รายงานพิเศษ
1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ |
เป้าหมายหลักอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย
ชื่อของร.ต.อ.ปุระชัย จะจุดกระแสคนกรุงเทพฯ ติดหรือไม่ จะส่งผลแย่งชิงเก้าอี้ส.ส.ในพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน แกนนำพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์ไว้ดังนี้
1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ส.ส.กทม. ผอ.พรรคประชาธิปัตย์
การมีชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย ลงเล่นการเมืองในนามพรรคประชาสันติ พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ต้องปรับอะไรมาก เราเตรียมตัวของเราเอง คงไม่กังวลว่า ใครจะลงตรงไหนในกทม.
พื้นที่กทม. เราต้องหาคนที่แข็งที่สุด 33 คน กรุงเทพฯ 23 คน ฝั่งธนบุรี 10 คน เราจะหาคนที่แกร่งที่สุด ไม่ว่าการแบ่งเขตออกมาอย่างไร คนกลุ่มนี้ 23 กับ 10 สามารถสลับไปสลับมาได้ ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคมีความคล่องตัวพอที่จะขยับพื้นที่ได้
เราจะดูคนเก่าก่อนว่าเขาคุ้นเคยกับพื้นที่ตรงไหน แต่ตอนนี้มั่นใจว่าส.ส.ของเราทำพื้นที่มาเต็มที่ในเขตใหญ่ เมื่อมาเป็นเขตเล็กก็ต้องปรับตัวนิดหน่อย
การกลับมาเล่นการเมืองของ ร.ต.อ.ปุระชัย อาจทำให้ประชาชนหวั่นไหวได้ แต่ผมคิดว่าคนกรุงเทพฯ จะดูอันดับแรกคือ ชื่อพรรคว่าพรรคมีความมั่นคงขนาดไหนในการทำพื้นที่ โดยเฉพาะกทม. จากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องตัวบุคคล ว่ามีคุณภาพเป็นตัวแทนของเขาในพื้นที่กทม.ได้หรือไม่ แล้วถึงจะดูเรื่องชื่อเสียง
ทั้งนี้ ไม่ได้หวั่นไหวกับการที่ร.ต.อ.ปุระชัย มาลงเล่นการเมือง โดยเฉพาะสนามกทม. เรารู้ว่าพรรคขนาดเล็กหรือขนาดกลางต้องพยายามจัดทัพเพื่อสอดแทรกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเราทำการบ้านอยู่ตลอด ครั้งนี้เราพยายามปรับเพื่อให้ไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
3.วิชาญ มีนชัยนันท์ 4.องอาจ คล้ามไพบูลย์ |
เราหวังว่าส.สในพื้นที่กรุงเทพฯ 30 คน ต้องได้กลับมาอย่างน้อย 30 คน
2.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ส.ส.กทม. แกนนำภาคกทม. พรรคเพื่อไทย
คงเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบของพรรคประชาสันติต่อฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย เพราะตอนนี้เราทราบเพียงว่าพรรคประชาสันติ จะมีร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น
แต่องค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของพี่น้องชาวกทม. คือผู้สมัคร และนโยบายของพรรค ยังไม่มีออกมา จึงตอบไม่ได้ว่ามีผลเป็นคุณหรือเป็นโทษกับพรรคเพื่อไทย จึงต้องรอดูสักนิด
อย่างไรก็ตาม การที่มีพรรคการเมืองเสนอตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกให้ประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรค คือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
สำหรับพรรคเพื่อไทยวันนี้ มีความเชื่อมั่นในพื้นที่กทม.สูงขึ้นมาก หลังจากรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล บริหารราชการผิดพลาด ก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบกับพี่น้องคนกทม.โดยตรง
ทำให้ประชาชนต้องการเปลี่ยนกลับไปหาพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ดี มีประสบการณ์และเคยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จมาแล้ว อย่างพรรคเพื่อไทย จึงมีเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากขึ้น
จึงมั่นใจว่าในการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐธรรมนูญลดส.ส.เขตในกทม.เหลือ 33 เขต พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ส.ส. 20 คนขึ้นไป
3.วิชาญ มีนชัยนันท์
ส.ส.กทม. ประธานภาคกทม. พรรคเพื่อไทย
ส่วนตัวเห็นว่าทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง ย่อมมีกลุ่มทางการเมืองที่จะเสนอตัวมาเป็นทางเลือกใหม่ รวมทั้งสถานการณ์ที่คนมีความสับสนเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ก็อาจมองว่าเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้
แต่หากดูตัวบุคคลที่ก่อตั้งพรรค คนที่เป็นคอการเมืองพอจะรู้ว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองเก่าทั้งนั้น บางคนอาจเว้นวรรค ไม่ลงสมัครส.ส.ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นของใหม่
อย่างตัวร.ต.อ.ปุระชัย เองก็เคยเล่นการเมืองกับพรรคพลังธรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนมาได้โอกาสในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตำแหน่งรมว.มหาดไทย นโยบายต่างๆ อาทิ จัดระเบียบสังคมก็เป็นนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น
ผมคิดว่า คนกทม.ทราบดีว่าตอนนี้การเมืองเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ขั้วการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิม การต่อสู้ก็ยังอยู่แค่นี้ แต่อาจมีประชาชนที่ยังสับสน จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับ
นอกจากนี้ หากดูคนรอบข้างและนายทุนของพรรค พบว่ามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มก้อนการเมืองใด บางพรรคอาจไม่มีฐานเสียงในกทม. ก็ต้องตั้งพรรคไว้เป็นสาขา เพื่อให้เป็นทางเลือกของคนกทม. หรืออาจตั้งพรรคไว้เพื่อรวมเสียงเข้าร่วมเป็นรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในระยะยาวพรรคประชาสันติจะไม่มีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย เพราะประชาชนรู้เท่าทันแล้ว
4.องอาจ คล้ามไพบูลย์
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยเฉพาะระดับนำของแต่ละพรรค ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น
นอกจากนี้ การเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ยังเป็นเวทีที่แต่ละพรรคคัดเลือกผู้สมัครที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดมาลง ซึ่งร.ต.อ.ปุระชัย คงจะคัดเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสมที่สุดมาลงเช่นกัน
ผมขอต้อนรับร.ต.อ.ปุระชัย กลับเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ที่ผมบอกว่าเรายินดีต้อนรับ เพราะเรามีประสบการณ์ในการแข่งขันกับพรรคใหม่ หรือผู้สมัครใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนมาแล้วหลายพรรค สลับสับเปลี่ยนมาเรื่อย
ถ้าย้อนหลังไปไกลหน่อยอาจเป็นพรรคประชากรไทย พรรคกิจสังคม พรรคพลังธรรม พรรคนำไทย แต่ละพรรคล้วนแต่เป็นพรรคที่มีผู้นำพรรคมีชื่อเสียงทั้งนั้น ดังนั้น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นกระบวนการแข่งขันเลือกตั้งตามปกติ
และการที่ ร.ต.อ.ปุระชัย เป็นที่ชื่นชอบของคนกรุงเทพฯ พรรคต้องปรับกลยุทธ์อะไรหรือไม่นั้น ต้องดูว่าผู้สมัครเป็นใคร เพราะการแข่งขันในการเลือกตั้งมีหลายองค์ประกอบรวมๆ กัน
ชัยชนะไม่ได้ขึ้นกับผู้นำพรรคเท่านั้น แต่ต้องอาศัยทั้งชื่อเสียงของพรรค ชื่อเสียงของผู้นำพรรค ชื่อเสียงของผู้สมัคร รวมทั้งนโยบายที่ถูกใจประชาชน กระแสการเมืองและสถานการณ์ในขณะนั้น
และขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในด้านอื่น คงต้องดูความชัดเจนมากขึ้นเพราะตอนนี้เราได้ยินเฉพาะชื่อของ ร.ต.อ.ปุระชัย เท่านั้น ส่วนเรื่องของพรรค และผู้สมัครก็ยังไม่ชัดเจน นโยบายก็ยังไม่มี
พี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯ เท่าที่ตนมีประสบการณ์ เวลาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งจะพิจารณาด้วยความรอบคอบจากหลายองค์ประกอบด้วยกัน
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งต้องยอมรับว่ามีคนลงมาสมัครแข่ง ยิ่งมีคู่แข่งเพิ่มเท่าไหร่เราก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้น และทุกพรรคถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญทั้งนั้น