ศาลอุบลฯ สั่งจำคุกตลอดชีวิต 4 เสื้อแดงฐานก่อการร้าย ร่วมวางเพลิง ฯ ลดเหลือ 33 ปี 4 เดือน อายุน้อยสุด 21 ปี ขณะที่ศาลพิพากษายกฟ้องอีก 9 ราย ทนายเตรียมยื่นประกันพรุ่งนี้
24 ส.ค.2554 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกนั่งบัลลังก์แบบองค์คณะโดยมีอธิบดีศาลภาค 3 อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานสอบสวน สภ.อ.เมือง อุบลราชธานี ได้ยื่นฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดง ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย และความผิดต่อเจ้าพนักงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน และวางเพลิงเผาอาคารศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยมีผู้ต้องหาถูกส่งฟ้องรวมทั้งสิ้น 21 คน
คดีดังกล่าวเป็นที่สนใจของกลุ่มเสื้อแดงจำนวนกว่า 200 คน ที่เข้าร่วมรับฟังผ่านทีวีวงจรปิดที่ศาลได้ติดตั้งไว้เพื่อถ่ายทอดการอ่านคำ พิพากษาบริเวณข้างบันไดทางขึ้นศาล โดยศาลได้อ่านรายละเอียดการเบิกคำให้การของพยานแวดล้อมที่อยู่ในเหตุการณ์ ก่อนมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษและยกคำฟ้องจำเลย โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ชั่วโมง
โดยสรุปศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต 4 ราย ประกอบด้วย นายสนอง เกตุสุวรรณ อายุ45ปี นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อายุ 45 ปี น.ส.ปัทมา มูลนิล อายุ25ปี นายธีรวัฒน์ สัจจสุวรรณ 21 ปี แต่ทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์กับรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งในสาม เป็นเวลา 33 ปีกับ 4 เดือน
ส่วนผู้ต้องหาให้จำคุก 3 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี มี 4 ราย ประกอบด้วย นายประดิษฐ์ บุญสุข นายลิขิต สุทธิพันธ์ นายไชยา ดีแสง นายพิสิทธิ์ บุตรอำคา และให้ลงโทษจำคุก 1 ปี แต่ลดเหลือ 8 เดือน มี 3 ราย คือ นายอุบล แสนทวีสุข นายสุพจน์ ดวงงาม และ นางอรอนงค์ บรรพชาติ
สำหรับนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ซึ่งเป็นแกนนำและถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ส่งฟ้องข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย ศาลมีคำพิพากษาว่า พฤติกรรมนายพิเชษฐ์ ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ก่อการร้าย แต่กระทำผิดฐานโฆษณาออกอากาศชักชวนให้มีการชุมนุมและการกระทำความผิด แต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า เป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดการเผาทำลายอาคารศาลากลางจังหวัด จึงพิพากษายกฟ้องข้อหาเป็นผู้ก่อการร้าย และให้ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ส่วนผู้ต้องหาที่เหลืออีก 9 ราย ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เพราะหลักฐานของโจทก์มีเพียงภาพถ่ายของผู้ต้องหาขณะเข้าร่วมชุมนุม แต่ไม่มีหลักฐานอื่นที่แสดงว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำความผิดอื่นตามฟ้อง
หลังศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดลงจากบัลลังก์ นำกลับเข้าไปควบคุมไว้ที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี โดยผู้ต้องหาที่ถูกปล่อยตัวในค่ำวันเดียวกัน มีทั้งสิ้น 12 ราย เป็นผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวจนครบอัตราโทษจำนวน 3 คน และอีก 9 คนเป็นผู้ต้องหาที่ศาลยกฟ้อง สำหรับนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ที่ถูกจำคุก 1 ปี พนักงานสอบสวนในคดีเผาเรือที่ชุมชนราชธานีอโศก ได้ขออายัดตัวไว้ดำเนินคดีต่อไป
นายวัฒนา จันทรสิงห์ ทนายความกล่าวว่า ในวันที่ 25 ส.ค.เวลา 09.00 น. กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทยใน จ.อุบลฯ จะมายื่นประกันตัวผู้ต้องหาที่เหลือในชั้นอุทธรณ์ทั้ง 9 คน ส่วนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์ต่อไป
ในส่วนของผู้ต้องหาที่ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องนายวัฒนากล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ๆทำการจับกุมตัวมีสำนึกรับผิดชอบควรจะต้องมาติดต่อเพื่อแสดง ความรับผิดชอบต่อผู้บริสุทธิ์ที่ถูกพวกเขาใช้อำนาจจับกุมคุมขังโดยไม่ได้รับ การประกันตัวกว่า 1 ปี โดยที่ไม่ต้องให้ผู้เสียหายต้องแจ้งความดำเนินคดีก่อน
หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วนจาก กรุงเทพธุรกิจ