บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

“2012” ประเทศไทย

ที่มา ประชาไท

มีปัญหาคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจในปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง คือ ระบบซับซ้อน (complex system) ผมจะมาแนะนำในภาษาของตนเองที่ไม่ใช่ผู้ชำนาญการ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ปัญหาสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน โดยเริ่มจากตัวอย่างแรกของระบบประเภทนี้ คือ ระบบเคออส (chaotic system) ที่เป็นระบบเคลื่อนที่ชนิดหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมีกลไกการเคลื่อนที่แบบง่ายๆ แต่กลับก่อให้เกิดผลการเคลื่อนที่อย่างสลับซับซ้อน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าจะพยายามติดตั้ง (set) ให้ระบบประเภทเดียวกันเริ่มต้นเคลื่อนที่ให้คล้ายกันมากเพียงใด แต่ความแตกต่างเล็กน้อยที่จุดเริ่มต้นจะก่อให้เกิดผลพวงที่แตกต่างกันอย่างมากตามมา เช่น การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำ สามารถเกิดการปั่นป่วน (turbulence) ได้หลายรูปแบบ, ระบบภูมิอากาศ ที่การก่อกวนระบบเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดผลขนาดใหญ่ เช่น พายุ เป็นต้น ที่เรียกกันว่า ผลของปีกผีเสื้อ (butterfly effect)

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ แฟรกทอล (fractal) ซึ่งเป็นระบบรูปร่างเรขาคณิตชนิดหนึ่ง ที่อาจมีกฎเกณฑ์ในการประกอบรูปร่างที่ไม่ซับซ้อน แต่กฎเกณฑ์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดแบบแผนในลักษณะที่ว่า เมื่อมองจากภาพใหญ่ก็เห็นแบบแผนชนิดหนึ่ง และเมื่อมองจากส่วนย่อย ก็จะเห็นแบบแผนลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน ซึ่งไม่ว่าจะใช้แว่นขยายส่องไปถึงส่วนย่อยระดับใด ก็จะยังคงเห็นแบบแผนลักษณะนั้นอยู่ เช่น กะหล่ำดอก (cauliflower หรือ broccoli) ไม่ว่ามองภาพดอกกะหล่ำทั้งหัว หรือหักกิ่งเล็กๆ ของดอกกะหล่ำออกมา ก็จะยังคงเห็นรูปร่างในแบบแผนเดียวกัน

และถ้าระบบแฟรกทอล มีการเคลื่อนไหวแบบเคออส ล่ะ ก็จะสามารถก่อกำเนิดแบบแผนใหม่ๆ หรือความสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้มาก ที่เรียกว่า การอุบัติขึ้น (emergence) ถึงแม้ว่าในระดับจุลภาคมีกลไกเกาะเกี่ยวหรือความสัมพันธ์กันแบบง่ายๆ แต่ก็สามารถก่อกำเนิดแบบแผนใหม่ๆ ในระดับมหภาค ที่สามารถส่งผลต่อทั้งระบบอย่างมหาศาล เปรียบได้กับ มดแดงตัวเล็กๆ แต่ละตัว ที่เรียบง่าย ทำอะไรได้น้อย แต่เมื่อรวมกันเป็นล้านตัวก็สามารถเกาะเกี่ยวกันสร้างสะพาน สร้างรัง ขนย้ายเหยื่อขนาดใหญ่ หรือบ่อนเซาะตึกทั้งตึกได้ (ขอขอบคุณผู้ที่แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องนี้กับผม)

ผมกำลังกล่าวถึง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเริ่มยกตัวอย่างจาก เวบบอร์ด ซึ่งเป็น “โลกเสมือนจริง” ที่ให้แต่ละคนเข้ามาแชร์แลกเปลี่ยนกัน -> เมื่อเวบบอร์ดบางแห่งมีคนนิยม ก็มีคนสร้าง เวบท่า ขึ้นมารวบรวมเวบบอร์ดยอดฮิตหลายๆ อัน -> เมื่อระบบเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เติบโตขึ้น ก็มีพื้นที่ให้ทุกๆ คนสร้างเวบบอร์ดของตนเอง -> เมื่อระบบ search engine เติบโตขึ้น ก็มีพื้นที่ให้เกิดเวบที่สามารถนำ “เวบบอร์ด” ของทุกๆ คนมาเชื่อมต่อกัน นั่นก็คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) เช่น Facebook นั่นเอง -> . . .

กลไกพลวัตของระบบนี้ก็คือ เมื่อที่แห่งใดมีคนนิยม ทุกคนก็พร้อมไปผูกติด (link) เกิดปม (node) ต่างๆ ขึ้น บางปมเล็ก บางปมใหญ่ และปมใหญ่ๆ ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น แล้วสร้างปมเล็กๆ ต่อๆ มาอีก เมื่อมีเหตุให้ปมใหญ่ยุบตัวลง ทุกคนก็พร้อมที่จะไป link กับปมใหญ่อื่นๆ เหมือนกับโรงเรียนฮอกวอร์ทส์ในนิยายและภาพยนตร์เรื่อง แฮร์รี พอตเตอร์ ที่บันไดและเส้นทางต่างๆ ในโรงเรียนเคลื่อนไหวได้ เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ตลอดเวลา เครือข่ายสังคมออนไลน์เปรียบได้กับลวดลายของใบไม้ ในระดับเล็ก ปมต่างๆ ก็มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน และในระดับใหญ่ ปมใหญ่ๆ ก็มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากปมเล็กปมหนึ่ง ต้องการเชื่อมต่อไปยังปมที่ยังไม่เคยเข้าไป ใช้เพียงแค่ “3 ต่อ” เท่านั้น กล่าวคือ ผ่านเพียงแค่ไม่กี่ links ก็สามารถเข้าถึงปมที่แปลกที่สุด radical ที่สุดได้ และระบบซับซ้อนนี้ก็พร้อมแล้วที่จะอุบัติสิ่งต่างๆ ขึ้นและส่งผลต่อระบบทั้งหมดอย่างมหาศาล!!

หลายสิบปีที่ผ่านมา “รัฐ” ควบคุมคนโดยใช้อุดมการณ์ แปรเป็นรูปธรรมผ่าน ระบบวินัย เช่น ประเพณี ธรรมเนียม กฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ กองทัพ ใช้อำนาจหน้าที่พิทักษ์รักษา รวมถึงการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และการปลูกฝังการศึกษา ให้ทุกคนในสังคมก็ช่วยกันพิทักษ์ปกป้องควบคุมกันเอง แต่บัดนี้การอุบัติตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่การปิดกั้นเป็นไปได้ยากและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งเก่าๆ เริ่ม leak ทรุดตัวลง แม้แต่หลักการต่างๆ พื้นฐานต่างๆ และสถาบันต่างๆ ที่เคยมั่นคงยืนยงก็อ่อนยวบ ยุบตัวลง

นับตั้งแต่ขบวนการเสื้อแดงฟื้นตัวหลังจากที่กลไกจัดตั้งต่างๆ ถูกทำลายลงในช่วง 19 พ.ค. 2553 ก็เกิดภาพขบวนการที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็น “ขบวนการไร้หัว” เปรียบเสมือนกับ “เครือข่ายใยแมงมุม” (ขอขอบคุณผู้เสนอคำและ concept เหล่านี้) ที่มีปมชนิดต่างๆ เป็นตัวปั๊มพลังมวลชนกระจายอยู่ทั่วโครงตาข่าย ผู้ที่เข้ามา เช่น ใส่เสื้อมายืน ก็อาจเป็นเพราะรับไม่ได้กับสองมาตรฐาน แต่ภายในไม่กี่ต่อ (links) ก็สามารถเข้าถึงส่วนที่ radical ที่สุดได้ หลายปีที่แล้วมีสถานีวิทยุชุมชน แต่ถึงทุกวันนี้ ใครๆ ก็สามารถตั้งสถานีวิทยุของตนเองได้ เช่น สถานีวิทยุอินเตอร์เนต แล้วการสนับสนุนมาจากไหน ก็สามารถมาจากทั้งเครือตาข่าย แกนนำนปช. มีความหมายน้อยลง กล่าวคือ มีบทบาทแค่คอยจัด event ขึ้น ให้ทุกคนมาแสดงพลังของตนเอง ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าในปัจจุบัน “ไร้หัว” ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกัน แต่ก็มีฐานมวลชนที่แน่นแฟ้นใหญ่โตนัก ถ้ามองในอีกด้านหนึ่งของโลก การเมืองในประเทศตะวันออกกลางที่ผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มมานานนับ 20-30 ปี ก็ถูกเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสั่นกระเพื่อมทั่วทั้งตะวันออกกลาง (link ที่น่าสนใจ: AlJazeeraEnglish, Empire - Social networks, social revolution: http://www.youtube.com/watch?v=441HJTSUpXw)

อนึ่ง ผมไม่ได้คิดว่า การเปลี่ยนสถานะการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงเกิดจากเครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญเพียงประการเดียว เพราะแม้แต่ชนบทรากฐานของเสื้อแดงก็เปลี่ยนแปลงอย่างมากเช่นกัน เช่น จากเกษตรกรรายย่อยเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมของการทำการเกษตร แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายทั่วประเทศและทั่วโลก การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถมีกลุ่มใดหาข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ได้โดยง่าย ส่วนที่เปลี่ยนช้าที่สุดกลับเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ปัญญาชน ที่มีชีวิตค่อนข้างมั่นคงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่เหมือนแผ่นดินไหวทรุดยวบลงในภาพยนตร์เรื่อง “2012” และในปี 2012 ก็จะยิ่งเปลี่ยนแปรไปมากกว่านี้ ในมุมมองผม ระบบพื้นหลังต่างๆ ไม่ได้พังทลายสูญหายไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปร (transformation) ไปต่างหาก เช่น จาก A เป็น B ประชาชนก็ยังเป็นกลุ่มเดิมหรือคนเดิม แต่เปลี่ยนความสัมพันธ์แบบใหม่ โดยประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวจะสร้างรากฐานใหม่ๆ ขึ้นมาเอง บางคนเคยมองเห็นแต่แบบ A ไม่เคยพิจารณาแบบ B จึงรู้สึกว่าพังทลายไป หากสถาบันต่างๆ ต้องการอยู่รอดและยังคงนำบทบาท ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากหรือสิ้นเชิงเพื่อปรับให้เข้ากับระบบใหม่แบบ B แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ตามปกติจะเป็น การเปลี่ยนแปลงแบบแทนที่ ก็ตาม เช่น เมื่อถางป่าทิ้ง ก็มีพืชบุกเบิกอย่างหญ้าคาขึ้น แต่ต่อมาก็มีไม้พุ่ม เช่น ต้นตะขบขึ้นแทนที่หญ้าคา แล้วป่าใหญ่ก็ค่อยเข้ามาแทรกและแทนที่ป่าตะขบ พืชรุ่นเดิมไม่สามารถเติบโตขึ้นเป็นพืชรุ่นใหม่ แต่ถ้าพืชรุ่นเดิมต้องการนำบทบาท มีแต่ต้องวิวัฒนาการแบบพืชรุ่นใหม่

แล้ว “การปฏิวัติของประชาชน” ล่ะ? ซึ่งเป็น concept ที่สามารถก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น ระดับขั้นต้น คือ การปราบปราม มาถึงทุกวันนี้แล้ว ก็ทำได้แต่หนุนเข้าไปเพื่อให้พลังอย่างใหม่ขยายตัวจนสุดทางหรือถึงขีดจำกัด ของมัน โดยช่วยกันส่งผ่านข้อมูลและวิจารณ์ๆๆ บทบาทของทุกฝ่าย เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างสันติวิธีมากที่สุด เพราะถ้ายังห่างไกลจากสถานะคู่คี่ก้ำกึ่ง หรืออยู่ในระดับที่ยังปราบปรามได้ การปราบปรามก็สามารถมีต่อไป ก็จะยิ่งเกิดความรุนแรง แต่ถ้าเลยจากสถานะคู่คี่ก้ำกึ่งจนมิอาจปราบปรามกันได้แล้ว ทุกฝ่ายก็จะปรับตัวกับยุคสมัยใหม่

และในระดับขั้นต่อไป เช่นว่า “ภายหลังการปฏิวัติประชาชน” (แค่สมมุตินะครับ) หลายท่านกังวลถึงการ “การพิทักษ์การปฏิวัติ” ในทำนองว่าอาจเกิดการทำลาย “ฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ” เพื่อพิทักษ์ concept การปฏิวัติให้คงอยู่ ซึ่งเป็นด้านกลับของ “การล่าแม่มด” ผมคิดว่ายุคสมัยนี้ ไม่มีใครสามารถสร้างทฤษฎีพิมพ์เขียวหรืออุดมการณ์หรือความศรัทธาเช่นนั้นได้ ต่อให้มีใครทำได้ สิ่งต่างๆ เช่น “Facebook” จะทำให้มันล้าสมัยไปภายใน 2 ปี ดังนั้นเมื่อถึงตอนนั้น “คนเสื้อแดง” ก็กลับไปทำมาหากินครับ (ขอบคุณสำหรับผู้ที่เสนอทัศนะทำนองนี้แลกเปลี่ยนกับผม)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker