บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทำไมโรงเรียนวัดไทยไม่ชอบฮิญาบ

ที่มา ประชาไท

อนุสรณ์ อุณโณ

โรงเรียนวัดหนองจอกเป็นที่สนใจของสาธารณะและสื่อมวลชนเพราะได้ปฏิเสธข้อ เรียกร้องของเด็กนักเรียนหญิงมุสลิมที่ต้องการสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะภาย ในโรงเรียนอย่างแข็งขัน โดยหลังจากอ้างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ กฎระเบียบของวัดหนองจอก และมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโรงเรียนวัดหนองจอกได้อ้างมติมหา เถรสมาคมที่ว่า “ให้โรงเรียนวัดทั่วประเทศที่อยู่ภายในพื้นที่ของธรณีสงฆ์ต้องยึดวิถีพุทธ ทำตามจารีตประเพณีไทย โดยการห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน หากครูหรือนักเรียนไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด” ในการไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบภายในโรงเรียน และถึงแม้ดูเหมือนว่าต่อมาทางวัดและโรงเรียนจะยอมผ่อนปรนภายใต้การเจรจาของ รัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง แต่เงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองอันเป็นที่มาของการปฏิเสธฮิญาบของ โรงเรียนวัดหนองจอกไม่ได้หายไปไหน ยังพร้อมจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เมื่อเงื่อนไขต่างๆ มาบรรจบกัน

ที่ผมพูดเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับการสวมฮิญาบในสถาน ศึกษารวมทั้งสถานที่ราชการอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีมีกระแสเรียกร้องการสวมฮิญาบของนักเรียนนักศึกษาหญิงมุสลิมในสถานศึกษา ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งความขัดแย้งมีความ แหลมคมเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะสังคมไทย หากแต่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ทั่วโลกซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นพลเมืองส่วนน้อย โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสที่ความขัดแย้งแฝงนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลฝรั่งเศสโดยความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ได้ผ่านกฎหมายห้ามนักเรียน โรงเรียนรัฐสวมใส่เสื้อผ้าที่แสดงสังกัดทางศาสนาที่เด่นชัด (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิม) แม้จะมีกระแสต่อต้านจากมุสลิมจากทั้งในประเทศฝรั่งเศสและทั่วโลกก็ตาม อะไรคือเงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทำให้การสวมฮิญาบในสถานศึกษาเป็นปัญหา

นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน John R. Bowen เขียนหนังสือ “Why the French don’t like Headscarves: Islam, the State, and Public Space” (“ทำไมคนฝรั่งเศสจึงไม่ชอบผ้าคลุมศีรษะ: อิสลาม รัฐ และพื้นที่สาธารณะ”) เพื่ออธิบายว่าเหตุใดคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับดัง กล่าว เขาเสนอว่าผ้าคลุมศีรษะสตรีมุสลิมไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่สาเหตุที่มันกลายเป็นปัญหาก็เพราะว่ามันเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของ อันตรายต่อสังคมฝรั่งเศสและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นภัยคุกคามหลักการความ เป็นทางโลก (laïcité ในภาษาฝรั่งเศสหรือ secularism ในภาษาอังกฤษ) และความเป็นสาธารณรัฐ (Republicanism) ที่ชาวฝรั่งเศสยึดถือ เพราะขณะที่หลักการทั้งสองเน้นเรื่องการเคลื่อนย้ายศาสนาออกจากพื้นที่ สาธารณะและการเมือง รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างเพศและภราดรภาพระหว่างพลเมือง ฮิญาบถูกวาดภาพให้มีนัยของความเป็นศาสนาอิสลามสุดขั้ว การแตกแยกเป็นหมู่เหล่า และการกดขี่สตรี จึงไปกันไม่ได้กับหลักการดังกล่าว และเพราะเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถอนุญาตให้สวมใส่ในพื้นที่สาธารณะได้

สาเหตุที่โรงเรียนวัดหนองจอกไม่อนุญาตให้นักเรียนหญิงคลุมฮิญาบในโรงเรียนก็ วางอยู่บนเงื่อนปมทางวัฒนธรรมและการเมืองเช่นกัน เพียงแต่เป็นอีกลักษณะ เพราะรัฐไทยไม่ได้เป็นรัฐทางโลกที่แยกขาดจากศาสนาอย่างเด็ดขาดอย่างเช่น ฝรั่งเศสหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ หากแต่มีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างใกล้ชิดแม้จะไม่ได้เป็นรัฐศาสนา (ในความหมายเคร่งครัด) ก็ตาม เพราะนอกจากโดยพฤตินัยหนึ่งในอุดมการณ์รัฐไทยจะเป็นพุทธศาสนา กษัตริย์ไทยปกครองด้วยคติธรรมราชารวมทั้งมีพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ในพุทธศาสนาเป็นแหล่งของความชอบธรรม ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่รัฐไทยอาศัยสถาบันพุทธศาสนาเป็นช่องทางในการ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น เหตุผลทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ทำให้โรงเรียนวัดหนองจอกห้ามไม่ให้เด็กนัก เรียนสวมฮิญาบจึงไม่ใช่เพราะฮิญาบละเมิดหลักการความเป็นทางโลกและความเป็น สาธารณรัฐ (ซึ่งชนชั้นปกครองไทยต่างพากันหวาดกลัว) ที่กีดกันศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างที่เกิดในกรณีประเทศฝรั่งเศส หากแต่เป็นเพราะว่าฮิญาบละเมิดหรือว่าท้าทายการจัดระเบียบชีวิตทางศาสนาใน พื้นที่สาธารณะที่รัฐไทยอาศัยสถาบันพุทธศาสนาเป็นกลไกในการควบคุมตรวจตรา

ดังจะเห็นได้จากมติมหาเถรสมาคมในกรณีนี้ที่ 1) การทำให้ “วิถีพุทธ” และ “จารีตประเพณีไทย” เป็นสิ่งเดียวกันบ่งนัยว่าวิถีศาสนาอื่นซึ่งในที่นี้คืออิสลามไม่นับเป็น ส่วนหนึ่งของ “จารีตประเพณีไทย” ที่รัฐไทยให้การรับรองและส่งเสริม และเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถแสดงออกในพื้นที่สาธารณะเช่นโรงเรียนได้ และ 2) การ “ห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ชัดเจน” ในโรงเรียนวัดที่อยู่ในธรณีสงฆ์ประการหนึ่ง กับการกำหนดให้ทุกคนยึด “วิถีพุทธ” ในเขตดังกล่าวที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาอีกประการ ไม่ได้แสดงความขัดกันเองของมติมหาเถรสมาคม เท่าๆ กับชี้ให้เห็นว่าในกรณีนี้สัญลักษณ์และวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาไม่ถูกนับ เป็น “เรื่องทางธรรม” ที่มีความจำเพาะหรือผูกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป หากแต่กลายเป็น “เรื่องทางโลก” ที่มีลักษณะทั่วไปและดังนั้นจึงสามารถใช้บังคับได้กับทุกคนที่อยู่ในเขตแดน ของรัฐไทย

อย่างไรก็ดี การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับพุทธศาสนาในลักษณะเช่นนี้มีปัญหา เพราะนอกจากไม่สามารถลดหรือหลีกเลี่ยงความตึงเครียดระหว่างศาสนากับรัฐชาติ ในฐานะที่เป็นแหล่งยึดโยงผู้คนแหล่งใหม่แทนศาสนาและสถาบันกษัตริย์ (ดังที่รัฐทางโลกมักประสบจากการพยายามเคลื่อนย้ายศาสนาออกจากพื้นที่สาธารณะ และการเมือง) หากแต่ยังเป็นกลืนกลายหรือว่าเบียดขับศาสนาและระบบความเชื่ออื่นให้อยู่ใน สถานภาพที่ด้อยกว่าซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในกรณีของศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อหรือระเบียบศีลธรรมกว้างๆ หลวมๆ หากแต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้านอย่างเคร่งครัดและใน ระดับแยกย่อย คล้ายคลึงกับระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัฐสมัยใหม่กำหนดให้พลเมืองต้องปฏิบัติตามใน ชีวิตประจำวัน ฉะนั้น โอกาสที่ระเบียบรัฐและระเบียบศาสนาอิสลามจะบรรจบกันจึงเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป และจะก่อให้เกิดความตึงเครียดหากระเบียบทั้งสองชุดขัดแย้งหรือไปด้วยกันไม่ ได้ ดังที่เกิดกับรัฐทางโลกเช่นฝรั่งเศสในกรณีการสวมฮิญาบ ขณะที่ในกรณีรัฐกึ่งทางโลกกึ่งศาสนาเช่นรัฐไทยปัญหามีความซับซ้อนและแหลมคม ยิ่งขึ้น เพราะระเบียบทางโลกของรัฐไทยในเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะขัดกับวิธีปฏิบัติของ ศาสนาอิสลาม หากแต่ยังแยกไม่ออกจากระเบียบทางธรรมของพุทธศาสนา ทางเลือกหนึ่งของรัฐไทยในกรณีนี้จึงอยู่ที่ว่าจะจัดระเบียบทางโลกที่ไม่ วางอยู่บนพุทธศาสนาเพียงประการเดียวได้อย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะให้ระเบียบทางธรรมของศาสนาและระบบความเชื่ออื่นมีที่ทาง ในระเบียบทางโลกในรัฐไทยยิ่งขึ้น


(จาก คอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 18-25 มีนาคม 2554)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker