บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อนาคตของอียิปต์ โค่นผู้นำแล้วไงต่อ?

ที่มา ประชาไท

ในคืนอันแสนอบอ้าวก่อนวันรอมฎอน กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ก็ออกเดินขบวนรณรงค์ทางการเมืองใน ชิบิน เอลคอม เมืองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ชาวกรุงไคโรส่วนใหญ่แทบจะไม่สามารถขับผ่านเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโมนูเฟียนี้ได้เลย เว้นแต่พวกเขาจะมีครอบครัวอยู่ที่นี่ พื้นที่หนองบึงในแถบนี้มีแต่คนที่ทำอาชีพการเกษตร มีคูคลองและแม่น้ำสายต่างๆ ไหลผ่านจนอาจเรียกว่าเป็น "ตะกร้าขนมปัง" ของอียิปต์เลยก็ว่าได้

เกษตรกร หรือที่เรียกว่า 'เฟลาฮีน' ตามภาษาชาวมุสลิมที่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่นี้เป็นผู้ที่นับถือศาสนา ชาตินิยม และมีแนวคิดทางสังคมในเชิงอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำที่ปกครองอียิปต์ก็มีราก เหง้ามาจากที่นี่ ประธานาธิบดี 2 คนก่อนหน้านี้คือ ฮอสนี มูบารัค และ อันวาร์ ซาดัท ต่างก็ถือกำเนิดในโมนูเฟีย แต่พอได้ดิบได้ดีอยู่ในตำแหน่งแล้วก็ลืมทิ้งบ้านเกิดตัวเองไปเสีย อย่างไรก็ตามในหมู่นักเล่นการเมืองของอียิปต์ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมทำตัวต่างจากผู้นำรายอื่น ความสามารถเชิงผู้นำของพวกเขามาจากมวลชนที่เป็นชนชั้นกรรมชาชีพที่มีการศึกษา และเสริมภาพลักษณ์ว่ามีความใกล้ชิดกับกลุ่มเฟลาฮีน

การเดินขบวนใน ชิบิน เอลคอม เป็นการรณรงค์เปิดตัว 'พรรคเสรีภาพและความยุติธรรม' ปีกใหม่ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม กลุ่มมุสลิมกลุ่มนี้ก็พยายามทำให้คนอื่นเข้าใจว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งตอนนี้ได้กลับมายืดพื้นที่จัตุรัสทาห์เรียเป็นที่ชุมนุมอีกครั้ง พวกเขากล่าวหาว่า กลุ่มภราดรภาพเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่อต้านการปฏิวัติของพวกเขาด้วยซ้า กลุ่มนักกิจกรรมพากันมาสร้างวิมานสวรรค์แบบตั้งเต็นท์ที่จัตุรัสกลางกรุงไคโร พยายามป่าวร้องถึงแนวคิดเรื่องประชารัฐ และประกาศว่า หลังจากมูบารัคลงจากตำแหน่งไปแล้วครึ่งปี แต่ประเทศก็ยังคงอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร นักกิจกรรมเหล่านี้ชุมนุมกันไปหนึ่งเดือนแล้ว มีคนมาน้อยลงเรื่อยๆ สารของพวกเขาถูกกลืนกินไปโดยคำประกาศของคณะมนตรีกองทัพและคำวิพากษ์วิจารณ์จากชาวมุสลิม

ภาพการประท้วงคงดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ในเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำ กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเลือกจะรณรงค์ท่ามกลางถนนฝุนโคลนห่างไกลตัวเมือง ผู้คนนับพันคนส่วนใหญ่เป็นคนจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เป็นพ่อค้า หรือเกษตรกร ต่างก็มากับครอบครัว มีอาสาสมัครคอยบริจาคเลือดที่รถพยาบาล บนเวทีปราศรัยหัวหน้าพรรคกล่าวยกย่องครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แล้วถึงเข้าเรื่อง ประธานกลุ่มสตรีพูดถึงบทบาทของสตรีในพรรค เกษตรกรพูดถึงความร่วมมือในภาคการเกษตร สุดท้ายคือหัวหน้าพรรคโมฮาเม็ด มอร์ซี ขึ้นกล่าวบนเวทีอย่างเผ็ดร้อน "ประชาชนได้มอบการปฏิวัติของพวกเขาให้ทหารเก็บรักษาไว้" เขากล่าวด้วยเสียงอันดัง "สิ่งที่ชอบธรรมในประเทศนี้มาจากประชาชน" ในช่วงท้ายเขาได้สั่งให้ผู้เขาชมปราศรัยแสดงวินัยและความใจกว้างกับเพื่อนบ้าน...ด้วยการเก็บขยะ

หกเดือนหลังจากที่มูบารัคยอมแพ้ต่อชาวอียิปต์นับล้านคนไปแล้ว แต่นายพลหน้าเก่าๆ ก็ยังคงปกครองประเทศอยู่ การใช้อำนาจจับกุมและความเป็นไปได้ที่จะมีการทรมานผู้ต้องขังเป็นเรื่องสามัญ เพียงแต่เกิดน้อยกรณีกว่าก่อนหน้านี้ สื่อของรัฐยังคงทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารดูเป็นพวกชั่วร้าย และกองทัพที่ไม่ฟังความเห็นของมวลชนก็จะจัดการเรื่องกระบวนการเลือกตั้งและรัฐบาลพลเรือนในแบบของพวกเขาเอง เหล่านักปฏิวัติและนักปฏิรูปทั้งหลายต่างก็หวาดกลัวว่ากองทัพซึ่งตอนนี้เข้มแข็งขึ้นกว่าช่วยสมัยที่มูบารัคยังอยู่จะทำตัวฉวยโอกาส พวกเขายังกลัวว่ากลุ่มมุสลิมจะกลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นและควบคุมการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้อียิปต์กลายเป็นไม่ใช่รัฐฆราวาสหรือรัฐเสรีนิยม

สรุปปัญหาคือ นักปฏิวัติผู้มีแนวคิดอุดมคตินิยมฝันถึงประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่สะท้อนการเห็นคุณค่าของประชาชนและเปิดรับชาวมุสลิม ชาวคริสต์ และคนที่ต้องการรัฐฆราวาสในเวลาเดียวกัน แต่พวกเขากลับถูกช่วงชิงไปโดยฝ่ายขวาผู้นับถือศาสนาที่ต้องการการปกครองโดยเสียงข้างมาก และเห็นได้ชัดจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชาชนนับล้านคนมาชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียเรียกร้องให้ประเทศเป็นรัฐอิสลาม ขณะเดียวกันเหล่านายพลก็ได้ใจเมื่อเห็นว่า มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้นับถืออิสลามกับกลุ่มฆราวาสซึ่งเป้นกระโยชน์กับพวกเขา

ภาพการชุมนุมที่จัตุรัสทาห์เรียในช่วงที่เหตุการณ์สงบลงแล้วนั้น ทำให้เห็นว่า การปฏิวัติมีความเป็นชายขอบมากขึ้นและไม่ถือเป็นภัยอีกต่อไป แก่นแกนของการปฏิวัติจริงๆ แสดงให้เห็นถึงพลังในการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ อดกลั้นต่อความหลากหลาย มากกว่าการแสดงความเห็นของผู้ที่อยู่ในกระแสหลัก

กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อสู้กับตำรวจปราบจลาจลนั้นมีอยู่สามจำพวกหลักๆ ที่คาบเกี่ยวกับ พวกแรกคือกลุ่มนักกิจกรรม นักจัดตั้งทางการเมืองและทางศาสนาที่หันมาเชื่อใจกันจากการประท้วงเล็กๆ น้อยๆ และการถูกตามจับกุมตัวเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พวกที่สองคือกลุ่มคนที่มีความรู้ทางการเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กล้าท้าทายอำนาจรัฐบาล แต่ก็ถูกชักพาเข้ามาในการชุมนุมเนื่องจากมีวาระเดียวกัน คนกลุ่มนี้มีทั้งนักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม เอ็นจีโอสายเสรีนิยม และนักกิจกรรมทางศาสนาที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม พวกสุดท้ายคือผู้คนชาวอียิปต์กว่าแสนคนที่ไม่ได้มีวาระทางการเมือง เพียงแค่โกรธแค้นและไม่อาจทนรับได้กับรัฐตำรวจในแบบของมูบารัค

ผู้ชุมนุมที่เคยทะลักท่วมจัตุรัสทาห์เรียจนกระทั่งประธานาธิบดีมูบารัคออกจากตำแหน่งไปในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ไม่เคยกลับมามีจำนวนเท่าเดิมอีกเลย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา กลุ่มทหารก็พยายามยับยั้งการปฏิรูปใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น มีเพียงแค่เห็นชอบกับการกำหนดวันเลือกตั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและเลื่อนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปจนกว่ารัฐบาลพลเรือนจะถูกเลือกตั้งเข้ามา ที่สำคัญกว่านั้นคือ มูบารัคยังคงอยู่ดีจนต้องมีมวลชนออกมาเรียกร้องที่ทาห์เรียอีกครั้งทหารถึงจะยอมจับกุมตัวเขาในที่สุด หลังจากนั้นเขาก็ยังคงอยู่อย่างสะดวกสบายในโรงพยาบาลจนกระทั่งประชาชนต้องออกมาย้ำให้เจ้าหน้าที่จัดการดำเนินคดีกับเขา ซึ่งหลายคนมองว่าเขาต้องถูกฟอกจนใสสะอาดแน่ๆ

ท่าทีของทหารอียิปต์ที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ และการประท้วงที่กลับมาหลายรอบทำให้ขบวนการปฏิวัติอ่อนล้าและมิตรภาพในที่ชุมนุมเริ่มจืดจาง นักกิจกรรมบางกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ติดดินอย่าง "กลุ่ม 6 เมษายน" (กลุ่มที่วางแผนนัดหยุดงานผ่านเฟสบุ๊ค โดยให้สวมเสื้อชุดดำอยู่กับบ้านในวันที่ 6 เม.ย.) ที่มีรากเหง้ามาจากกลุ่มแรงงานหยุดงานประท้วง กลุ่มนี้พยายามเน้นที่ข้อเรียกร้องหลักๆ ของผู้ประท้วงและอยู่ให้ห่างจากการเมือง กลุ่มอื่นๆ เช่นผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองสายกลางแอบพูดจิกกัดว่า น่าจะเอาเวลาที่นั่งจับเจ่าอยู่ในเต็นท์ผู้ชุมนุมที่ทาห์เรียมาใช้รณรงค์หาเสียงดีกว่า

"พวกเรากลัวว่าจะสูญเสียมวลชนไป" โมอัซ อับ เอลคารีม เภสัชกรอายุ 29 กล่าว เขาเป็นนักจัดกิจกรรมบนท้องถนนให้กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขามีเป้าหมายร่วมกันกับสหายอย่างเช่น แซลลี่ มัวร์ นักสังคมนิยมชาวคริสเตียน, เพื่อนนักกิจกรรมสายแรงงาน และผู้เคยมีประวัติทางการเมือง เอลคารีมฝ่าฝืนคำสั่งของภราดรภาพมุสลิมเพื่อช่วยเหลือการประท้วง ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเขาไปไกลกว่านั้น ถึงขั้นตั้งกลุ่มใหม่อย่าง "กระแสมวลชนชาวอียิปต์" (Egyptian Current) ที่มีกลุ่มเยาวชนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมาร่วมด้วย เนื่องจากพวกเขาต้องการให้อียิปต์เป็นประชารัฐมากกว่ารัฐศาสนา พวกเขาให้คำมั่นว่า สมาชิกจะเป็นผู้ที่กำหนดโครงสร้างในกระบวนการประชาธิปไตยรากหญ้า มีหลายพันคนสมัครเข้าร่วม และพบว่าพวกเขาได้เข้าร่วมพรรคที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ไม่มีเป้าหมาย หรือผู้นำ เนื่องจากกลุ่มสมาชิกยังไม่ได้เลือกตั้งผู้นำกัน การย้อนคืนลานประท้วงทาห์เรียเมื่อเดือนที่แล้ว กลุ่มกระแสมวลชนชาวอียิปต์ก็ตั้งท่าจะล่ม จากความพยายามอย่างไม่เป็นผลที่จะเทศนาสั่งสอนผู้คน "พวกเราควรจะอยู่ที่นี่" เอลคารีมกล่าว "พวกเราไม่สามารถไปที่อื่นได้ สุดท้ายแล้วพวกเราก็คือการปฏิวัติ"

จัตุรัสทาห์เรียในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ก่อนที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ละจากไปในช่วงรอมฎอน และกลุ่มที่ยังทนอยู่จะถูกไล่ไปโดยทหาร มีบรรยากาศแบบไม่ต่อเนื่องกับจิตที่พยายามเอาชนะคะคาน ผู้นำทางการเมืองอย่างเอลคารีมไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนรุ่นเยาว์ที่ตั้งโรงเรียนสอนเด็กตามถนนแบบไม่ได้ตระเตรียม พวกนี้ตบตีกับพวกคนขายชาและคนเร่ขายของที่ถูกหาว่าเป็นผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงและทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลกับตำรวจ มีกลุ่มผู้รักษาความสงบที่จัดตั้งกันเองเดินตระเวณไปทั่วจัตุรัสคอยเตือนเรื่องผู้แฝงตัวเข้ามา และบางครั้งก็ยึดทรัพย์และทุบตีผู้ต้องสงสัย ผู้ชุมนุมที่รู้ทันเริ่มสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นนักยั่วยุที่รัฐบาลส่งมา หรือไม่ก็อาจเป็นแค่พวกตัวป่วนที่วันๆ ไม่มีอะไรทำก็ได้ และเมื่อกลุ่ม "กระแสมวลชนชาวอียิปต์" กับผู้นำกิจกรรมรายอื่นๆ จัดการกับข้อขัดแย้งตรงนี้ได้แล้ว ศัตรูของพวกเขาก็กำลังจัดระเบียบความเห็นของประชาชนและวางแผนจะหากินกับรัฐบาลชุดถัดไป

แล้ว "การปฏิวัติอียิปต์" ในตอนนี้เป็นอย่างไรแล้ว อียิปต์ในทุกวันนี้กลายเป็นเกมที่ใครจะเล่นก็ได้ ทุกคนต่างอ้างถึงเหตุการณ์วันที่ 25 มกราคม (วันที่ 25 ม.ค. 2011 ชาวอียิปต์ออกมาประท้วงกันใน หลายพื้นที่จนเรียกว่าเป็น "วันแห่งการปฏิวัติ" หรือบ้างก็เรียกว่า "วันแห่งความโกรธ") ไม่ว่าจะมีวาระใดๆ ก็ตาม แต่อย่างหนึ่งที่เชื่อขนมกินได้คือ ตอนนี้กองทัพกุมอำนาจไว้อยู่ เมื่อนายพลมัมดูห์ ชาฮีน ประกาศว่าจะดูแลการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส เขาก็ปฏิเสธไม่ตอบคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์จากนักข่าว ที่ถามว่าทางกองทัพมีใครเป็นที่ปรึกษาบ้างในการจัดเลือกตั้งและมีมาตรการที่รับรองว่าผลการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรมและไม่มีการโกงหรือการซื้อเสียงซึ่งมีมานานแล้วในประเทศนี้ และพรรคการเมืองก็บ่นว่า กฏการเลือกตั้งในคราวนี้ชวนให้สับสน แต่ท่านนายพลก็ยิ้มเยาะ ตอบเพียงว่า "พวกเราเป็นผู้ตัดสินใจว่าอะไรทีดีที่สุดในประเทศของเรา แล้วจึงปฏิบัติตามนั้น"

การเปลี่ยนขั้วอำนาจเป็นลางร้ายสำหรับการปฏิรูปในระยะยาว และปัญหาก็ทับซ้อนเป็นสองทบ อย่างแรกคือความรู้สึกว่ากองทัพเป็นผู้ที่คอยตระเตรียมการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากมูบารัค ซึ่งตัวกองทัพเองเป็นฝ่ายที่คับแคบในเรื่องผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกับความมั่นคงของประเทศ เป็นผู้มีสิทธิพิเศษในการใช้อำนาจและมีความเชื่อว่ากองทัพเป็นผู้ปกครองประเทศที่ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียใดๆ อย่างที่สองคือ ฝ่ายคณะมนตรีของกองทัพดูจะเชื่อว่าการประท้วงขั้นเกิดมาจากชนกลุ่มน้อยที่ไม่พอใจและส่วนใหญ่แล้วเป็นฝีมือของสายลับต่างประเทศ โดยพวกเขาใช้จุดนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เห็นผลกระทบที่ตามมาคือความหวาดกลัวบุคคลภายนอกในหมู่มวลชนระดับกว้างและในสายตาของผู้ชุมนุมที่มองกลุ่มสนับสนุนจากนานาชาติอย่างหวาดระแวง ทางกองทัพยังได้ประกาศห้ามผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติ และบอกให้ธนาคารรายงานเรื่องเงินทุนที่นักกิจกรรมและเอ็นจีโอได้รับจากนานาชาติ และล่าสุดก็กล่าวหาว่ากลุ่มเยาวชน 6 เมษาฯ เป็นเพียงเบี้ยหมากของพวกต่างชาติด้วย

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. มีการชุมนุมประท้วงโดยมีเป้าหมายประท้วงกองทัพเป็นครั้งแรก มีการเดินขบวนไปยังกระทรวงกลาโหม มีกลุ่มต่อต้านการประท้วงจโจมพวกเขาทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 ราย และดูเหมือนว่ามีสารวัตรทหารถูกจัดตั้งมาเป็นนักเลงนอกชุดเครื่องแบบ คอยไล่ตามผู้ชุมนุม

การปะทะในครั้งดังกล่าวทำให้การชุมนุมอย่างยาวนาน ณ จัตุรัสทาห์เรียค่อยๆ ฝ่อลง มีผู้ประท้วงส่วนหนึ่งที่ยังคงยืนยันปักหลักอยู่จนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุ แต่เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถอนตัวออกไป มวลชนก็ดูบางตาลงจนแทยไม่พอยึดพื้นที่จัตุรัส จนกระทั่งเมื่อกลุ่มอิสลามจัดตั้งขบวนผู้ชุมนุมล้านคนของพวกเขาได้เอง เหล่าผู้ชุมนุมที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ ก็พากันกลับบ้าน

แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการปฏิวัติครั้งนี้ล้มเหลว การดำเนินคดีกับมูบารัคก็ถือเป็นจุดหนึ่ง ประชาชนชาวอียิปต์ยังคงมีความปรารถณาร่วมกันอยู่ เช่นที่ นาซ อับบาสผู้ค้าชิ้นส่วนรถรายหนึ่งกล่าวไว้คือ การได้เห็นมูบารัคถูกแขวนคอที่จัตุรัสทาห์เรีย แต่ทางกองทัพดูเหมือนจะตัดสินใจละเว้นอดีตผู้นำไว้ ดังนั้นการที่มูบารัคไปปรากฏตัวในศาล บนเตียงในโรงพยาบาล หรือในกรงขังเช่นผู้ต้องหารายอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมของอียิปต์ที่ถูกหมิ่นหยามความเป็นมนุษย์ ภาพเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกพึงพอใจ แต่นักปฏิวัติจำนวนมากก็ยังกังวลว่ากองทัพเพียงแค่จัดฉากละครการดำเนินคดีแล้วจะปล่อยให้เขารอดไปง่ายๆ และเห็นได้ชัดว่าทางกองทัพจริงๆ แล้วอยากหลีกเลี่ยงจากเหตุการณ์แบบนี้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

อับบาส เป็นตัวแทนของผู้ที่ท้าทายความเห็นของคนทั่วไป เขาไม่ใช่คนที่มีการศึกษา เป็นคนที่ทำงานหนักเพื่อให้ได้ค่าจ้างเล็กน้อย เขาสนับสนุนการปฏิวัติและไม่เชื่อใจทหาร ไม่เชื่อที่พวกเขาบอกว่าอัตราอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจกำลังถดถอย "ประชาชนเป็นเหมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษ" เขาบอก "ตอนนี้พวกเราเป็นอิสระแล้ว ก็เหมือนกันเราปลูกต้นไม้ พวกเราฝังเมล็ดเอาไว้แล้วก็ต้องรอเวลา"

นี่เป็นสิ่งเดียวกับที่เอลคารีมและนักฝันคนอื่นๆ อยากได้ยิน เนื่องจากพวกเขาเริ่มตั้งพรรคการเมืองที่ต้องใช้เวลาหลายปีในการออกดอกออกผล และวางแผนการปกครองด้วยระบอบที่ประชาชนจะมีอธิปไตยเหนือรัฐและทหาร แต่อับบาสก็ไม่ได้เป็นพวกเสรีนิยมอะไรขนาดนั้น เขายังคิดว่าอิสราเอลและสหรัฐฯ กำลังวางแผนยึดอียิปต์เป็นเมืองขึ้น และบอกว่าโมฮาเม็ด เอลบาราดีย์ หนึ่งในผู้สมัครประธานาธิบดีเป็นสายลับพวกยิว ในทางหนึ่งเขาก็อยู่ฝ่ายปฏิวัติและต้องการให้มีการลงโทษมูบารัคและลูกสมุนโดยเร็ว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเขาก็ต้องการผู้นำที่เข้มแข็งและชาตินิยม ดังเช่นกามาล อับเดล นาสเซอ เจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำการรัฐประหารในปี 1952 ที่ปูทางให้อียิปต์เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้การนำของทหาร

ก่อนหน้าที่จะมีการเดินขบวนของกลุ่มอิสลามไม่กี่วันพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยก็มีการเดินขบวนเปิดตัวที่เมือง คาฟ เอลชีค เมืองกสิกรรมลุ่มน้ำไนล์อีกเมืองหนึ่ง บัสเซม คาเมล เป็นสถาปนิกอายุ 40 ที่เพิ่งเข้าเล่นการเมืองเขามีใบหน้ากลมดูเหมือนเด็กและมีรอยยิ้มที่ทำให้คนหายโกรธ เขาดูกระตือรือร้นมากในการนำขบวน การเดินขบวนของพรรคนี้มีคนเข้าร่วมอย่างมากสุด 150 คน ผู้สนับสนุนท้องถิ่นรายหนึ่งที่เป็นศิลปินและวิศวกรชื่อคาเล็ด เอล บาร์กี กล่าวถึงสิ่งที่ตนกลัวว่าการปฏิวัติของพวกเสรีนิยมในตอนนี้อยู่ไกลเกินเอื้อม "พวกเขายังคงไม่รู้จักวิธีการทำงานกับมวลชนบนท้องถนน ในเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำนี้ผู้คนกำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ พวกเขาไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง"

เป็นธรรมดาที่จะมีการเปรียบเทียบจำนวนผู้มาเข้าร่วมชุมนุมของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยกับพรรคภราดรภาพมุสลิม พรรคของชาวมุสลิมนั้นเริ่มฝึกปรือการสื่อสารและยุทธวิธีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1928 แล้ว นักเสรีนิยมกำลังขอโอกาสแก้ตัวขณะที่กำลังต่อสู้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่า พวกเขามีเจตนาดี แต่เป็นการเล่นเกมยาว และเมื่อเมล็ดพันธุ์ฝังราก ในตอนนั้นอียิปต์ก็ได้รัฐบาลใหม่ไปแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศการควบคุมอย่างหนักของทหารและความได้เปรียบของพรรคอิสลาม ผู้นำใหม่จะเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในยุคหลังมูบารัคและเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

บนเวทีปราศรัย คาเมล พยายามกระตุ้นเร้ามวลชนจำนวนไม่มากนัดของเขา "พวกเรามีรัฐบาลที่ย่ำแย่ แต่พวกเราก็มีคนรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ ทุกครั้งที่ผมเห็นพวกเขา ผมก็กลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้ง" หลังจากนั้นในสำนักงานสาขาของพรรคเขาก็พูดถึงการรับสมัครลูกพรรคและบัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง

"นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" เขาพูดออกมาในตอนเที่ยงคืนขณะกำลังขึ้นรถกลับไปยังไคโร "ตอนนี้ผมก็กลับไปที่จัตุรั

สทาห์เรียแล้ว"


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker