ที่มา
ประชาไทเปิดตัวหนังสือ "ประชาธิปไตย...เข้าใจไหม" บก.หนังสือชี้เป็นจดหมายเหตุบันทึกการถกเถียงช่วงการต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้น บก.ลายจุด วิจารณ์การต่อสู้สองสี ทั้งเหลือง-แดง พูดเรื่องประชาธิปไตยน้อย จ้องทำสงคราม แนะใช้โอกาสบรรยากาศเปิด-ประชาชนตื่นตัว สร้างประชาธิปไตยเป็นวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 54 โครงการเวทีเปิดเพื่อการสนทนาเรื่อง ประชาธิปไตย ภายใต้มูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดงานเปิดตัวหนังสือ "ประชาธิปไตย...เข้าใจไหม?" ที่ห้อง 103 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"จดหมายเหตุสังคมการเมืองไทย"
พิณผกา งามสม บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ แนะนำว่า หนังสือ “ประชาธิปไตย เข้าใจไหม? บทเสวนาว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค, การเมืองภาคประชาชน, ธรรมาภิบาล และนิติรัฐ” ประมวลแนวคิด และคำนิยามจากประชาชนคนธรรมดา จากการทำกิจกรรมของมูลนิธิศักยภาพชุมชน 3 ส่วนคือ การจัดเวทีเสวนาวิชาการ โดยมีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ใน 4 ประเด็นหลักๆ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักของแต่ละบทในหนังสือเล่มนี้ ส่วนที่ 2 คือคำสัมภาษณ์จากเวทีประชาคมในจังหวัดต่างๆ รวมถึงที่บ่อนไก่ในช่วงหลังการสลายการชุมนุม และกลุ่มคนพิการ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผู้จัดทำได้โคว้ทเอาถ้อยความหลักๆ ของผู้แสดงความเห็นแต่ละเวทีไว้ในหน้าแรกของแต่ละบท และส่วนที่ 3 คือ เวทีเสวนาของประชาคมในจังหวัดต่างๆ
บรรณาธิการหนังสือกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวคิดของผู้จัดทำโครงการที่พยายามหาคำนิยามของ "ประชาธิปไตย" จากประชาชนทั่วไป ไม่ใช่จากนักวิชาการหรือคนดัง ทั้งนี้ ในการต่อสู้ทางการเมืองมักมีการใช้คำใหญ่ๆ ซึ่งน่าสนใจว่า จริงๆ ประชาชนเข้าใจแบบไหน แต่ก็นำมาซึ่งความยากลำบากในการประมวลเนื้อหาให้กระชับรัดกุม นอกจากนี้ มองว่า การจัดทำโครงการนี้ในช่วงที่การต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง บางเวทีแลกเปลี่ยนซึ่งจัดหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงไม่นาน แม้ผู้รวบรวมข้อมูลจะตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เข้าร่วมระวังตัวและไม่พร้อมจะแลกเปลี่ยน แม้ว่ารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ถือเป็นการสะท้อนทัศนคติและเหตุการณ์ หนังสือเล่มนี้จึงนับเป็นจดหมายเหตุอย่างหนึ่ง
แนะสร้างการเรียนรู้ "ประชาธิปไตย" ให้กลมกล่อม
สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นภาวะแย่งชิงนิยามของคำว่า "ประชาธิปไตย" ต่างอ้างประชาธิปไตยกันหมด อ.จรัล ดิษฐาอภิชัยเคยบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องมีการดีเบตกันอย่างรุนแรง เนื่องจากมีความคลุมเครืออยู่นาน ทั้งนี้ สมบัติยกตัวอย่างว่า เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข ในที่ชุมนุมก็มีเสียงต่อท้ายว่า "โดยอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" นี่คือการช่วงชิงนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" และดีเบตกัน ซึ่งเชื่อว่า วันหนึ่งมันจะคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม สมบัติตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมองไปที่กิจกรรมที่ผ่านมาของทั้งเสื้อเหลือง ที่บอกว่าเป็นพันธมิตรประชาชน "เพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งเรียกร้องให้ถวายคืนพระราชอำนาจ และเสื้อแดง ที่บอกว่าต้องคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น พบว่า ต่างก็พูดถึงประชาธิปไตยน้อยมาก โดยเสื้อเหลืองจัดการศึกษาว่าด้วยความเลวร้ายของทุนสามานย์ ขณะที่ปีกเสื้อแดงใช้เวลาอธิบายความไม่ดีของระบอบอำมาตยาธิปไตย ของพันธมิตรฯ และเครือข่าย ความล้มเหลวหรือความไม่ดีของพรรคประชาธิปัตย์ และพูดเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสุดท้าย
สมบัติเสนอว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์ที่ประชาชนทั้งสองฝ่ายตื่นตัว ระบบเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยน ควรฉกฉวยโอกาสทำการศึกษาและสร้างประชาธิปไตย แทนการใช้ความโกรธเกลียดในการขับเคลื่อนและออกรบ จนกลายเป็น "สงคราม"
สมบัติย้ำว่า หากเราไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะชิงอำนาจทางการเมือง แต่เป็นการสร้างและพัฒนาประชาธิปไตย จะต้องดึงเรื่องนี้และบรรยากาศเปิดแบบนี้ให้ยาวที่สุด ทั้งนี้ มองว่า สิ่งที่ยังขาดคือ การออกแบบการศึกษาประชาธิปไตยที่กลมกล่อมสำหรับคนทุกระดับ และทำให้พัฒนาจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม