นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์ใหม่ ปฏิรูปสังคมไทย" ในงานอบรม โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 2 (Leadership for Change) จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับเครือมติชน ที่อาคารข่าวสด เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ตอนหนึ่งว่า "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" เคยกล่าวไว้ว่า If at first, the idea is not absurd, then there is no hope for it. ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราคิดแบบเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม แต่ถ้าเราคิดให้แปลก อาจมีความหวังขึ้นมาได้ เหมือนกรณีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครั้งที่เสนอครั้งแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนฟังก็หัวเราะไม่คิดว่าเป็นไปได้ ผู้สมัครส.ส.ก็ไม่กล้านำไปหาเสียง แม้แต่พรรคได้ตั้งรัฐบาลแล้วก็ยังพูดกันว่าไม่สามารถทำได้จริง แต่กลับทำให้เกิดการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างการจัดการทั่วประเทศ
อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริง ปัญหาของสังคมไทยไม่ได้ต่างจากปัญหาของสังคมโลก ซึ่งตรงนี้เราไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถเรียนรู้จากประเทศอื่นแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศเราได้ และพัฒนาต่อให้ดีขึ้น เห็นได้จากนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยเห็นตัวอย่างเมืองนอก ก็นำเข้ามาในประเทศไทยจนกลายเป็นที่นิยม เช่น กรณีคุณตัน ภาสกรนที อดีตผู้บริหารโออิชิ ทำร้านถ่ายรูปแต่งงานหรือบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น
นพ.สุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยตนเห็นว่าจะเกิด ความ(น่าจะ)เปลี่ยนแปลงภายในปี 2020 ขึ้น ดังนี้ เราจะต้องใช้ "ข้อมูล" จากข่าวสาร ทั้งอ่านหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต และเว็บไซต์ มาสังเคราะห์เป็น "ความรู้" และนำไปใช้เป็น "ทักษะใหม่" เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ จะมี "เทคโนโลยีชีวภาพ" ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ตนเคยคุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกคนหนึ่ง เขาบอกว่ากำลังทดลองสกัดแบคทีเรียเพื่อย่อยพืช เป็นน้ำมันรถยนต์ อีกไม่นานน่าจะสำเร็จ ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพตัวนี้เองจะเป็นคลื่นลูกที่สี่ต่อมาจากคลื่นลูกที่สาม (สังคมข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ)
ในยุคสมัยหน้าเป็นสมัยแห่งปัจเจกชน และการแบ่งสันปันส่วนการเป็นแกนนำ รวมถึงแนวคิดแบบ "One world, one mind, one time" คนส่วนใหญ่จะมีความคิดคล้ายกัน มองคล้ายกัน ในเวลาเดียวกัน เห็นได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเหตุการณ์ที่ลิเบีย ที่เรารู้ข่าวหลังเกิดเหตุไม่กี่นาที แสดงว่าโลกเล็กลงแล้ว
อดีตรมว.คลัง กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ปกครองประเทศที่ดีตามหลักลัทธิเต๋า กล่าวถึงหลักผู้ปกครองไว้ว่า ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้น ราษฎรเพียงแค่รู้ว่ามีเขาอยู่, ผู้ปกครองที่ดีรองลงมา ราษฎรรักและยกย่อง, ผู้ปกครองที่ดีรองลงมา ราษฎรกลัวเกรง และผู้ปกครองที่ดีรองลงมา ราษฎรชิงชัง เมื่อนักปกครองขาดศรัทธาในเต๋า มักต้องการให้ประชาชนมาศรัทธาในตน แต่สำหรับนักปกครองที่ยอดเยี่ยมนั้น เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว การทำงานได้ลุล่วงลงแล้ว ราษฎรพากันภาคภูมิใจและกู่ก้องว่า การงานนั้นล้วนสำเร็จลงด้วยความสามารถของเขา