เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ต.ค.) เนื่องในวาระการเปิดร้านหนังสือ Book Re:public และโครงการ Cafe Democracy ที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 18.00 น. มีการจัดวงเสวนาสาธารณะในหัวข้อ "ยังจะทำ/เขียน/อ่าน/ขาย หนังสืออยู่อีกหรือ?" โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน วรพจน์ พันพงศ์ นักเขียนหนังสือ/สารคดี และ เสาวนีย์ เมฆานุพักตร์ เจ้าของร้านหนังสือ 'เล่า' โดยได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจในการทำหนังสือท่ามกลางบริบททางสังคมและการ เมืองในปัจจุบัน จากมุมมองของคนที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ
ในการเสวนาดังกล่าว ไอดา บรรณาธิการวารสาร 'อ่าน' ได้อภิปรายประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย และนัยสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่มติครม. เพิ่่งมีมติเห็นชอบไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการจัดการกับสิ่งพิมพ์ที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง, ละเมิด 'ความมั่นคงของชาติ' และ 'ศีลธรรมอันดี'
โดยประชาไทขอนำเสนอบทอภิปรายดังกล่าวแก่ผู้อ่าน ดังนี้
(จากซ้าย) ไอดา อรุณวงศ์, เสาวนีย์ เมฆานุพักตร์ และวรพจน์ พันพงศ์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Book Re:public
“การอ่านหนังสือจึงยังคงเป็นกิจกรรมของคนมีการศึกษาและมีโอกาสทางสังคมจำนวนหนึ่ง
ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถมีเสียงดังในสังคมนี้ได้โดยไม่ต้องลงแรง
เลือดตาแทบกระเด็นหรือถูกสไนเปอร์ยิงหัวเป็นว่าเล่น”
000
แม้จะได้รับการติดต่อจากคณะผู้จัดงานล่วงหน้าเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่เอาเข้าจริงก็เพิ่งจะมานั่งคิดและเตรียมการพูดเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ซึ่งอาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ฟังอยู่สักนิดตรงที่ว่า มันเป็นช่วงเวลาที่กำลังทบทวนอย่างหนักจริงๆ ว่า “ยังจะทำหนังสืออยู่อีกหรือ” หรืออันที่จริงถ้าจะให้ตรงกว่านั้นก็คือ “ยังจะทำต่อไปอีกทำไม” และคำตอบที่ได้ก็ออกจะชวนหม่นหมองและเป็นการมองโลกในแง่ร้ายอยู่สักนิด เพราะมันจะกลายเป็นคำตอบจากอารมณ์เก็บกดของ 1) คนทำหนังสือปัญญาชน 2) เพศหญิง (ไม่มีลูกมีผัว) 3) แห่งเจเนอเรชั่นลูกหลง 4) ที่ดำรงอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข
ถ้าจะให้ขยายความนิยามต่างๆ ข้างต้น ก็คงต้องพูดกันยืดยาวเกินไป และจำนวนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องเก็บและกดไว้ต่อไปอย่างลูกผู้หญิงของ ประเทศนี้ ที่ต้องคำนึงถึง “ขบวน” และถ้อยคำอะไรทั้งหลายที่ใหญ่โตกว่าคำที่ “เอาท์” ไปจากสังคมไทยแล้วโดยที่ยังไม่เคยได้ “อิน” อย่างคำว่า “สิทธิสตรี” ในวันนี้ และด้วยภาวะอารมณ์ที่ใกล้จะเป็นหญิงเสียสติเต็มที จึงไม่มีอะไรจะพูดถึงประเด็นนี้นอกจากการบอกตรงๆ กับปัญญาชนเพศชายจำนวนหนึ่งของประเทศนี้ว่า FUCK YOU และ FUCK OFF
ส่วนนิยามที่ว่าเป็นเจเนอเรชั่นลูกหลงนั้น ก็ควรจะเลิกฟูมฟายขยายความเสียที มันก็แค่เป็นคนรุ่นที่เกิดหลังรุ่น 14 และ 6 ตุลาไม่ทันพอที่จะมาเกทับกันทางประวัติศาสตร์ได้ แต่ก็ดันทันพอที่จะไปทะเล่อทะล่ารับเอาสปิริตบางอย่างของปัญญาชนรุ่นนั้นมา ไว้ แล้วก็ได้แต่นั่งมองคนรุ่นนั้นใน “วัยวิกฤติ” ของพวกเขาอย่างตาสว่างกระจ่างใจ เพราะพวกเขาไม่เพียงไม่เยาว์ ไม่เขลา และไม่ทึ่ง อีกต่อไป แต่พวกเขายังเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ฉลาด และปวารณาตัวเพื่อกู้ชาติ รักพระพุทธทาสศาสนา และมั่นใจว่าคนไทยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์กันเกินกว่าหนึ่งล้านคนแน่นอน อีกด้วย
ในเมื่อไม่มีอะไรจะพูดในเรื่องเพศและวัย หรือเพศสถานะและเจเนอเรชั่นแล้ว ก็เหลือสองเรื่องให้อภิปราย คือเรื่องตำแหน่งแห่งที่และบริบท นั่นคือการทำหนังสือปัญญาชนในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข
ตอนที่เริ่มทำวารสารอ่านใหม่ๆ เคยมีนักข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับปัญหาที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยเพียง ปีละ 8 บรรทัดหรืออะไรทำนองนั้น ก็ตอบเขาไปว่าไม่รู้สึกว่าวารสารฉบับนี้จะต้องมาทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่าน ให้คนไทยอ่านหนังสือให้เยอะขึ้น เพราะ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนที่ไม่อ่านหนังสือ แต่อยู่ที่คนที่อ่านมากกว่า ว่าพวกเขาอ่านกันอย่างไร เพราะเราไม่ควรลืมว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้อยู่ในภาวะที่ขาดแคลน สวัสดิการพื้นฐานของชีวิตมานานหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ ศึกษา รายได้ขั้นต่ำ สิทธิในการรักษาพยาบาล แม้ในช่วงหลังมานี้จะมีความพยายามของฝ่ายการเมืองที่จะทำนโยบายเพื่อแก้ไข ปัญหาเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ภาวะนี้ที่สะสมมานานก็ทำให้คนไทยจำนวนมหาศาลขาดโอกาสเหล่านั้นไปแล้ว และไม่น่าแปลกใจที่การอ่านหนังสือจะกลายเป็นกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือยเกินไป สำหรับพวกเขา
การอ่านหนังสือจึงยังคงเป็น กิจกรรมของคนมีการศึกษาและมีโอกาสทางสังคมจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถมีเสียงดังในสังคมนี้ได้โดยไม่ต้องลงแรงเลือด ตาแทบกระเด็นหรือถูกสไนเปอร์ยิงหัวเป็นว่าเล่น คนกลุ่มนี้ โดยเหตุที่อยู่ในโลกของการสื่อสารแบบคนมีการศึกษา จึงมักเชื่อมั่นในการเรียนรู้ผ่านโลกของการอ่าน ไม่ว่าจะอ่านหนังสือที่เป็นเล่มหรืออ่านผ่านโลกไซเบอร์ ยิ่งอ่านภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันได้ ยิ่งรู้สึกว่ารู้จักโลกมากขึ้นไปกันใหญ่ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดนัก ช่วยไม่ได้ ก็อย่างที่นักเขียนบางคนของประเทศนี้เคยบอกไว้ – คนเรามันเกิดมาไม่เท่ากัน สอดคล้องกันกับที่เจ้านายบางคนเคยยกสาธกอธิบายว่า ดูแต่นิ้วมือทั้งห้าของเราก็หาได้เท่ากันไม่ ซึ่งทั้งครูภาษาไทยและนักสื่อสารมวลชนของไทยก็นิยมอ้างใช้กันต่อๆ มา โดยที่ไม่ยักฉุกคิดว่า จริงอยู่ นิ้วมือของคนอาจไม่สามารถยาวเพิ่มขึ้นได้ เกิดมาเป็นแบบไหนก็อยู่ไปแบบนั้น แต่มนุษย์เราสามารถขยับสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองได้ หากได้รับโอกาสทางสังคมการเมืองที่เท่าเทียมกันมิใช่หรือ ไม่ต้องพูดถึงว่านี่ออกจะเป็นการสอบตกวิชาการใช้เหตุผลขั้นพื้นฐาน ก็มันธุระอะไรเล่าที่จะเอาสิทธิทางการเมืองไปเทียบเคียงกับความสั้นยาวของ นิ้วมือนิ้วตีน
คนกลุ่มนี้แหละ ที่วารสารอ่านมองว่าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาหรือเป็นกลุ่มเป้าหมาย คนกลุ่มที่พูดอะไรก็เสียงดัง พูดอะไรก็ขลัง พูดอะไรก็ดูจะเป็นความจริงอันไม่อาจโต้แย้งได้ นั่นคือกลุ่มคน “นิ้วกลาง” ที่มีอภิสิทธิ์มากพอที่จะได้เป็นคนอ่านหนังสือ (และบางทีก็เป็นคนเขียนด้วย)
ส่วนคนกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่เป็นปัญหาในสายตาของวารสารอ่าน คือคนกลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหาในชีวิตมากมายอยู่แล้วจนไม่มีเวลาจะมาอ่านหรือ มาหัดอ่านหนังสือ หากว่าหลังเสร็จการงานอันอ่อนล้าแล้วพวกเขาจะหันหน้าเข้าหาหนังสืออย่างศาลา คนเศร้า ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าวิตกกังวลอันใด หนังสือเหล่านั้นอาจจะมีอะไรให้น่า “ถอดรหัส” “รื้อสร้าง” อยู่เหมือนกันก็ได้ แต่มันไม่เป็นปัญหาเท่าหนังสือที่เอาเข้าจริงแล้วอุดมไปด้วยมายาคติเสียยิ่ง กว่า อันได้แก่บรรดาหนังสือของคนที่ไม่อ่านศาลาคนเศร้า คนกลุ่มที่เรามักเรียกว่าเป็นผู้มีการศึกษา หรือในหลายกรณีเราก็เรียกว่าเป็นปัญญาชน
แล้วเหตุการณ์ทางการเมืองในรอบสี่ ห้าปีที่ผ่านมา ก็ยิ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่า คนกลุ่มไหนที่ยิ่งอ่านหนังสือยิ่งไร้กึ๋น ยิ่งอ่านหนังสือที่ดูก้าวหน้ายิ่งดูจะล้าหลัง เห็นคนเป็นคนไม่เท่ากัน ถ้าไม่เห็นเป็นนิ้วมือก็เห็นเป็นควาย และต้องเป็นควายสีแดงเท่านั้นด้วย
ประชาชนที่ออกมาตายตามราชดำเนินและตรงราชประสงค์ ไม่ได้เรียนรู้ประชาธิปไตยจากหนังสือรัฐศาสตร์ ไม่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิและเสรีภาพจากนักปรัชญา ไม่ได้เรียนรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจากตำรามานุษยวิทยา ไม่ได้เรียนรู้เรื่องแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์จากขี้ปากนักมนุษยศาสตร์และ วรรณคดีหน้าไหน ไม่ได้เรียนรู้เรื่องหัวใจและจิตวิญญาณจากนักเทศน์และศิลปินคนใด พวกเขาเรียนรู้จากการยอมเอาตัวและหัวใจเข้าแลก ซึ่งเป็นวิธีวิทยาที่โง่เกินไปสำหรับปัญญาชนหลังตู้หนังสือ
เท่าที่พล่ามมาก็คงพอจะทำให้ท่านทั้งหลายสังเคราะห์ออกมาได้ว่า เบื้องลึกของการยังฝืนทนเป็นคนทำวารสารอ่านและสำนักพิมพ์อ่านต่อไป ก็เนื่องมาจากความสัมพันธ์แบบ love-hate กับคนอ่านหนังสือทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงตัวเองด้วย มีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อชดใช้บาปกำเนิดทางชนชั้นพอๆ กับชดใช้บาปกำเนิดของการเกิดเป็นลูกหลานนังอีฟ
คิดว่าคงไม่เป็นการเข้าข้างตัวเองเกินไปแน่นอนถ้าจะบอกว่า สาเหตุ สำคัญที่ทำให้คนไทยยิ่งอ่านยิ่งไร้กึ๋น (ซึ่งกึ๋นในที่นี้หมายถึงทั้งความสามารถในการเกิดพุทธิปัญญาหรือ enlighten หรือตาสว่าง และรวมถึงในความมายของความกล้าหาญ) ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าวิจารณญาณหรือ critical mind ไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาพอย่างที่เป็นอยู่ สภาพที่สังคมตกอยู่ภายใต้อำนาจทางกฎหมายและทางวัฒนธรรมที่ยังเชื่อว่าคนเรา ไม่เท่ากัน ดังนั้นคนบางกลุ่มจึงมีอภิสิทธิ์และอาญาสิทธิ์เหนือคนส่วนใหญ่ได้ถึงขนาดที่ ไม่อนุญาตแม้แต่ที่จะให้มีการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่ออภิสิทธิ์และ อาญาสิทธิ์นั้น โดยลืมไปว่า การบอกว่า “คนเราเท่ากัน” นั้น ไม่ใช่จะเป็นการลดทอนหรือดึงอะไรให้ต่ำลงมาแต่อย่างใด การเห็นคนเป็นคน เห็นคนเป็นคนเท่าๆ กันต่างหาก คือการให้เกียรติและเคารพต่อกันในฐานะมนุษย์อย่างที่สุดแล้ว
ตัวอย่างล่าสุดของความเข้าใจผิดเช่นนี้ คือการผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ครั้งล่าสุด ที่ให้เพิ่มโทษทางปกครองยุบยิบแยกย่อยอีกมากมาย มากำกับให้คนทำหนังสือทั้งหลายจงอยู่ในโอวาท แค่ไม่ได้ส่งหนังสือปกละสองเล่มให้หอสมุดแห่งชาติก็อาจถูกปรับได้ถึงหนึ่ง หมื่นบาท (นี่ใจคอไม่คิดจะช่วยสนับสนุนซื้อหนังสือเข้าหอสมุดเองบ้างหรืออย่างไร)
รวมถึงการเพิ่มโทษทางอาญาในกรณีที่เขาอธิบายเหตุผลในทางหลักการว่า “สมควรกำหนดให้มีมาตรการบังคับในการควบคุมสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ที่มีผล กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งผลก็คือการเพิ่มมาตรา 18/1 ที่ว่า “ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งหนังสือพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” และ “ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย” หากฝ่าฝืน “ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย”
อันที่จริงเนื้อหานี้ก็มีอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้มาแต่เดิมอยู่แล้วและน่าอนาถเกินพออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าของเดิมนั้นมีบังคับอยู่เฉพาะในหมวดของสิ่งพิมพ์ ซึ่งหมายถึง สมุด กระดาษ หนังสือ หรือวัสดุใดๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา แต่ที่เพิ่มมานี้เป็นการเพิ่มมาในหมวดหนังสือพิมพ์ ซึ่งโดยนิยามนั้นหมายถึงสิ่งพิมพ์ที่ออกตามวาระทั้งหลายอันได้แก่นิตยสารและ วารสารด้วย ไม่อยากจะคิดเลยว่าเขานึกหน้าวารสารฉบับไหนอยู่บ้างตอนที่เพิ่มมาตรานี้เข้า มา รวมทั้งเพิ่มโทษทางอาญาให้หนักกว่าเดิมด้วย
มีแต่คนที่ไม่เชื่อในการใช้เหตุใช้ผลและใช้วิจารณญาณเท่านั้นแหละ ที่จะใช้อำนาจมาบังคับการใช้เหตุใช้ผลและใช้วิจารณญาณของคนอื่น และมีแต่อำนาจที่กำลังหวั่นไหวและวิตกจริตต่อความศักดิ์สิทธิ์ของตัว เองอย่างหนักแล้วเท่านั้นแหละ ที่จะมาเที่ยว ริบ ทำลาย จำคุกใครต่อใคร แค่เพราะหมึกบนกระดาษไม่กี่แผ่น
อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเมื่อเทียบกับกฎหมายที่ใหญ่กว่านั้น อย่างรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ที่มีมากกว่าหนึ่งมาตราที่สามารถเอาประชาชนมือ เปล่าขังคุกอย่างไม่มีทางสู้ เพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ทั้งหมดที่ว่ามานั่นน่ะ เอาเข้าจริงมันก็คือการพูด การเขียน การแสดงความเห็น เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจับอาวุธขึ้นมาจะไปทำอะไรใคร หรือสั่งการให้ใครไปฆ่าใครด้วยซ้ำ ทำไมมันถึงกลายเป็นความผิดฉกรรจ์ไปได้ แล้วคนที่จะมาตัดสินว่าอะไรเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายนี่ก็ต้องเป็นพวกที่อ่าน หนังสือตำรับตำรามามากมายเสียเหลือเกินอีกนั่นแหละ ถึงได้มั่นใจในความสามารถในการแยกแยะของตัวเองได้พอที่จะไม่ละอายแก่ใจทุก ครั้งที่ตัดสินไม่ให้ประกันหรือตัดสินโทษประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตย
ต้องขอยืมลีลาคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาใช้ ว่า วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่ อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่หมิ่น เข้าใจไหม วิจารณ์ ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย เข้าใจไหม การวิจารณ์ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับการหมิ่นและการอาฆาตมาดร้ายโว้ย ได้ยินไหม
คงเพราะอย่างนี้นี่เอง สี่ห้าปีมานี้เขาถึงได้พร่ำพูดให้เราจำขึ้นใจ ว่าเราอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข ทั้งที่แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เห็นต้องมาขยายความกันถึงขนาดนี้ เพิ่มคำขยายขึ้นมาให้น้ำหนักมันอยู่ที่วลีต่อท้าย จนเดี๋ยวนี้ถ้าแค่พูดไม่ครบก็จะแทบกลายเป็นการหมิ่นไปได้แล้ว ทำไมประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่นไม่เห็นต้องพูดแบบนี้มั่ง รู้ตัวหรือเปล่าว่ายิ่งทำแบบนี้ยิ่งสะท้อนความหวั่นไหว ว่ากลัวคนจะไม่รู้ว่าตำแหน่งแห่งที่ของอะไรอยู่ตรงไหน เพราะ ไม่งั้นถ้าจะต้องขยายความกันอย่างนี้ ก็ควรเรียกไปเลยว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายบริหาร มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติ และมีประธานอะไรอีกดีล่ะที่เป็นประธานฝ่ายตุลาการ ทำไมไม่เอาแบบนั้นไปเลยล่ะ อย่างน้อยก็จะได้เฉลี่ยความไหวหวั่นให้เนียนขึ้นอีกหน่อย
ประชาชนใน พ.ศ. นี้จึงน่าสงสารเสียยิ่งกว่าประชาชนใน พ.ศ. 2475 ที่เคยถูกกล่าวหาว่าโง่ขนาดไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร เพราะประชาชนใน พ.ศ. นี้เรียกชื่อระบอบการปกครองของประเทศก็ยังไม่ถูก
อันที่จริงก็ดีเหมือนกันที่เราถูก บีบให้ต้องเรียกมันให้เต็ม ก็ดี มันจะได้ตอกย้ำ จะได้ไม่ลืมว่าเรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาแบบไหน การเรียกเพียงสั้นๆ ว่าประชาธิปไตยจะทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดไป และเกิดสิ่งที่เรียกว่า false hope ได้ พอๆ กับที่ต้องบอกตัวเองว่า การที่ผู้หญิงบ้านๆ คนหนึ่งมาเป็นบรรณาธิการหนังสือปัญญาชน จะเท่ากับการได้มี “a room of one's own” ก็หาไม่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ต่างอะไรจาก mad woman in the attic เหมือนเดิม
และอย่าประหลาดใจ ถ้าวันดีคืนดีคนทำวารสารอ่านและสำนักพิมพ์อ่าน จะลุกขึ้นมาประกาศเลิกทำหนังสือ ไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องวิจารณ์อะไรกันอีก เผชิญหน้ากับชะตากรรมของการต้อง “ไหลพรากทางตา” กันอย่างเดียวต่อไป
แต่อย่ามาถามก็แล้วกันว่ามันจะไหลด้วยความซาบซึ้งหรือความคับแค้นใจ
เพราะถึงวันนั้นเหตุผลก็คงหมดความหมาย และสายเกินไปเสียแล้ว