19 ตุลาคม 2555 - คณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ…. โดยมีนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการ ใช้อำนาจรัฐ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้มีผู้แทนจากสภาทนายความ นักวิชาการกฎหมาย และทนายความสิทธิมนุษยชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีการอภิปรายใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การละเมิดอำนาจศาลตามาตรา 16 และ 17 สมควรบัญญัติไว้หรือไม่และบทกำหนดโทษมีความเหมาะสมหรือไม่ 2. ความเหมาะสมในการบัญญัติบทบัญญัติและบทกำหนดโทษเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครอง ชั่วคราว
สำหรับประเด็นเรื่องการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 16 ที่ประชุมมีความเห็น 2 แนวทาง คือ เห็นควรที่จะบัญญัติมาตรา 16 ไว้ เนื่องจากมาตรานี้มีขึ้นเพื่อรักษาความสงบในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเองมิใช่คู่ความ แต่เป็นคนกลางในการตัดสินคดีจึงสมควรที่จะได้รับความคุ้มครอง ส่วนที่ไม่เห็นควรให้บัญญัติมาตรา 16 ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่ง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และยังสามารถใช้กฎหมายเกี่ยวกับการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทแล้วแต่กรณีมาปรับ ใช้ได้
ขณะเดียวกันในเรื่องความเหมาะสมในการกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 16 ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างกันโดยส่วนใหญ่มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ เห็นว่าบทกำหนดโทษนั้นไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ ซึ่งมีความเหมาะสมแล้ว แต่ทั้งนี้ควรระบุถึงการอุทธรณ์คดีกรณีถูกตัดสินลงโทษด้วย เนื่องจากไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ส่วนเหตุผลของผู้ที่เห็นว่าไม่ควรมีการกำหนดโทษ มีความเห็นว่า คดีที่เข้ามาสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคน ส่วนใหญ่แตกต่างจากคดีแบบอื่น ดังนั้น จึงควรใช้มาตรการเชิงบวกคือ การพูดคุยเจรจาจะเหมาะสมกว่า และเป็นห่วงว่าการเปิดช่องให้ตุลาการใช้ดุลยพินิจในการลงโทษอาจก่อให้เกิด การเลือกปฏิบัติได้
นอกจากนี้ที่ประชุมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การบัญญัติมาตรา17 มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และจูงใจให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญมากกว่า จำกัด อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ ยังเป็นประโยชน์ในแง่การพัฒนาการทำงานของศาล ส่วนประเด็นการกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวนั้น ที่ประชุมเห็นสอดคล้องว่า สมควรระบุเอาไว้เป็นกฎหมายในพ.ร.บ.ให้ชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 212 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ จะกำหนดเอาไว้เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายของคู่ความ และคุ้มครองประชาชนด้วย
หมายเหตุ: ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ...
มาตรา ๑๖ ให้ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของ การพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว รวมทั้งวางระเบียบเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วย ความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งศาลหรือระเบียบตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
(๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
(๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การใช้อำนาจตามวรรคสอง
ให้ศาลใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี ทั้งนี้
ให้ดำเนินการบังคับโทษตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการบังคับโทษในทางอาญามาตรา ๑๗ การวิจารณ์การพิจารณาคดีหรือคำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเป็นวิธีการทางวิชาการ ซึ่งได้กระทำโดยสุจริต ย่อมกระทำได้ โดยไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ผู้ใดวิจารณ์ที่ไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ หรือลงโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และให้นำมาตรา ๑๖ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม