ได้อ่านเรื่อง "เหตุเกิดที่มติชน: เสียงเรียกร้องแด่เพื่อนร่วมวิชาชีพ” ในเว็บไซต์ประชาไทประกอบกับเสียงที่ดังเซ็งแซ่ ในแวดวงผู้สื่อข่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือพิมพ์ที่อ้างว่า เป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศแล้ว เกิดความรู้สึกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะมีคุณภาพได้อย่างไร ถ้าพนักงานของบริษัท รวมทั้งผู้สื่อข่าว ยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีทางปกป้องตนเองจากการกดขี่แรงงานของเจ้าของและนายทุน
บทความดังกล่าวระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม 2554 ที่ผ่านมา บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ออกระเบียบเปลี่ยนแปลงข้อ ตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงานโดยการตัดบำเหน็จ พนักงานที่บริษัทออกระเบียบไว้เมื่อปี 2547 ทิ้งทั้งมดและให้จ่ายเฉพาะเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น
การตัดเงินบำเหน็จดังกล่าวทำให้พนักงานที่เกษียณอายุ 60 ปีและทำงานมานานกว่า 30 ปี(รวมถึงพนักงานอายุ 55 ปีที่ขอเกษียณก่อนกำหนดด้วย) ควรมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชยสูงสุดกว่า 30 เดือน (นำระยะเวลาการทำงานคูณด้วยอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย )เหลือเพียงเงินชดเชยเพียง 10 เดือนเท่านั้น
เช่น พนักงานคนหนึ่งทำงานมานาน 30 ปี จนเกษียณอายุ มีเงินเดือน(รวมเงินอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพ ที่จ่ายเป็นรายเดือน 50,000บาท) ก็ได้จะบำเหน็จ จากบริษัทรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาทก็จะเหลือเงินชดเชยเพียง 500,000 บาท
ระเบียบที่ออกมาใหม่ดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วนและบั่นทอนกำลังใจพนักงาน มติชนอย่างมากโดยเฉพาะพวกที่อายุใกล้ 50 อายุ 50 กว่าหรือ ใกล้ 60 ปี เพราะ คนเหล่านี้ต้องการเงินก้อนนี้(เงินบำเหน็จ)ในการดำรงชีพในช่วงบั้นปลายของ ชีวิตและเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาทุ่มเททำงานให้มติชนมานานนับสิบปี
ไม่เคยมีใครนึกว่า จู่ๆ บริษัทจะออกระเบียบมาฉกฉวยเอาเงินก้อนนี้ไปจากชีวิตในบั้นปลายของพวกเขา
ไม่มีใครรู้ว่า เจ้าของและนายทุนมีเหตุผลอย่างไรในการออกมาระเบียบมาตัดบำเหน็จของพนักงานออกทั้งหมด
ถ้าเป็นเหตุผลทางธุรกิจเพื่อประหยัดรายจ่ายหรือเพื่อให้บริษัทมีกำไรและเงินปัน ผลสำหรับเจ้าของเพิ่มขึ้นแล้วละก็ เจ้าของและนายทุนกำลังคิดผิดเพราะการกระทำดังกล่าวกำลังนำพาบริษัทไปสู่ความ เสี่ยงและอาจต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่มากขึ้น
การที่บริษัทมติชนออกระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุพนักงานฉบับใหม่(เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554)ตัดบำเหน็จพนักงานตามระเบียบที่เคยออกไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 นั้น ได้รับทราบจากพนักงานว่าเป็นการแก้ไขหรืออกระเบียบบริษัทโดยที่พนักงานไม่ ทราบมาก่อน แต่เป็นการออกระเบียบมาบังคับฝ่ายเดียว
การออกระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณหรือเป็นโทษกับลูกจ้างโดย ไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้างแก่ลูกจ้างและไม่ได้รับ ความยินยอมจากลูกจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงเป็นการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
การแก้ไขระเบียบดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ต้องบังคับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม
คดีในลักษณะดังกล่าวมีการนำขึ้นสู่ศาลแรงงานเป็นจำนวนมาก และศาลฎีกาพิพากษาออกมาเป็นแนวทางเดียวกันคือ นายจ้างเป็นฝ่ายแพ้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5
ดังนั้นถ้าบริษัทดื้อดึงสู้คดีซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี ก็ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นจำนวนมากและในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของ ธนาคารพาณิชย์ เข้าทำนองเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย
ลองนึกดูว่าถ้ามีพนักงานสัก 50 คนยื่นฟ้องบริษัท เรียกค่าบำเหน็จคนละ 1 ล้านบาท รวม 50 ล้านบาท ถ้าใช้เวลา 1 ปีในการพิจารณาคดีก็ต้องเสียดอกเบี้ยรวมเป็นเงินถึง 3.75 ล้านบาท
แต่คดีส่วนใหญ่กว่าจะตัดสินในศาลฎีกาอาจนานถึง 5 ปี บริษัทจะเสียดอกเบี้ยถึง 18.75 ล้านบาท
ที่สำคัญบริษัทต้องนำเงินค่าบำเหน็จบวกดอกเบี้ยไปวางเป็นประกันที่ศาลแรงงาน ทันทีที่แพ้คดีในระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและขอทุเลาการบังคับคดี
การแพ้คดีดังกล่าว นอกจากสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทมหาศาลแล้วยังเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติคุณของหนังสือพิมพ์มติชนที่สร้างสมมานานกว่า 30 ปีให้พังทลายลงในพริบตา
หรือถึงที่สุดแล้ว เมื่อผลประโยชน์เข้าตา จริยธรรมคุณธรรมที่เคยห่อหุ้มร่างกายก็ปริแตกและละลายหายวับไปกับสายลม