บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประชาธรรม: เปิดใจเด็กนร.เชียงรายและครอบครัว... "เราอยู่ใต้อำนาจเขาเกินไป จนทำให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพ"

ที่มา ประชาไท

มุม มองของครอบครัวที่มีสมาชิกวัย 16 ปีคนหนึ่งออกมาถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกจับฐานผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอะไรคือเหตุผลของการออกมายืนในจุดนี้
"ผม ก็ชอบก็อยากแสดง ความคิดเห็นบ้าง เพราะผมชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เลยไปร่วมกับเขา แต่หลังจากนั้นก็ผิดคาด ไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีอะไรก็ไปถือป้ายกันแค่นั้นก็จบ อย่างมากก็เป็นข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่ตำรวจเขาเล่นอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่"


...."ถาม จริงๆ เถอะลูกทำแบบนี้ ลูกคิดอย่างไรเนี่ย" เขาก็บอกว่า "สงสารคนที่เขาตายนะแม่ เราก็ออกมา มาช่วยเป็นพลังให้เขา เพราะเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม"


"เรา ก็กลับมาคิดว่า จากการที่มีการสลายการชุมนุม ญาติพี่น้องเราก็ไม่มีใครเสียชีวิต เรายังเป็นขนาดนี้เลย แล้วคนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปล่ะจะเศร้าใจสักเพียงไหน แล้วสื่อต่างๆ ในโทรทัศน์ก็ยังคงตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่ารับไม่ได้"
000
ภาย ใต้หน้ากากคนดีที่แฝงด้วยเผด็จการรูปแบบใหม่ กล่อมสังคมด้วยคำพูดที่สวยหรู แต่ปฏิบัติราวกับซาตานกลับชาติมาเกิด "คนดีภายใต้หน้ากาก" ไม่ได้รับรู้ว่าสังคมเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่จะให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมาปิด กั้นการรับรู้บางมุมของคนดีได้ จึงเกิดสมรภูมิรบระหว่างข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย เมื่อ "คนดี" พยายามพ่นวาทะสวยหรูออกมา หรือ แม้แต่แฉการการกระทำที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่ สิ่งเหล่านี้จะเห็นได้จากการจับกุมเด็กเชียงรายที่ออกมาถือป้าย การที่ สกอ.ออกหนังสือแจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศ ให้ควบคุมนักเรียนและนักศึกษาที่จะออกมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือล่าสุดที่ อ.จุฬาไม่ให้นักศึกษาชูป้ายแสดงความคิดเห็นในขณะที่ "คนดีภายใต้หน้ากาก" จะมาปาฐกถา เป็นต้น ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนดีมักอ้างอยู่เสมอว่า "เคารพคนที่เห็นต่างกัน จะ 1 คนหรือแสนคน ก็ต้องฟัง"
การแสดงออกทางการเมือง ทั้งทางกาย วาจา และการเขียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าแม้แต่การกระทำเหล่านี้ยังทำไม่ได้ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ฉะนั้น ประชาธรรมขอเสนอแง่มุมบ้างด้านที่ยังอยู่ในมุมมืด เป็นมุมของครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง (อายุ 16 ปี) ที่กล้าออกมาถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ในจังหวัดเชียงราย ท้ายที่สุดถูกจับฐานผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และอะไรคือเหตุผลของพวกเขาที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วย
เรา เข้าไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านพบว่าทุกคนในบ้านยังคงใช้ชีวิตตามปกติ แม้ว่าในตอนเช้าจะมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงคุณแม่ เพื่อให้ไปเป็นพยานในวันที่ 16 สิงหาคม เรานั่งสนทนา กับเยาวชน 16 ปี (เด็กนักเรียนเชียงราย) และคุณแม่ของเขา (ซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม) คุณแม่ก็ได้กล่าวกับทางประชาธรรมถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า
"เรื่อง ที่มีการออกมาพูดในโทรทัศน์ว่าจะปรองดองกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะปรองดองอะไรเลย ซ้ำยังไปไล่ล่าเขาอีก คนที่ถูกกระทำ คนที่คิดแบบเดียวกับเราก็เจ็บช้ำใจ หลังจากที่เกิดการสลายการชุมนุม เราก็เสียใจ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ได้เข้าไปร่วมกลุ่มอะไรกับใคร แต่ก็ยังมีการติดตามข่าวอยู่เสมอ"
ถ้าอย่างนั้นอะไรคือจุดเริ่มต้นของการแสดงออกทางการเมือง
นร.เชียงราย : ผมว่ามันไม่เกี่ยวกับการเมืองครับ ผมแค่ต้องการเห็นความถูกต้อง ต้องการเห็นความยุติธรรมแค่นั้นเองครับ การเมืองนี่ไม่เกี่ยวครับ
คุณ แม่กล่าวเสริมว่า แต่ก่อนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ก็ดูข่าวในโทรทัศน์ แต่น้องเขามาบอกว่า แม่ ในทีวีไม่เห็นเหมือนในอินเทอร์เน็ตเลย ทำไมในทีวีเขาถึงไม่ให้เสื้อแดงพูดเลย เราก็เลยเริ่มเห็นความไม่ยุติธรรม เริ่มลองติดตาม ก็เห็นว่าข่าวที่ออกในโทรทัศน์กับที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นมันไม่เหมือน กัน จึงเริ่มสนใจและติดตามการชุมนุมมาตั้งแต่เดือนมีนาคมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพราะเราเห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น คนอื่นเขาก็เริ่มกันมานาน แต่เราเพิ่งเริ่มติดตาม เมื่อเทียบกันแล้ว คนอื่นอาจจะบอบช้ำมามากว่าเรา
แล้วทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นร.เชียงราย : พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้จำกัดสิทธิของเรามากเกินไปครับ เราทำอะไรมากไม่ได้ เราอยู่ใต้อำนาจเขามากเกินไปจนทำให้ไม่มีสิทธิเสรีภาพครับ ในเรื่องความไม่ถูกต้อง ความไม่ยุติธรรมต่างๆนั้น ก็ได้เห็นจากในทีวี ตามเว็บไซต์ต่างๆ เรา (ประชาชน) ถูกกระทำมากเกินไป
หลังจากที่น้องไปถือป้ายแล้ว ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไปบ้างไหม
แม่ : ตอนที่น้องเขาไปทำกิจกรรม เราก็ไปทำงานนะ ซึ่งหลักจากนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงนะ ตอนนี้ก็ "ตุ๊มๆต่อมๆ" (เป็นคำเปรียบภาษาเหนือหมายถึงใจเต้นไม่เป็นปรกติเปรียบเหมือนว่าหวาดระแวง ตลอดเวลา)ตลอดเวลา อย่างวันนี้ก็เอาอีกแล้ว (มีหมายเรียกจากตำรวจถึงคุณแม่ เพื่อให้ไปเป็นพยานในคดีที่นายแดงและพวกฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน) ที่จริงเราก็คุ้นเคยกับคนในเครื่องแบบนะ แต่หากถามว่าเรากลัวไหม? ก็กลัวนะ กลัวเพราะเราไม่ได้ทำผิด แต่ทำไมเราจะต้องไปให้ปากคำเขา ก็กลัวเขาจะกดดันเรา ความจริงก็คือความจริง จะให้เราว่ายังไงล่ะ ซึ่งนี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก แต่ก็ไปมาหลายครั้งแล้ว ก็ได้บอกเท่าที่รู้ไปหมดแล้ว เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจของกฎหมายมากเกินไป มันเหมือนไม่จบไม่สิ้น เกิดความกังวลว่าวันนี้จะมีอะไรมาอีกไหม ทำให้ไม่ได้ทำการทำงานเลย (ตอนนี้กลายเป็นคนดังระดับประเทศไปแล้ว) ดังแบบนี้ไม่ไหว มัน "ตุ๊มๆต่อมๆ"ตลอดเลย
นร.เชียงราย: ตอนแรกๆก็ไม่ค่อยเปลี่ยนนะครับ แต่หลังจากที่ตำรวจเขาเริ่มติดตาม มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตรงนี้ครับ คือ ต้องคอยระแวงว่าจะมีใครมาตามหรือมีใครมาแอบซุ่มดูเราตลอดเวลา
ผลกระทบต่อตัวเอง ครอบครัว เพื่อนฝูงพี่น้องเป็นอย่างไรบ้าง แล้วปฏิกิริยาของคนรอบข้างล่ะ
แม่ : เพื่อนฝูงที่เห็นด้วยกับเรา ก็โทรมาให้กำลังใจกันตลอด ก็มีกำลังใจตรงนี้ ตอนแรกนั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับเลย ช่วงนี้จึงดูผอมไปมาก เนื่องจากความกังวลและการที่จะต้องเดินทางบ่อย จะไปไหนตำรวจก็รู้ความเคลื่อนไหวหมด
นร.เชียงราย : เพื่อนๆ เขาก็เป็นห่วงนะครับ โทรมาให้กำลังใจตลอด เมื่อวานนี้ก็โทรมาถามว่าทำไมไม่ไปโรงเรียน พวกเขานึกว่าผมโดนไล่ออกแล้ว
เพื่อนๆ คิดเหมือนเราไหม
นร.เชียงราย : เขาก็ไม่ค่อยสนใจนะครับ แบบว่าเล่นๆเรียนๆไป ผู้ใหญ่บางคนเขาก็มาสั่งห้าม มาบอกว่า เรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป (มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป) แต่ส่วนมากเขาก็ให้กำลังใจครับ
รู้สึกยังไงบ้างที่ต้องเข้ารับการบำบัด เหมือนเป็น "เด็กที่มีปัญหา"
นร.เชียงราย : ผมคิดว่าเขาคิดผิดแล้วครับ ใครกันแน่ที่มีปัญหา ต้องให้เขากลับไปคิดดูครับ
ตอนไปตรวจสุขภาพจิตเขาให้ทำอะไรบ้าง
นร.เชียงราย : ตอนที่ไปตรวจสุขภาพจิต เขาก็ให้ทำแบบทดสอบตอบคำถามแบบเชาว์ปัญญา ให้วาดรูปคน วาดรูปต้นไม้ แล้วถามว่าเราคิดอย่างไรกับรูปที่วาด แล้วก็มีการตอบคำถาม 60 ข้อ
หลังจากที่ผลทดสอบออกมาแล้ว คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างครับ
แม่ : หลังจากที่รู้ผลการทดสอบแล้ว ก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะลูกเราก็ปกติดี เราก็รู้แล้วว่าเป็นอย่างนั้น ตอนแรกๆคิดว่า ตำรวจเรียกไปตักเตือนแค่นั้น แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขากลับส่งไปยังสถานพินิจ แต่เราก็ไม่ได้โดนคนเดียวไง คนอื่นเขาก็โดนด้วย ความจริงก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนี้หรอก เพราะปกติก็อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่ได้ไปมีเรื่องมีราวกับใครอยู่แล้ว
รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ออกมาถือป้ายแสดงความเห็นทางการเมือง รู้สึกเสียใจไหม ความรู้สึกก่อนหลังออกมาต่างกันหรือเปล่า
นร.เชียงราย : ผมก็ชอบเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว พอดีกับที่เพื่อนๆพี่ๆเขาชวนมาทำกิจกรรม ผมก็ชอบก็อยากแสดงความคิดเห็นบ้าง เพราะผมชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เลยไปร่วมกับเขา แต่หลังจากนั้นก็ผิดคาด ไม่นึกว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้ ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่มีอะไรก็ไปถือป้ายกันแค่นั้นก็จบ อย่างมากก็เป็นข่าวเล็กๆน้อยๆ แต่ตำรวจเขาเล่นอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่นะครับ (ตอนนี้ยังกลัวอยู่ไหม?) ไม่กลัวครับ ตอนนี้ก็เฉยๆ เราก็ต้องสู้ไปตามกระบวนการครับ
แม่ : น้องเขาเป็นคนรักความยุติธรรม ทางบ้านก็สอนให้สงสารคน สงสารทุกสิ่งทุกอย่าง อย่าไปรังแกเขา เพราะเขาก็มีชีวิตจิตใจ เราเคยถามเขาว่า "ถามจริงๆเถอะลูกทำแบบนี้ ลูกคิดอย่างไรเนี่ย" เขาก็บอกว่า "สงสารคนที่เขาตายนะแม่ เราก็ออกมา มาช่วยเป็นพลังให้เขา เพราะเขายังไม่ได้รับความเป็นธรรม" เราก็กลับมาคิดว่า จากการที่มีการสลายการชุมนุม ญาติพี่น้องเราก็ไม่มีใครเสียชีวิต เรายังเป็นขนาดนี้เลย แล้วคนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปล่ะ จะเศร้าใจสักเพียงไหน แล้วสื่อต่างๆในโทรทัศน์ก็ยังคงตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่ารับไม่ได้ ก็เลยเลือกที่จะรับสื่ออย่างอื่นมากกว่า
อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลและสังคมไทยบ้าง
นร.เชียงราย : ขอฝากถึงสังคมในเรื่องของความยุติธรรมแค่นั้นแหละครับ เพราะว่าสังคมนี้ยังไม่มีความยุติธรรมหรือความถูกต้อง ซึ่งผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง มันต้องมีวันที่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม ส่วนทางรัฐบาลนั้น ผมขอแค่ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แค่นั้นแหละครับ ห้ามใช้ พ.ร.กฉุกเฉินฯ มาปกป้องตัวเอง และสุดท้ายนี้ก็ขอให้ยุบสภาก่อนธันวาคม
แม่ : อยากให้เขายุติ เพราะว่าเราก็เหนื่อยมามากแล้ว เราไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่ก็มีเรื่องตามมาจนทำให้เราไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างปกติ ลูกก็ต้องขาดเรียนเพราะต้องไปนั่นไปนี่ ชีวิตเราที่เคยปกติก็กลายมาเป็นอะไรไม่รู้ ถ้าคิดว่าจะปรองดองกัน ก็ควรที่จะพูดกันดีๆ ดีกว่า ไม่ต้องมาออกหมายเรียกหรือใช้กฎหมายเข้าข่มขู่ มันกลายเป็นการสร้างความกดดันมาบีบคั้นเรา อยากให้เจาหน้าที่ของรัฐไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะใช้อำนาจ จะทำอะไรก็ให้คิดถึงผลที่จะตามมาด้วย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker