บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

′เสื้อแดง′ หลังเลือกตั้ง

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 สิงหาคม 2554)

ภายหลังการเลือกตั้งและช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มีกระแสข่าวความแตกแยกระหว่าง "คนเสื้อแดง" กับ "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย" เกิดขึ้นมาไม่น้อย

ทั้งความขัดแย้งอันเกิดจากข่าวคราวที่แกนนำ นปช. ซึ่งเป็น ส.ส.เพื่อไทย อย่าง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พลาดตำแหน่งใน ครม.

หรือข่าวคราวการมีแนวคิด "สลายหมู่บ้านเสื้อแดง" ของคน "พวกเดียว" กันเอง

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็น "ข่าว" กระแสหนึ่ง

เพราะยังมี "ข่าว" อีกด้าน ที่แสดงให้เห็นถึงการประสานงานกันของ "พรรคเพื่อไทย" กับ "คนเสื้อแดง"

เมื่อ 9 ส.ส.อุดรธานี และอีก 1 ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเพื่อไทย ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวคนเสื้อแดง 22 ราย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุดรธานี

ก่อนจะมีนักธุรกิจท้องถิ่นนำสลากออมสินมูลค่า 11 ล้านบาท มายื่นประกันสมทบ

หลังศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังเหล่านั้น โดยต้องเพิ่มหลักทรัพย์

นอก จากนี้ ส.ส.เพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่งยังประกาศใช้เอกสิทธิ์ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร เพื่อยื่นขอประกันตัวคนเสื้อแดงอีก 110 คน ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ก็ดูคล้ายจะมีนโยบายเยียวยาคนเสื้อแดงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างเป็น "รูปธรรม" มากยิ่งขึ้น

โดยมีข้อเสนอเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 รายละ 10 ล้านบาท ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทย

เป็นหนึ่งใน "ตัวตั้ง" เบื้องต้น

การได้รับสิทธิประกันตัวที่เพิ่งเกิดขึ้นและมีวี่แววจะดำเนินต่อไป รวมถึงการเยียวยาในอนาคต อาจไม่ใช่ "ก้าวกระโดด" ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง

แต่นี่ก็เป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ของความเป็นมนุษย์ ที่พวกเขากว่าร้อยคนไม่เคยได้รับมากว่า 1 ปี

ดังนั้น แม้ไม่อาจมี "ตัวแทนโดยตรง" เข้าไปใช้อำนาจรัฐเพื่อร่วมกำหนดทิศทางทางการเมืองของประเทศ ในฐานะฝ่ายบริหาร

ทว่าการได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมาบ้างในฐานะ "มนุษย์" ผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวของผู้แทนราษฎรที่พวกเขาลงคะแนนเสียงให้

ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ก่อความเปลี่ยนแปลงให้แก่ความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบเดิมในสังคมการเมืองไทย

คง เหมือนกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท-เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท หรือนโยบายแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่เด็กนักเรียนของรัฐบาลเพื่อไทย

ที่ถูกตั้งคำถามมากมายถึง "ความเป็นไปได้" และ "ความจำเป็น"

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถทำนโยบายเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงและมีประสิทธิภาพมากพอสมควร

รูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมืองไทยก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

โดยยังไม่ต้องแตะประเด็น "การเมือง" ที่อ่อนไหว แต่อย่างใดเช่นกัน

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker