นโยบายขายไข่ชั่งกิโล ภายใต้โครงการประชาภิวัฒน์ของรัฐบาล ฯพณฯ (ทั่น) อภิสิทธิ์ ต้องพับฐานไปค่อนข้างแน่แล้วนั้น เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า การตีโจทย์ไม่ทะลุอาจนำมาซึ่งอาการ “หน้าแตก” ชนิดที่ “หมอไม่รับเย็บ” ได้ง่ายๆ เลยทีเดียว
สาเหตุของความล้มเหลวมาจาก การพยายามที่จะทำให้ราคาไข่ไก่ลดลง โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ปรัชญาของนโยบายนี้ก็คือ ถ้าตัดขั้นตอน “การคัดไข่” ออกไป ไข่ไก่ก็จะมีราคาถูกลงฟองละ 10 ถึง 20 สตางค์ทันที ดังนั้นแม่ค้าไข่ไก่ตามตลาดสดหรือตลาดนัด จึงต้องเปลี่ยนวิธีขายไข่มาเป็นแบบชั่งกิโล โดยรัฐบาลกำหนดราคาให้เสร็จสรรพที่กิโลกรัมละ 50 – 52 บาท
แต่ถ้านำเอาหลักเกณฑ์ทางการตลาด (Marketing Principle) มาจับ ไม่ว่าจะมองใน Segment ใด ก็ล้วนไม่สอดรับกับทฤษฎีไข่ชั่งกิโลนี้ด้วยกันทั้งนั้น กล่าวคือ ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่ม “ครัวเรือน” มักจะเน้นที่ความสะดวกสบาย (Convenience) หากต้องการน้อยก็จะซื้อน้อยฟอง มีไข่ไก่ให้เลือก (ซื้อ) หลากหลายบรรจุภัณฑ์และหลากหลายราคา ตามคุณภาพที่ตนเองพึงพอใจ ขณะที่กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรมจะต้องการไข่ที่มีขนาดมาตรฐาน เช่น เมนูไข่ดาวอาหารเช้า ควรต้องมีขนาดฟองเท่าๆ กัน เป็นต้น อันหมายถึงต้องผ่านการคัดแยกเบอร์มาแล้วนั่นเอง
เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะซื้อไข่ “ชั่งกิโล” ไปเพื่อ Benefits อะไร ?
ความจริงมีอยู่ว่าไข่ไก่ไม่ว่าที่ใดในโลกก็ล้วนมีการคัดขนาดกันแทบทั้งสิ้น ในประเทศไทยแบ่งไข่ไก่ออกเป็น 7 ขนาด โดยเบอร์ 0 จะฟองใหญ่สุด เบอร์ 1 ขนาดเล็กลงมา และไข่ไก่เบอร์ 6 จะมีขนาดเล็กสุด อย่างไรก็ตามในท้องตลาดนิยมขายไข่ไก่แค่เบอร์ 5 เท่านั้น ขณะที่ในอีกหลายประเทศอาจมีการแบ่งขนาดไข่ไก่แตกต่างกันไป แต่ก็มักอยู่ที่ประมาณ 4 – 5 ขนาด วิธีการแบ่งทำโดยชั่งน้ำหนักบนเครื่องคัดไข่ (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ประเทศไทย)
นโยบายไข่ชั่งกิโลจึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากรัฐบาลต้องการที่จะรักษาภาพของตนเองเอาไว้ ด้วยว่าราคาไข่ไก่ได้ถูกนำไปเป็นดัชนีชี้วัดสภาวะค่าครองชีพของชาวบ้านไปเสียแล้ว เป็นการแก้ปัญหาในมุมมองของนักการเมืองที่คำนึงถึง “คะแนนนิยม” มากกว่า “ต้นตอ” ของปัญหานั้น
หากมองในแง่การจัดการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) นโยบายนี้นับว่าเดินสวนทางกับแนวคิด “การเพิ่มมูลค่า – High Value Adding” ชนิด 180 องศาเลยทีเดียว ด้วยว่านักบริหารร่วมสมัยล้วนมุ่งให้องค์กรที่ตนดูแลมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งนั้น (โดยผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า EVA Economic Value Added /EVA – ผู้เขียน)
กรณีไข่ไก่นี้รัฐบาลจึงต้องมองให้ออกว่านี่คือ “ผลิตภัณฑ์อาหาร – Food Product” ไม่ใช่ “สินค้าคอมมอดิตี้” ที่ได้มาอย่างไรก็ขายไปอย่างนั้น
ไข่ไก่ในฟาร์มยุคใหม่ต้องผ่านการทำความสะอาดด้วยเครื่องอัตโนมัติ มีการคัดแยกไข่ไก่ที่บุบแตก หรือมีคุณภาพเปลือกไม่ดี (สีซีด ผิวขรุขระ) ก่อนที่จะทำการคัดแยกขนาด และใส่ในบรรจุ-ภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการขนส่งและสะดวกในการซื้อหา มีการพ่นข้อมูล (Inkjet) ลงไปบนฟองไข่ ระบุวันหมดอายุ ตลอดจนที่มาของไข่ไก่อันสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้
ผู้ประกอบการต้องทำกันถึงขนาดนี้ จึงจะได้ “มูลค่าเพิ่ม”
ต้องทำให้ได้ถึงเพียงนี้ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ “มีฝีมือ”
อันเป็นคนละเรื่องกับ การนำเอาไข่มา “คละ” แล้ว “ชั่งกิโลขาย” โดยสิ้นเชิง !
ดังนั้น ... การออกนโยบายไข่ชั่งกิโลของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ นอกจากจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมภาคส่วนต่างๆ แล้ว ยังได้มองข้าม “ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่า” ในผลิตผลทางการเกษตร อันเป็นวาระระดับชาติของพี่น้องชาวไทยอีกโสดหนึ่งด้วย
เรื่อง Grading หรือการจัดชั้นมาตรฐานผลิตผลเกษตรนั้น นักวิชาการเกษตรของไทยได้ทดลองวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านพืชและสัตว์ จนมีพัฒนาการก้าวหน้าไปเป็นอันมาก ยังผลให้ผลิตผลเกษตรของไทยเราเป็นที่ยอมรับไปทั่วทั้งโลก
• มะม่วง เบอร์ 14 คือ 1 กล่อง ต้องมี 14 ผล ซึ่งต้องได้มาตรฐานทั้งน้ำหนักและขนาดของผล เป็นการล็อค 2 ชั้น เลยทีเดียว
• กล้วยไม้ 60 เซ็นติเมตร มีดอก 12 ดอก ต้องบานหมด ถ้าผิดจากนี้ถือว่าตกสเปค
• สตรอเบอรี่ หากจัดการให้แต่ละลูกมีขนาดเท่าๆ กันได้ ก็จะมีมูลค่าเพิ่ม ขายได้ราคาแพง
• กุ้งขาววานาเมย์ และ กุ้งกุลาดำ ต่างขนาด ราคาก็จะแตกต่างกัน (กุ้งขนาด 30 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 230 บาท ขณะที่ขนาด 100 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 122 บาท - ราคา ณ. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ตลาดทะเลไทย จ. สมุทรสาคร)
• มังคุดคัดขนาด ลอง search ในกูเกิ้ลดูก็จะพบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้เป็น list ยาวเหยียด
ฯลฯ