลจึงควรแยกศูนย์รับบริจาคและช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกไปให้ชัดเจน ให้กระทรวงมหาดไทย กองทัพ และอาสาประชาชน ร่วมกันรับผิดชอบ จัดส่งสิ่งของให้จังหวัด อำเภอ มีศูนย์ปฏิบัติการระดับอำเภอ ตำบล ให้ทหารและอาสาประชาชนเป็นผู้จัดส่ง ถ้าจะให้ดีก็ส่งถึงตำบล ให้นายก อบต.ไปจัดการ ถ้ามันไปไม่ทั่วถึง ชาวบ้านเขาก็ด่านายก อบต.เอง
เอานักการเมืองออกมา เอาขาใหญ่ออกมา เอา ส.ส.ออกมา อย่ามาร่วมด้วยช่วยกันวุ่น ถ้า ส.ส.อยากตั้งศูนย์ช่วยเหลือของตัวเอง ของพรรคเพื่อไทย ก็ตั้งไป แต่อย่ามีภาพ ส.ส.เอาถุงบริจาคของ ศปภ.ไปแจกจ่ายเด็ดขาด
มองมุมกลับ ผมว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังโชคดีนะครับ ที่มีพรรคประชาธิปัตย์กับสื่ออคติจ้องเตะตัดขา ทำให้สังคมเบื่อหน่ายพฤติกรรมของสุขุมพันธ์ และบรรดาลิ่วล้อพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม (ตั้งคันกั้นน้ำแล้ว-ฮา) ที่ยุให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่พอใช้มาตรา 31 ก็ด่า โพลล์เอแบคถึงออกมาว่าชาวบ้านเบื่อหน่ายการเล่นเกมการเมือง
การโจมตีรัฐบาลอย่างจ้องโค่นล้ม เช่น ให้ข่าวว่ามีไซยาไนด์ในคลองประปา ไปจนถึงการบิดเบือนภาพยิ่งลักษณ์ในเฟซบุค ทำให้เกิดกระแสปกป้องรัฐบาล ซึ่งก็ช่วยปกป้องความไร้ประสิทธิภาพไปด้วย มวลชนที่เลือกข้างแล้ว ยังไงก็ไม่เปลี่ยนใจต่อให้น้ำท่วมถึงปาก เพราะความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามที่เล่นวิธีสกปรก
กระนั้นถ้าไม่อุดช่องโหว่มันก็จะขยายขึ้นเรื่อยๆ
ผมเห็นด้วยกับเฟซบุค ศปภ.นะที่บอกว่าสื่อค่ายหนึ่ง (ในหลายๆค่าย) จ้องเล่นงานรัฐบาลเต็มเหนี่ยว เพราะดูบทความในเว็บไซต์ที่บางครั้งก็ไปเอาจากเว็บบล็อกของบุคคลที่มีอคติมา ลง หรือเขียนข่าวให้ร้ายโดยไม่มีที่มาที่ไป มีแต่ “แหล่งข่าว” โดยคนเขียนไม่ได้ลงชื่อด้วยซ้ำ แล้วก็ว่า ศปภ.ยึดอำนาจหวังฮุบงบ กทม.ว่ากรมชลประทานบริหารน้ำไม่เป็น เปิดประตูระบายน้ำช่วงเย็นทำให้น้ำทะลัก
คล้ายๆ กับที่ ปชป.หาว่ารัฐบาลไม่เอาคนรู้จริงมาบริหาร ต้องเอาคนอย่างปราโมทย์ ไม้กลัด ที่ไหนได้ ลุงปราโมทย์แกไปนั่งกับรัฐบาลแล้วอธิบายให้เสร็จสรรพว่ามันต้องมีน้ำกระฉอก บ้าง
ผมดูคลิปข่าวที่มีอาจารย์จุฬาฯ กล่าวหาว่าจะส่งนักศึกษาไปช่วย ศปภ.แล้วต้องใส่เสื้อแดง ดูแล้วก็สังเวช อาจารย์ท่านอาจอ้างว่าได้ฟังมาอย่างนั้นจริง แต่คนเราถ้าไม่มีอคติ ก็ต้องฟังหูไว้หูแล้วตรวจสอบความเป็นจริง ไม่ใช่มาพูดออกทีวีทำลายตัวเอง
แต่ที่ต้องพูดถึงในฐานะนักข่าวด้วยกันก็คือท่าทีของพิธีกร ซึ่งทำท่ายิ้มแย้มสมใจ คิดว่าได้ประเด็นเด็ด คุณเป็นนักข่าวก็น่าจะรู้ว่าอาสาสมัครที่ ศปภ.มีทุกสี ทำไมไม่ซักค้าน
คล้ายกันเลยกับพิธีกรที่สัมภาษณ์นายอำเภอปากเกร็ด ว่าเก่ง การุณ พาชาวบ้านไปรื้อคันกั้นน้ำ คือออกอาการเหมือนลิงได้แก้ว สะใจกรูได้เล่นเมริงแล้ว
เพียงแต่ 2 กรณีนี้ข้อเท็จจริงมันต่างกัน ต้องแยกแยะ ญาติผมบ้านอยู่แถวเมืองทองธานีเล่าว่า ชาวบ้านด่ากันตรึม เพราะคืนนั้นชาวบ้านไปกันหลายคน เขาเห็นกับตา ฝั่งปากเกร็ดให้รถแบคโฮลไป แต่ฝั่งดอนเมืองทำคันกั้นไม่ได้ เพราะไม่มีถนน (ฝั่งปากเกร็ดมีถนนเลียบคลอง) พอทำไม่ได้ ฝั่งดอนเมืองก็พาลพาโลจะมาพังคันกั้นฝ่ายปากเกร็ดให้ท่วมด้วยกัน คือถ้าเป็นอารมณ์ชาวบ้านต่อชาวบ้านมันไม่เท่าไหร่หรอกครับ แต่นักการเมืองแทนที่จะมีวุฒิภาวะ
บอกแล้วว่าถ้าไม่อุดช่องโหว่ ก็จะพากันพังเหมือนคันกั้นน้ำ ดีนะที่มัลลิกา บุญมีตระกูล ช่วยไว้ (ทำให้ภาพลักษณ์แย่ไปทั้งสองฝ่าย)
23 ต.ค.54