หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล วิสาโล ที่มีชื่อว่า “พระไพศาล วิสาโล: ปฏิรูปอัตตาธิปไตย – ‘อภิสิทธิ์’ ต้องกล้านำความเปลี่ยนแปลง” แล้ว ผู้เขียนเกิดความข้องใจและไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะหากพระไพศาล วิสาโลให้สัมภาษณ์ในฐานะของกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผู้เขียนก็เห็นว่า จุดยืน ท่าทีและทัศนคติดังที่พระไพศาลได้แสดงออกมาในบทสัมภาษณ์นี้ หากสะท้อนไปถึงจุดยืน ท่าทีและทัศนคติของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ด้วยแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ก็คงเหมือนดังเช่นคณะกรรมการชุดอื่น ๆ ที่มีมาในประเทศไทย นั่นคือ ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น
ก่อนอื่น เนื่องจากพระไพศาลมิใช่บุคคลทั่วไปในสังคมไทย แต่มีฐานะพิเศษในสถานะของ “พระภิกษุ” ซึ่งพุทธศาสนิกมีข้อผูกมัดต้องให้การเคารพ ทว่าเนื่องจากผู้เขียนมิใช่ผู้นับถือศาสนา ผู้เขียนจึงไม่มีข้อผูกมัดในทางศาสนาและความเชื่อที่จะต้องให้ความเคารพต่อ พระภิกษุเป็นพิเศษเหมือนดัง เช่น ศาสนิกชนทั่วไป แน่นอน ผู้เขียนมีข้อผูกมัดในทางสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่พึงให้ความเคารพต่อ พระไพศาลในฐานะผู้อาวุโสกว่าและในฐานะมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนก็จะให้ความเคารพตามข้อผูกมัดนี้ ไม่น้อยกว่านี้และไม่มากไปกว่านี้ ดังนั้น หากจะมีผู้อ่านท่านใดมาวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าผู้เขียน โดยยกเอาบาปกรรมนรกมายัดเยียดให้ ย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะผู้เขียนมิได้มีข้อผูกมัดในทางศรัทธาความเชื่อ อุปมาดั่งหนึ่งเอาจริตมารยาทของมนุษย์ไปใช้กับช้าง ย่อมเป็นเรื่องน่าหัวเราะ
การนำแนวคิดทางศาสนามาประยุกต์ใช้กับสังคม นั้น มีปัญหาที่มักถูกมองข้ามไปสองประการ ประการแรก เนื่องจากศาสนาเป็นเรื่องที่เน้นการวิเคราะห์แก้ปัญหาของตัวบุคคล เมื่อพยายามขยายแนววิธีคิดของศาสนามาใช้กับสังคม โดยเฉพาะสังคมสมัยใหม่ ย่อมมีปัญหามาก จริงอยู่ ศาสนาทุกศาสนาย่อมกล่าวอ้างอิงถึงสังคมไม่มากก็น้อย แต่เนื่องจากศาสนาเกิดขึ้นมานานแล้ว การนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนจึงมักมีปัญหามากพอสมควร ประการที่สอง การนิยามของ “ความดี” “ความชั่ว” “ความจริง” ของศาสนา ถ้าไม่เป็นไปตามคัมภีร์ทางศาสนาที่มีอยู่ ก็มักต้องอาศัยผู้รู้ทางศาสนาไม่กี่คนมาเป็นผู้นิยาม เมื่อนำนิยามนั้นมาใช้กับคนทั้งสังคม ซึ่งก็มีทั้งผู้นับถือศาสนาอื่น ผู้นับถือนิกายอื่น ผู้ไม่นับถือศาสนา ฯลฯ ปะปนอยู่ การต่อต้านย่อมเกิดขึ้น ลงท้ายแล้ว การพยายามขยายนิยามของศาสนามาใช้กับสังคมก็มักไปกันไม่ได้กับระบอบ ประชาธิปไตย
การเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก โดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผิน แต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงนั้น เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดในบทสัมภาษณ์ของพระไพศาล เริ่มต้นมาท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า ความขัดแย้งทั้งหมดมีทักษิณเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งท่านไม่ได้ขยายความว่า คำว่า “ศูนย์กลาง” นี้หมายถึง “สาเหตุ” “ต้นตอ” “ตัวการ” กินความมากน้อยแค่ไหน) จากนั้นท่านก็ยกบุคคลดัง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ ทั้งพลเอกเปรม นายอภิสิทธิ์ เนลสัน แมนเดลา เฟรเดอริก เดอ เคลิร์ก จิมมี คาร์เตอร์ อันวาร์ ซาดัต ฯลฯ กล่าวถึงบทบาทที่คนเหล่านี้กระทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยใช้วาทกรรมที่มุ่งเป้าเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น ความรัก ความเข้าใจ การไว้วางใจกัน การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวกูของกู อัตตาธิปไตย ฯลฯ
ผู้เขียนอ่านแล้วสงสัยว่า แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน?
ใน จักรวาลทางสังคมของพระไพศาลนั้น ประชาชนเป็นแค่คำคำหนึ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่มีความคิด ไม่มีเลือดเนื้อลมหายใจ ไม่มีชื่อ ไม่มีฐานะ โง่เง่าต่ำหยาบ คิดแต่หาประโยชน์ใส่ตัว คนเหล่านี้ถูกปิศาจร้ายตัวหนึ่งชื่อทักษิณหลอกล่อจูงจมูกจนรู้จักอวดอ้าง สิทธิ เรียกร้องหาการเปลี่ยนแปลงที่ “อาตมาไม่แน่ใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า?” สรุปว่าประชาชนเหล่านี้ย่อมไม่มีทางที่จะรู้ว่าอะไร “ดี” สำหรับตัวเอง ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ต้องรอบุคคลดัง ๆ ปูชนียบุคคลเด่น ๆ มาคุยกันสบาย ๆ ในห้องบรรยากาศดี ๆ แล้วปัญหาร้ายกาจทุกอย่างก็จะคลี่คลายได้ทันที ประดุจดังแฮร์รี พอตเตอร์เอาไม้กายสิทธิ์มาโบกก็ไม่ปาน
สิ่งที่พระไพศาลมองไม่เห็นก็ คือ กว่าเนลสัน แมนเดลาจะมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเดอ เคลิร์กนั้น เขาไม่ได้ต่อสู้มาคนเดียว เบื้องหลังเขาคือคนผิวดำไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนคน มีทั้งจับอาวุธลุกขึ้นสู่กับรัฐบาลเหยียดผิว เช่น ขบวนการ African National Congress (ANC) ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคก่อนเนลสัน แมนเดลาและตัวแมนเดลาเองก็เป็นสมาชิกและกลายมาเป็นผู้นำคนหนึ่งของขบวนการ ฝ่ายซ้ายนี้ ยังไม่นับแรงงานและผู้หญิงอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ลุกขึ้นต่อสู้ด้วยการนัด หยุดงาน ประท้วง เดินขบวน ดื้อแพ่ง ฯลฯ เสียชีวิตเลือดเนื้อน้ำตากันไปเท่าไร หากไม่มีประชาชนที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหล่านี้ แมนเดลาจะเอาอำนาจอะไรไปเจรจาต่อรองกับเดอ เคลิร์ก? เป็นไปได้หรือที่อยู่ดี ๆ ชนชั้นนำผิวขาวของแอฟริกาใต้จะเกิดดวงตาเห็นธรรมหรือแมนเดลาใช้อำนาจวิเศษ บุญบารมีของตัวมาดลบันดาลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้?
หากพระไพศาล ศึกษาประวัติศาสตร์ให้ลึกซึ้งกว่านี้ ท่านจะทราบว่าทุกการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าบนโลกใบนี้ ล้วนมีประชาชนผู้หยาบกร้านสละชีวิตทำให้มันเกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่มีซากศพหรือจะมีวีรบุรุษ? ไม่มีสามัญชนหรือจะมีปูชนียบุคคล? ไร่นาบ้านเมืองนั้นแผ้วถางสร้างขึ้นจากมือของประชาชนทั้งสิ้น แม้แต่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ยังเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาก่อน
จริง อยู่ พระไพศาลได้พูดถึง “การกระจายอำนาจ” อยู่บ้าง แต่ก็พูดเหมือนเป็นสูตรสำเร็จที่ใคร ๆ ก็พูดกัน มิหนำซ้ำในบทสัมภาษณ์ยังตั้งเงื่อนไขแฝงไว้หลายอย่าง เช่น ไม่ควรใช้แนวทางประชานิยม เป็นต้น พระไพศาลคงไม่เข้าใจว่า คำว่า “การกระจายอำนาจ” นั้น หมายรวมถึงการยอมรับใน “การกำหนดชะตากรรมตัวเอง” (self-determination) ของประชาชนด้วย หากพระไพศาลในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยยังไม่ยอมรับใน “การกำหนดชะตากรรมตัวเอง” ของประชาชนหรือไม่แน่ใจว่า “สิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า” แล้วท่านจะ “ไว้ใจ” ประชาชนด้วยการกระจายอำนาจให้อย่างแท้จริงได้อย่างไร หรือจะกั๊ก ๆ อำนาจไว้ให้ปูชนียบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ มาคอยกำหนดชะตากรรมให้ประชาชนตามนิยามแห่ง “ความดี” “ความงาม” “ความจริง” ที่ลิขิตจากเบื้องบนลงมาสู่เบื้องล่าง?
หากมองไม่เห็นประชาชนที่มี ตัวตน หากไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีของพวกเขาอย่างเท่าเทียม หากจำได้แค่ชื่อและบทบาทของปูชนียบุคคลเด่นดัง แต่มองไม่เห็นหัวประชาชน วาทกรรมสวยหรูประเภท “กระจายอำนาจ” “การพัฒนาจากล่างขึ้นบน” “กลับไปสู่ชุมชน” ฯลฯ สุดท้ายแล้วก็เป็นแค่วาทกรรมที่ท่องตาม ๆ กัน หาสาระอันใดไม่ได้
จากจุดยืนและทัศนคติในแบบ “ปูชนียบุคคลาธิปไตย” นี่เอง ทำให้มีสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปอย่างน่าประหลาดในคำให้สัมภาษณ์ของพระไพศาล สิ่งที่ขาดหายไปนั้นก็คือ ความตายของ 91 ศพในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต พระไพศาลไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย ไม่ได้เอ่ยถึงว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร จะเยียวยาอย่างไร จะปรองดองอย่างไร ราวกับ 91 ศพนั้นไม่ดำรงอยู่ ไม่มีตัวตน ไม่มีใบหน้า ไม่มีชื่อ
เพราะพวกเขาเป็นแค่ประชาชนกระมัง ไม่ใช่ปูชนียบุคคล พวกเขาจึงไม่อยู่ในพิกัดเรดาร์ความรับรู้ของท่าน
แต่ การมีคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บอีกหลายพัน เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ ยังไม่นับคนจำนวนมากที่ถูกฆ่าจับกุมคุมขังอีกไม่รู้เท่าไรตามต่างจังหวัด เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มันไม่ใช่เหตุการณ์ปรกติที่พึงเกิดในสังคมอารยะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะให้ปฏิบัติเหมือนหมาตัวหนึ่งตายกลางถนนได้อย่างไร? จะให้ขับรถต่อไปโดยไม่หันไปมองเพราะกลัวอุจาดตาได้อย่างไร? เมื่อความผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก้ไขและมีการรับผิด จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วบอกให้สังคมไทยเดินหน้าโดยยึดมั่นในหลักแห่งศาสนา ผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตลกหรือ?
มีคำ ๆ หนึ่งที่พระไพศาลใช้ในคำให้สัมภาษณ์คือคำว่า “กระจายความรัก” ผู้เขียนอ่านแล้วให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจยิ่งนัก เพราะพาลให้นึกถึงละครไทยที่ตัวละครด่าทอตบตีข่มขืนฆ่ากันมาตลอดเรื่อง แล้วจู่ ๆ ตอนจบทุกคนก็หันมารักกันกอดกัน Together We Can
ชีวิตจริง ย่อมไม่เหมือนละครไทย ท่านจะให้คุณพ่อของน้องสมาพันธ์ ศรีเทพ คุณแม่ของคุณกมลเกด อัคฮาด พี่ชายของคุณมงคล เข็มทอง ภรรยาของคุณลุงบุญมี เริ่มสุข และคนอื่น ๆ อีกเกือบร้อยคน มา “กระจายความรัก” ให้ฆาตกรที่ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของเขา มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ให้อภัยย่อมเป็นไปได้ แต่จะให้ลืมแล้วมากอดกันหน้าชื่น ย่อมสุดวิสัยของมนุษย์
การ “กระจายความรัก” แบบนั้นยังมีข้ออันตรายอยู่ในตัวเองด้วย เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น แทนที่จะเรียกร้องให้มีการรับผิด กลับเรียกร้องให้ลืมและให้อภัยกัน นี่ไม่เท่ากับเป็นการให้ท้ายอาชญากรรมหรอกหรือ? หากมีคนมาฆ่าบิดามารดาของท่านตาย ถึงแม้ท่านให้อภัยได้ กระจายความรักได้ แต่ฆาตกรผู้นั้นย่อมต้องมีความผิดตามกฎหมายกระบิลเมืองอยู่ดี (ยกเว้นกฎหมายกระบิลเมืองไม่มีต่อไปแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะมาตัดสินเอาตามความพอใจของตน แต่เป็นเรื่องกฎกติกาของสังคมที่ต้องรักษาไว้
ในหลาย ๆ กรณี “การกระจายความรัก” ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มิหนำซ้ำจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ทำให้บ้านเมืองไร้ขื่อแป อาชญากรย่ามใจ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม ทำอะไรผิด ๆ ชั่ว ๆ มาอย่างไรก็ทำผิด ๆ ชั่ว ๆ กันต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ประเด็นต่อมาเป็น เรื่องที่ลูกสาวของผู้เขียนตั้งคำถามถามต่อผู้เขียน และผู้เขียนขอนำมาถามพระไพศาลต่ออีกทอดหนึ่ง ลูกสาวของผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า ทำไมพระไพศาลสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นนี้ได้โดยไม่มีความ ผิด แล้วทำไมเมื่อพระชาวบ้านบางรูปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพียงแค่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำไมพระเหล่านั้นจึงมีความผิด?
คำถามนี้ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ เพราะมิใช่ผู้มีความรู้ในด้านศาสนาและกิจของสงฆ์
แต่ คำถามที่ผู้เขียนไม่เข้าใจและอยากตั้งคำถามต่อพระไพศาลก็คือ ในเมื่อการสอบสวนความตายของ 91 ศพที่ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่มีผลสรุปออกมาอย่างแน่ชัด เหตุใดพระไพศาลจึงออกมารับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างออกหน้าออกตาขนาดนั้น?
พระไพศาลได้กล่าวถึงนาย อภิสิทธิ์ว่า “คุณอภิสิทธิ์มีความกล้าหาญระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้แสดงออกเท่าที่ควร โดยเฉพาะในยามวิกฤติ” “คนอย่างคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีสติปัญญา ถ้าสามารถสร้างแนวร่วมได้มากพอ ก็อาจจะมีกำลังพอที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูป แม้จะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่เท่าที่ทราบคุณอภิสิทธิ์ไม่ค่อยสนใจหาแนวร่วมเท่าไร” “อาตมาคิดว่าคุณ อภิสิทธิ์ อาจมีวิสัยทัศน์ไกล แต่อาจจะอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้มีอำนาจที่สายตาสั้น คุณอภิสิทธิ์ก็ต้องหาพวก สร้างแนวร่วมที่อาจจะพอทัดทานกลุ่มอำนาจเดิม และสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้”
คน ส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่หูไม่หนวกตาไม่บอด ไม่ได้ปัญญาอ่อน ไม่ได้เด็กทารกเกินไปหรือเฒ่าชราเกินไป ไม่ได้เจ็บป่วยจนไม่รับรู้เรื่องราว เกือบทุกคนย่อมทราบดีว่า คนเสื้อแดงตั้งข้อกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีส่วนต้องรับผิดต่อความตาย 91 ศพที่เกิดขึ้น ความรับผิดนั้นจะมีมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนายอภิสิทธิ์ออกมาอย่างชัดเจน ก็ยังต้องถือว่านายอภิสิทธิ์เป็นคู่ขัดแย้งของคนเสื้อแดงอยู่
การ ที่พระไพศาล วิสาโล ทั้งในฐานะพระปัญญาชนแถวหน้าของประเทศและในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ออกมาให้สัมภาษณ์รับรองนายอภิสิทธิ์ถึงขนาดนี้ (ถึงจะวิจารณ์อยู่บ้าง แต่ใครที่อ่านหนังสือออก ย่อมอ่านแล้วเข้าใจทันทีในความหมายว่า นายอภิสิทธิ์ดีพอที่จะเป็นผู้นำประเทศ) จะให้ผู้อ่านคิดว่าพระไพศาลเลือกข้างแล้ว? ใช้สถานะของสงฆ์มาเอื้อประโยชน์ทางการเมือง? คณะกรรมการปฏิรูปไม่มีความเป็นกลาง? อันที่จริง หากพระไพศาลต้องการจะชมเชยนายอภิสิทธิ์อย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ไว้รอให้ดีเอสไอสรุปผลชันสูตรศพออกมาชัด ๆ ก่อนก็ได้ กระนั้นก็ควรคำนึงถึงสถานภาพและหัวโขนของตนด้วย มิฉะนั้นแล้ว แทนที่จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น กลับจะยิ่งเป็นการผลักคนเสื้อแดงออกไปและตอกย้ำข้อวิจารณ์เรื่องสองมาตรฐาน ยิ่งกว่าเดิม
ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงก็คือ เป็นเรื่องดีที่พระไพศาลเอ่ยถึงกองทัพและการปฏิวัติรัฐประหารว่าเป็นส่วน หนึ่งของปัญหา ผู้เขียนอยากเสนอความคิดว่า ความเกลียดกลัวทักษิณอย่างเกินกว่าเหตุและไร้สติ จนราวกับทักษิณเป็นปิศาจร้ายนั้น ทำให้ฝ่ายตรงข้ามของทักษิณไปปลุกผีสร้างปิศาจอีกตนหนึ่งขึ้นมาเพื่อหวังจะ ใช้กำราบทักษิณ กองทัพก็คือปิศาจร้ายอีกตนนั่นเอง เมื่อกองทัพออกจากหม้อแม่นาคมาแล้ว ก็ยากจะยอมกลับลงไปอีก คราวนี้แทนที่สังคมไทยจะมีปิศาจตนเดียว ก็เลยกลายเป็นมีปิศาจเพิ่มเป็นสองตน นี่ยังไม่นับปิศาจที่มองไม่เห็นอีกตนหนึ่ง รวมกันแล้วกลายเป็นปิศาจสามตน (มองเห็นสอง มองไม่เห็นหนึ่ง) สร้างความยุ่งขิงอีนุงตุงนังให้แก่บ้านเมืองเรายิ่งนัก
ผู้เขียนเอง ก็เป็นผู้หนึ่งที่แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยชอบทักษิณ ไม่ชอบมาตั้งแต่เขาอยู่พรรคพลังธรรมของจำลอง ศรีเมืองด้วยซ้ำ ผู้เขียนไม่ชอบเขามาก ๆ ถึงขนาดชิงชัง เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนไม่เคยเล่าให้คนนอกครอบครัวฟังก็คือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ยินเสียงเขาทางวิทยุตอนเช้า ๆ ผู้เขียนจะมีอาการปวดท้องอยากเข้าห้องส้วมทุกทีไป ที่เอามาเล่านี่ไม่ใช่อยากจะตลกหยาบโลน แต่ต้องการให้เห็นภาพว่าผู้เขียนไม่ชอบเขามากขนาดไหน
แต่การที่ผู้ เขียนเกลียดขี้หน้าทักษิณ ไม่ชอบพวกแกนนำเสื้อแดง ไม่เห็นด้วยกับการไปตั้งป้อมค่ายชุมนุมที่ราชประสงค์หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่า ความเกลียดหรือความไม่เห็นด้วยนี้จะเป็นเหตุอันควรที่ผู้เขียนพึง ลดบรรทัดฐานทางจริยธรรม ของตัวเองจนยอมรับการฆ่าเพื่อนมนุษย์ตายอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราไม่ควรปล่อยให้ความเกลียดความกลัวมาครอบงำจน ไม่มีสติ และปล่อยให้ มาตรฐานทางศีลธรรม ของเราบิดเบือนไป เราไม่ควรสู้กับความกลัวด้วยการสร้างความกลัวที่มากกว่า เราไม่ควรสู้กับปิศาจด้วยการสร้างปิศาจอีกตนขึ้นมา (อย่าลืมว่าเรามีปิศาจที่มองไม่เห็นด้วย) เราไม่ควรสู้กับความไร้เหตุผลด้วยความไร้เหตุผลที่บัดซบกว่าเดิม และเราต้องไม่ยอมลดบรรทัดฐานทางจริยธรรมของตนเองลง ไม่ว่าเราเป็นผู้มีศรัทธาในศาสนาหรือไม่ก็ตาม