น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี ให้สัมภาษณ์ต้องมีมาตรา 112 อยู่ แต่เห็นด้วยแก้ไข เพราะถูกใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมือง เสนอให้หน่วยพิเศษฟ้อง-ลดโทษขั้นต่ำ เพื่อให้มีหมายเรียก มีการประกันตัว
27 มี.ค.54 น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เดินทางมาร่วมงานเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จัดโดยกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ หรือมาตรา 112 ว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ยังต้องมีอยู่ เนื่องจากกษัตริย์ควรมีสถานะที่สังคมให้ความเคารพสักการะ แต่กระบวนการดำเนินคดีที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันนั้นเห็นว่าเกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ควรจะมีการแก้ไขในขั้นตอนเริ่มต้นการดำเนินคดี จากที่เปิดกว้างให้ผู้ใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ควรมีกระบวนการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เช่นอาจให้อัยการพิเศษ หรือหน่วยงานพิเศษเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการฟ้องคดี
ในส่วนของอัตราโทษที่ถูกวิจารณ์ว่าสูงเกินไปนั้น น.พ.ตุลย์เห็นว่าบทลงโทษที่สูงก็แปลว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้ผู้ใดกระทำ ต่อให้มีโทษถึงประหารชีวิต ถ้าไม่มีการกระทำผิดก็ไม่มีใครถูกประหาร อย่างไรก็ดี การออกหมายจับทันทีโดยไม่ออกหมายเรียก หรือการไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากโทษหนักเกินกว่า 3 ปีนั้นก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้นจึงอยากให้แก้ไขโทษต่ำสุดที่อาจเริ่มต้นที่ 6 เดือน เพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกและผู้ต้องหามีสิทธิประกันตัว อีกทั้งในบางกรณีที่ไม่ใช่การดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายอย่างชัดเจนก็ไม่ควรต้องโทษถึง 3 ปี เช่น การกล่าวกระทบกระเทียบ หรือการไม่ยืนในโรงหนัง
“โจทย์หลักของผมคือเห็นว่ามีการกลั่นแกล้งกันจริง แต่ไม่ทุกเคส และทำอย่างไรให้คนที่ถูกกลั่นแกล้งไม่โดนอีก หรือไม่เกิดการกลั่นแกล้งกันอีก” น.พ.ตุลย์กล่าว
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดของนักวิชาการจากกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคยเสนอว่าการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ควรจะกระทำได้ตามกรอบของกฎหมาย สอดคล้องกับหลักการในระบอบประชาธิปไตย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าควรมีการวิจารณ์ได้ แต่เส้นแบ่งก็เบาบางมากระหว่างการวิจารณ์หรือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท จึงอยากให้มีหน่วยงานพิเศษพิจารณาเรื่องนี้ และหน่วยงานนั้นก็ควรนำแนวคิดนี้มาพิจารณาด้วย
เมื่อถามเห็นอย่างไรที่ในปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่อง มาตรา 112 หลายรูปแบบ ทั้งเสนอให้แก้ไขรวมถึงเสนอให้ยกเลิก นพ.ตุลย์ กล่าวว่า แต่ละกลุ่มก็คงมีเหตุผลแตกต่างกันไป
“ผมเอา แต่ขอแก้ไข เพราะเห็นข้อดีและข้อเสียในตัวกฎหมาย หลายคนก็คงเห็นตรงกันว่าสมควรปรับปรุง ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มรณรงค์อยากให้ยกเลิกทำเพื่อจะได้หมิ่นโดยไม่ถูกลงโทษ อันนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่นำเอาสถาบันกษัตริย์มากล่าวหาบุคคลต่างๆ จนเป็นกระแสหลังรัฐประหาร นพ.ตุลย์กล่าวว่า ถ้าไม่มีผู้กระทำการให้เป็นประเด็นก่อน อีกฝ่ายก็ไม่สามารถยกประเด็นมากล่าวหากันได้ ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องดึงสถาบันกษัตริย์มาพูดบนเวทีทางการเมืองด้วย เพียงเพราะ ‘ความเชื่อ’ ว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงและมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม มีการโต้เถียงระหว่างน.พ.ตุลย์กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาฟังสัมมนาครู่หนึ่ง และระหว่างที่น.พ.ตุลย์เดินทางกลับมีเสียงโห่จากกลุ่มคนที่ร่วมมาร่วมงานและอยู่บริเวณลานโล่งของคณะนิติศาสตร์จำนวนหนึ่ง