บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

23 คณาจารย์โต้ “นิติราษฎร์” ถ้ารัฐประหารเลวร้าย อภิวัฒน์ 2475+รสช. คือ “ความเลวร้ายสมบูรณ์แบบ"

ที่มา ประชาไท

ถาม “นิติราษฎร์” ถ้ารัฐประหารเป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง ทำไมไม่ถือว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 และ 3 ก.ค. 54 เป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย ชี้ในทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีแค่ทหาร และสังคมไทยอยู่ภายใต้ “ระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย” พร้อมถามนิติราษฎร์ยังยึดถือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.54 คณาจารย์สอนวิชากฎหมายจำนวน 23 คน ประกอบด้วย 1.ศ.ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส 2.ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ 3.ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต 4.รศ.นพนิธิ สุริยะ 5.รศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร 6.รศ.นเรศร์ เกษะประกร 7.รศ.ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม) ฟุ้งลัดดา 8.รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ 9.ผศ.ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล 10.ผศ.ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ

11.ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ 12.อ.เกศราภรณ์ ปานงาน 13.อ.คมสัน โพธิ์คง 14.อ.จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย 15.อ.ฉัตรพร ภาระบุตร 16.อ.จุมพล ชื่นจิตศิริ 17.อ.นฤมล เสกธีระ 18.อ.นิดาวรรณ เพราะสุนทร 19.อ.รัฐศักดิ์ บำรุงสุข 20.อ.วศิน สุวรรณรัตน์ 21.อ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล 22.อ.ศาสตรา โตอ่อน 23.อ.อัจฉรา จันทน์เสนะ

ได้รวมตัวกันลงรายชื่อออกแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ แสดงความเห็นโต้แย้งข้อเสนอของ กลุ่ม "นิติราษฎร์" โดยเนื้อหาตามแถลงการณ์ดังกล่าวตั้งคำถามกับกลุ่มนิติราษฎร์ว่าถ้าถือว่ารัฐ ประหารเป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง ทำไมไม่ถือว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 และ 3 ก.ค. 54 เป็นพิษหรือเสียเปล่าไปด้วย

ในแถลงการณ์ยังเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เท่ากับการรัฐประหารในปี 2534 โดย รสช. ด้วย โดยชี้ว่า “หาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ถือว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบจนถึงขนาดต้องลบล้างการ กระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงการทำรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน”

พร้อมยังแนะว่า “ในสภาพความเป็นจริงทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ” ไม่ได้มีแต่เผด็จการทหาร นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า “โดย เฉพาะบริบทในสังคมไทย ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาแล้วว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเชิง รูปแบบที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการในการเข้าสู่อำนาจแต่แอบแฝงเนื้อหาสาระ การผูกขาดอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมืองบางกลุ่มหรือ อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการปกครองใน ระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย”

ในท้ายแถลงการณ์ยังถามนักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” ว่ายังยึดถือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่ โดยในแถลงการณ์มีรายละเอียดมีดังนี้

000

"คำแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์"

เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้เสนอแนวคิดในการลบล้างผลของการรัฐประหารในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยใช้ตรรกวิธีคิดในทำนองว่าเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นธารแห่งความเลวร้ายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ตรรกะวิธีคิดเช่นนั้น เป็นความถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ?

หาก “กลุ่มนิติราษฎร์” ถือว่าการรัฐประหารเป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์แบบจนถึงขนาดต้องลบล้างการ กระทำทั้งหมดให้สิ้นผลไป ก็คงต้องพิจารณาย้อนกลับไปถึงการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงการทำรัฐประหารโดยคณะ รสช. เมื่อปี พ.ศ. 2534 ซึ่งย่อมต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน

และหากมีการประกาศให้มีการลบล้างผลของการรัฐประหาร ผลพวงของการกระทำ การบัญญัติกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างหรือหลังการรัฐประหาร ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงผลประโยชน์ที่บุคคลบางกลุ่มได้รับจากการรัฐประหาร (สัมปทานโทรคมนาคม หรือกิจการต่างๆ) แล้ว ย่อมต้องถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงของความเลวร้ายทั้งสิ้นและต้องถูกลบ ล้างให้สิ้นผลไปเสมือนเป็น “ผลไม้จากต้นไม้มีพิษ” หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะตามตรรกะวิธีคิดดังกล่าวด้วย

แต่ด้วยเหตุผลใด “กลุ่มนิติราษฎร์” จึงมีตรรกะวิธีคิดว่าเฉพาะการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นความเลวร้ายที่ต้องถูกลบล้าง แต่กลับไม่ได้ถือเอาผลพวงของการรัฐประหารทุกครั้ง ทุกประการเป็นพิษหรือเสีย เปล่าไปด้วย เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้น

ข้อน่าสงสัยและน่าพิจารณาเชิงวิชาการในเบื้องต้นจึง มีว่า ข้อเสนอที่ประกอบขึ้นจากตรรกวิธีคิดที่ก่อให้เกิดผลประหลาดนี้เป็นไปเพื่อ ให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคล หนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ !!!

คณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ ใคร่ขอเสนอข้อสังเกตและความเห็นที่แตกต่างกับความเห็นของ “กลุ่ม นิติราษฎร์” เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนในประเด็นสำคัญบนพื้นฐานของหลักการทาง จริยธรรมของนักวิชาการ หลักการทางนิติศาสตร์ และหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอันจะนำไปสู่การพิเคราะห์ตรรกะวิธีคิดดังกล่าวข้างต้นว่าชอบ ด้วยเหตุผลหรือไม่? โดยขอนำเสนอต่อสาธารณชนผู้มีใจเป็นธรรมพิจารณาและทำความ เข้าในหลักการสำคัญ ประกอบดังต่อไปนี้

1. หลักการทางจริยธรรมของนักวิชาการ

ก่อนที่จะมีการสร้างตรรกวิธีคิดและวิเคราะห์ทาง วิชาการไปสู่การชี้นำสังคมโดยนัก วิชาการ นักวิชาการควรมีสำนึกสำคัญในทางวิชาการในหลักการสำคัญที่สำคัญของ การเป็นนักวิชาการคือ ต้องมีคุณธรรมและมีสำนึกในทางจรรยา (วิถีการครองตนที่ดีงาม) ของการนำเสนองาน ทางวิชาการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือมีสำนึกในทางจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของงานวิชาการหรือวิชาชีพด้านกฎหมายนั้น ต้องเน้นถึงความสุจริต ความถูกต้อง มีความสมเหตุสมผล ความเป็นธรรม และมุ่งต่อผลประโยชน์สังคม และประชาชนโดยรวม อันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

รวมถึงต้องต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมทุกรูปแบบ โดยการนำเสนอและตีแผ่ความเป็นจริงโดยอาศัยหลักวิชาและต้องไม่มีอคติความนิยม ชมชอบใดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความถูกต้องตามหลักวิชา แล้วจึงนำเสนอผลงานทางวิชาการอย่างกล้าหาญ โดยไม่เลือกการนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะเรื่อง ในศาสตร์ของตนที่นักวิชาการมีอคติในวิชาเป็นพิเศษ

นักวิชาการต้องตีแผ่ถึงความไม่เป็นธรรม หรือการเอื้อประโยชน์อันมิชอบดังกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความเป็นจริง ไม่เสนอหลักการอันก่อผลประหลาดทางวิชาการ คลาดเคลื่อนต่อหลักการทางวิชาการที่ถูกต้องแท้จริง

นักวิชาการที่ละเลยหรือบิดเบือนหลักการทางวิชาการ ถือว่าเป็นผู้ขาดไร้ซึ่งคุณธรรม จริยธรรม หรือจรรยาบรรณอันงดงามในวิชาการและวิชาชีพที่ดี จะสร้างค่านิยมผิดและ ทัศนคติที่ผิดพลาดให้แก่ประชาชน เป็นทำลายหลักการอันเป็นวิถีสำคัญอันดีงามในการดำรงตนเป็นนักวิชาการ

นักวิชาการที่เลือกกล่าวแต่เรื่องที่เอื้อประโยชน์ แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพวกพ้องโดยเฉพาะ และงดเว้นการนำเสนออย่างกล้าหาญในหลักการที่ถูกต้องในเรื่องสำคัญ เป็นการ สร้างความเสียหายต่อสังคมโดยรวมโดยมิอาจแก้ไขได้

2. หลักนิติธรรม

หลักการพื้นฐานสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ เป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักในการกำหนดวิถีการใช้อำนาจของรัฐให้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ชอบธรรมและสมเหตุสมผล หลักนิติธรรมถูกใช้เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบ ไม่สุจริตในการใช้อำนาจ ต่อต้านการทุจริตฉ้อฉลในการใช้อำนาจ และการแสวงประโยชน์ด้วยการกระทำที่ไม่ชอบของผู้มีอำนาจรัฐในทุกรูปแบบ หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญที่นักนิติศาสตร์ยึดถือในวิถีชีวิตของการ ดำรงตนเป็นนักนิติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐดังกล่าวต้องคำนึงถึงการคุ้มครอง ประชาชนที่มีความสุจริต หลักความสุจริตจึงถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการพิจารณาประกอบหลัก นิติธรรม หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองประชาชนคนดีที่มีความสุจริต จากการใช้อำนาจอันฉ้อฉลของผู้มีอำนาจรัฐ หาใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางวาทกรรมสำหรับผู้ซึ่งหวังผลในการแสวงหาประโยชน์ ส่วนตนและพวกพ้องที่กระทำการอันทุจริตหยาบช้า ประพฤติมิชอบ และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักนิติธรรม จะใช้เพื่อกล่าวอ้างคุ้มครองตน จากกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรม โดยหวังแต่ได้ประโยชน์ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่เมื่อไม่ได้ประโยชน์ก็ กล่าวอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

นักวิชาการที่ยึดถือหลักนิติธรรมและมีจริยธรรมหรือ จรรยาบรรณในวิชาชีพ พึงนำเสนอความถูกต้องในหลักการอย่างแท้จริงอันปราศจากอคติแก่ประชาชน เพื่อ สร้างความถูกต้องดีงามในทางความคิดอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

3. หลักประชาธิปไตย

รูปแบบในการปกครองในโลกนี้มีหลากหลายรูป เช่น รูปแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม ฯลฯ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยผู้มีอำนาจหรือโดยกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมือง การที่ประเทศใดควรที่จะยึดถือรูปแบบการปกครองใด ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยม อุดมการณ์ทางการเมืองของคนในชาตินั้นๆ รวมทั้งประวัติศาสตร์ บทเรียน และบริบททางสังคมที่เป็นจริงในประเทศนั้นเป็นสำคัญ

การกล่าวว่า รูปแบบการปกครองใดดีกว่ารูปแบบใดนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่มีการโต้เถียงทางวิชาการไม่จบสิ้น เพียงแต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม หากจะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ ยึดถือหลักการประชาธิปไตยโดยแท้หรือไม่ คงต้องพิจารณาทั้งในมิติของรูปแบบและเนื้อหาของหลักประชาธิปไตย ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้ต้องมีเนื้อหาที่เป็นการปกครองโดย ประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ตลอดจนมีอุดมการณ์เพื่อให้เกิดการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เป็นเป้าหมายสูงสุด คำนึงและรับฟังเสียงข้างน้อยหรือความเห็นที่แตกต่าง

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมิได้ยึดถือเพียงแค่หลัก การของเสียงข้างมากเป็นเสียงสวรรค์ โดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อยหรือไม่คำนึง ถึงความถูกต้องชอบธรรมที่มีอยู่ตามกฎหมายและบรรทัดฐานอื่นๆ ที่สังคมร่วมสร้างกันมา ย่อมเป็นการยึดถือแต่หลักเสียงข้างมากแต่ขาดสำนึกตามหลักนิติธรรมที่มีความ สำคัญยิ่งในฐานะหลักการที่กำกับความชอบด้วยกฎหมายและความชอบธรรมของการ ปกครองแบบประชาธิปไตย

การทำลายหลักกฎหมาย และความชอบธรรม การกระทำทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ชอบ ธรรม ทุจริตการเลือกตั้ง ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงปิดบังประชาชน แทรกแซงกระบวนการตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือพวกพ้อง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเนื้อหาที่แท้จริง แต่กลับกลายเป็นเพียงการปกครองในระบอบเผด็จการเสียงข้างมาก ที่อาศัยรูปแบบแอบแฝงภายใต้เสียงข้างน้อยที่มากกว่ากลุ่มเสียงอื่นเป็นฐาน เพื่อกระทำการอันเป็นประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวการปกครองในระบอบเผด็จการนั้น นักวิชาการต้องศึกษา และกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการในทุกรูปแบบ มิใช่เฉพาะการกล่าวอ้างเผด็จการทหารว่าเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแต่เพียงรูปแบบ เดียว เพราะในสภาพความเป็นจริงทางวิชาการเผด็จการมีหลายรูปแบบ

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ภายใต้บริบทของสังคมในขณะนั้น โดยเฉพาะบริบทในสังคมไทย ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์กันมาแล้วว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเชิงรูปแบบที่มีการเลือกตั้งเป็นวิธีการใน การเข้าสู่อำนาจแต่แอบแฝง เนื้อหาสาระการผูกขาดอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมือง บางกลุ่มหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการปกครองในระบอบเผด็จการทุนนิยมพรรคการเมืองแอบแฝงในคราบประชาธิปไตย

พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงมีความเห็นแตกต่าง และมีข้อสงสัยในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่ม นิติราษฎร์” ดังกล่าวข้างต้น ที่กล่าวอ้างเสมือนกับให้เหตุผลว่าการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น เป็นต้นธารแห่งความเลวร้าย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย และเป็นเผด็จการทหาร

โดยละเลยการกล่าวและวิพากษ์ถึงเหตุปัจจัยหรือบริบท ทางสังคมสืบเนื่องก่อนการ รัฐประหารอันเป็นต้นเหตุของความเลวร้ายที่แท้จริง คือ พฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตก่อนการรัฐประหาร เป็นเผด็จการรัฐสภา มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวาง และแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ด้วยกระบวนการปกติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ได้ อันเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและหลักประชาธิปไตย

จึงมีคำถามอย่างมากมายว่า ปัญหาเหตุปัจจัยดังกล่าวที่หาได้ถูกกล่าวขึ้น ยังคงอยู่ในอุดมการณ์หรือในตรรกะวิธีคิดของ “กลุ่มนิติราษฎร์” หรือไม่

สภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบันได้ตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของคณาจารย์ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มนิติราษฎร์” จาก แถลงการณ์ดังกล่าวนั้น ว่า ยังคงมีอุดมการณ์ที่ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข และเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศไทยยึดถือมาเป็นระยะเวลายาวนาน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันหรือไม่ และหากยังยึดถืออุดมการณ์ดังกล่าวอยู่ คณาจารย์กลุ่มนี้ กระทำไปโดยวัตถุประสงค์อย่างไร หรือเพื่อบุคคลใด

พวกเราเหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์ ดังมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอเสนอความเห็นแตกต่างในหลักการทางวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ให้ฉุกคิดอย่างรอบด้านในข้อมูลเหตุปัจจัยพื้นฐานที่มาของเหตุการณ์ทางการ เมืองที่เกิดขึ้น พวกเราไม่มีความประสงค์ เป็น “เผด็จการทาง ภูมิปัญญา” ที่จะประนามผู้หนึ่งผู้ใดที่มีความเห็นแตกต่างว่า ไม่รักชาติ ประชาธิปไตย หรือประชาชน หรือกล่าวหาว่าการไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเราต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องการให้เกิดความงดงามในวิถีประชาธิปไตยที่เคารพความแตกต่างทาง ภูมิปัญญาและทัศนคติที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์

ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต
รองศาสตราจารย์ นพนิธิ สุริยะ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ มณีศร
รองศาสตราจารย์ นเรศร์ เกษะประกร
รองศาสตราจารย์ ดร.วิจิตรา (วิเชียรชม) ฟุ้งลัดดา
รองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์
อาจารย์ เกศราภรณ์ ปานงาน
อาจารย์ คมสัน โพธิ์คง
อาจารย์ จันทร์เพ็ญ หงษ์มาลัย
อาจารย์ ฉัตรพร ภาระบุตร
อาจารย์ จุมพล ชื่นจิตศิริ
อาจารย์ นฤมล เสกธีระ
อาจารย์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร
อาจารย์ รัฐศักดิ์ บำรุงสุข
อาจารย์ วศิน สุวรรณรัตน์
อาจารย์ ศักดิ์ณรงค์ มงคล
อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน
อาจารย์ อัจฉรา จันทน์เสนะ

2 ตุลาคม 2554

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker