บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สุรพศ ทวีศักดิ์: การลงทุนเพื่อพุทธศาสนา

ที่มา ประชาไท

เมื่อ เรานำเรื่องมิติทางสังคมของพุทธศาสนาไปสนทนากับคนแก่วัด นักปฏิบัติธรรม หรือพระสงฆ์บางรูป โดยเฉพาะกับคนชั้นกลางในเมืองที่นิยมแฟชันการเข้า “คอร์สปฏิบัติธรรม” ตามสำนักดังๆ ในปัจจุบัน เสียงตอบรับจากปลายทางมักจะออกมาทำนองว่า “พุทธศาสนาที่แท้จริง” เป็นเรื่องของการดูจิต ดูใจตัวเอง มีสติเท่าทันว่ากิเลสเกิดขึ้นในจิตอย่างไร ดับไปอย่างไร ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สุข ทุกข์อยู่ที่ใจเรา เรื่องของสังคมเป็นเรื่องทางโลก พุทธศาสนาไม่ให้หมกมุ่นกับโลก ไม่ต้องไปสนใจวิจารณ์คนอื่น วิจารณ์สังคม ควรหันมาวิจารณ์จิตตัวเอง เปลี่ยนตัวเองให้ได้ก่อนจะดีกว่า ถ้าแต่ละคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีเอง

วันนี้ผมไปเดินซีเอ็ด หัวหิน มุมหนังสือ “ศาสนา/ปรัชญา” ดูเหมือนจะเป็นมุมที่มีหนังสือจำนวนมากใกล้เคียงกับมุม “โหราศาสตร์-พยากรณ์” หนังสือธรรมะกับหนังสือโหราศาสตร์รวมกันแล้ว น่าจะมากกว่าหนังสือด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การศึกษา วิทยาศาสตร์

ดู รายชื่อหนังสือแล้ว มีตั้งแต่เกิดแต่กรรม สะแกนกรรม แก้กรรม สุขกันเถอะโยม ความสุขอยู่แค่เอื้อม สุขทุกลมหายใจ สุขทุกย่างก้าว นิพพานระหว่างวัน ไปจนถึงไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น วิญญาณมีจริง ชาติหน้ามีจริง ฯลฯ แสดงว่าพุทธศาสนานี้ดีเป็นสิ่งบันดาลความสุขทุกประเภทได้สมอารมณ์หมาย และตอบปัญหาได้ครอบจักรวาลจริงๆ

แต่ทว่าทั้งหมดนั้น คำตอบสุดท้ายมุ่งตอบโจทย์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น คือ “ความสุขทางจิตใจ” ของแต่ละคน คำถามที่ผุดขึ้นในใจผมก็คือ หากพุทธศาสนาเป็นเพียงแค่เรื่องของการดูจิตดูใจ วิพากษ์วิจารณ์จิตใจตนเอง เพื่อผลสุดท้ายคือความพ้นทุกข์ “ทางจิตใจ” ของใครของมันเท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับมิติทางสังคม เช่น ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมในความเป็นคน เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วเหตุใดสังคมจึงควรลงทุนเพื่อพุทธศาสนา หรือแบกภาระของการมีพุทธศาสนาด้วยต้นทุนทั้งที่เป็นเงิน และอื่นๆ มากมายขนาดนี้

คือหาก “คำตอบที่แท้จริง” ของพุทธศาสนาเป็นเพียงแค่เรื่องของการดูจิตดูใจเพื่อในที่สุดแล้วนาย ก นาย ข จะพ้นทุกข์ทางจิตใจ มีสุขทุกลมหายใจ มีสุขทุก้าวย่าง ฯลฯ เท่านั้น เรื่องพ้นทุกข์ทางจิตใจ สุขทุกลมหายใจ หรืออะไรเทือกนี้มันเป็นเรื่อง “ส่วนตัวล้วนๆ” มิใช่หรือ เหตุใดสังคมจึงควรลงทุนอุปถัมภ์ค้ำชูสถาบันทางพุทธศาสนา เช่น วัด พระสงฆ์ การศึกษาทางศาสนา การสร้างศาสนวัตถุจำนวนมหาศาล ทั้งเป็นการลงทุนในนามของการกุศล และลงทุนด้วยงบประมาณแผ่นดิน

คำถาม นี้ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ซีเรียสมาก เพราะถึงจะบอกว่าพุทธศาสนาสอนศีลธรรม สอนให้คนทำความดี เป็นคนดี แต่ถ้าผลสุดท้าย หรือ “ผลสูงสุด” ของศีลธรรม ความดี การเป็นคนดีนั้นเป็นเพียงแค่ความสุขทุกลมหายใจ ความสุขทุกย่างก้าว ความพ้นทุกข์ทางจิตใจหรือจะเรียกอะไรก็ตาม แต่ “เนื้อหา” หรือ “คุณค่า” ของมันคือมันเป็น “ของส่วนตัวล้วนๆ” หรือเป็น “ความสุขที่รู้ได้เฉพาะตัว” เท่านั้น อย่างที่เรียกกันว่าเป็น “ปัจจัตตัง” แล้วเหตุใดจึงควรมีการลงทุนทางสังคมอย่างมหาศาลเพียงเพื่อ “สุขส่วนตัว” ที่ว่านี้!

จะว่าไปแล้ว สังคมสมัยพุทธกาลไม่น่าจะมีการลงทุนเพื่อความสุขส่วนตัวดังกล่าวนี้ ใครที่ต้องการความสุขส่วนตัวเช่นนี้ก็มักจะปลีกตัวออกไปอยู่ป่า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปพุทธศาสนาถูกทำให้เป็น “สถาบันทางสังคม” โดยเฉพาะสังคมไทยนั้น วัดอารามสร้างใหญ่โตอลังการ พระสงฆ์ถูกสถาปนาให้มียศถาบรรดาศักดิ์ และมีแม้กระทั่งรถเบนซ์ส่วนตัวไม่ต่างอะไรกับเจ้าใหญ่นายโตฝ่ายฆราวาส ถามว่าการบริจาคทำบุญรูปแบบต่างๆ การสถาปนาสถาบันทางศาสนา การจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษา การอบรมสั่งสอนเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งหลายทั้งปวงเพียงเพื่อเป้าหมายสุดท้าย หรือ “เป้าหมายสูงสุด” คือ “ความสุขทุกลมหายใจ” อันเป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเท่านั้นหรือ

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ มีการปลูกฝังอบรมให้ผู้คนเคารพนับถือ “ผู้บรรลุความสุขส่วนตัว” นั้น ราวกับว่าเขาเป็นผู้วิเศษ เป็นฮีโร่ เป็น “อภิมนุษย์” ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ผู้บรรลุความสุขส่วนตัวเช่นนั้นแล้วจะสอนให้คนอื่นๆ บรรลุความสุขส่วนตัวเช่นตนบ้าง

ชาวพุทธอาจบอกว่า คนที่จะบรรลุความสุขส่วนตัวเช่นนั้นได้ เขาต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม หรือปฏิบัติธรรมอย่างดีเลิศ จนเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ฉะนั้น เขาจึงน่าเคารพเลื่อมใส แต่ว่าการปฏิบัติธรรม การเป็นคนดี การเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ว่านั้นโดย “แก่นสาร” ของเป้าหมายสุดท้ายจริงๆ ก็คือ “เรื่องส่วนตัว” หรือปัจจัตตังเท่านั้นมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องศาสนาก็ควรให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องสถาปนาให้เป็นสถาบันทางสังคม หรือเป็นเรื่องที่สังคมต้องลงทุนใดๆ

ฉะนั้น หากพุทธศาสนาเป็นแค่เรื่องของการดูจิต ดูใจตนเอง เป็นแค่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์จิตใจของตนเอง เป็นเรื่อง “นิพพานระหว่างวัน” นิพพานถาวร หรือสุขทุกลมหายใจ สุขทุกก้างย่างของใครของมัน การดำรงอยู่ของพุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายทางสังคมใดๆ เลย ต้นทุนทุกประเภทที่สังคมนี้ให้แก่พุทธศาสนาย่อมเป็นการไม่คุ้มค่า

มี แต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า พุทธศาสนามีมิติทางสังคม เช่น ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม ส่งเสริมการเคารพความเสมอภาค เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมทาสงเศรษฐกิจ สันติภาพ ส่งเสริมการสร้างคุณค่าความหมายของชีวิตในวิถีทางการเสียสละ การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์เท่านั้น พุทธศาสนาจึงมี “ความชอบธรรม” ที่จะรับการอุปถัมภ์จากสังคมในด้านต่างๆ

แต่ด้วยเหตุที่สังคมพุทธ ปลูกฝังกันมาว่า พุทธศาสนาเป็นเพียงเรื่องการดูจิตดูใจตนเองเท่านั้น เป็นเรื่องละโลภ โกรธ หลง เพื่อสุขทุกลมหายใจเท่านั้น นักปฏิบัติธรรมหรือบรรดาชาวพุทธผู้ “ทรงภูมิรู้ ภูมิธรรม” ทั้งหลายจึงมักจะมีทัศนะว่า การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมทางสังคมอย่างที่ประชาชนออกมาต่อสู้ แล้วถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น เป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องของคนมีกิเลส ไม่ใช่เรื่องทางธรรม การตายเพื่อประชาธิปไตยของประชาชนมองจากสายตาของสังคมพุทธจึงไม่ใช่เรื่อง ควรยกย่อง

เพราะการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย ไม่ถูกนับเข้าใน “การปฏิบัติธรรม” จึงไม่ใช่ “ความดี” ที่ทำให้เป็น “คนดี” ซึ่งมุ่งไปสู่ “ความสุขที่บริสุทธิ์” หรือสุขทุกลมหายใจ

วัฒนธรรม ประเพณี ศีลธรรม ความดี การเป็นคนดีในสังคมพุทธถูกสถาปนาขึ้นเพียงเพื่อนำไปสู่คำเชิญชวนที่ว่า “สุขกันเถะโยม” เท่านั้นหรือ ไม่เกี่ยวกับมิติความเป็นธรรมหรือมิติใดๆ ทางสังคมจริงหรือ ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ แล้วทำไมสังคมจึงควรลงทุนเพื่อพุทธศาสนาอย่างมหาศาลด้วยเล่า!

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker