เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 19 ตุลาคม 52 มหกรรมประชาชนอาเซียน ครั้งที่ 2 ได้เปิดเวทีหารือประเด็นการเมืองและความมั่นคงในหัวข้อ“การระงับข้อพิพาท ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน” โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมอาเซียนเข้าร่วมการเสวนา แลกเปลี่ยนความเห็น ประเด็นร้อนยังไม่พ้นการเมืองพม่า พระสงฆ์เรียกร้องให้อาเซียนแทรกแซง แนะร่วมมือกันสันติภาพถึงเกิด
ท่านอาชิน โสพะกา ตัวแทนพระสงฆ์จาก International Burmese Monks Organization กล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารว่า ประชาชนพม่าต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวง ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย พระสงฆ์หลายร้อยต้องติดคุก จากการที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพ
“ประชาชนในพม่ามีชีวิตเหมือนติดคุก เด็กๆ ถูกบังคับให้ถือปืนทั้งๆ ที่อยากจะไปโรงเรียน ในพม่ามีทหารเด็กกว่า 20,000 คน ทำงานโดยไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แรงงานพม่าหลายร้อยคนที่ออกไปทำงานต่างถิ่นอยากกลับบ้าน แต่ก็กลับไม่ได้ คิดดูความคิดถึงบ้านมันทรมานแค่ไหน” ท่านอาชินกล่าว
ท่านยังกล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน ยังมีเรื่องของยาเสพติดที่ประเทศพม่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เรื่องนี้มันส่งผลกระทบไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และยังมีประเด็นเรื่องของนิวเคลียร์ที่เราต้องร่วมกันต่อต้าน ส่วนกรณีที่อาเซียนกล่าวว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศนั้นผิด ประชาชนพม่าถูกเข่นฆ่าโดยผู้นำของตนเอง อาเซียนควรที่จะเข้าไปแทรกแซงยับยั้งปัญหาเหล่านี้
โดยท่านได้ทิ้งท้ายว่า “การที่เราทำอะไรคนเดียวนั้นจะทำได้น้อยมาก แต่ถ้าเราร่วมมือกันเราจะทำอะไรได้มากกว่า ถ้าคนอาเซียนมีจิตวิญญาณเดียวกัน เราก็จะสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีความสุข และมีสันติภาพ”
ด้านกัส มิเคลท Initiatives For International Dialogue (IID) กล่าวถึง กลไกลการป้องกันความมั่นคง ว่ามีด้วยกัน 3 ส่วน คือ พิมพ์เขียว (หลักการประชาสังคมอาเซียน) ความมั่นคง ความรู้สึกในการพูดคุยกับภาคประชาสังคม และข้อเสนอแนะที่มาจากภาคประชาสังคมและรัฐบาล
กัสได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิมพ์เขียวว่า คือการพยายามสนับสนุนความมั่นคง สันติภาพ การศึกษาวัฒนธรรม ส่งเสริมแนวความคิดไม่ให้มีการแข่งขันการสะสมอาวุธ ป้องกันความขัดแย้งทางการเมือง การระงับปัญหาโดยสันติวิธี งดใช้ความรุนแรงรวมถึงสร้างมาตรการระงับข้อพิพาทโดยทำวิจัยแลกเปลี่ยนกับภูมิภาคอื่นๆ อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การดูแลในระหว่างเกิดข้อพิพาท
ทั้งนี้ กัสได้แนะให้ภาคประชาสังคมอาเซียน เพิ่มกลไกการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Mechanisms – DSM) นอกจากนั้นเราต้องยอมรับการปกครองของชนพื้นเมือง และร่วมกันต่อต้านผู้ก่อความไม่สงบ
ทางด้านยูยุน วาหยูนิงกรัม ตัวแทนจาก Forum-Asia ได้แสดงความคิดเห็นว่า อาเซียนควรจะผนึกกำลังด้านความมั่นคงทางการเมืองให้เป็นเอกภาพ และไม่ควรปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ที่รัฐบาลพยายามปกปิดนโยบาย และเอกสารต่างๆ เป็นความลับ ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าภาครัฐกำลังจะตัดสินใจทำอะไร เป็นเหตุให้ภาคประชาสังคมไม่สามารถนำข้อเสนอไปยื่นแก้ภาครัฐได้
ยูยุนยังได้ยกตัวอย่างเป้าหมายการส่งเสริมการพัฒนา สิทธิ เสรีภาพของเด็กและสตรี เพื่อเป็นกลไกลคุ้มครองสิทธมนุษยชนตามที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนในด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของสตรีและเด็ก หรือ ACWC
อุษา เลิศศรีสันทัด จากมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึงเรื่องของสิทธิสตรี โดยยกตัวอย่างสตรีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประสบปัญหาเรี่องความไม่มั่นคงทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีงานรองรับ ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องเดินทางข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหางาน และมีบางคนถูกหลอกไปค้าประเวณี จนเกิดปัญหาเรื่องโรคเอดส์ตามมา
อุษา ยังตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้บ้านเราจะมีมาตรการในการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่เขามองว่า มาตรการนี้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดให้คลี่คลายลงได้