บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รายงาน: สรุปข้อต่อสู้คดี 112 บนเฟซบุ๊ค ‘เราจะครองxxxx’ ก่อนพิพากษาพรุ่งนี้

ทีี่่มา ประชาไท




พรุ่งนี้ (31 ต.ค.55)  เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา จะมีการพิพากษา คดีของนายสุรภักดิ์ จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)
มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

สุรภักดิ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 ก.ย.54 ไม่ได้ประกันตัวและอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน
สุรภักดิ์ อายุ 40 ปี เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เพิ่งจัดตั้งบริษัทของตนเอง รับจ้างออกแบบระบบให้บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย
เขาถูกกล่าวหาว่า เป็น “เจ้าของ” บัญชีเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “เราจะครองxxxx”  โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น 6 ข้อความ แต่เมื่ออัยการทำคำฟ้องปรากฏเพียง 5 ข้อความ (4 พ.ค.54, 18 มิ.ย.54, 22 มิ.ย.54, 23 มิ.ย.54, 16 ส.ค.54) ดังนั้น หากศาลพิพากษาให้เขามีความผิดจริง เขาจะมีความผิด 5 กรรม
สุรภักดิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน โดยระบุด้วยว่า ไม่ใช่เจ้าของอีเมล์และเฟซบุ๊คดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังสุรภักดิ์ถูกจับกุม เฟซบุ๊คบัญชีนี้ยังเปิดใช้งานและมีความเคลื่อนไหวอยู่
ความเป็นมาของคดีนี้เริ่มต้นจาก มีประชาชนทั่วไปชื่อ มานะชัย แจ้งเบาะแสไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี หรือ ปอท. โดยแจ้งว่ามีเฟซบุ๊คที่กระทำความผิดดังกล่าว มีเจ้าของเป็นนายสุรภักดิ์ พร้อมให้ชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ แก่เจ้าหน้าที่ด้วย โดยในการสืบพยานในศาล เจ้าหน้าที่เบิกความว่าไม่รู้และไม่ได้ตรวจสอบว่าบุคคลผู้ให้เบาะแสนี้คือ ใคร และไม่สามารถนำตัวผู้แจ้งเบาะแสมาเบิกความได้
จากนั้นไม่นานจึงมีนักศึกษาราชภัฏคนหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจ ทำให้เรื่องนี้เป็นคดีขึ้นมาอย่างเป็นทางการ พยานปากนี้ขึ้นเบิกความในชั้นศาลด้วย ซึ่งทั้งพยานและจำเลยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม พยานปากนี้ระบุว่าได้ปลอมตัวเป็นคนเสื้อแดงเข้าไปเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊คที่ ถูกกล่าวหาดังกล่าว จึงสามารถเห็นข้อความหมิ่นที่ถูกโพสต์ได้ และทำการ capture หน้าจอ ปริ๊นท์ออกมาเป็นหลักฐานให้ตำรวจ
นักศึกษาราชภัฏยังระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างอีเมล์และเฟซบุ๊คที่กระทำ ผิดไว้ว่า พยานเป็นสมาชิกในอีเมล์กรุ๊ปหนึ่งของกูเกิลกรุ๊ป และได้นำอีเมล์สมาชิกคนหนึ่ง คือ dorkao@hotmail.com (ดอกอ้อ) ไปค้นหาใน google ผลการค้นหาพบหน้าเฟซบุ๊คบัญชี เราจครองxxxx จึงสันนิษฐานว่าเจ้าของอีเมล์นี้เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวด้วย ต่อมาจึงได้ทราบในภายหลังจากตำรวจว่า อีเมล์ดังกล่าวนั้นคือนายสุรภักดิ์
สิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้ คือ การต่อสู้กันระหว่างพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยและตัวจำเลยเอง กับ พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นกองพิสูจน์หลักฐาน , เนคเทค (ไอซีที)
กองพิสูจน์หลักฐานซึ่งตรวจสอบคอมพิวเตอร์ของกลางระบุว่า ไม่พบถ้อยคำหมิ่นสถาบันตามที่พนักงานสอบสวนให้ตรวจเช็คหลายรายการ แต่พบร่องรอยการใช้อีเมล์ dorkao@hotmail.com  และการใช้เฟซบุ๊คเจ้าปัญหาในฐานะเจ้าของเพจ โดยทำการกู้จาก temporary file  ขึ้นมาได้อย่างละ 1 ไฟล์
อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลยคือ คอมพิวเตอร์ของกลางดังกล่าวมีการเปิดใช้เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์ในวันที่ 2 ก.ย.เวลากลางคืน และ 7 ก.ย.54 (อ้างอิงตามเอกสารที่อยู่ในสำนวนคดี) ทั้งที่จำเลยถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.54 ช่วงบ่ายแล้ว ซึ่งเมื่อพยานจากกองพิสูจน์หลักฐานดูเอกสารก็รับว่าเป็นเช่นนั้น
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้ เนื่องจากคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีหลักการที่ต้องไม่เปิดคอมของกลางอีกเลย ดังที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ก็ได้เบิกความไว้ว่าการส่งคอมพิวเตอร์ จากพนักงานสอบสวนไปให้กองพิสูจน์หลักฐานต้องผนึกหีบห่ออย่างดี จะเปิดได้ต่อเมื่อส่งถึงผู้ชำนาญการแล้วและมีการทำสำเนาข้อมูลออกมาโดยไม่ เปิดเครื่อง ที่ทำเช่นนี้เพราะถ้าเปิดดูก่อนเครื่องจะบันทึกการเปิดเครื่องไว้ทำให้เกิด ความเสียหายต่อหลักฐานที่ได้มา
นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันว่า temporary file หรือ cache ที่เจ้าหน้าที่กู้ได้และใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้ เป็นเอกสารจริงหรือไม่
เนื่องจากฝ่ายจำเลยชี้ว่าฮอตเมล์และโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค จะมีระบบที่กำหนดไม่ให้คอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเก็บ temporary file ใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งาน อีกทั้งตามหลักฐานในสำนวนยังพบว่ามีการเก็บไฟล์ดังกล่าวใน partition ที่สองของเครื่อง ไม่ใช่ partition หลัก ซึ่งเชื่อว่าผิดปกติ
ที่สำคัญฝ่ายจำเลยระบุว่า ไฟล์ที่เกิดจาก cache file จะไม่มี source code ในภาษา html ส่วน source code ที่เจ้าหน้าที่ได้มาและใช้เป็นหลักฐานในคดีนั้นเป็นการ copy มาจากหน้าเว็บโดยการเข้าไปในเว็บไซต์เฟซบุ๊คแล้วคลิ๊กขวาคัดลอก source code โดยเปลี่ยนข้อความให้เป็นอีเมล์ที่ต้องการ (dorkao@hotmail.com  เพื่อระบุความเป็นเจ้าของ-ประชาไท) แล้วนำมาลงไว้ใน partition 2 เสมือนว่าเจ้าของเครื่องได้เข้าไปใช้เว็บไซต์นั้นจริงๆ อีกทั้งในเอกสาร source code ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการเข้าใช้เฟซบุ๊คเพจ ก็เป็นภาษา htm ขณะที่ source code ของเฟซบุ๊คใช้ภาษา php
ดังนั้นจำเลยจึงสันนิษฐานว่า ไฟล์ที่เอามาใช้ฟ้องคดีนี้เป็นการคัดลอก source code จากเว็บมาวางใน note pad แล้วแก้ไขสาระสำคัญที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการบันทึกซึ่งจะบันทึกเป็นนามสกุลใดก็ได้ ในกรณีนี้บันทึกเป็นนามสกุล html แล้วนำไปเก็บไว้ในเครื่อง จากนั้นใช้โปรแกรม internet explorer อ่าน โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้ เพราะไฟล์ลักษณะนี้เป็นชิ้นส่วนของเว็บไซต์ที่ไม่ต้องต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำได้ จากชื่อเพจดังกล่าวจะเปลี่ยนให้เป็นเพจเรารักในหลวงก็สามารถทำได้
คำเบิกความของทั้งสองฝ่ายก็ต่างสนับสนุนข้อสันนิษฐานของตนเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับคดีนี้คือ การที่ศาลอนุญาตให้มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมประกอบการอธิบาย โดยให้ฉายผ่านโปรเจ๊กเตอร์ไปยังผนังห้องเพื่อให้เห็นกันได้อย่างสะดวก ขณะในคดี 112 ที่เกี่ยวพันกับคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้ ศาลมักไม่อนุญาตให้เอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ประกอบ ด้วยเหตุผลว่าไม่ว่าเรื่องจะซับซ้อนเพียงใดก็สามารถใช้การอธิบายผ่านปากผู้ เชี่ยวชาญของสองฝ่ายได้ และเปิดไปศาลก็ไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีนี้อนุญาตให้มีการใช้คอมพิวเตอร์ประกอบการอธิบาย ทำให้ฝ่ายจำเลยสามารถเรียกร้องให้พยานฝ่ายโจทก์สาธิตให้ดูว่า การเปิดใช้เฟซบุ๊คจะมีการเก็บ temporary file หรือไม่  ซึ่งปรากฏว่าไม่มี แต่พยานโจทก์ระบุว่าอาจเป็นเพราะ browser ของคอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้เก็บหรือไม่เก็บก็ได้ นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยยังมีการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสาธิตให้ดูได้ว่า ไฟล์ html ไม่สามารถใช้กับเฟซบุ๊คได้ การปรับแต่งหลักฐาน หากจะมีเกิดขึ้นนั้นกระทำได้ง่ายเพียงใด และสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าวันเวลาให้เป็นตามต้องการได้ด้วย ส่วนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า source code ของเฟซบุ๊คในส่วน header จะมีคำสั่งไม่ให้เครื่องผู้ใช้มีการเก็บ cache file จริง
หากจะดูรายละเอียดของคดีไล่ตั้งแต่การจับกุมจนถึงการเบิกความของพยานปาก ต่างๆ ทั้งของโจกท์และจำเลย แหล่งข้อมูลที่ละเอียดที่สุดในเวลานี้ก็คือ เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw  (คดีสุรภักดิ์ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/176#detail ) ก่อนจะรับฟังคำพิพากษาร่วมกันในวันที่ 31 ต.ค.นี้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker