บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตัณหาเก้าอี้-โลกีย์อำนาจ

ที่มา บางกอกทูเดย์

สตง.- ธรรมศาสตร์ วุ่นพอกัน!


ตัณหาเก้าอี้-โลกีย์อำนาจ

สำหรับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ที่คำว่า “หิริ โอตัปปะ” อาจจะเป็นคำที่คนบางประเภทเลือกที่จะไม่คุ้นเคย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “หิริ” ที่แปลว่า ความละอาย
การ แก่งแย่งช่วงชิง กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ใช้อำนาจรัฐบังหน้าแล้วคอร์รัปชั่นกันอย่างสนุกปาก จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมากใต้เงาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะนายอภิสิทธิ์ ใช้ภาพลักษณ์ที่สร้างว่าเป็นนายสะอาด บวกกับการหนุนหลังของกลุ่มคนในกองทัพ และโดยเฉพาะกลุ่มขั้วอำนาจบางกลุ่มที่อุ้มชูขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จนเก้าอี้แข็งแกร่ง ชนิดที่แม้แต่การเสียชีวิตของประชาชนกว่า 80-90 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 คน

ยังไม่สามารถทำให้เก้าอี้ของนายอภิสิทธิ์ สั่นคลอนได้แม้แต่น้อย
ทำ ให้กลุ่มผลประโยชน์อาศัยเป็นช่องทางหาผลประโยชน์กันอย่างหนัก ลามปามหนักไปจนถึงเรื่องงบประมาณของประเทศ ที่ประเคนให้กลุ่มที่ค้ำยันเก้าอี้อย่างสนุกสนาน ทั้งงบกระทรวงกลาโหม งบกระทรวงมหาดไทย งบกระทรวงการคลัง ที่ประเคนกันขึ้นหลักแสนล้านบาท

รวม ทั้งงบกระทรวงคมนาคม ที่พรรคภูมิใจไทยดูแลอยู่ ก็เตรียมขยายผลจะเอารถเมล์เช่า 4,000 คันให้ได้ แถมจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิอีก 6.2 หมื่นล้านบาท

การประเคนและการ เตรียมใช้งบประมาณกันอย่างสนุกสนานเช่นนี้หรือไม่ ที่ทำให้ปัญหาเก้าอี้ผู้ว่าการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่สามารถจะจบลงได้ง่ายๆ… และปริศนาที่ว่าทำไม คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จึงประกาศที่จะอยู่บนเก้าอี้บิ๊ก สตง. ไปจนกระทั่งอายุ 70 ปี

ทั้งๆ ที่เจตนารมณ์ตามกฎหมายให้อยู่ได้แค่ 65 ปีเท่านั้น... ก็ยังไม่พอ???
จึง กลายเป็นเกิดศึก ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ สตง.ป่นปี้ ในขณะที่คำถามที่สังคมสงสัยในการยึดติดเก้าอี้ของคุณหญิงเป็ด จึงยังคงกระฉ่อนฉาวไม่จบด้วยเช่นกัน

เพราะวันนี้ ภายใน สตง.เอง ก็เกิดการงัดข้อกันอย่างหนัก เนื่องจากนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่า สตง. ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรักษาการผู้ว่า สตง. ก็เข้าเกียร์เดินหน้าชักธงรบเต็มที่ ยืนยันว่า

คุณหญิงเป็ดพ้นจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน
เล่น เอาคุณหญิงเป็ดซึ่งแสดงชัดเจนว่า ไม่ต้องการลุกจากเก้าอี้ แต่ประกาศจะขออยู่ยาวอีก 5 ปีเต็ม ถึงกับเซ็นคำสั่งยกเลิกคำสั่ง สตง.ที่ 75/2552 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2552 ให้ นายพิศิษฐ์ พ้นจากรักษาการผู้ว่า สตง.

โดยถือว่า ในเมื่อเป็นคนแต่งตั้งได้ ก็สามารถที่จะยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งได้ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาขึ้น
แต่ นายพิศิษฐ์ ก็ไม่หวั่น โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ผู้บริหารระดับสูงของ สตง. ได้ร่วมประชุมพิจารณาข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหนังสือคำสั่ง 3 ฉบับที่คุณหญิงเป็ดออกมาในวันที่ 18 ส.ค.

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าข้อ กฎหมายที่กฤษฎีกาอ้าง มีเหตุผลรับฟังได้ว่าคุณหญิงจารุวรรณ ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

และการที่คุณหญิงจารุวรรณไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าได้ หมายความว่าปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้เช่นกัน

“ดัง นั้นหนังสือ 3 ฉบับที่ออกมาโดยใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จึงไม่มีผลบังคับใช้ได้ ประกอบกับหนังสือทั้งหมด อาศัยการตีความจากคุณหญิงจารุวรรณเอง จึงไม่มีน้ำหนักเหตุผลที่จะรับฟังได้ ดังนั้น เราจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของกฤษฎีกาโดยเคร่งครัด เพราะผู้รักษาการเป็นข้าราชการประจำ อย่างไรจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ”

งานนี้ สตง.ร้อนฉ่าอย่างแน่นอน เพราะคุณหญิงเป็ด เปิดเกมสู้ทันที
โดย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม คุณหญิงจารุวรรณ ตอบโต้โดยใช้อำนาจผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ว่าการ สตง. ลงนามในบันทึกส่งไปยังผู้บริหารระดับสูงทั้ง 7 คน ว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นมาเอาผิด ในฐานะที่ไปร่วมประชุมและลงมติทำบันทึกแย้งอำนาจของตน ทั้งที่ไม่มีอำนาจ

“การ กระทำครั้งนี้ ชัดเจนว่าคุณหญิงจารุวรรณต้องการขู่ข้าราชการทั้ง 7 คน แต่ทั้ง 7 คนได้หารือร่วมกันแล้ว และเห็นว่า จะไม่สนใจบันทึกฉบับดังกล่าว ที่คุณหญิงทำออกมา เพราะมองว่าเป็นเพียงแค่เศษกระดาษ เนื่องจากคุณหญิงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการ”

ซึ่งขณะนี้กลุ่มข้า ราชการระดับสูงของ สตง. ทั้ง 7 คน กำลังปรึกษาว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการกระทำครั้งนี้ของคุณหญิงจารุวรรณ ทั้งการออกคำสั่งยกเลิกตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ สตง. หรือการออกบันทึกแจ้งเวียนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่มากเกินไป

เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มข้า ราชการทั้ง 7 คน พยายามหาทางประนีประนอม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณหญิงจารุวรรณมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นส่งตัวแทนเข้าไปเจรจา ยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับมาใช้ประกอบการแก้ปัญหา ไม่มีการทำอะไรที่เกินกว่าเหตุ เพราะยังให้ความเคารพคุณหญิงอยู่ ห้องทำงานผู้ว่าการ สตง.ก็ยอมให้ใช้ รวมถึงรถประจำตำแหน่งและโทรศัพท์มือถือ

แต่ แทนที่คุณหญิงจารวุรรณ จะยอมรับความจริง ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ปล่อยวางจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. แต่คุณหญิงจารุวรรณกลับทำแบบนี้ ถือเป็นเรื่องที่เกินจะยอมรับได้ และคงจะมีการหามาตรการขั้นเด็ดขาด มาใช้แก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามในขั้วของนายพิศิษฐ์ เองก็น่าเป็นห่วง เพราะเกมที่คุณหญิงเป็ดจะใช้สู้ต่อไปก็คือ จะใช้โอกาสที่ในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งข้าราชการระดับ 10 จะเกษียณอายุราชการ 6 คน เหลือนายพิศิษฐ์คนเดียว และคุณหญิงเป็ดสามารถจะใช้อำนาจในฐานะประธานคตง. แต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ขึ้นมาทดแทนได้เอง

รวมทั้งระดับ 9 ที่จะเลื่อนขึ้นมาจากระดับ 8 ก็สามารถแต่งตั้งคนที่ต้องการให้ขึ้นมาได้
เท่ากับเป็นการโดดเดี่ยวนายพิศิษฐ์ ซึ่งสามารถอยู่ได้ถึงปี 55 ให้ยอมจำนนได้ไม่ยาก
นี่แหละจะเรียกเป็นอาถรรพ์เก้าอี้ หรือตัณหาเก้าอี้ก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ วันนี้ภาพลักษณ์ สตง.เละไปแล้ว

ทั้งๆ ที่ สตง.ควรเป็นที่พึ่งที่เชื่อถือได้ ในการตรวจสอบการการใช้จ่ายงบประมาณ มาเจอพิษการเมืองแทรกจนป่วนเช่นนี้ ย่อมน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับอีกเก้าอี้หนึ่ง ที่น่าจะเป็นเก้าอี้ที่เป็นภาพลักษณ์หน้าตาให้กับสถาบัน และเป็นที่พึ่งพิงของสังคมไทยด้วยเช่นกัน

นั่นก็คือ “เก้าอี้อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ที่งวดเข้าใกล้โค้งสุดท้ายเต็มทีแล้วว่า ใครจะเป็นคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกันยายนนี้

การ ที่เก้าอี้อธิการบดี มธ. งวดนี้ได้รับความสนใจจากสังคมมากเป็นพิเศษ ก็เป็นเพราะผลงานในการแสดงจุดยืนว่าเอนเอียงไปในการรับใช้ทหาร รับใช้รัฐบาล ของ ดร.สุรพล นั่นเองที่เป็นสาเหตุใหญ่

ซึ่งในวันพุธที่ 25 สิงหาคมนี้ เวลา 9.00 น.-15.00 น. จะมีการหยั่งเสียงอธิการบดี มธ. คนใหม่ ใน 3 สาย คือ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา... ถ้าใครชนะ เก้าอี้อธิการบดี มธ. ก็น่าจะอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว

ซึ่ง 3 ผู้ลุ้นชิงตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดี ฝ่ายการคลัง ที่มี ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ หนุนหลัง อีกคนหนึ่งก็คือ รศ.ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และคนสุดท้ายที่น่าสนใจก็คือ

รศ.ดร.กําชัย จงจักรพันธ์ อดีตรองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ท้าชิง 2 สมัยซ้อน
ดู เผินๆ อาจจะคิดว่า เป็นการสลับเปลี่ยนตัวบุคคลไปตามวาระปกติ และทั้ง 3 คนก็เป็นสายเลือด มธ.ด้วยกันทั้งสิ้น จนอาจจะคิดไปว่า ใครจะขึ้นมาก็คงไม่แตกต่างกัน... ซึ่งจริงๆ แล้วต้องบอกว่า

ใช้ไม่ได้กับการเลือกตั้งอธิการบดี มธ.ในครั้งนี้
เพราะ มีร่องรอยและเงื่อนงำให้เห็นว่า ระยะหลังๆ เครือข่ายของ “ระบบอุปถัมภ์” ที่นักวิชาการและผู้บริหารของ มธ. บางคนเลือกที่จะทำงานรับใช้ชนชั้นนำทางอำนาจและกลุ่มการเมือง เพื่อที่จะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นตำแหน่งทางการเมืองบ้าง ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ บ้าง

ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นที่พึ่งพิงของสังคม เป็นผู้นำทางความคิด
แต่ กลับกลายเป็นว่ายุคนี้มีผู้บริหารบางคน สามารถเข้าสู่ตำแหน่งภายนอกได้ ก็โดยที่มีตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นตัวรองรับ หรือเป็นจั๊มพ์ปิ้ง บอร์ด ให้ จนแทนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะวางตัวเพื่อเป็นเสาหลักให้แก่สมาชิกของ ประชาคม กลับเลือกที่จะเป็นเสาค้ำยันให้กับชนชั้นนำทางอำนาจและกลุ่มการเมือง อันเป็นการสร้างค่านิยมผิด ๆ ให้กับนักวิชาการรุ่นหลังว่า

ความสำเร็จของการเป็นนักวิชาการคือ การได้รับตำแหน่งใหญ่ๆ ภายนอก!!!
ดัง นั้นความสำคัญในการเลือกตั้งอธิการบดี มธ.คนใหม่ ในครั้งนี้จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนว่าจะมีแรงหนุนทางการเมืองเข้ามาช่วย บุคคลบางคนมากเป็นพิเศษ

ซึ่ง ล่าสุด แม้แต่คนในมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์เอง ยังยอมรับว่า ดร.สมคิด ค่อนข้างที่จะได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดีคนปัจจุบัน
เพราะความเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นิติศาสตร์ ปี 2521
แน่ นอนว่า มีแบ็คดีหนุนหลัง ก็ช่วยให้ไม่ต้องหาเสียงมาก เพราะมีต้นทุนที่สุรพลเพื่อนรัก วางแผนจัดการเอาไว้ให้อย่างเพียงพอ แต่สิ่งที่น่าคิด และเป็นสิ่งที่ ประชาคม มธ.ทั้งหลายจะต้องคิดให้หนัก ก้คือ การสืบทอดอำนาจ เป็นสิ่งที่สมควรให้เกิดขึ้นในสถาบันที่เชิดชูประชาธิปไตยมายาวนานหรือ ไม่???

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการสืบทอดอำนาจจาก ดร.สุรพล ซึ่งเมื่อเป็นอธิการบดี มธ. และใกล้ชิดการเมือง ก็ได้ไปเป็นใหญ่เป็นโต ในตำแหน่ง ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ด้วย

ซึ่ง อสมท. คุมทั้งสื่อ โทรทัศน์ วิทยุ เคเบิลทีวี และแม้แต่กระทั่ง สัมปทานช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ที่ถูกจับตาว่าโปร่งใสเพียงใดหรือไม่ ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ ดร.สุรพล นั่งเป็นประธานบอร์ด อสมท

ขณะเดียวกัน ดร. สมคิด เองก็ได้เข้าไปร่วมร่างและเป็นอดีตเลขานุการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งวันนี้เห็นชัดแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับใช้อำนาจใด

ในขณะที่ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปในวงจรเหล่านั้น แต่ก็ยังคงต้องเหนื่อยไม่น้อย เพราะแม้แต่ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเอง ซึ่งควรเป็นฐานสนับสนุนหลักก็กลับยังมีความไม่แน่นอนอยู่

ส่วน รศ.ดร.กำชัย นั้น แม้ว่าจะเคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และเคยเป็นรองธิการบดี มาแล้ว แต่ในการชิงชัยตำแหน่ง อธิการบดี มธ. มา 2 ครั้ง ล้วนถูกบล็อกให้พ่ายแพ้มาแล้ว ครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะฝ่ากระแสอำนาจที่เชี่ยวกรากขึ้นมาได้หรือไม่

เนื่องจาก รศ.ดร.กำชัย ไม่เคยรับใช้เผด็จการทหาร หรืออำนาจการเมืองปัจจุบันมาก่อน จึงต้องเผชิญกับแรงเสียดทานของอำนาจอย่างช่วยไม่ได้

เพราะมุมมองที่น่าสนใจของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่กล่าวว่า
“ผม ยังไม่รู้เลยว่าผมจะไปเลือกหรือเปล่า รู้ไหมครับว่าทำไม เพราะว่าในที่สุดผมทราบว่า มันไม่มีผลอะไรเลย การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย และทุกวันนี้สภามหาวิทยาลัย ถูกยึดกุมโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง"

ดังนั้นสุดท้ายจึงอยู่ประชาคม มธ. นั่นแหละว่า จะหยุดการใช้ตำแหน่งอธิการบดีไต่เต้าทางการเมือง
และจะให้อธิการบดีคนใหม่สัญญากับประชาคมว่า จะไม่ควบตำแหน่งการเมือง ได้หรือไม่?

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker