บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รายงาน ศปช.:เหยื่ออธรรม(1) 21ชีวิตผู้ต้องขัง อุบลฯ

ที่มา ประชาไท

24 สิงหาคม 2554 นี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีจะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่สังคมเฝ้าจับ ตามองอย่างมากคดีหนึ่ง เพราะมีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต นั่นคือ คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นการตัดสินคดีเผาศาลากลางต่างจังหวัดคดีแรกใน 4 จังหวัดภาคอีสานที่มีเหตุการณ์เผาศาลากลางเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 อันเป็นวันเดียวกับที่รัฐบาลเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์

การตัดสินเลื่อนเข้ามาจากที่ศาลนัดไว้เดิมในวันที่ 5 กันยายน 2554 ในขณะที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 ( ศปช.) และองค์กรเครือข่าย ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลถึงมาตรการฟื้นฟูความยุติธรรมให้แก่ผู้ได้รับผล กระทบจากการปราบปรามประชาชน ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้นคือ ให้ชะลอการตัดสินคดีที่มีโทษร้ายแรงเกินกว่าเหตุ และทบทวนคดีการจับกุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ถึงแม้บริบทต่างๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรง และปากคำจำเลย อาจดูไม่มีน้ำหนักนักต่อการใช้ดุลพินิจของศาล แต่รายงานชิ้นนี้ขอทำหน้าที่บันทึกไว้ เพื่อเป็นประโยชน์หากวันใดรัฐบาลจะหยิบเอาข้อเรียกร้องของ ศปช.มาพิจารณา

ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 สื่อต่างๆ แพร่ภาพผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ถูกยิงบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. จากนั้น ประมาณ 14.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบล กลุ่มคนเสื้อแดง ประมาณ 600 คน รวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าศาลากลางทั้ง 4 ประตู มีการนำยางรถยนต์มาจุดไฟเผาจนลุกไหม้ ที่ประตูด้านหน้ามีการปราศรัยของแกน นำบนหลังคารถ ประณามการกระทำอันโหดร้ายของรัฐอย่างดุเดือด

ขณะที่ด้านในรั้วศาลากลาง กำลังทหาร ตำรวจ และอป.พร.ประมาณ 200 นาย ประจำการอยู่ เหตุการณ์เริ่มรุนแรงเมื่อทหารด้านใน ยื่นกระบองออกมาตีคนแก่คนหนึ่ง ทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนไม่พอใจ และเขย่ารั้วศาลากลางด้านทิศเหนือจนพัง เมื่อรั้วหักลง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงพากันเดินเข้าไปบริเวณสนามหญ้า บางคนขว้างก้อนหินใส่ทหาร ขณะนั้นเองก็มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด มีผู้ชุมนุมล้มลงบาดเจ็บ คนที่บุกเข้าไปเริ่มถอยออกมาด้วยความหวาดกลัว พร้อมทั้งนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลรวม 6 คน

เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งคาดว่าผู้ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ทำให้เกิดความเกิดแค้น และพยายามจะบุกเข้าไปยังศาลากลางอีกครั้ง ขณะนั้นก็เกิดเพลิงลุกไหม้บริเวณอาคารสื่อสารด้านทิศเหนือของอาคารศาลากลาง จากนั้น มีควันไฟพวยพุ่งมาจากบริเวณชั้น 2 ของศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นห้องทำงานของผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่หลายคนพยายามนำถังดับเพลิงมาช่วยกันดับไฟ แต่ทหารกลับถอนกำลังออกไป และรถดับเพลิงที่จอดอยู่ 2 คัน อยู่ในสภาพที่ไม่มีน้ำ

หลังเหตุการณ์สงบลง จังหวัดอุบลฯ ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 93 ล้านบาท มีการออกหมายจับรวมทั้งสิ้น 242 ราย มีผู้ถูกจับกุม 67 คน อัยการสั่งฟ้องเป็น 16 คดี เฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับศาลากลาง มีผู้ถูกจับกุมและตกเป็นจำเลย 32 ราย แบ่งเป็นคดีบุกรุก 9 ราย คดีเผา 21 ราย และเยาวชนถูกฟ้องในคดีเผาเช่นเดียวกันอีก 2 ราย

คดีบุกรุก ซึ่งมีผู้ถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์เป็นจำเลยด้วย 5 คน ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 9 เดือน ปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 4 ปี ส่วนคดีเยาวชน ศาลพิพากษาให้ส่งฝึกสถานพินิจ 1 ปี และตำรวจได้นำมาเป็นพยานโจทก์ในคดีเผาศาลากลางที่มีจำเลย 21 รายนี้ด้วย

จำเลยคดีเผาศาลากลางทั้ง 21 ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ บุกรุกสถานที่ราชการ ฝ่าฝืน พรก. และขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยมี 2 คน ถูกพ่วงด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น และ 1 ในนั้นโดนข้อหาก่อการร้ายด้วย

จำเลยส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเป็นเกษตรกร, 14 คน มีอายุมากกว่า 40 ปี, ทุกคนไม่ได้ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ หลังการออกหมายจับ มี 2 คน เข้ามอบตัว ส่วนที่เหลือถูกจับกุม โดยส่วนใหญ่ไม่มีการแสดงหมายจับ จำเลยส่วนใหญ่รับสารภาพในข้อหาร่วมชุมนุมหรือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก. แต่ทุกคนปฏิเสธข้อหาวางเพลิงเผาศาลากลาง

นอกจากนั้น ในการเบิกความในชั้นศาล ไม่มีหลักฐานหรือพยานคนใดชี้ชัดว่า ใครหรือจำเลยคนใดเป็นผู้จุดไฟเผาศาลากลาง

นี่คือปากคำของจำเลยทั้ง 21 ที่บอกเล่าผ่านลูกกรงต่อผู้คนที่เข้าไปเยี่ยมเยียน รวมถึงให้การต่อพนักงานสอบสวนและศาล ซึ่งอาจทำให้เรามองเห็นภาพปัญหา บางอย่างในกระบวนการยุติธรรมได้

1. นายไชยา ดีแสง ถูกจับที่ร้านเย็บผ้าของเขา โดยตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แต่บอกว่า มีคนมาแจ้งความว่า ผ้าหายให้มาให้การที่สถานีตำรวจ เมื่อเขาไปให้การก็ถูกจับกุม ไชยาให้การกับ จนท.กรมคุ้มครองสิทธิว่า วันเกิดเหตุเขาทำงานเย็บผ้าอยู่บ้านเช่าหลังศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เห็นควันไฟเต็มท้องฟ้า และได้ยินว่าทหารยิงปืนใส่ประชาชนที่มาชุมนุมบาดเจ็บหลายคน จึงเกิดบันดาลโทสะ หยิบก้อนหินขว้างใส่ป้อมยามหน้าศาลากลาง จึงถูกถ่ายภาพไว้ และนำมาเป็นหลักฐานว่าเขาร่วมเผาศาลากลาง

2. นายพงษ์ศักดิ์ อรอินทร์ วันที่เขาถูกจับกุม ตำรวจที่รู้จักกันมานานไปที่บ้านซึ่งเปิดเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ โดยนำภาพประกาศจับไปแสดง เขายืนยันว่า ไม่ใช่รูปของเขา ตำรวจเชิญไปให้ปากคำที่โรงพัก และเขาก็หมดอิสรภาพนับแต่นั้นมา พงษ์ศักดิ์อ้างว่า เขาไปที่ศาลากลางเพื่อห้ามปรามผู้ชุมนุมหลังจากที่มีการเผาศาลากลางแล้ว

3. น.ส.ปัทมา มูลมิล ถูกจับกุมที่สถานีขนส่ง จ.สุรินทร์ โดยก่อนหน้านั้นตำรวจได้ควบคุมตัวเพื่อนของปัทมาซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์เผาไปที่โรงพัก จ.สุรินทร์ ข่มขู่ จนถึงตบหน้าเพื่อให้บอกว่าปัทมาอยู่ที่ใด ตัวปัทมาเอง ขณะเข้าจับกุมตำรวจได้จับเธอกดคอลงกับพื้น เมื่อเธอเงยหน้าขึ้นก็เห็นปืนกำลังจ่อหัว เมื่อไปถึงโรงพัก เธอถูกข่มขู่ว่า หากไม่รับสารภาพจะแจ้งข้อหากับเพื่อนของเธอว่า ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา ปัทมาจึงจำต้องรับสารภาพ หลังจากนั้น เธอก็ถูกบังคับให้แถลงข่าวว่าเป็นคนเผาศาลากลาง แต่เธอเลือกนั่งนิ่งแทน

4. นายถาวร แสนทวีสุข 19 พฤษภาคม 2553 เขาขับรถตุ๊กๆ รับจ้าง มารับนักเรียนที่ถนนนอกรั้วศาลากลางจังหวัดด้านทิศใต้ แต่เข้าไปไม่ได้จึงโทรให้แม่เด็กมารับเอง ถาวรยืนดูเหตุการณ์ประมาณ 10-20 นาที จึงกลับบ้าน แต่ถูกถ่ายภาพเป็นหลักฐาน เขาเข้ามอบตัวหลังจากรู้ว่ามีหมายจับ เนื่องจากคิดว่าตนเองบริสุทธิ์ แต่ถูกตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ โทษประหารชีวิต

5. นายสีทน ทองมา ตำรวจไปที่บ้านสีทนเวลา 20.00 น. โดยไม่มีหมายจับและไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา บอกแต่ว่าไปให้การที่โรงพักแล้วจะปล่อยตัวกลับบ้าน เขายอมรับกับตำรวจว่าไป ร่วมชุมนุมจริง แต่ไม่ได้เข้าไปในศาลากลาง ภาพถ่ายชายใส่ชุดลายพรางที่ตำรวจนำมาเป็นหลักฐานก็ไม่ใช่ตัวเขา แต่ตำรวจก็จับเขาเข้าห้องขัง และไม่มีสิทธิได้ประกันตัวจนถึงวันนี้

6. นายคำพลอย นะมี ตำรวจมาจับที่บ้านด้วยหลักฐานภาพถ่ายขณะเดินอยู่ถนนนอกรั้วศาลากลางด้านทิศ ใต้ ลุงคำพลอยให้การว่าวันเกิดเหตุเขาเข้ามาทำธุระที่ตลาด เห็นการชุมนุมเสื้อแดงจึงแวะเข้ามาดูเหตุการณ์อยู่ภายนอกเท่านั้น และในภาพถ่ายลุงกำลังใช้มือเกาหู แต่ตำรวจบอกว่าลุงกำลังโทรศัพท์สั่งการ

7. นายชัชวาล ศรีจันดา ตำรวจใช้ภาพขาวดำที่เขาร่วมฟังปราศรัยที่ลานโสเหล่ทุ่งศรีเมือง เมื่อปี 2551 เป็นหลักฐานในการจับกุม ส่วนดีเอสไอเอาภาพคนสวมชุดไอ้โม่งมากล่าวหาว่าเป็นเขา ชัชวาลเคยผ่าตัดสมอง เพราะถูกรถชนเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และต้องกินยาประจำ เพื่อไม่ให้เป็น “ลมชัก” หัวเข่าด้านซ้ายมีเหล็กดาม เขาให้ข้อมูลกับกรรมการสิทธิว่าขณะเกิดเหตุ เขาพักผ่อนอยู่เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่ดี

8. นายบุญเหรียญ ลิลา สมาชิกกลุ่มชักธงรบ ถูกจับเพราะมีภาพเขาโบกรถให้ทางกับผู้สัญจรไปมา ในวันที่มีการเผาศาลากลาง แต่ที่จริงเขาอยู่ที่ศาลากลางจนถึงเที่ยง จากนั้นก็เดินทางไปโรงพยาบาลวาริน ชำราบ เนื่องจากแฟนโทรมาบอกว่าลูกสาวเข้าโรงพยาบาล เขาไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาใน พื้นที่ชุมนุมอีก

9. นายประดิษฐ์ บุญสุข ก่อนถูกจับลุงประดิษฐ์ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจว่าให้ไปจัดสวนที่โรงพัก จากนั้นลุงก็ถูกจับกุมพร้อมถูกตั้งข้อหาหนัก 6 ข้อ ลุงรับว่าเข้าร่วมชุมนุมจริง แต่ยืนยันว่าไม่มีส่วนเผาศาลากลางจังหวัดแต่อย่างใด

10. นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา (อาจารย์ต้อย) ถูกจับกุมหลังศาลากลางถูกเผา 1 วัน โดยตำรวจ 1 กองร้อยและทหาร 2 กองร้อยบุกเข้าจับกุมที่บ้านพัก เพราะเชื่อว่าเขาเป็นผู้ยุยงให้คนเผาศาลากลาง เขาถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย ทั้งที่ในวันนั้นเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ได้จัดรายการวิทยุ เนื่องจากไม่สบาย จนกระทั่งมีข่าวว่าศาลากลางถูกเผาจึงออกมาจัดรายการโดยให้ คนที่อยู่ใกล้ศาลากลางไปดูเหตุการณ์แล้วรายงานข้อเท็จจริงเข้ามายังสถานี

11. นายสุพจน์ ดวงงาม เข้ามอบตัวหลังจากรู้ว่ามีหมายจับ เพราะมั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ แต่ตำรวจกลับสร้างสถานการณ์ว่าตามจับกุมเขาได้ที่บ้านขณะกำลังจะหลบหนี ก่อนถูกตั้งข้อหาร่วมวางเพลิง โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายขณะลุงนั่งอยู่บนมอเตอร์ไซค์อยู่ข้างกองยางที่กำลัง ลุกไหม้ ลุงสุพจน์มักไปหาเก็บขยะตามที่คนเสื้อแดงชุมนุมเสมอๆ วันเกิดเหตุ 19 พ.ค. 53 เวลาบ่าย ลุงไปที่ศาลากลาง เห็นรถมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ข้างกองยางที่ลุกติดไฟบริเวณประตูทางเข้าศาลากลาง ด้านทิศใต้ จึงเดินเขยกๆ เข้าไปเข็นออกมา จากนั้น อยู่ดูเหตุการณ์อีกไม่นานก็ขึ้นรถสองแถวกลับบ้าน

12. นางสุมาลี ศรีจินดา ถูกจับหลังจากตำรวจมาที่บ้านและเชิญเธอไปให้ปากคำ เนื่องจากมีภาพของเธออยู่ในเหตุการณ์ เธอให้การว่าวันเกิดเหตุได้ไปที่ศาลากลางจริงและได้เข้าไปพูดคุยกับทหารที่ รู้จักกันหลายนาย ขอร้องว่า “อย่ายิงผู้ชุมนุมเลย พวกเขาไม่มีอาวุธสงสารพวกเขา” แต่แล้วก็มีผู้ชุมนุมที่เดินเข้ามาที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางถูกยิง เธอจึงเกิดความกลัว และกลับออกมา ขับรถกลับบ้านขณะที่ศาลากลางยังไม่ถูกไฟไหม้

13. นายอุบล แสนทวีสุข ถูกจับโดยที่ตำรวจมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายขณะเขานั่งอยู่บนซาเล้ง และกล่าวหาว่าเขาใช้ซาเล้งบรรทุกน้ำมันมาเผาศาลากลาง อุบลให้การว่า วันเกิดเหตุเขาได้ขี่รถซาเล้งนำน้ำผลไม้ไปขายในที่ชุมนุมตามปกติ เหมือนทุกวัน ไม่ได้ทำอะไร

14. นายลิขิต สุทธิพันธ์ ถูกจับกุมในข้อหาหนัก หลังตำรวจขอเชิญตัวไปโรงพักและหลอกว่า สอบสวนแล้วจะปล่อยตัวกลับ ในวันเกิดเหตุ ลิขิตเล่าว่าเขาอยู่ในฐานะมวลชนในเหตุการณ์เท่านั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง มีคนถูกยิง เขารู้สึกไม่พอใจ จึงหยิบอิฐตัวหนอนริมฟุตบาทขว้างเข้าไปด้านในเขตริวรั้วของศาลากลาง จึงเป็นเหตุให้ตกเป็นผู้ต้องหาจากภาพถ่าย ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ เขามีปอดเพียงข้างเดียวไม่มีเรี่ยวแรงวิ่ง ออกแรงหรือใช้กำลังเผาศาลากลางได้อย่างที่ถูกกล่าวหา

15. นายสนอง เกตุสุวรรณ์ ถูกจับระหว่างทำหน้าที่แทนนายท่ารถที่ตลาดเทศบาลเมืองวารินชำราบ ตำรวจนอกเครื่องแบบจับเขาใส่กุญแจมือไขว้หลังโดยไม่มีหมายจับแต่อย่างใด เมื่อไปถึง สภ.เมืองอุบลฯ ตำรวจข่มขู่ให้เขายอมรับว่าเป็นคนเผาศาลากลาง สนองให้การว่า เขาถูกตำรวจและทหารการข่าวขอร้องให้เข้าไปห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไป ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ เขาห้ามผู้ชุมนุมและช่วยดับไฟที่อาคารธนารักษ์สำเร็จ แต่กลับถูกถ่ายภาพ และใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาว่าเขาร่วมเผา ซ้ำร้ายตำรวจยังบันทึกคำให้การของ เขาเพี้ยนจาก “อย่าเผาอาคารธนารักษ์ เผายงเผายางอะไรก็เผาไป” กลายเป็น “ไปเผาศาลากลางเลย”

16. จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ถูกจับระหว่างไปเยี่ยมนายพิเชษฐ์ ทาบุดดาที่บ้านโดยไม่ได้รับแจ้งข้อหา ภายหลังพบว่า ตำรวจใช้ภาพถ่ายรถของเขาที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นหลักฐาน เขาให้การปฏิเสธว่า ในวันเกิดเหตุไม่ได้กระทำการใด ๆ เขาขับรถมาที่ศาลากลางเพราะได้ยินข่าวว่าถูกเผาและได้แต่ดูเหตุการณ์อยู่ใน รถเท่านั้น

17. นายธนูศิลป์ ธนูทอง ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์กว่า 20 วัน ตำรวจ 5 นาย พร้อมอาวุธมาหาเขาที่ไร่ พร้อมกับเชิญตัวไปที่ สภ.พิบูลมังสาหาร จากนั้น ตำรวจให้เขารับทราบข้อกล่าวหาความยาว 3 หน้า ธนูศิลป์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่า วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เขาปลูกมันสำปะหลังอยู่กับภรรยา ห่างจากศาลากลางจังหวัด 100 กิโลเมตร พร้อมปฏิเสธว่า ภาพถ่ายที่ตำรวจใช้เป็นหลักฐานกล่าวหาเขานั้น ไม่ใช่ภาพเขา ดีเอสไอตรวจหลักฐานแล้วบอกไม่ใช่คนเดียวกับในภาพถ่าย แต่ตำรวจท้องที่กลับ ยืนกรานให้อายัดตัวไว้ก่อน ภายหลัง รอง ผบก.ตำรวจภูธร จ.อุบลราชธานี ยืนยันกับอนุกรรมการ คอป. ว่า กรณีธนูศิลป์ เป็นการ “จับผิดตัว” จริง

18. นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ ถูกจับกุมในเวลาประมาณ 06.00 น. ขณะนอนหลับอยู่ที่บ้าน ตอนแรกตำรวจแจ้งว่าต้องการให้ธีระวัฒน์มาเป็นพยานในคดีเสื้อแดง แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เขาก็ถูกนำตัวไปกักขัง จากนั้น ตำรวจก็ข่มขู่ ตลอดจนใช้แฟ้มตีศีรษะ เพื่อให้เขารับสารภาพ และเซ็นรับว่าชายชุดดำปิดหน้าในภาพถ่ายเป็นตัวเขา แต่เขาไม่ยอม เพราะไม่ใช่เขาจริงๆ เขายอมรับว่าเขาไปที่ศาลากลาง แต่ไม่ได้แต่งตัวแบบนั้น และได้แต่ยืนดูเหตุการณ์อยู่รอบๆ ในที่สุด ตำรวจเกลี้ยกล่อมว่าจะกันตัวไว้เป็นพยานแล้วจะปล่อยกลับบ้าน เขาจึงยอมเซ็น แต่แล้วก็โดนตั้งข้อหาร้ายแรง

19. นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ตำรวจมาที่บ้านพ่อของเขา และเชิญตัวไปให้การที่โรงพักโดยไม่มีหมายศาล สมศักดิ์ให้การต่อศาลว่า เขาเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อป.พร.) และเป็นเหยี่ยวข่าวอาชญากรรมให้กับ สภ.วารินชำราบ ในวันเกิดเหตุ เขาได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากประธาน อป.พร. ให้ไปช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยที่ศาลากลาง เขาไปถึงศาลากลางตอนเที่ยง ต่อมา ในช่วงบ่าย เมื่อผู้ชุมนุมพังรั้วศาลากลางเข้าไป เขาได้ยินเสียงปืน และผู้ชุมนุม 2 คนล้มลงห่างจากเขาเพียง 30 เมตร จึงวิ่งเข้าไปช่วย และนำขึ้นรถเพื่อส่งโรงพยาบาล จากนั้น เขาก็ยังเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่อีกจนกระทั่งศาลากลางไฟไหม้

20. นางสาวอรอนงค์ บรรพชาติ ถูกจับกุมหลังไฟไหม้ศาลากลางได้ 3 วัน โดยตำรวจนอกเครื่องแบบ 10 นายไปที่บ้านพร้อมหมายจับ อรอนงค์ให้การต่อศาลว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั้น เธอกับเพื่อนบ้านรวม 5 คน ได้เดินทางเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งที่หน้าบ้านของนายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เธอได้ขอขึ้นปราศรัยบนเวทีชั่วคราวรถบรรทุก โดยขอร้องผู้ร่วมชุมนุมอย่าได้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อเหตุการณ์รุนแรง และมีเสียงปืน เธอจึงลงจากรถ และกลับบ้านพร้อมเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ภาพที่ตำรวจใช้เป็นหลักฐานคือภาพที่เธออยู่บนเวทีรถบรรทุกนั่นเอง

21. นายพิสิทธิ์ บุตรอำคา ถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ พิสิทธิ์รับว่าเขาได้ไปร่วมชุมนุม ที่ศาลากลาง แต่ไม่มีส่วนร่วมในการวางเพลิง หลังศาลอ่านคำพิพากษา อาจมีบางคนได้รับอิสรภาพกลับสู่อ้อมอกครอบครัวที่รอคอยมานานกว่า 1 ปี อาจมีบางคนต้องถูกจองจำต่อ และร้องหาความยุติธรรมด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป รายงานชิ้นนี้ ก็ทำหน้าที่ได้เพียงบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 ( ศปช.) กลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเชียงใหม่-อุบลฯ (Red Fam Fun)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker