บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประกายทุนเสวนา“น้ำมันปาล์มและน้ำตาลทราย กับการบิดเบือนกลไกตลาด”

ที่มา ประชาไท

วานนี้ 17 มีนาคม 2554 เวลา 14.00 -16.00 น. กลุ่มประกายทุนจัดงานเสวนาในหัวข้อ “น้ำมันปาล์มและน้ำตาลทราย กับการบิดเบือนกลไกตลาด” ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือ รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิทยากรได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงต้นตอปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตร 2 ชนิดในท้องตลาดวันนี้ ซึ่งก็คือ น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลทราย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ แจงปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในท้องตลาดว่า เกิดจากสองปัจจัยหลักได้แก่ การแทรกแซงจากรัฐ และปัญหาตามธรรมชาติที่ปริมาณผลผลิตปาล์มดิบลดลงเนื่องจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2553
ในปัจจัยแรกนั้น รัฐบาลแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาดโดยร่วมมือกลุ่มคนบางกลุ่มที่เป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แบบผูกขาดในประเทศไทย ซึ่งมีรายใหญ่อยู่ 6 ราย ทำการควบคุมปริมาณสินค้าน้ำมันปาล์มไม่ให้ออกสู่ท้องตลาดอย่างเพียงพอเพื่อให้เกิดภาวะน้ำมันปาล์มขาดตลาด แล้วราคาก็จะสูงขึ้นจากนั้นก็ค่อย ๆ ทะยอยปล่อยน้ำมันปาล์มที่กั๊กไว้ออกมาเป็นช่วง ๆ ทำให้สามารถกินกำไรส่วนต่างของราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น
ประกอบกับมีนโยบายจากรัฐคอยสนับสนุนหลายด้าน เช่นการห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์ม (แต่ไม่ห้ามส่งออก) มาภายหลังที่สถานการณ์ขาแคลนสุกงอมจึงมีการให้โควต้านำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มรายใหญ่นั่นเองที่เป็นผู้นำเข้า
นอกจากนี้รัฐบาลยังกดราคาน้ำมันปาล์มให้อยู่ที่ขวดละ 47 บาท ในขณะที่ยกราคาปาล์มดิบขึ้นไปสูงสุดถึงราว 10.5 บาทต่อกิโลกรัม ในหลักเศรษฐศาสตร์ที่ราคาน้ำมันปาล์มกับราคาปาล์มดิบไม่สมดุลกันเช่นนี้จะทำให้เกิดตลาดมืดขึ้น ซึ่งขายน้ำมันปาล์มกันสูงถึงขวดละ 70 บาท ทำให้น้ำมันปาล์มส่วนหนึ่งหายไปจากตลาดสว่าง
ส่วนในปัจจัยหลังคือช่วงไตรมาสที่สี่ของปีที่ผ่านมา เกิดภาวะที่ผลผลิตปาล์มลดน้อยลงจริง หรือที่เรียกว่า ”ช่วงปาล์มขาดคอ” คือปาล์มต่อต้นให้ลูกน้อยลงอันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ขาดปุ๋ย ขาดการบำรุงรักษา และน้ำท่วมพื้นที่ปลูกปาล์มจำนวนหนึ่ง ทำให้ปาล์มดิบขาดแคลนบวกกับการห้ามนำเข้าปาล์ม จึงทำให้ราคาปาล์มดิบสูง เรื่องนี้ทางโรงงานแปรรูปปาล์มก็รู้ จึงไปแย่งซื้อผลปาล์มดิบ เกษตรจึงได้ราคาดี และน้ำมันปาล์มอีกส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปทำไบโอดีเซลด้วย ทว่าปัจจัยนี้ไม่ใคร่สำคัญเท่าปัจจัยแรกอันทำให้เกิดวิกฤตน้ำมันปาล์มขึ้น
กล่าวโดยสรุปของเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ กลุ่มคนบางกลุ่มร่วมมือกับคนจากภาครัฐทำให้น้ำมันปาล์มขาดแคลนเพื่อฟันกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการแทรกแซงแล้วมาแบ่งกัน กระบวนการทั้งหมดนี้มีการวางแผนล่วงหน้ามาแล้วระยะหนึ่งและดำเนินไปตามขั้นตอนที่วางไว้ครบถ้วนกระบวนการ งานนี้จึงมีบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลักให้ประชาชนผู้บริโภครับกรรมไปเต็มที่เช่นกันด้วยการแย่งกันซื้อน้ำมันปาล์มในราคาที่แพงมาก และติดอยู่ในภาวะวิตกกังวลต่อการขาดสินค้าบริโภค
รศ.ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์ ได้เสนอแนะทางแก้ปัญหานี้ว่า ควรปรับราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มจะอยู่ที่ราวขวดละ 50 – 60 บาท อย่าไปแทรกแซงแต่ว่าการเมืองชอบแทรกแซงเพื่อจะได้มีคนได้เสียผลประโยชน์ เพราะว่าราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดมีขึ้น-ลงตามธรรมดา ช่วงที่ราคาสูงก็จะชดเชยช่วงที่ราคาต่ำ แต่ตอนนี้ไปกดราคาไม่ให้สูงมันก็ไม่ได้ชดเชยกันจึงเกิดปัญหา เพราะพอช่วงที่ราคาต่ำก็ไปชดเชยให้ไม่ได้ อีกประการหนึ่งสินค้าเกษตรมีการทดแทนกันอยู่แล้ว เช่น ถ้าเนื้อหมูแพงคนก็หันไปกินไก่ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไก พ่อค้าต่าง ๆ ก็สามารถคาดการณ์ทิศทางการค้าขายได้
ส่วนในเรื่องของน้ำตาลก็ใกล้เคียงกัน รศ.ดร.ประยงค์ และ รศ.ดร.พิชิต ยืนยันว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ควรวิตกว่าน้ำตาลจะขาดแคลน เพราะราคาในตลาดโลกยังคงปกติ ส่วนที่ห่วงกันว่าการเอาอ้อยไปทำเอทานอลแล้วอ้อยจะขาดแคลนทำให้ราคาน้ำตาลสูงนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงงานมีทางเลือกที่จะไปผลิตจากมันสำปะหลังได้
สิ่งหนึ่งที่จะยืนยันเสถียรภาพของน้ำตาลในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทสไทยกับสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ที่ต่างก็เป็นผู้ผูกขาดด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายแรกผูกขาดการขายส่วนฝ่ายหลังผูกขาดการซื่อและการผลิต ทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจการต่อรองที่ใกล้เคียงกันและต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา สหพันธ์ชาวไร่อ้อยกับโรงงานมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์กันแบบ 70-30 ตามลำดับ ระบบนี้จะกำหนดทั้งปริมาณและราคาที่ขายในประเทศ (โควต้า ก.) ในกรณีที่ชาวไร่อ้อยกับโรงงานตกลงกันไม่ได้ เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเข้ามาเป็นกรรมการคนกลางช่วยตกลงผลประโยชน์โดยการบอกให้โรงงานรับซื้ออ้อยทั้งหมดบ้าง เป็นต้น นี่ก็ถือเป็นการแทรกแซงจากรัฐบาลเพื่อจะอ้างการันตีว่าผู้บริโภคจะมีปริมาณน้ำตาลบริโภคเพียงพอ
แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือชาวไร่อ้อยและโรงงานต่างก็จะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยการพยายามทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงไว้ เพราะราคามันจะไม่ลง แต่ราคาในตลาดโลกจะขึ้น-ลงตามกลไก พอราคาโลกสูงก็จะมีการลักลอบส่งออกไปขาย
ช่วงท้ายของการเสวนาพูดคุย วิทยากรตั้งข้อสังเกตเชิงสรุปว่า กลไกตลาดมักถูกรัฐบาลแทรกแซงโดยมีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง คนที่สูญเสียคือผู้บริโภคที่แบ่งเบาความเสียหายกันไปคนละเล็กคนละน้อยเพราะเป็นคนทั้งประเทศ แต่ละคนจึงไม่ค่อยรู้สึกเสียหายอะไร แต่ผลประโยชน์ไปตกที่คนไม่กี่คนที่รับไปเต็ม ๆ.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker