“Schopenhauer”
“คนดี ย่อมเอาสิ่งที่ดีงาม มาจากขุมทรัพย์แห่งดวงใจ ที่ดีงามของเขา
และคนชั่ว ย่อมเอาสิ่งที่ชั่วร้าย มาจากขุมทรัพย์ ที่ชั่วร้ายของเขา”
“A good man out of the good treasure of his heart brings forth good things,
And an evil man out of the evil treasure brings forth evil things”.
(The gospel according to Matthew, - ลก.6:43-45)
นับเนื่องจากเหตุการณ์ “สังหารโหดพฤษภาทมิฬ”
ที่ คร่าชีวิตประชาชนไปร่วม 100 ศพ, บาดเจ็บกว่า 2,000 คน จากพฤติกรรมที่เหี้ยมโหด การสังหารด้วยอาวุธสงคราม, ใช้ปืนติดกล้องเล็งเป้าหมาย ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนา “จงใจฆ่า” มันไม่ใช่เป็นการใช้อาวุธ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง ตามคำแก้ตัวของผู้สั่งการ!!!
มันเป็นการ “จงใจฆ่า” ที่ผิดวิสัยของอารยะชน ที่จะพึ่งกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซ้ำร้ายเพื่อนมนุษย์เหล่านั้นยังเป็นเพื่อนร่วมชาติ พวกเขาเป็นญาติพี่น้องกัน, ทั้งผู้ลงมือฆ่า และผู้ถูกฆ่า มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสะเทือนใจอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีความเป็นธรรมอยู่ในหัวใจ. ด้วย “เหตุผลของการฆ่า” เพียงเพื่อต้องการสลายการชุมนุมของประชาชน ที่มาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง, เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามกฎเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตย.!!!
ถ้าหากประเทศนี้ยังปกครองด้วย ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิของตน เว้นเสียแต่ว่าประเทศนี้ เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น.!!!
และ ถ้าหากประเทศนี้ยังมีศาสนา ที่พร่ำสอนให้ผู้คนอยู่ในศีลธรรม, สอนให้คนรู้จักกฎแห่งกรรม, และสอนให้คนกลัวที่จะตกนรก มากกว่าเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง, แล้วใครจะคาดคิดว่าผู้ปกครองประเทศนี้ กลับเป็นฝ่ายที่ไม่อาจจะแยกแยะได้ว่าอะไรคือ กรรมดี – กรรมชั่ว, อะไรคือ ศีลธรรม-จริยธรรม - - ถึงได้กล้าสั่งฆ่าประชาชนเพื่อนร่วมชาติ ได้อย่างเช่น การฆ่ามดแมลง.
หรือคำว่า “บาปบุญคุณโทษ” ที่ได้สั่งสอนต่อ ๆ กันมา มันเป็นเพียงมนต์คาถา หรือนิทานหลอกเด็ก
คำ ถามที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ ก็คือ ประเทศนี้ยังมีศาสนาที่เป็นรากเหง้าของความเป็นชาติอยู่หรือไม่, ประเทศนี้ยังมีศาสนาของปัจเจกชนอยู่หรือไม่, ประเทศนี้ยังมีศาสนาของชุมชนอยู่หรือไม่ และประเทศนี้ยังมีศาสนาของรัฐชาติอยู่หรือไม่?
และ “ผู้ปกครองประเทศนี้” ยังมี “สำนึกแห่งจริยธรรม” อยู่หรือไม่???
เพราะสังคมที่ไร้ซึ่งสำนึกแห่งจริยธรรม - - ศาสนาจะดำรงอยู่ได้อย่างไร???
หรือ ว่าประเทศนี้ – ประชาชนก็มีจริยธรรมของตัวเองแบบหนึ่ง มีศาสนาของตัวเองแบบหนึ่ง, ผู้ปกครองก็มีศาสนา มีความเชื่อของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง - - กรณีหลังสุดที่นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม พูดสอพลอว่า นายอภิสิทธ์ฯ จะเป็น "อภิสิทธัตถะ" (ซึ่งแปลว่า “ยิ่งใหญ่กว่า-เหนือกว่าพระพุทธเจ้า)”!!! มันสะท้อนถึงวิธีคิด และความเชื่อแบบวิปลาสขาดสติ ของชนชั้น(ผู้รับใช้) ผู้ปกครอง - มันจึงถูกพิสูจน์แล้วว่า แม้แต่จริยธรรมทางศาสนาของปัจเจกชนก็ยังถูกปรับเปลี่ยน เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย?
หลายครั้งที่ จริยธรรมของศาสนาถูกปรับเปลี่ยนบทบาท มารับใช้ผู้ปกครอง ตั้งแต่ครั้งที่ พระกิตติวุฑโฒ พูดว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” - กระทั่งเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519.!!!
ตราบใดที่จริยธรรมของศาสนายัง “ถูกผู้ปกครอง” ปรับเปลี่ยนมาตรฐานกลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง เพื่อรับรองความชอบธรรม เพื่อที่ผู้ปกครองจะทำอะไรก็ได้ แม้แต่การ “ออกใบสั่งฆ่า” ผู้บริสุทธิ์กลางเมืองหลวง ซ้ำร้ายเมื่อ “ฆ่าเสร็จ”
ก็เอาศาสนา (พระสงฆ์) รวมทั้ง “นักจริยประดิษฐิ์” มาช่วยกันอธิบายความ ว่าพวกจะเราปรองดองกันได้อย่างไร?
อะไร คือ ศาสนาของประเทศนี้ – อะไรคือ ตัวเชื่อมโยงประชาชนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นอุดมคติขึ้นในสังคมแห่งนี้ว่า ชีวิตนี้มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร, เราจะร่วมกันทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมนี้ เพื่อทำให้สังคมของเราจะได้มีวิวัฒนาการไปสู่สังคมที่มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมที่งดงาม, สังคมที่ผู้คนจะปฏิบัติต่อกัน ด้วยการให้เกียรติกัน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน.!!!
ปฐมเทศนากัณฑ์แรก ของพระพุทธเจ้า คือ “ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร” อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา - - เนื้อหาทรงแสดงถึงการปฏิเสธ “ปรัชญาสุดโต่งสองอย่าง” (ปลายสุดขั้วด้านหนึ่งคือ ”การละทิ้งกามสุข” ถึงปลายสุดขั้วอีกด้านหนึ่งคือ “การแสวงหากามสุข”) โดยปฐมเทศนา, พระพุทธองค์ได้เสนอแนวทางการดำเนินชีวิตบน “ปรัชญาทางสายกลาง” ซึ่งมีหลักการสั้น ๆ ว่า ชีวิตจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง เพื่อให้ถึงการดับทุกข์ และการบรรลุนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา.
ยุค แห่งปรัชญาอินเดียในสมัยพุทธกาล ปรัชญาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม “อาสติกะ” (Orthodox systems) เป็นกลุ่มที่นำเสนอ และอธิบายความ โดยอ้างอิงถึงคำสอนจากคัมภีร์พระเวท, กลุ่ม “นาสติกะ” (Unorthodox systems) เป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่จารึกไว้ในคัมภีร์พระเวท, ปรัชญาในกลุ่มนี้ได้แก่ ปรัชญาพุทธ ปรัชญาเชน และปรัชญาจารวาก, ปรัชญาพุทธ ใช้การวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ และได้เสนอทางสายกลาง - มรรค 8 เป็นวิธีในการหลุดพ้นจากความทุกข์, ปรัชญาเชน อธิบายวิธีที่ทำให้ชีวะไม่บริสุทธิ์ ถูกแยกออกไป และกำจัดเสียเพื่อทำให้ชีวะบริสุทธิ์, หนทางหลุดพ้นจากพันธะแห่งกรรม และหลักอหิงสาภาวนา 5 ประการ. แต่ “จารวาก” เป็นปรัชญาเดียว ที่มีความแตกต่างไปจาก ปรัชญาทุกสำนักในอินเดีย.
ปรัชญา “จารวาก” หรือ “โลกายัต”
คำว่า “จารวาก” (Carvaka –จาร-วา-กะ) แปลว่า พูดเพราะ (จารุ-เพราะ, ไพเราะ, วาก-พูด)
คำ ว่า “โลกายัต” แปลว่า ดำเนินไปตามโลก หรือเป็นไปตามแนวแห่งโลก, ความหมายของปรัชญาจารวาก หรือ โลกายัต จึงเข้าใจได้ว่า ปรัชญานี้ย่อมยึดถือเอาตามโลก (วัตถุ) เป็นแก่นสำคัญ และเนื่องจากปรัชญานี้กล่าวถึงโลก โดยสำนวนโวหารอย่างไพเราะจับใจ จึงเป็นที่ถูกใจของโลกีย์ชนยิ่งนัก.
ต่อไปนี้เป็นปรัชญาคำสอนของ “จารวาก - โลกายัต”
“…ศาสนา เป็นเพียงความรู้ความคิดของพวกที่ชอบล่อลวงผู้คนทั่วไป ให้หลงใหลด้วยการใช้คำพูด เป็นเครื่องมือ แต่กลับเป็นคำสอนที่ค้านกันเองอยู่ในตัว – - ถ้ามีใครถามว่า ‘ถ้าหลักฐานของศาสนา ไม่มีความจริงแม้แต่น้อย แล้วเหตุไฉนศาสนาจึงเกิด และดำรงอยู่ได้เล่า’ – - ปัญหานี้ตอบได้ทันทีว่า‘เพื่อจะทำมาหากินโดยการล่อลวงคนอื่น ผู้ที่ไม่มีหนทางที่จะแสวงหาอาชีพอื่นได้ดี และทั้งเกียจคร้านในการงาน จึงได้ประดิษฐ์ศาสนาขึ้น เป็นอาชีพอย่างง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำงานหนัก’ - - เพราะคนธรรมดาไม่มีความรู้เพียงพอ ที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงในคำพูดของคนอื่น ๆ ได้ – - เมื่อพวกเขาได้ยิน คำเยินยอถึงความสุขสำราญบนสวรรค์ และความทุกข์ทรมานในขุมนรก จิตใจของผู้ฟังก็ย่อมมุ่งไปสู่วิธีที่จะพาพวกเขา ไปยังสรวงสวรรค์ ซึ่งก็คือ “การทำบุญ” นั้นเอง – การทำบุญก็คือ การถวายอาหาร และสิ่งของให้แก่นักบวช - - นี่แหละเป็นอาชีพของพวกเขา ซึ่งตั้งตัวเป็นศาสนาจารย์”
“พวกศาสนาจารย์จะหลอกลวงพวกคนโง่ ด้วยสำนวนโวหารว่าถ้าไม่ทำบุญ จะตกนรกหมกไหม้ด้วยความทุกข์ทรมาน
แต่ ถ้าใครทำบุญ แม้เบื้องหน้าร่างกายแตกสลายไปแล้ว เขาก็จะได้ขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งจะมีแต่ความสุขสำราญ มีนางฟ้าคอยบำเรอ คนโง่ ๆ ย่อมหลงเชื่อถ้อยคำอันไพเราะเหล่านี้ และหลงดำเนินชีวิตไปตามคำสอนเหล่านั้น”.
“เหตุนี้ ผู้ที่มีสติปัญญา จึงไม่ควรเชื่อถือคำสอนของศาสนาใด ๆ ไม่ต้องกลัวตกนรก และไม่ควรกระหายอยากต่อการขึ้นสวรรค์ เพราะเมื่อมนุษย์ตายแล้วจะไม่มีการเกิดอีก ชีวิตจะดับสูญไปพร้อม ๆ กับความตาย, ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ ไม่มีความหลุดพ้น ไม่มีโมกษะ ไม่มีนิพพาน”.
“ชีวิตเป็นเพียงแต่กำลังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการประมวลเข้าแห่ง ดิน น้ำ ลม และไฟ เหมือนดั่งรสมึนเมาของสุราเมรัย ซึ่งเกิดขึ้นจากข้าว เมื่อได้ผ่านหมักดองแล้ว เมื่อธาตุ ทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ผสมกันเข้าโดยบังเอิญ ด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม ย่อมเกิดมีกำลังชนิดหนึ่งขึ้น ซึ่งเราเรียกกันว่า “ชีวิต” และเมื่อ ดิน น้ำ ลม และไฟ พรากออกจากกัน ชีวิตก็ย่อมดับสูญไป ซึ่งเราเรียกกันว่า “ความตาย”.
“ไม่มีอาตมัน หรือวิญญาณใด ๆ ที่จะเลื่อนลอยออกจากร่าง และไปสู่ความเกิดใหม่อีก เมื่อเป็นดั่งนี้ความสุขสบายคือจุดหมายสูงสุดของชีวิต สวรรค์ที่แท้จริงอยู่บนโลกนี้ จงหาความบันเทิงเริงรมย์ จงกินจงดื่ม และรื่นเริงด้วยทรัพย์สมบัติที่แสวงหามาได้ ความสุขในชีวิตต้องเกิดจากการแสวงหาด้วยตนเอง ไม่ใช่เกิดการอ้อนวอนจากพระเจ้า ความสุขกับความทุกข์นั้นเป็นของคู่กัน ที่ใดมีสุขที่นั้นมีทุกข์ จะมีอะไรมากกว่าหรือน้อยกว่าเท่านั้น, ไม่มีใครจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด, คนฉลาดต้องรู้จักหาวิธีลดความทุกข์ และเพิ่มความสุข ในบรรดาความสุขที่เกิดขึ้นจากร่างกาย ‘สุขในการบริโภคเพศตรงข้าม’ นับว่าเป็นสุขสุดยอด ที่พึงเสพเสวย และลิ้มลองที่สุด”.
“ถึงแม้การบริโภคเพศตรงข้าม จะมีความยากลำบากอยู่บ้างก็ตาม แต่เราไม่ควรหันหน้าเบือนหนี เป็นธรรมดา เหมือนเมื่อเรารับประทานปลา เราต้องเลือกเฟ้นเอาแต่เนื้อ และปล้อนเอาก้างปลาออกฉันใด การบริโภคเพศตรงข้ามก็ฉันนั้น - - เราควรเลือกเฟ้นเอาเฉพาะแต่ความยั่วยวนบันเทิงรื่นเริงใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการบริโภคนั้น แล้วปล้อนความลำบากเท่าที่มีอยู่ ในการบริโภคนั้น ออกทิ้งเสีย ก็แล้วกัน ฉะนี้”.
“สิ่งที่บุคคลควรจำ ไว้ ก็คือ ไม่มีพระเจ้าที่ไหนจะมาลงโทษเรา แต่ถ้าจะมีพระเจ้าที่สามารถลงโทษเรา พระเจ้านั้นก็คือ ‘รัฐบาล’ นั้นเอง อำนาจของรัฐบาล เรามองเห็นอยู่แล้วชัดเจน ถ้าใครทำผิดกฎหมาย รัฐบาลย่อมจับกุม และถูกลงโทษ, อำนาจของพระเจ้าหาได้ปรากฏอยู่อย่างประจักษ์แจ้งไม่ - - - ตรงกันข้าม หลายครั้งที่เราได้เห็นว่า ผู้ที่ทำความชั่ว ทำบาป แต่กลับกลายเป็นคนที่มีความสุขกายสบายใจมากกว่าผู้ที่ทำบุญนี่แหละ แสดงให้เห็นว่าไม่มีพระเจ้าที่ไหน ที่จะลงโทษใครได้”.
“และเนื่องจากเราต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ดังนั้นในการแสวงหาความสุขสบายทางโลก เราควรมีความปรองดองกัน
และดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์ ดั่งที่รัฐบาลได้บัญญัติไว้ พวกเราจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ อย่างสุขสบาย”.
“พวกเราจึงไม่ควรละเมิดต่อรัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็น ‘พระเจ้าที่แท้จริง’ ของพวกเรา”!!!
…
สองพันกว่าปี - โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือ “จิตใจมนุษย์”
จิตใจที่จมดิ่งอยู่ในตัณหาราคะ จิตใจที่ชุ่มไปด้วยกิเลส จิตใจที่ลุ่มหลงอยู่ในอำนาจ.
“โอ้! สวรรค์ - โอ้! ความสุข - เจ้าอยู่บนโลกนี้นี่เอง - - เจ้าอยู่ในประเทศนี้นี่เอง”!!!
....................................................................................................................................................อ้างอิงข้อมูล “ปรัชญาจารวาก”
จากหนังสือ “ปรัชญาบูรพทิศ”, “ความบัญญัติ – อาธฺยากฺษิกวาท – สฺยาทฺวาท” : ศ. สวามี สัตยานันท ปุรี