คอลัมน์ เหล็กใน
นอกจากไม่มีวี่แววว่านายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือก.ต.ช. เพื่อเสนอชื่อผบ.ตร.คนใหม่แล้ว
ล่าสุดยังเซ็นคำสั่งแต่งตั้งพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นรรท.ผบ.ตร. โดยมีแนวโน้มจะ"รักษาการ" ไปเรื่อยๆ เสียด้วย
เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลนี้ใช้งานแต่ตัวสำรอง ไม่นิยมตัวจริง
ตรงนี้นับว่าอันตรายมาก!!
ถึงแม้ว่าการแต่งตั้งรรท.ผบ.ตร.สามารถทำได้ แต่การจะให้รักษาการแบบไม่มีกำหนด มันมีแต่ผลเสียต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง และมีผลเสียต่อประชาชนโดยอ้อม
ตำรวจทั่วประเทศกว่า 2 แสนคนจะรู้สึกยังไง การแต่งตั้ง "ผู้นำ" มีปัญหาแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตอกย้ำว่าตำรวจยุคนี้โดนการเมืองแทรกแซงจนระส่ำระสาย เสียกระบวนรวนเรไปหมดแล้ว
ปัญหาที่ตามมาก็คือเรื่องนโยบายต่างๆ ก็จะไม่ชัดเจน เพราะยังไม่รู้ว่าผบ.ตร.ตัวจริงจะเป็นใคร ทิศทางการบริหารงานจะเป็นรูปแบบไหน
การแต่งตั้งโยกย้ายในระดับรองผบ.ตร.ไปจนถึงผบช.ก็ยังไม่เกิดขึ้นแน่ เพราะคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือก.ตร. ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้รรท.ผบ.ตร.เข้ามาทำบัญชีโยกย้าย ควรรอให้มีการแต่งตั้งผบ.ตร.ตัวจริงเสียก่อน
ฉะนั้น หลัง 30 ก.ย.นี้ก็ต้องมีตำแหน่งรักษาการอีกเป็นพรวน แทนรองผบ.ตร.-ผบช.ที่ว่างลงเพราะเกษียณอายุราช การ
แล้วงานตำรวจจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยังไง เข้าตำราเกียร์ว่างอีกจนได้
สุดท้ายคนที่รับกรรมก็คือพี่น้องประชาชน
ยังมีอีกปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่นายกฯอภิสิทธิ์อาจถูกดำเนินคดี เพราะชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ 41 ประกาศแล้วว่าหาก 1 ต.ค.ยังไม่มีการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ จะแจ้งความ ดำเนินคดีกับนายกฯละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพราะนายกฯรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าผบ.ตร.คนปัจจุบันจะต้องเกษียณฯ และคณะกรรมการก.ต.ช.เหลืออยู่ถึง 10 คนถือว่าครบองค์ประชุมที่สามารถดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งผบ.ตร.ได้
ดังนั้น หากนายกฯไม่เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นผบ.ตร.ให้ ก.ต.ช.พิจารณาเห็นชอบภายใน 1 ต.ค.นี้ก็จะถือว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย
สรุปว่าการแต่งตั้งรรท.ผบ.ตร.ของนายกฯอภิสิทธิ์ไม่เป็นผลดีต่อองค์กรตำรวจและประชาชนแน่นอน
ส่วนจะมีผลดีต่อนายกฯ หรือขาใหญ่ม็อบหรือเปล่า
ไม่รู้!?
แต่ที่แน่ๆ นายกฯต้องทำให้กระจ่างว่าการแต่งตั้งรรท.ผบ. ตร.ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านที่จะตกถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเร็วๆนี้ ไม่งั้นจะถูกครหาไปอีกนาน