บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

ธุรกิจล้นเกินในสื่อไทย

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ไม่นานมานี้ มูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท ได้แถลงรายงานการวิจัยเรื่อง "ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย" ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย เป็นรายงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาแก่ผมไปด้วย

จากการรวบรวมคะแนนตัวชี้วัดต่างๆ 4 หัวข้อ แต่ละหัวข้อเต็ม 5 คะแนน ได้ดังนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.6 คะแนน ความหลากหลายของสื่อในประเทศ 2.4 คะแนน การกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง 3.6 คะแนน มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ 2.3 คะแนน รวมดัชนีชี้วัดประเทศไทยได้ 2.72 คะแนน

จะเห็นได้ว่าในสี่หัวข้อสอบตกไปสองตัว ได้ปริ่มๆ หนึ่งตัว ส่วนข้อที่ได้คะแนนมากนั้น ผมก็สงสัยเหลือเกินว่าวัดความเป็นสาธารณะอย่างไร แม้ไม่ตั้งข้อสงสัยอะไรเลยกับโทรทัศน์ไทย ก็ยังต้องถามถึงช่อง 11 และการคุมสื่อโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ผ่านการโฆษณา และการคุมสัมปทาน คะแนนอันสูงนี้ได้มาอย่างไรไม่ทราบ ถึงกระนั้นก็ทำให้คะแนนรวมของสื่อไทยคาบเส้น คือสอบไม่ตกไปได้

งานวิจัยได้ชี้ว่า ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองของไทยทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ความตกต่ำของสื่อไทยหลังการรัฐประหารที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างหนักนั้น มีคนพูดถึงมามากแล้ว และใครๆ ก็พอมองเห็นความตกต่ำนี้ได้ชัดอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เพราะสื่อเลือกข้าง ตราบเท่าที่สื่อไม่ได้ปิดบังว่าตัวอยู่ข้างไหน จะเลือกข้างอย่างไรก็ไม่น่าจะเป็นไร แต่สื่อเลือกที่จะไม่รายงานข่าวหรือรายงานข่าวของฝ่ายตรงข้ามอย่างบิดเบือนต่างหากที่ถือได้ว่าทรยศต่อวิชาชีพของตน

แต่การที่สื่อเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นพอเข้าใจได้ เพราะรัฐใช้เครื่องมือทุกอย่างในควบคุมของตนเพื่อรังแกสื่อได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย, กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น, ไปจนถึงการกุมเงินโฆษณาจำนวนมหึมาของรัฐวิสาหกิจไว้ในมือ อย่างไรก็ตาม สื่อควรตระหนักด้วยว่า เส้นสำหรับการเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นมีสองเส้นให้เลือก เส้นแรกคือเส้นที่ถอยไปจนปลอดภัยที่สุด กับเส้นที่อยู่หน้าสุดซึ่งเปิดให้รุกคืบขยายพื้นที่เสรีภาพของตนต่อไปได้เรื่อยๆ

สื่อส่วนใหญ่เลือกจะถอยไปอยู่เส้นที่ปลอดภัยสุด และการที่สื่อเลือกเส้นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันของสื่อไทยไม่ใช่เป็นการแข่งขันด้านคุณภาพเท่ากับการแข่งขันด้านธุรกิจ (ทั้งๆ ที่งานวิจัยก็รายงานว่าสื่อไทยมีการแข่งขันกันรุนแรง)

และด้วยเหตุดังนั้น จึงทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า มีความอ่อนแอบางอย่างในตัวสื่อของไทยอยู่แล้ว ที่ทำให้ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองสร้างความเสื่อมโทรมแก่สื่อได้มากถึงเพียงนี้ งานวิจัยของมูลนิธิก็ได้กล่าวถึงไว้บางส่วนด้วย เช่น เมื่อมองจากแง่การเติบโตของเส้นทางอาชีพการงาน อาชีพสื่อให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น แต่สื่อมีอำนาจในสังคมสูง จึงมีความเสี่ยงว่าสื่อเองอาจใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ขัดกับวิชาชีพของตน ในขณะเดียวกัน อำนาจต่อรองของคนทำสื่อกับทุนกลับมีน้อย คนทำสื่อของรัฐมีกฎหมายห้ามไม่ให้รวมตัวกัน สื่อเอกชนส่วนใหญ่ถูกขัดขวางจากนายทุนมิให้ทำสหภาพ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า ความอ่อนแอของสื่อไทยนั้นมาจากความเป็นธุรกิจของสื่อเอง

สื่อกลายเป็นธุรกิจ และเป็นธุรกิจใหญ่ที่ทำเงินได้มากเป็นปรากฏการณ์ที่คงหลีกไม่พ้น เพราะเกิดขึ้นทั่วไปในโลก แต่จากพัฒนาการของสื่อสารมวลชนที่ต่างกัน ทำให้ความเป็นธุรกิจของสื่อในบางประเทศถูกถ่วงดุลจากปัจจัยอื่นๆ บ้าง ปัจจัยเหล่านั้นไม่มีหรือมีพลังน้อยในเมืองไทย

ดังกรณีการรวมกลุ่มของคนทำสื่อที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อไม่รวมกลุ่มจึงมีพลังน้อย เมื่อมีพลังน้อย การต่อรองจึงเป็นการต่อรองด้านผลประโยชน์ตอบแทนจากการงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการต่อรองด้านสภาพการทำงาน (เช่น ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่มักได้ทำงานที่ไม่ท้าทาย และไม่เป็นช่องให้เติบโตไปในวิชาชีพได้มากนัก) หรือด้านที่จะรักษาเสรีภาพให้ปลอดพ้นจากการแทรกแซงของเจ้าของทุน

น่าสังเกตด้วยว่า งานวิจัยระบุว่าสื่อไทยนั้นสอบตกด้านมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ

อันที่จริงเป็นความพยายามมานาน และออกมาในรูปกฎหมายบางส่วน ที่จะจัดความสัมพันธ์ที่ถ่วงดุลกันระหว่างเจ้าของสื่อกับผู้ทำสื่อ ในด้านหนึ่งก็ยอมรับผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ลงทุน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องถูกถ่วงดุลด้วย "อาชีวปฏิญาณ" ของผู้ทำสื่อด้วย แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เป็นผลในทางปฏิบัติกับสื่อชนิดใดในประเทศไทยเลย

สมาคมวิชาชีพเช่นสมาคมผู้สื่อข่าวนานาชนิด หามีพลังในตัวเองไม่ นักข่าวทุกสายไม่รู้สึกว่าสมาคมเป็นแหล่งรวมพลังของตนเอง ในด้านตรงกันข้าม สมาคมก็ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนทำสื่อ และแน่นอนว่าสมาคมไม่มีทั้งอำนาจและกึ๋นพอจะไปกำกับควบคุมด้านจรรยาบรรณของผู้ทำสื่อด้วย สมาคมจึงไม่ใช่ที่ซึ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรองของสื่อ ไม่ว่ากับเจ้าของสื่อ, แหล่งโฆษณา หรือรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ประชาชนและผู้รับสื่อเองก็ไม่ได้มีส่วนในการกดดันให้สื่อแข่งขันกันเองด้านคุณภาพนัก งานวิจัยกล่าวว่าสื่อกระแสหลักทอดทิ้งชนบท, กดขี่ทางเพศ และไม่สนใจทำข่าวเจาะ สื่อเชื่อว่าทั้งสามเรื่องนี้ไม่มี "ตลาด" (จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ในขณะเดียวกัน ผู้รับสื่อก็แบ่งแยกกันตามสถานภาพ เช่น 2 ใน 3 ของประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะราคาสูงเกินไป จึงรับแต่สื่อประเภทเดียวได้แก่โทรทัศน์ช่องที่ดูฟรีเป็นส่วนใหญ่ โทรทัศน์ช่องเหล่านี้อยู่ในกำกับของรัฐ (และทุน) อย่างหนาแน่น จึงไม่เป็นเชื้อให้ต้องการรู้ข่าวให้ลึกไปกว่าที่ได้ทราบทางรายการข่าวโทรทัศน์

เงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้สื่อเชิงพาณิชย์ทุกประเภทใช้มาตรฐานทางธุรกิจเป็นหลักในการดำเนินงานเพียงด้านเดียว และดังที่กล่าวแล้วว่า แม้แต่ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรง ก็ยังแข่งกันในเชิงธุรกิจล้วนๆ ไม่ใช่กลมกลืนมิติด้านธุรกิจเข้ากับมิติด้านคุณภาพ

งานวิจัยกล่าวว่าสื่อไทยมีความหลากหลายสูง (ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต และจำนวน) แต่นอกจากถูกควบคุมอย่างรัดกุมมากขึ้นจากรัฐ โดยสื่อเองเลือกที่จะไม่สู้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้ว (นอกจากสื่ออินเตอร์เน็ต) ผู้รับสื่อของสื่อแต่ละอย่างก็ยังดูจะแยกออกจากกันเป็นกลุ่มๆ ที่ไม่ค่อยเชื่อมโยงกันเองนัก ไม่ว่าจะมีภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองหรือไม่ ผู้คนก็แบ่งกันเองอยู่แล้ว การถือหางทางการเมืองอย่างเข้มข้นในภาวะแบ่งขั้ว ช่วยเน้นการแบ่งให้ชัดขึ้นเท่านั้น

เราได้ปล่อยให้รัฐไทยมีอำนาจเหนือสื่อสูงเกินไปมานาน จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากสักเพียงไร ในทางปฏิบัติสื่อก็ยังถูกควบคุมเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ (หากดูจากสื่ออินเตอร์เน็ต) งบโฆษณาของรัฐวิสาหกิจเพียงอย่างเดียวก็เพิ่มสูงขึ้นมาก บวกเข้าไปกับโฆษณาโครงการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็เป็นจำนวนมหึมา เงินจำนวนนี้ก็มีพลังเพียงพอที่จะควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ได้ในทางอ้อมเสียแล้ว เพราะงบโฆษณาของบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ไปลงที่ทีวีและสื่ออื่นๆ (เช่น งานอีเว้นท์) งบโฆษณาที่น้อยลง ทำให้สื่อยิ่งแข่งขันกันเองอย่างสูง และยิ่งทำให้การแข่งขันเป็นไปในเชิงธุรกิจล้วนๆ มากขึ้นไปอีก

ภาวะแบ่งขั้วทางการเมืองในเมืองไทยนั้น ว่ากันที่จริงแล้วเป็นการแบ่งขั้วสองด้าน คือด้านหนึ่งเป็นความขัดแย้งกันเองของกลุ่มทุน และอีกด้านหนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลเมืองใหม่ ที่เพิ่งเกิดสำนึกทางการเมืองไม่นานมานี้ กับกลุ่มที่เคยจับจองพื้นที่ทางการเมืองได้แน่นหนามาก่อน

ถ้าใช้ประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียว ในการเลือกข้างของสื่อแต่ละค่าย ก็ดูไม่น่าแปลกใจนักไม่ใช่หรือว่า สื่อจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายไหน เพื่อรักษายอดผู้อ่านและยอดของโฆษณาไว้ ในขณะที่ทุนอีกฝ่ายหนึ่งต้องหันไปสร้างสื่อของตนเอง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์, วิทยุ, และทีวีดาวเทียม

และไม่น่าแปลกใจอีกเหมือนกันที่สื่อเกิดใหม่เหล่านี้ จะเลือกยืนอยู่ฝ่ายใด

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker