บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

'คำสัญญา' กสทช. ลั่นกำกับ 'ค่าบริการ 3G' ลง 15-20%

ที่มา ประชาไท



หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผลการประมูลใบอนุญาต​ให้บริ​การ 3G คลื่น​ความถี่ 2.1GHz อย่างหนัก วันนี้ (22 ต.ค.55) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
โดยผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. พร้อมด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค., พล.อ.สุกิจ  ขมะสุนทร กสทช., สุทธิพล  ทวีชัยการ กสทช. และ ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
อนึ่ง บอร์ด กทค. ประกอบด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร, สุทธิพล ทวีชัยการ, ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์  และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา โดย กสทช. ประเสริฐ และ นพ.ประวิทย์ ไม่ได้ร่วมการแถลงข่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ประธาน กทค. กล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ดังนี้
  1. จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียงและข้อมูลของบริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz ให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 – 20 ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน
  2. จะกำกับดูแลให้คุณภาพการให้บริการเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเคร่งครัด และให้มีมาตรการติดตามคุณภาพของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
  3. จะกำกับดูแลให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) และแผนคุ้มครองผู้บริโภคก่อนเริ่มให้บริการ รวมทั้งให้มีมาตรการติดตามการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นรูปธรรมมาก ที่สุด
  4. จะมีการตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลในระหว่างการ ประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป
  5. จะมีการปรับปรุงกระบวนการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง การรับเรื่องร้องเรียน และกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน พ.ศ. 2549 โดยเน้นกระบวนการในการพิจารณาและแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ทันท่วงที
  6. จะมีการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้การดำเนินการในข้อ 1 – 3 ผู้ผ่านการประมูลจะต้องรับเงื่อนไขดังกล่าวก่อนให้บริการ
จึงแถลงการณ์ให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นว่า กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และจะกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและ ประเทศชาติ
“อยากให้สื่อมวลชนและประชาชนมีความมั่นใจว่า กสทช. ไม่ได้รีบร้อนในการให้ใบอนุญาต และในการรับรองผลการประมูลที่ผ่านมา เป็นการรับรองตามกำหนดการที่ตั้งไว้ ไม่ได้เป็นการเร่งรีบ ดังนั้นในการออกใบอนุญาตจะต้องมีความโปร่งใส และประโยชน์จะต้องเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ขอให้มั่นใจว่ากระบวนการทุกกระบวนการมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง” พ.อ.เศรษฐพงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. จะกำกับดูแลอัตราค่าบริการทั้งประเภทเสียงและข้อมูลของบริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz ให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน โดยการลดลงของอัตราค่าบริการ จะส่งผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G โดยรวมทั้งประเทศได้รับประโยชน์จากการมีค่าบริการที่ถูกลงหรือสามารถประหยัด ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนในการให้บริการที่ลดลง และระดับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในตลาด
ฐากร กล่าวว่า หากอัตราราคาค่าบริการลดลง 15% จะได้ผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 4,571.25 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 54,855 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ทั้งหมดประมาณ 822,825 ล้านบาทภายในระยะเวลา 15 ปี และหากอัตราราคาค่าบริการลดลง 20% จะคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 6,095.22 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 73,142.64 ล้านบาทต่อปี และประมาณ 1,097,145 ล้านบาทภายในระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ผลประโยชน์จากการใช้บริการ 3G จากอัตราค่าบริการที่ลดลงได้พิจารณาอ้างอิงจากราคาค่าบริการ 3G ในปัจจุบันในอัตราประมาณ 899 บาทต่อเดือน
สุทธิพล  ทวีชัยการ กสทช. กล่าวถึงประเด็นที่จะมีการตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการ ประมูลในระหว่างการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป โดยได้มีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายของสำนักงาน กสทช. ทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ.ความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งในส่วนของระบบ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมูล ซึ่งก็ได้มีการยืนยันในส่วนของสำนักงานและบริษัทที่ปรึกษาฯ ในการประมูลว่าระบบการทำงานไม่ได้มีพฤติกรรมในการสมยอม
สุทธิพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีกระแสข่าวในเรื่องของพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เสนอราคาในช่วง ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องใน เรื่องนี้มาตรวจสอบอีกครั้ง และจะได้มีการเชิญผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการประมูลมาสอบถามอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในการพิจารณาออกใบอนุญาตจะมีความโปร่งใสมากที่สุด ทั้งนี้ระยะเวลาในการตรวจสอบนั้นจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะใช้ ระยะเวลาประมาณไม่เกิน 15 วัน หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาต่อไป


บอร์ด กสท.มีมติเอกฉันท์ ขอทราบรายละเอียดประมูล 3G

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ซึ่งเป็น 1 ใน 5 บอร์ดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทวีตผ่าน @supinya ว่า วันนี้บอร์ดกระจายเสียง (กสท.) 5 คนมีมติเอกฉันท์ว่าจะทำหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ หรือใบอนุญาต 3G ของบอร์ด กทค. เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง กระบวนการและขั้นตอนการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ตลอดจนเหตุผลการใช้ดุลพินิจในการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เหตุผลในการชี้แจงต่อกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำมาใช้พิจารณาโดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนิน การของ กสทช. ต่อไป
"ในทางกฏหมาย ที่ผ่านมาบอร์ดกระจายเสียง (กสท.) ไม่ทราบการดำเนินการต่างๆ ในการจัดประมูลของบอร์ด กทค. จึงมีมติขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป" สุภิญญาทวีต
สุภิญญาให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์เพิ่มเติมว่า จากการประชุม กสท.วันนี้ มีความเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และผลการประมูลที่ออกไปก็ออกไปในนาม กสทช.ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงควรแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ด้วย แต่ก่อนที่จะแสดงจุดยืนจะต้องดูข้อมูลรายละเอียดที่เป็นทางการก่อน
"ที่ผ่านมาเราเคยตกลงกันไว้ว่า แต่ละบอร์ด คือ กทค.และ กสท.จะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเอง แต่หากเรื่องใดที่เป็นเรื่องใหญ่จะให้อีกบอร์ดมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยก็ ได้ และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ความรับผิดรับชอบกระทบมาถึงบอร์ดอีกฝ่าย เราจึงคิดว่าเราควรจะมีท่าทีในเรื่องนี้ แม้ว่าทางบอร์ด กทค.เห็นว่าเป็นอำนาจของเขาและได้ตัดสินไปแล้ว แต่เราก็ควรที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อแสดงจุดยืนว่าเราเห็นอย่าง ไร"
ทั้งนี้ สุภิญญาระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ตนเองเคยเสนอว่าประธานควรจะเรียกประชุมบอร์ดใหญ่เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะประธานเป็นคนเดียวที่จะสามารถเรียกประชุมบอร์ดใหญ่ได้ แต่ประธานก็กลับไม่ทำ


กมธ.สอบทุจริตฯ วุฒิสภา เตรียมเรียก กทค.-นักวิชาการ-คลัง แจง 25 ต.ค.นี้

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา ที่มี สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการ โดยมีวาระการประชุมพิจารณาตรวจสอบ เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 3G ซึ่ง ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ. กล่าวในที่ประชุมโดยเห็นว่า การกระทำของ กสทช.เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะการตั้งราคาประมูลเบื้องต้น แสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่มีความถูกต้อง
ด้านคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า การที่รัฐเสียรายได้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาทนั้น นักวิชาการหลายคนก็ออกมาให้ข้อมูลว่า หากนำฐานรายได้ที่เอกชนจ่ายให้รัฐมา เปรียบเทียบกับการเปิดประมูลใหม่รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนล้านบาท ดังนั้น แม้คนไทยต้องการใช้ระบบ 3G แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ที่คนทั้งประเทศจะได้รับเป็นที่ ตั้ง มากกว่าประโยชน์ที่จะไปตกกับผู้ประกอบการเอกชน อีกทั้งพฤติกรรมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมหรือ กทค. ก็มีลักษณะเร่งรีบ และเร่งรัดให้การประมูลเสร็จสิ้นภายในสองวัน ซึ่งเป็นเหตุผิดปกติ ทั้งที่กฎหมายระบุว่า สามารถใช้เวลาประมูลได้ 7 วัน ดังนั้น จึงต้องการให้คณะกรรมาธิการพิจารณาข้อมูลที่มีการเสนอเรื่องเข้ามา และขอให้ประธาน กสทช. พิจารณาทบทวนความสูญเสียของประเทศว่า มีมากน้อยเพียงใด
ด้าน รสนา โตสิตระกูล ส.ว. สรรหา กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลเทียมที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปอย่างมหาศาล เพราะทรัพยากรความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐจะต้องมีวิธีการคิดใหม่และควรมองว่าการประมูลเอกชนได้กำไรเท่าไหร่ ที่เหลือต้องตกเป็นประโยชน์ของประเทศและไม่ควรกลัวว่า ถ้าตั้งราคาสูงแล้วจะไม่มีใครประมูล อีกทั้งมีการตั้งข้อสงสัยในการประชุมของคณะกรรมการ กทค. ว่า เมื่อมีมติฯ แล้วต้องแจ้งให้ผู้ประมูลทราบ เพื่อจ่ายเงินภายใน 90 วัน แต่ในข้อเท็จจริงวันดังกล่าว มีการมารอเพื่อจ่ายเงินเลย ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการผูกมัดไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น อีกทั้งมองว่า การกระทำดังกล่าวของ กทค.อาจมีความผิด
ทั้งนี้ ประธาน กมธ. ได้ขอมติที่ประชุมว่า ควรเร่งนำเรื่องส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนำข้อมูลการร้องเรียนมาประกอบกับข้อมูลที่ กมธ. ได้ศึกษาแนบส่งไปด้วย ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย พร้อมกับเห็นว่า ต้องเชิญ กทค.คณะผู้วิจัย ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนเอกชน 3 ราย รวมไปถึง สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาประชุมพร้อมกันในวันพฤหัสที่ 25 ตุลาคมนี้ พร้อมกับทำหนังสือไปยัง ประธาน กสทช. ให้เข้ามาชี้แจงกับกรรมาธิการด้วยว่า ได้มอบอำนาจให้ กทค. ไปดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน



ที่มา: Press Release กสทช., กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker