คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
กรณีแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ในประเด็นลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เนื่องจากหลักการการลบล้างดังกล่าวถือเป็น 'ของใหม่' ในระบบกฎหมายไทยตามที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุ
แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์จึงไม่เพียงเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยกับฝ่ายรับใช้เผด็จการเท่านั้น
แต่ยังเป็นการต่อสู้อย่างแหลมคมทางความคิดของบุคคลในแวดวงนักวิชาการด้านกฎหมายอีกด้วย
ท่ามกลางการต่อสู้ทางความคิดดังกล่าว เป็นที่กล่าวถึงมากก็คือการปะทะถาม-ตอบระหว่างนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กับนายพนัส ทัศนียานนท์
ซึ่งถือเป็นมวยถูกคู่
คนแรกปัจจุบันเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
ส่วนคนหลังเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งชุดแรก
ก่อนจะแลกกันหมัดต่อหมัด
เริ่มต้นจากนายสมคิด เป็นฝ่ายตั้งคำถามถึงคณะนิติราษฎร์ 15 ข้อผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว
แต่ยังไม่ทันที่นักวิชาการคณะนิติราษฎร์จะตอบ ปรากฏว่าคนนอกอย่างนายพนัส ได้ออกมาตอบแทนเสียก่อนครบถ้วนทั้ง 15 ข้อ
ทางคณะนิติราษฎร์เลยไม่จำเป็นต้องออกมาตอบคำถามของนายสมคิดอีกให้เมื่อยปาก เพราะนายพนัสตอบไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว
หลายคนบอกว่าอ่านคำตอบแล้ว เหมือนนายพนัสกลับไปสวมบทอาจารย์นิติศาสตร์ กำลังตอบคำถามให้นักศึกษากฎหมายฟัง มากกว่าเป็นการตอบคำถามอธิการบดีธรรมศาสตร์เสียอีก
ขณะที่หลายคนเช่นกันบอกว่าอ่านในส่วนคำถามทั้ง 15 ข้อแล้ว ทำให้หายสงสัยไปเลยว่าทำไมประชาธิปไตยประเทศไทยถึงได้สามวันดีสี่วันไข้ พัฒนาไปไม่ถึงไหน
แล้วทำไมการรัฐประหารถึงเกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีอะไรมาทำให้เข็ดหลาบ
กระนั้นก็ตามบางคนกลับมองไปอีกแง่ว่า คำถามทั้ง 15 ข้อของนักวิชาการกฎหมายระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวแถวของประเทศสะท้อนให้ เห็นถึงบางอย่าง
นั่นก็คือท่ามกลางการต่อสู้ทางความคิดของนักวิชาการด้านกฎหมาย
อาวุธความคิดของบางคนก็ไม่ได้ 'แหลมคม' เสมอไป